Skip to main content
sharethis

ที่ ประชุมประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกร่วมกันประกาศ “ปฏิญญาเชียงใหม่” ทุกภาคส่วนเน้นยึดสุขภาพเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกร้อง “อาเซียน” เป็นเจ้าภาพพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับภูมิภาค หนุนสถาบันการเงินระหว่างประเทศนำ HIA เป็นเงื่อนไขพิจารณาการพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน
ตามที่ระหว่างวันที่ 22-24 เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา มีการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2551 (2008 Asia and Pacific Regional Health Impact Assessment Conference) หรือ HIA 2008 ที่ ศูนย์การประชุมดิเอ็มเพรส ถ.ช้างคลาน จ.เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพจาก 20 ประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
โดย มีผู้แทนจากออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไน กัมพูชา แคนาดา จีน อินเดีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ซามัว หมูเกาะไซโลมอน เกาหลีใต้ สวิสเซอร์แลนด์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมกว่า 300 คน
ทั้งนี้กิจกรรมระหว่างการประชุมในวันที่ 22-24 เมษายน 2552 จะมีทั้งการฝึกอบรม การปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ การนำเสนอประสบการณ์ทำงาน และการลงพื้นที่เชียงใหม่และลำพูนเป็นกรณีศึกษา 5 พื้นที่ เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนด้วย
 
ประกาศ “ปฏิญญาเชียงใหม่” ให้ทุกส่วนยึดสุขภาพเป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในวันสุดท้ายของการประชุม นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ HIA ประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการจัดการประชุมนานาชาติ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2551 หรือ HIA 2008 กล่าวสรุปผลการประชุมเมื่อ 24 เม.ย. ว่าองค์กรและเครือข่ายด้านสุขภาพของ 20 ประเทศ ได้บรรลุฉันทามติว่าด้วย “ปฏิญญาเชียงใหม่” ซึ่งมีสาระสำคัญว่า สุขภาพของคนมีความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพเป็นสำคัญตั้งแต่ ระดับนโยบาย แผนงานและโครงการ
ทั้งนี้ที่ประชุมยอมรับว่า HIA นั้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ อันเป็นนโยบายที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและมุ่งให้พลเมืองมีทาง เลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพที่ดี และเป็นนโยบายที่มี ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อันเป็นหนึ่งในห้ายุทธศาสตร์สำคัญ ในการสร้างสุขภาพ ที่ถูกบรรจุไว้ในกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ตั้งแต่มีการประชุมส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งที่ 1 (The Global Conference on Health Promotion) จนกระทั่งมีกฎบัตรกรุงเทพ (Bangkok Charter) ในการประชุมครั้งที่ 6 ที่ว่า “การส่งเสริมสุขภาพเป็นบทบาทหน้าที่หลักของหน่วยงานภาครัฐทุกฝ่าย การกำหนดนโยบาย แผนงานใดๆ ต้องคำนึงในเรื่องสุขภาพด้วย โดยใช้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการดำเนินงาน ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามที่ประชุมเข้าใจในสถานการณ์ของการพัฒนา HIA ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคว่ามีระดับ เงื่อนไข และกระบวนการที่แตกต่างกันตามโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม และการเมืองการปกครอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในแต่ละประเทศ รวมทั้งแรงกดดันและโอกาสจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการทำข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาค
 
เรียกร้องทุกภาคส่วนพัฒนา HIA ในหลักการสุขภาพดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่มีเลือกปฏิบัติ
นพ.วิพุธ กล่าวเสริมว่า สาระสำคัญของ “ปฏิญญาเชียงใหม่” นั้นได้เรียกร้องให้ภาครัฐ ประชาชน วิชาการ ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนา องค์การอนามัยโลก และภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมการพัฒนา HIA ภาย ใต้หลักการว่าการมีสุขภาพดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับการดูแล เอาใจใส่และได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นและวรรณะ และหัวใจสำคัญของ HIA จะ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงข้อมูล ความคิดเห็น เหตุผลและข้อกังวลของตนในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เหตุผลของทุกฝ่าย รวมไปถึงการหาทางเลือกที่หลากหลาย และการตัดสินใจที่รอบคอบรอบด้านร่วมกัน
ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการพัฒนากลไก HIA ในระดับภูมิภาค โดยเห็นควรให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน เป็นเจ้าภาพหลักสนับสนุนให้มีศูนย์ประสานงานในระดับภูมิภาค เพื่อการพัฒนา HIA ในประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง  เนื่องจากอาเซียนมีศักยภาพในฐานะเป็นกลไกในการประสานงานระดับนานาชาติ และมีโครงสร้างองค์กรทั้งสำนักงานเลขาธิการอาเซียน (Asean Secretairiat) และสำนักงานเลขาธิการาอาเซียนแห่งชาติ (Asean National Secretariat) ประกอบกับมีเป้าหมายจะเป็นสังคมที่เอื้ออาทรในปี ค.ศ.2020 ซึ่ง ต้องสอดคล้องกับการทำงานนของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกภายใต้หลักการนำ เอาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพไปใช้เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
 
สนับสนุนการวิจัยร่วม ศึกษาการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นอกจากนั้นที่ประชุมยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการศึกษาวิจัยร่วมกัน (Colaborative Research) โดยเฉพาะในกรณีการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและปัจจัยกำหนดสุขภาพแบบข้าม พรมแดนรวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน วิชาการ และประชาชน ฯลฯ ในด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ โดยสนับสนุนการจัดประชุมนานชาติอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี รวมถึงสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนข้อมูลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในเครือข่ายระหว่างประเทศ (HIA Information Flow)
ทั้งนี้ได้มีการเรียกร้องให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ธนาคารโลก International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) ซึ่ง ได้นำเอาการประเมินผลกระทบทางสุขภาพมาใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญประกอบการพิจารณา อนุมัติเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนา ต่างๆ แล้วนั้นสนับสนุนให้มีการนำ HIA ไปใช้อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมและการเสริมพลังแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าจะทำให้ได้โครงการพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับรายละเอียดของการประชุมหัวข้อต่างๆ ตลอดการประชุม HIA 2008 ประชาไทจะทยอยนำเสนอต่อไป
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

HIA 2008: การประชุมนานาชาติ ‘การประเมินผลกระทบสุขภาพ’ เริ่มแล้ว, ประชาไท, 23 เม.ย. 52

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net