Skip to main content
sharethis

 
 
 
 
ท่ามกลาง สงครามข่าวสาร ที่ถูกกำหนดโดยรัฐและสื่อมวลชนกระแสหลัก คนเสื้อแดงได้มีฐานะใกล้เคียงกับผู้ก่อการร้าย ภาพคนเสื้อแดงถูกมองอย่างเหมารวมและหยุดนิ่ง ด้วยข้อหาสำคัญอย่างเช่น เป็นคนของนักการเมือง ถูกจ้างมา สู้เพื่อทักษิณ ชอบความรุนแรง ถูกชักใยด้วยสหายเก่า เป็นผู้ทำร้ายประเทศไทย ฯลฯ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2552 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์การประชุมของแกนนำคนเสื้อแดง ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มเสรีชน” ซึ่ง เป็นคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่ร้านอุดมแอร์ ร้านซ่อมแอร์รถยนต์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตเทศบาล อ.วารินชำราบ ในเย็นวันนั้น ที่ฟุตบาทหน้าร้าน พื้นที่ข้างถนน ได้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมทางการเมืองของประชาชนกลุ่มหนึ่งอย่างน่าสนใจ
 
ที่มุมหนึ่งของฟุตบาทซึ่งกลายเป็นที่ประชุม คือที่ตั้งจอทีวี ซึ่งกำลังฉาย CD บันทึกเหตุการณ์ที่สมาชิกกลุ่มเสรีชนไปร่วมชุมนุมกับ นปช. ที่วัดไผ่เขียว กรุงเทพฯ เมื่อ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา นี่คือภาพจากกล้องวีดีโอของพวกเขา เห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหว พวกเขายังมีแผ่นบันทึกการเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วง สงกรานต์ และกิจกรรมอื่นๆ อีก หลากหลายแผ่น ที่ถูกหยิบขึ้นมาชมร่วมกันในโอกาสต่างๆ สื่อเหล่านี้อาจจะเป็นหลักฐานสำคัญของประวัติศาสตร์ ที่สามัญชนอย่างพวกเขาร่วมกันเขียน
 
ใน วันนั้นยังมีการฉายซีดี เปิดเผยเรื่องราวการสลายการชุมนุมเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่จัดทำโดย นปช. เสียงปืนของทหารจากภาพยนตร์ ดังกึกก้องผ่านลำโพงอย่างท้าทาย สลับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายอารมณ์ โอกาสนี้คนหลากหลายฐานะ ได้มาแลกเปลี่ยนข่าวสาร ในวันนั้นยังมีการพูดถึงคลิปภาพ คลิปเสียง หลากหลายชุด ที่มีเผยแพร่แลกเปลี่ยนกัน อาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารของพวกเขาได้ก้าวไปไกลเกินกว่าการผูกขาดความจริงที่รัฐคิดว่ายัง สามารถทำได้
 
อีก ด้านหนึ่ง ที่โต๊ะกินข้าวที่กลายเป็นที่ประชุม ซึ่งมีฉากหลังคือหม้อข้าวต้มที่กำลังตั้งเตาเลี้ยงแขกในเย็นนี้ และอีกด้านหนึ่งที่ริมถนนคือจุดวางขายเสื้อแดง ผู้ร่วมประชุมที่มาถึงมาลงทะเบียน มีการลงชื่อผู้บริจาคเงินสมทบกิจกรรม และที่สำคัญวันนี้มีการระดมทุน เพื่อต่อสัญญาเช่าเวลาวิทยุชุมชน
 
ศักดา จิตรมั่น หนุ่มน้อยเจ้าของกิจการซ่อมคอมพิวเตอร์ ที่กลายมาเป็นดีเจจำเป็นของกลุ่ม เล่าว่าวิทยุเป็นช่องทางที่สำคัญมาก เพราะชาวบ้านชอบฟังวิทยุ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน สถานีที่รัฐจัดว่าเข้าข่ายปลุกระดมถูกปิดหมด วันนี้กลุ่มเสรีชนจึงต้องหาสถานีวิทยุแห่งใหม่
 
ตอน นี้พวกเขาหาสถานีวิทยุชุมชนที่ให้เช่าเวลาได้แล้ว แม้จะยากสักหน่อย ได้ออกอากาศวันละ 1 ชั่วโมง เวลาดีตอนเย็นๆ จันทร์ถึงศุกร์ เสียค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท ตอนนี้มีแผนจะเพิ่มเวลาออกอากาศ แต่ก็ยังมีปัญหาคือ สถานีมีกำลังส่งที่รับฟังได้ในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าน้อยเกินไป วิทยุสำคัญอย่างไร ศักดาตอบว่ามันเป็นช่องทางให้ข้อมูล แก่ชาวบ้าน และใช้นัดหมายการทำกิจกรรมได้อย่างดี และเวลาจัดรายการเขาพูดอะไร “ผม ก็เอาข่าวคราวจากในเว็บ จากวิทยุ ทีวีคนเสื้อแดงเป็นหลัก ... เวลาดำเนินรายการก็เหมือนกับเล่าข่าว ใส่อารมณ์บ้าง ด่าบ้าง อย่างนี้ชาวบ้านชอบ”
 
กลุ่ม เสรีชน เป็นกลุ่มที่แยกมาจากสีแดงอีกกลุ่มหนึ่ง นายพรพิทักษ์ จันทาดี และนางรัตนา ผุยพรม สองสามีภรรยา เจ้าของร้านแอร์ที่กลายเป็นศูนย์ประสานงานของกลุ่มให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านั้น คนเสื้อแดงอุบลฯ มีอยู่กลุ่มเดียว ในอีกชื่อหนึ่ง กลุ่มเดิมที่ว่านี้มีกิจกรรมเปิดตัวมากๆ ก็คือ ช่วงเดียวกับที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายปี 2551 การเคลื่อนไหวมีการจัดกิจกรรมในจังหวัดอุบลฯ และชุมนุมหน้าศาลากลางหลายครั้ง และบ่อยครั้งไปสมทบการชุมนุมกับ นปช. ที่กรุงเทพฯ
 
แต่ กลุ่มเสรีชนได้แยกตัวออกมาจากกลุ่มเดิม เมื่อปลายๆ เดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่า ผู้นำกลุ่มเดิมมีพฤติกรรมหลายๆอย่างไม่น่าไว้วางใจ รัตนา ให้ข้อมูลว่า ทราบมาตั้งแต่ต้นว่า ผู้นำกลุ่มเดิมใกล้ชิดกับนักการเมืองท้องถิ่น แต่เธอไม่คิดว่านั่นคือปัญหาอะไร จุดที่เป็นปัญหาคือ พฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสของผู้นำกลุ่มเดิม ในเรื่องเงินที่ได้จากการบริจาค การที่ผู้นำไม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับมวลชน การไม่มีวินัย และไม่รับฟังเสียงมวลชนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเธอจึงได้แยกตัวออกมาเป็นอิสระ เธอยืนยันว่าสมาชิกในกลุ่มเสรีชนมาด้วยใจ ด้วยความเข้าใจ กลุ่มไม่มีผลประโยชน์ให้ และไม่ได้ทำงานรับใช้ใคร
 
เมื่อถามว่า เป็นการทะเลาะกันเรื่องเงินก็เลยแตกแยกกันหรือเปล่า “ไม่ เราแยกตัวออกมา เราจะไม่ซ้ำรอย เรามีคณะกรรมการ ตัดสินใจร่วมกัน โปร่งใส ..... เราอยู่ได้ด้วยเงินของพวกเรา ควักกันเอง บริจาคกันเอง มาดูได้เลย” ….แกน นำซึ่งเป็นครูในโรงเรียนประจำจังหวัดกล่าว พวกเขายืนยันว่า ในปัจจุบันกลุ่มเสรีชน เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใหญ่ที่สุดในอุบลฯ มีรายชื่อที่ลงทะเบียนพันกว่าคน มีเครือข่ายในอำเภอต่างๆ และเชื่อว่าสามารถระดมคนในการชุมนุมได้ไม่ต่ำกว่า 2- 3,000 คน เป็นกลุ่มที่ที่กล้าประกาศตัวว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยเจตนารมณ์ของกลุ่มอย่างแท้จริง
 
ต่อข้อสงสัยเรื่องจุดหมายการเคลื่อนไหว ที่สงสัยกันมากว่า เป็นการสู้เพื่อทักษิณรึเปล่า ผู้เขียนได้คำตอบด้วยอารมณ์ที่พรั่งพรู “เราสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม” พวก เขาอธิบายว่า ตอนนี้เป้าหมายการเรียกร้องมันเกินเลยจากทักษิณไปแล้ว และบอกว่าความคิดเช่นนี้เติบโตขึ้นจากการชุมนุมครั้งแล้วครั้งเล่า การถูกกระทำด้วยสองมาตรฐานจากรัฐ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างสม่ำเสมอ “นี่คือสิ่งที่เราได้ ได้รู้ความจริง ได้ตาสว่าง”
 
แต่ ก็ต้องยอมรับว่ามีการให้ความสำคัญกับทักษิณอยู่ไม่น้อย พวกเขายอมรับว่า ส่วนใหญ่ชื่นชอบในนโยบายและผลงานของทักษิณ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจดี นโยบายที่ทุกคนชื่นชอบก็คือ 30 บาทรักษาทุกโรค และสำหรับพ่อค้าแม่ขายคนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเขา ดัชนีชี้วัดก็คือเรื่องเงินกู้นอกระบบ ข้อเท็จจริงก็คือ สมัยทักษิณ เงินกู้นอกระบบแทบหมดไปจากที่นี่ (แต่ตอนนี้เป็นหนี้นอกระบบกันจะแย่แล้ว) ทว่าในกลุ่มพวกเขาก็ยังมีความเห็นทางการเมืองหลากหลาย สำหรับบางคนบอกว่า เคยเลือกประชาธิปัตย์มาโดยตลอด บางคนชื่นชอบสนธิ ลิ้มทองกุล แต่ที่เหมือนกันพวกเขาบอกว่ามันเปลี่ยนไป “เป้าหมายสำคัญของเราคือประชาธิปไตย”
 
ก่อน การประชุมจะเริ่มผู้เขียนได้มีโอกาส คุยกับหลายคน บางคนเป็นอดีตทหารพรานขาพิการมาเปิดร้านปะยางรถ เขาไปร่วมประชุมที่กรุงเทพหลายครั้ง ปิดร้านขาดรายได้ และควักกระเป๋าตัวเอง ทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง เล่าเรื่องเบื้องหลังการตายของพลทหารอภินพ เครือสุข ด้วยความสลดใจ ฯลฯ รวมความแล้วแกนนำที่มาประชุมในวันนี้ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นคนค้าขาย/รับจ้าง/เจ้าของกิจการรายย่อย (อาจเรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่างลงมา) แต่ก็มีคนหลากหลายฐานะและอาชีพด้วย เช่น บรรดาข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ เจ้าของรานค้ารายใหญ่ ที่น่าสนใจอีกคือ ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป และผู้หญิงมีจำนวนไม่น้อยอีกทั้งมีบทบาทสูง
 
ตก ค่ำการประชุมเริ่มขึ้นโดยผู้เข้าร่วมประมาณ 20 คน การประชุมในวันนี้มีวาระสำคัญคือ การเลือกตั้งคณะกรรมการกลุ่มชุดใหม่ การปรับระบบการดูแลการเงินให้รอบคอบ และวางแผนจัดเวทีให้ข้อมูลแก่มวลชน การประชุมค่อนข้างเคร่งเครียด มีการทุ่มเถียงอย่างจริงจัง สังเกตได้ว่ามีฝักฝ่าย มีความไม่พอใจกันอยู่ลึกๆ แต่ก็เป็นธรรมดาของวงประชุมที่มีคนหลากหลาย และประชุมกันในฐานะเท่าเทียมกัน การประชุมจบลงอย่างไม่มีข้อสรุป และต้องนัดมาคุยกันใหม่
 
จาก เรื่องราวที่นำเสนอมา ผู้อ่านอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป (บางคนอาจเตือนว่าโปรดฟังอย่างมีวิจารณญาณ) แต่ผู้เขียนเสนอว่า อย่างน้อยที่สุดมันได้นำเราไปสู่ ข้อถกเถียงและข้อคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับคนเสื้อแดง
 
กลุ่ม เสรีชน แม้จะมีที่มาจากกลุ่มที่ใกล้ชิดกับนักการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการจัดตั้งในระบบอุปถัมภ์ และเป็นการต่อสู้เพื่อบุคคล (อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็ถกเถียงกันได้ว่า เป็นปัญหาต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่) แต่การแยกตัวออกมาของกลุ่มแสรีชนก็แสดงให้เห็นพัฒนาการทางความคิดและการต่อ สู้หลายๆอย่าง
 
การ แยกตัวออกมานั้น อาจมองได้ว่าเป็นจุดแบ่งของพัฒนาการทางความคิด คือพวกเขาเป็นฝ่ายเลือกว่า การนำมวลชนเคลื่อนไหวควรจะมีเป้าหมายและรูปแบบอย่างไร (คือรับไม่ได้กับความคิดและพฤติกรรมของแกนนำคนเก่า แม้ว่าจะมีอิทธิพลสูงในการกำหนดการเคลื่อนไหวในจังหวัดนี้) ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ในความสัมพันธ์แนวดิ่ง แต่ชาวบ้านเป็นผู้กระทำการที่ตื่นตัว เป็นฝ่ายต่อรอง และปัจจัยด้านอุดมการณ์มีผลสูงต่อการตัดสินใจของพวกเขา
 
ท่ามกลางความเป็นไปนี้ ผู้เขียนเห็นว่า มีกระบวนการเรียนรู้ที่หล่อหลอมพวกเขา - เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่ช่วย “เผยความจริง” อย่าง ไม่อาจปิดกั้น คือปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง ในขณะที่การผ่านการชุมนุมอย่างต่อเนื่องก็คือการบ่มเพาะทางปัญญา และเครื่องมือในมุมกลับ ก็คือการกระทำสองมาตรฐานของรัฐและแนวร่วม ซึ่งยิ่งช่วยตอกย้ำให้พวกเขาเห็นความไม่ยุติธรรมมากขึ้น - ทั้งหมดนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า คำพูดประเภท “สู้เพื่อประชาธิปไตย” “การต่อสู้ไปไกลกว่าทักษิณแล้ว” ไม่ใช่แค่คำพูดติดปาก แต่มาจากการตกผลึกทางความคิด ไม่มากก็น้อย
 
(ถึง ตรงนี้ก็อดไม่ได้ ที่จะเปรียบเทียบ การเติบโตของกลุ่มเสรีชน กับกลุ่มชาวบ้านภายใต้การจัดตั้งของนักพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เอาแต่ปฏิเสธการเมือง สร้างจริตของความสมานฉันท์ หรือวัฒนธรรมเก่าแก่ แล้วก็ขีดเส้นให้ชาวบ้านเดิน น่าเสียดายงบประมาณมหาศาล และการทำงานที่กลายเป็นบันไดธุรกิจหาตำแหน่งหรืองบประมาณของผู้นำ)
 
การ ประชุมข้างถนน การระดมเงินบริจาค การประชุมที่ไม่ค่อยราบรื่นนัก เราอาจมองได้ว่าคือความพยายามในการสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ผู้เขียนเห็นว่านี่คือ การปฏิเสธระบบอุปถัมภ์ ที่เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง ไม่มีส่วนร่วม และตรวจสอบไม่ได้ แต่พยายามสร้างความสัมพันธ์ในแนวระนาบ ให้มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ และมีการรับผิดชอบ (accountability) ประเด็นเรื่องเงินที่คุยกันหนักในวันนั้น จึงมีนัยสำคัญว่า จะรักษาความเป็นอิสระในการเคลื่อนไหว (จากผู้อุปถัมภ์ทางการเงิน) ได้อย่างไร และจะตรวจสอบภายใน องค์กรได้อย่างไร ซึ่งถ้าพวกเขาผ่านตรงนี้ไปได้ องค์กรจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง
 
เมื่อ มองการเคลื่อนไหวในระดับชาติของคนเสื้อแดง ในที่ชุมนุมใหญ่ย่อมมีกลุ่มแดงย่อยๆ หลากหลาย รวมทั้งกลุ่มแบบเสรีชนจำนวนไม่น้อย จึงเป็นการเข้าใจผิดที่คิดว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นม็อบรับจ้าง และคิดว่าแกนนำผู้ถือไมโครโฟนจะกำหนดการเคลื่อนไหวได้ตามอำเภอใจ กลุ่มเสรีชน ประกาศชัดว่าไปร่วมสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้ามีอะไรไม่น่าไว้วางใจก็พร้อมจะถอนตัว การเคลื่อนไหวในระดับชาตินี้เราจึงเห็นการต่อรอง (ไม่มากก็น้อย) ของกลุ่มย่อยๆ กับแกนนำ ซึ่งมีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวต้องถูกกำกับด้วยเป้าหมายร่วมที่ชอบธรรมบาง ประการ ไม่เช่นนั้นการชุมนุมก็ไปไม่รอด
 
เรา คงต้องการความรู้ความเข้าใจคนเสื้อแดงอีกมาก แต่ที่แน่ๆ การกักขังภาพพจน์คนเสื้อแดงให้เป็นลบอย่างหยุดนิ่งตายตัว เป็นความรุนแรงชนิดหนึ่ง อีกทั้งปิดกั้นความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม
 
ไม่ว่าจะชอบพวกเขาหรือไม่ก็ตาม วันนี้คนเสื้อแดงมีนัยสำคัญสูงต่อการการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net