Skip to main content
sharethis

 

ภาพเผยแพร่โดยไม่ระบุวันที่ของจอห์น วิลเลียม ยีททอว์ (John William Yettaw) ซึ่งถ่ายภาพตัวเขาเอง (บน) และ ตีนกบแบบทำเอง ที่เขาอ้างว่าใช้สิ่งนี้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยา ไปยังบ้านพังนางอองซาน ซูจี เมื่อ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Reuters/Handout)
 
 
ภาพเผยแพร่ของสำนักข่าวพม่า (MNA) ถ่ายเมื่อ 13 พ.ค. และเผยแพร่เมื่อ 14 พ.ค. เป็นภาพนายจอห์น วิลเลียม ยีททอว์ (John William Yettaw) (คนนั่งโต๊ะ หันหน้าเข้ากล้อง) กำลังสนทนากับกงสุลที่ 2 ของสถานทูตสหรัฐ โคลิน เสิร์ท (Colin P. Surst) (คนที่สองจากซ้าย นั่งหันหลัง) รายรอบด้วยเจ้าหน้าที่พม่าและตำรวจพิเศษ ที่ศูนย์ควบคุมกลาง Aung Thaeyey ของตำรวจในย่างกุ้ง ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่าควบคุมตัวตัวออง ซาน ซู จี พร้อมผู้ช่วยเหลือ 2 คนไปยังเรือนจำอินเส่งเพื่อดำเนินคดี หลังชาวอเมริกันว่ายน้ำบุกบ้านของเธอ ขณะที่ชายผู้บุกรุกและหมอประจำตัวซูจีจะถูกดำเนินคดีพร้อมกันด้วย (ที่มา: Getty Images/Handout)
 
 
 
ทางการพม่าควบคุมตัว “ออง ซาน ซู จี” พร้อมผู้ช่วยเหลือ 2 คนไปยังเรือนจำอินเส่งเพื่อดำเนินคดี กรณีชายชาวอเมริกันบุกบ้านของเธอเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ชายผู้บุกรุกและหมอประจำตัว “ซู จี” จะถูกดำเนินคดีพร้อมกันด้วย
 
สำนัก ข่าวเอพีและรอยเตอร์รายงานว่านางออง ซาน ซู จี ผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ถูกตำรวจพม่านำตัวไปยังเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้งเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา (14 พ.ค.) ซึ่งเธอจะถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่ชายชาวอเมริกันชื่อ จอห์น วิลเลียม ยีททอว์ ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและบุกเข้าไปในบ้านของเธอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
 
นาย จี วิน ทนายความของนางซู จี กล่าวว่า นางซู จี ไม่ได้เชิญให้ชายผู้นั้นเข้าไปในบ้าน ซึ่งเธอถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณอยู่ และเธออาจถูกตั้งข้อหาด้านความมั่นคง ซึ่งระบุลงโทษผู้ที่ถูกกักบริเวณที่ละเมิดข้อห้ามให้จำคุก 3-5 ปี
 
หากนางซู จี ถูกลงโทษจำคุกก็ยิ่งเป็นการขยายเวลาการที่เธอถูกควบคุมตัว ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ให้นานออกไปอีก และที่ผ่านมาคณะผู้นำทหารพม่าถือว่าเธอเป็นภัยคุกคามระบอบปกครองของพวกเขา อ้างเหตุผลที่จะขยายเวลากักบริเวณเธอ ซึ่งนักกฎหมายนานาชาติระบุว่าเป็นการละเมิดกฎหมายของพม่าเอง
 
นาย จี วิน เปิดเผยว่านางซู จี บอกว่าเธอได้บอกให้นายยีททอว์ออกไปจากบ้าน แต่เขาบอกว่ารู้สึกเหนื่อยและต้องการพักผ่อน ซึ่งเธอได้โต้แย้งกับเขา จากนั้นเขาได้นอนหลับบนพื้นห้อง ซึ่งหนึ่งในกฎระเบียบที่เข้มงวดมากของทางการพม่าต่อผู้ที่ถูกกักบริเวณก็คือ เมื่อมีบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวเข้ามาค้างคืนที่บ้านจะต้อง แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการทราบ นอกจากนี้กฎหมายยังระบุห้ามชาวต่างชาติพักค้างคืนในบ้านของชาวพม่า
 
นาย จี วิน ระบุว่านางซู จี จะถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านหลังหนึ่งในเรือนจำอินเส่ง เพื่อเธอจะได้อยู่ใกล้กับศาล เรือนจำดังกล่าวใช้เป็นที่คุมขังทั้งนักโทษในคดีอาชญากรรมและนักโทษการเมือง ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าการทรมานและปฏิบัติต่อนักโทษอย่างไม่เหมาะ สมเป็นเรื่องปรกติของเรือนจำแห่งนี้
 
ทั้งนี้ ผู้ช่วยเหลือนางซู จี 2 คนคือ นางขิ่น ขิ่น วิน วัย 65 ปี และลูกสาวคือวิน มามา วัย 41 ปี ซึ่งได้อาศัยอยู่กับนางซู จี ตั้งแต่ถูกกักบริเวณครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003 จะถูกดำเนินคดีด้วย รวมถึงนายยีททอว์และนายแพทย์ทิน โม วิน แพทย์ประจำตัวเธอ โดยนายแพทย์ผู้นี้ถูกจับตัวไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลังจากที่นายยีททอว์ถูกจับกุม
 
นางซู จี ถูกกักบริเวณมาเป็นเวลา 13 ปี ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรง แม้นานาชาติพยายามกดดันให้ทางการเลิกพม่ากักบริเวณเธอ แต่ก็ไม่เป็นผล
 
เมื่อ สัปดาห์ที่แล้วนางซู จี มีอาการป่วยเนื่องจากขาดน้ำและความดันโลหิตต่ำ แต่ล่าสุดเธอบอกกับนายจี วิน ให้บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเธอสบายดี แต่แม้กระนั้นเขาก็ยังเป็นห่วงเธอ
 
ขณะเดียวกันนายโคลิน เสิร์ท กงสุลอเมริกันในกรุงย่างกุ้ง ได้รับอนุญาตให้เข้าพบนายยีททอว์ที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งเป็นเวลา 30 นาที เมื่อวันพุธ ซึ่งนายยีททอว์บอกว่าเขาได้รับการปฏิบัติอย่างดี ส่วนสถานทูตสหรัฐได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่พม่าว่ารัฐบาลสหรัฐสนใจคดีนี้ และมีความวิตกเกี่ยวกับสุขภาพของนายยีททอว์และการปฏิบัติต่อเขา
 
 
 
 

ที่มา: โลกวันนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net