Skip to main content
sharethis

ที่บ้านท่าสนุก อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นชุมชนเล็กๆ มีอาชีพ ประมงชายฝั่ง ทำสวน และรับจ้างทั่วไป บางบ้านยังไม่มีส้วมใช้ จึงมีการ "ลงแขกสร้างส้วม" สร้างส้วมให้บ้านนี้เสร็จแล้วก็พากันไปลงแขกบ้านโน้นต่ออีก

 

 
 
 
“ส้วม” ทำหน้าที่อะไรได้อีกบ้าง...นอกจากรองรับอารมณ์และรับการขับถ่าย??
 
สุขา หรือ ส้วม หรือเรียกให้สุภาพ คือ ห้องน้ำ นั้น ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ไม่ต่างกัน สถานที่ปลดทุกข์ บรรเทาทุกข์ แอบร้องไห้ยามเสียใจ หรือแม้แต่สร้างความสุข...เย็นสดชื่น หลังอาบน้ำเสร็จ
 
แต่ถ้าไม่มี “ส้วม” ล่ะ? อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าอยู่ในหมู่บ้านสภาพบ้านอยู่ห่างกัน ก็วิ่งเข้าป่า หรือแอบตามต้นไม้ใหญ่ๆ แต่วิถีชีวิตของคนเมือง เข้าป่าไม่ได้ ดังนั้น “ส้วม” จึงเป็นปัจจัยหนึ่งของชีวิตคนเมือง
 
ในหมู่บ้านที่ไม่มีส้วม ไม่ได้หมายความว่าหมู่บ้านนั้นไม่มีความศิวิไลซ์ หากแต่ “ส้วม” ในคำนิยามของชาวบ้าน ...มีไว้แค่ถ่ายเบาและถ่ายหนัก ...ทำหน้าที่เพียงแค่นี้...จริงๆ
 
นัยยะของความเป็นส้วมของคนเมืองมิได้เป็นที่ขับถ่ายอีกต่อไป แต่มันสะท้อนรสนิยมความหรูเลิศ (ฟุ่มเฟือย) อันศิวิไลซ์ของเจ้าของ “ส้วม”
 
ที่หมู่บ้านท่าสนุก ต.มะรุ่ย อ.ทับปุด จ.พังงา เป็นชุมชนเล็กๆ มีอาชีพ ประมงชายฝั่ง ทำสวน และรับจ้างทั่วไป
 
“ส้วม” ที่ หมู่บ้านนี้ ทำหน้าที่ไม่ต่างจากส้วมหมู่บ้านอื่นๆ แต่บางบ้านก็ไม่มีส้วม...ขนาดของส้วมที่นี่สูงไม่เกิน 2 เมตร สัดส่วนความกว้างก็พอที่จะให้เราหันซ้ายหันขวาได้เท่านั้น ผนังของส้วมบางแห่งเป็นกระสอบปุ๋ยล้อมทั้งสี่ด้าน หรืออาจจะเป็นสังกะสีเก่าๆ ...ที่ดีขึ้นมาอีกนิดก็เป็นอิฐบล็อก หรือ มีผนังกั้นแต่ไม่มีประตู... แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ขอให้มันได้ทำหน้าที่ก็เพียงพอแล้ว
 
ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งในหมู่บ้านท่าสนุกที่ยังไม่มี “ส้วม” โครงการ สุขาแสนสุข หรือ โครงการสร้าง สุขา ที่บ้านท่าสนุก เกิดขึ้นเมื่อ กลางปี 2551 พร้อมกับเงินกองทุนสนับสนุนสำหรับการสร้างส้วม แสนกว่าบาท จากองค์กรไดเร็คดีลีฟประเทศอเมริกาที่ทำงานด้านสุขภาวะ , เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน (SAN) และองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน(ARR) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนากับชาวประมงพื้นบ้าน
 
เงิน กองทุนสร้างส้วมจำนวนนี้ไม่ได้แจกให้สร้างส้วมแบบให้เปล่า แต่ให้เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการสร้างส้วม สมาชิกในชุมชนใดต้องการมีส้วมหรือซ่อมแซมส้วมให้แจ้งความจำนงตามลำดับ และให้สมาชิกกู้เงินไปสร้างส้วมแล้วค่อยผ่อนชำระคืน เงินที่ผ่อนชำระคืนมาจะเป็นเงินทุนสำหรับการสร้างส้วมให้กับสมาชิกคนอื่นต่อ ไป
 
 
 

 
ส้วมที่จะได้มีขนาดส้วมกว้าง2 เมตรยาว2.5 เมตรสูง2 เมตร ส่วนแรงงานที่สร้างส้วมนั้น ได้จากการ “ลงแขก” ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินเรื่องการ “ลงแขกเกี่ยวข้าว” กรณีการ “ลงแขกสร้างส้วม” ที่บ้านท่าสนุกก็ไม่ต่างกัน ลงแขกสร้างส้วมให้บ้านนี้เสร็จแล้วก็พากันไปลงแขกบ้านโน้นต่ออีก
 
ตอน นี้กองทุนและการลงแขกสร้างส้วมได้ทยอยสร้างความสุขให้กับชาวบ้าน 10 หลังแล้ว และสร้างเป็น ส้วมของศูนย์การศึกษาเรียนรู้ชุมชนบ้านท่าสนุก อีก 2 หลัง
 
นายบรรดิษฐ์ ติงหวัง เจ้าหน้าที่สนามองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน บอกว่า “ใช้ กิจกรรมการสร้างส้วมหรือห้องน้ำนี้เป็นเงื่อนไขให้ชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจ กัน จะได้ช่วยเหลือกัน และที่สำคัญทำให้ชาวบ้านหันหน้ามาพูดกันมากขึ้น บางคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง แต่มาใช้บริการการสร้างส้วม ก็เข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มบ่อยขึ้น และยังไม่มีที่ไหนทำกองทุนส้วมหมุนเวียน ที่บ้านท่าสนุกเป็นแห่งแรก”
 
ลองตั้งสมการแบบง่ายๆ ว่า
 
ระบบทุนนิยม เท่ากับ ส้วมแบบปัจเจก
 
ระบบสังคมนิยม เท่ากับ ส้วมชุมชน ส้วมแห่งการเรียนรู้ปัญหาร่วมกัน
 
“ส้วม” ที่บ้านท่าสนุกจึงไม่ใช่ “ส้วม” เชิงปัจเจกแบบส้วมคนเมือง ใครจะคิดว่า “ส้วม” ที่ใช้รองรับการขับถ่ายนั้นจะทำหน้าที่ดึงบรรยากาศการลงแขก-การรวมคนกลับมาได้อีก
 
….ใครคิดว่า “ส้วม” ไม่สำคัญ ...
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net