Skip to main content
sharethis

 

(15 พ.ค.52) การจัดสัมมนาเรื่อง วิทยุชุมชน/เคเบิลทีวี: มาตรการในการอนุญาตและควบคุมดูแลการกระจายเสียงและแพร่ภาพ” จัด โดยคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสมาคมสิทธิผู้บริโภคและองค์กร โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพ
 
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสาธารณะในการเปิดกว้างให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน และผู้ประกอบกิจการเคเบิ้ลทีวี ในการระดมความคิดเห็นข้อมูลด้านวิชาการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเสริม สร้างการพัฒนาความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน และ เคเบิ้ลทีวี ตลอดจนกระบวนการกำกับดูแลของภาครัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง แนวคิดการปฏิรูปกิจการแพร่ ภาพกระจายเสียงภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันว่าหลังจากพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ โดยมีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ทำหน้าที่ดูแลตามบทเฉพาะกาล และมีการตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มาทำหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งประเภทบริการชุมชน บริการสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถมีโฆษณาได้
 
คาดว่าจะมีหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งในส่วนของวิทยุชุมชนกว่า 7,000 แห่ง จะต้องลงทะเบียนขอใบอนุญาตชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เมื่อมีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เกิดขึ้นแล้ว จะมีการจัดสรรคลื่นใหม่ รวมทั้งคลื่นที่หมดสัมปทาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อไป
 
นาย สาทิตย์ กล่าวด้วยว่า หลังมีองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ความถี่แล้ว ยังต้องมีการกำกับดูแลเชิงเนื้อหา เพราะมีบางสถานีที่นำเสนอข่าวสารด้านเดียว ทำให้ไม่เกิดความหลากหลายของข่าวสาร จึงต้องมีกลไกกำกับดูแลการบริโภคสื่อ ตลอดจนส่งเสริมเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมสื่อที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ต่อไป
 
ด้านนายกนกศักดิ์ ลิขิตไพวัลย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ อภิปรายเรื่อง ความเป็นมาและเป็นไปที่แท้จริงของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ภาคประชาชนว่า 11 ปีที่ผ่านมานับแต่ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบันการปฏิรูปสื่อยังไม่เป็นจริง องค์กรอิสระ (กสทช.) ยังไม่เกิด ทำให้ยังไม่มีการจัดสรรคลื่นให้ประชาชน
 
นายก นกศักดิ์กล่าวถึงการประกาศหลักเกณฑ์วิทยุชุมชนชั่วคราว เพื่อออกใบอนุญาตให้แก่วิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณาในเร็วๆ นี้ว่า ไม่เห็นด้วยเพราะหาก กทช.ให้ใบอนุญาตจะทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย เนื่องจากจะทำให้วิทยุชุมชนที่เป็นธุรกิจจะกลายเป็นวิทยุเถื่อนไม่มีกฎหมาย รองรับ ไม่มีหลักประกันใดๆ และไม่เชื่อว่าจะมีการอนุโลมให้วิทยุชุมชนธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่มีใบอนุญาต และมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ
 
1.ให้กทช.ชะลอหรือหยุดการให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราว จนกว่าจะมี กสทช. 2.ให้คุมกำเนิดวิทยุชุมชนคือ ไม่ให้มีวิทยุชุมชนรายใหม่เกิดขึ้นระหว่างที่ยังไม่มี กสทช. 3.ให้ตั้งสภาภาคประชาชนโดยใช้ชื่อ สภาองค์กรวิทยุ-โทรทัศน์และเคเบิลทีวีท้องถิ่นแห่งชาติ
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายนายกนกศักดิ์ ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาขึ้นทะเบียนร่วมกันเป็น วิทยุธุรกิจชุมชน ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net