ไทยโพสต์ แทบลอยด์ สัมภาษณ์ “ญาติวีรชน พฤษภา35”: ทหาร (ต้อง) ออกจากการเมือง

ชื่อเดิม: ทหารออกจากการเมือง อดุลย์ เขียวบริบูรณ์
 
 
"ภาค ประชาชนได้พัฒนาไปเกินกว่าภาคการเมือง และกองทัพ ... การเมืองจะไม่สามารถหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป และกองทัพยิ่งจะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัว หรือการจะแทรกแซงอำนาจในสิ่งที่องค์กรของตัวเองไม่ควรจะทำ ... ผมเชื่อว่าพลังบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้น ในสีเหลืองกับสีแดง วันใดที่เขาพัฒนาและมองว่าอยากจะปฏิรูปการเมืองให้เป็นการเมืองเพื่อประชาชน เมื่อนั้นผมไม่เชื่อว่าจะมีสีอะไรที่แปลกประหลาดจะต้านทานอำนาจตรงนี้ได้ เพราะนี่คือของแท้ของประชาชน"  อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35
 
 
17 ปีผ่านไปหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเวียนมาครบในวันที่ 17 นี้พอดีกับที่มีข่าวพบตู้คอนเทนเนอร์และหัวกะโหลกปริศนาที่ช่องแสมสาร
 
17 ปีผ่านไป หลังการต่อสู้เรียกร้องนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง แล้วเวียนกลับมาสู่รัฐประหาร สู่ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม จนดูเหมือนจะลืมเลือนเจตนารมณ์ของการต่อสู้ในอดีตหมดสิ้น
 
ณ วันนี้ เจตนารมณ์พฤษภาได้ถูกยกขึ้นมาทวงถามอีกครั้งโดยญาติวีรชน ว่า "กองทัพต้องออกไปจากการเมือง" เพื่อให้ภาคประชาชนและประชาธิปไตยพัฒนาต่อไปโดยไม่มีการแทรกแซง
 
นั่นคือความมั่นคงยืนหยัดของพ่อแม่ ญาติพี่น้องผู้สูญเสีย ซึ่ง 17 ปีได้เปลี่ยนพวกเขาจากคนทำมาหากินที่ไม่เคยรู้เรื่องการเมือง ให้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยโดยจิตวิญญาณ
 
 
หวังพบผู้สูญหาย
 
สนทนากันที่บ้านพี่อดุลย์ ซึ่งเป็นตลกร้ายว่าอยู่ข้างบ้านหลังใหญ่เนื้อที่ 3 ไร่ของอดีต ผบ.ทบ.ในเหตุการณ์ พี่อดุลย์บอกว่าลูกชายซื้อบ้านให้อยู่ 2 คนตายาย โดยไม่รู้มาก่อนว่าอยู่ใกล้บ้านใคร
 
"ไม่รู้ หรอกว่าบ้านเขาอยู่ที่นี่ ไม่รู้จริงๆ แต่โอเคน่า คนเราก็อโหสิกรรมไป คนของเราตายแต่เขาเองก็ตายทั้งเป็น มันต่างกันตรงไหน มันก็รับกรรมด้วยกันทั้งคู่ ถือว่าเป็นเวรกรรมที่เราทำมา ก็อาจจะเป็นกรรมติดตัวมาชาตินี้ ต้องคิดอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นทำใจยาก ส่วนเขาเองหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว ใครจะทราบว่าเขาจะเป็นอย่างนี้ ถือว่าเขาก็กรรมติดตัวเช่นกัน มีประโยชน์อะไรตายทั้งเป็นเหมือนกัน อย่างกรณีสุจินดาผมก็ดูว่าเขาไม่ต่างจากผมเท่าไหร่นัก ในความคิดผม ก็มองอย่างนี้"
 
ในความหวังที่จะได้พบศพผู้สูญหาย ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนลำดับเหตุการณ์ให้ฟังว่าได้เค้ามูลมาอย่างไร แม้จะเลือนรางเต็มที
 
"พอเกิดเหตุการณ์สิ่งที่เราขอไว้มีอยู่ 3 ประเด็น คณะกรรมการญาติฯ ที่ประกอบด้วยญาติผู้เสียหาย บาดเจ็บ พิการ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้สูญหาย รวมเป็นคณะกรรมการญาติฯ เราตั้ง 3 ข้อ ข้อแรกก็คือ ให้รัฐบาลรับผิดชอบในเหตุการณ์และหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงการติดตามผู้เสียหาย ข้อที่สอง-รัฐบาลต้องดูแลติดตามผู้เสียหาย ดูแลครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ข้อที่สามคือ ต้องมีการจัดสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์เดือนพฤษภา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามของผู้มีอำนาจรัฐ จะไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพจะต้องไม่ทำอะไรที่เกินเลย และจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก นี่คือสามข้อเรียกร้องที่มีมาตลอด"
 
"พอมาปี 2536 วันที่ 11 มิ.ย. รัฐบาลคุณชวนอนุมัติเป็นมติ ครม. ให้กรมธนารักษ์มอบที่บริเวณสวนสันติพร เป็นที่จัดสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์เดือนพฤษภา ส่วนงบประมาณในการดำเนินการอยู่ในระหว่างการเจรจา หลังคุณชวนพ้นจากรัฐบาลไป คุณบรรหารก็งึกๆ งักๆ อยู่เลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น การจัดสร้างก็เงียบหาย กระทั่งสมัย พล.อ.ชวลิต เมื่อปี 2540 มีความพยายามที่จะหาคนหาย เข้าไปค้นบริเวณกองทัพก็ไม่สำเร็จ พล.อ.ชวลิตก็พยายามเปิดโอกาสให้ญาติเข้าไปค้นหาได้ในเขตกองทัพ แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นมาก็เป็นรัฐบาลคุณชวนอีกครั้ง"
 
"สมัย คุณทักษิณได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์พฤษภา รวมทั้งค้นหาคนหาย มีคุณจาตุรนต์เป็นประธานกับร่วมอีกหลายท่าน แต่ปรากฏว่าหลังจากคุณจาตุรนต์ดำเนินการไปสัก 6-7 เดือน ก็ได้ยินว่าเจอตอและไม่สามารถเดินต่อได้ รวมทั้งมีความพยายามที่เหมือนกับขู่คณะกรรมการชุดนี้ พอข่าวออกมาอย่างนี้ คณะกรรมการญาติฯ ก็รู้สึกว่าคงไม่ถึงแน่ ปล่อยอย่างนี้คงทำอะไรไม่ได้เพราะทำงานไม่ได้เลย เราจึงตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นแล้วต้องให้รัฐบาลหาคณะทำงานใหม่ ที่คิดว่ามีความแข็งแกร่งและมีความเป็นกลาง เลยเสนอไป ซึ่งตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่าองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวรัฐมนตรีจาตุรนต์กับคนเดือนตุลาหลายคนที่อยู่ในรัฐบาล และคนเดือนตุลาที่อยู่ข้างนอกด้วย ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงในปัจจุบันก็สนับสนุนบีบรัฐบาล จนคุณทักษิณต้องตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นต้องตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ขึ้น ซึ่งจะมีศักยภาพพอที่จะทำงานนี้ได้"
 
"องค์กร ประชาธิปไตยประชุมกันอยู่หลายครั้ง ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าต้องเชิญอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน กับอาจารย์หมอประเวศ ราษฎรอาวุโสมา น่าจะมีศักยภาพพอเพียง เนื่องจากท่านนายกฯ อานันท์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลหลังเหตุการณ์พอดี ก็คิดชื่อหลากหลายกระทั่งได้ทั้งหมด 6 ชื่อ เพราะ 1 ใน 7 ต้องมี อ.วิษณุ เครืองาม เลขาธิการ ครม.เป็น โดยตำแหน่งอยู่แล้ว คนแรกก็คือท่านนายกฯ อานันท์ คนที่สอง-ท่านอาจารย์หมอประเวศ ท่านที่สามคือ ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ตอนนั้นท่านเพิ่งพ้น
จาก กกต. ท่านอาจารย์คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด พล.อ.สายหยุด เกิดผล และอาจารย์กฤติยา อาชวนิจกุล จากมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกท่านก็ตอบรับ ท่านนายกฯ อานันท์ทีแรกยืนกรานว่าไม่รับ ต้องไปคุยกับท่านหลายๆ ครั้ง องค์กรประชาธิปไตยก็กดดันท่านมากทีเดียว จนในที่สุดท่านเมตตา แต่บอกว่ามีเงื่อนไขคือคนเชิญต้องเป็นรัฐบาล คือนายกฯ ทักษิณ เงื่อนไขที่สองคือ ท่านขอความเป็นอิสระในการสะสาง ทั้งกรณีชดใช้เยียวยาจิตใจผู้เสียหาย รวมทั้งค้นหาคนสูญหายด้วย โดยรวมเงื่อนไขญาติจะต้องไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการอิสระ ญาติเป็นผู้สังเกตการณ์ทุกครั้ง แต่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง ยกเว้นได้รับอนุญาตให้ถามความเห็นหรือข้อมูล ญาติก็ตกลง จากนั้นรัฐบาลทักษิณก็ออกหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ ก็ประกาศเป็นมติ ครม.กำหนดขอบเขตอำนาจต่างๆ ออกมาเมื่อ ก.ค.45 กำหนดเป้าหมาย ขอบเขตอำนาจ มีอำนาจในการสอบสวนทุกองค์กรของรัฐบาล ไม่ว่ากองทัพหรือข้าราชการ รวมทั้งพิจารณาชดใช้ความเสียหายและเยียวยา หลังจากที่ทำงานไปประมาณปีเศษก็ได้ข้อสรุปออกมา ท่านอานันท์ได้นำเสนอเรื่องนี้ให้ทางรัฐบาล มีมติเมื่อ 30 ธ.ค.46 ว่ารัฐบาลรับเงื่อนไขของคณะกรรมการอิสระ ทั้งหมดที่เสนอไป 14 ข้อ รับ 11 ข้อ อีก 3 ข้อไม่รับ"
 
"สิ่งที่รับก็คือกำหนดให้ทุกวันที่ 17 พ.ค.เป็นวันพฤษภาประชาธรรม โดยไม่ต้องเป็นวันหยุด รวมทั้งรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดงานประจำทุก ปี และเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้วย ข้อที่สอง-จะต้องมอบหมายให้มูลนิธิฯ เป็นผู้จัดสร้างอนุสรณ์เหตุการณ์พฤษภา โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ข้อที่สาม-ให้พิจารณาค่าเสียหายชดใช้และเยียวยากับผู้เสียหาย แต่ตัวเงินไม่ได้พูดถึง พูดในหลักอย่างเดียว ข้อสี่-เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในอนาคต จึงกำหนดว่าการที่กองทัพจะเคลื่อนการใช้กำลังจะต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.และรัฐบาล นายกฯ ในฐานะผู้เกี่ยวข้อง โดยมีมาตรการ ไม่ใช่จู่ๆ ก็ออกมา ข้อห้า-กำหนดให้หน่วยงานที่จะออกมาควบคุมฝูงชนต้องใช้หน่วยงานที่ได้รับการ ฝึกมาโดยเฉพาะ รวมถึงจะต้องใช้มาตรการจาก 1 2 3 4 จากเบาไปหาหนัก แต่ว่ายังไม่อนุญาตให้ใช้กระสุนจริง และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเป็นตำรวจเป็นหลัก หลายๆ เรื่องที่ออกมาก็เป็นการป้องกันในลักษณะนี้"
 
"แต่มีอยู่ 3 ข้อที่ไม่รับ จำได้ข้อหนึ่งเป็นข้อที่ใหญ่มาก ก็คือญาติเรียกร้องให้รัฐบาลลงสัตยาบันกฎหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กฎหมายคดีอาญาระหว่างประเทศของผู้นำรัฐบาลที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ICC-International Criminal Court) รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอาจจะไปละเมิดอำนาจอะไรบางอย่าง ส่วนกรณีคนหายหลังจากที่ตรวจสอบมา 1 ปี เข้าไปดูในสถานที่ที่กองทัพพาไปดู ซึ่งเราก็รู้ว่าไม่มีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เพราะข้อมูลต่างๆ ถูกตัดตอนหมด จึงได้บันทึกไว้เป็นข้อแม้ว่าทุกครั้งที่มีข้อมูลและเบาะแสใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภา รัฐบาลจะต้องทำการตรวจพิสูจน์ทันที นี่คือเงื่อนไข จึงเป็นที่มาของญาติที่ไปยื่นหนังสือเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา"
 
 
ข้อมูลลึกลับ
 
เบาะแสที่ว่านี้ไม่ได้ยุติไปพร้อมกับการยุติคณะกรรมการอิสระ ความหวังของญาติยังมีอยู่แม้เลือนราง
 
"คงจะ จำข่าวได้ว่าครั้งหนึ่ง ผมกับ พล.อ.สุจินดาได้เจอกัน ตรงนั้นเองผมได้คุยกับ พล.อ.สุจินดา ท่านเอ่ยปากเสียใจและก็ขอโทษมาถึงญาติทั้งหมด แต่ท่านบอกว่าเป็นตายร้ายดีท่านก็จะไม่ขอโทษประชาชน และท่านบอกว่าถึงแม้ไม่มีเจตนาให้เกิดความรุนแรง และไม่เคยสั่งให้รุนแรงอย่างนั้น แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและชายชาติทหาร จะไม่ขอปัดความรับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่เขาพูด และก็เสนอว่าถ้าญาติต้องการความช่วยเหลือ หรือเรียกร้องให้ฝ่ายเขาต้องช่วยอะไรบ้างก็ขอให้มาคุยกัน ซึ่งผมก็ได้บอกไปว่าหน้าที่นี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่านกับ รสช.ที่เหลือ เพราะกว่าจะมาถึงท่านมันห่างแล้ว พวกเราได้จัดการไปแล้ว นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และญาติจะไม่มีวันยอมถ้ารัฐบาลไม่รับผิดชอบตรงนี้"
 
"เขาก็ถามว่าผมต้องการอะไร ผมก็บอกว่าผมต้องการอยู่ 3 ข้อ ข้อแรกก็คือ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ถ้าเรายังมีชีวิตกันอยู่ ถ้าท่านอยากจะขออโหสิจากญาติอย่างเป็นทางการ ผมจะจัดให้ เราก็จะนัดกัน ประเด็นที่สอง-ท่านต้องหาทางเปิดผลสอบสวนชุด พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ ข้อสาม-ท่านต้องหาทางที่จะคืนศพให้กับญาติวีรชน ให้กับคณะกรรมการญาติฯ นี่คือ 3 ข้อที่ผมได้แจ้งไป"
 
"ซึ่ง พอมีกรรมการแล้ว ผมก็ได้รับข้อมูลทางมือถือและการสื่อสารชั่วครั้งชั่วคราว ว่าศพวีรชนอยู่ในทะเล ในตู้คอนเทนเนอร์ แต่ไม่ได้บอกว่าอยู่ที่ไหน ให้ผมไปตามเอา และให้ตามจากทางมูลนิธิที่ร่วมเก็บศพในเหตุการณ์ ตามสาวไปก็น่าจะมีข้อมูลตรงนั้น ซึ่งญาติก็ได้พยายามแล้ว ได้ไปที่มูลนิธิ ที่สุสาน แต่ข้อมูลก็ขาดก่อนจะไปถึงทะเล ตลอดเวลาก็มีข้อมูลที่เก็บหัวกะโหลกกระเส็นกระสายมาถึงเรา แต่ข้อมูลมันกระท่อนกระแท่นมาก จนกระทั่งเราจับไม่ได้ว่าคืออะไร และก็มีแจ้งว่ามีอยู่ทางทะเลแถบมหาชัย สมุทรสงคราม เคยบอกว่าอยู่ในพิกัดอะไรด้วย แต่ญาติไม่มีศักยภาพ ไม่มีความพร้อมที่จะทำอย่างนั้นได้ เราพยายามแล้ว นี่คือประเด็นที่เราติดตามมาตลอด"
 
พี่อดุลย์บอกว่านี่เป็นเบาะแสที่มาอย่างประหลาด
 
"บาง ครั้งเป็นมือถือโทรเข้ามา พอเราโทรกลับปรากฏว่าเบอร์ถูกเลิกใช้ไปแล้ว จะเป็นอย่างนี้ตลอด บางคนก็แจ้งว่าท่านเป็นนายทหารเรือนอกราชการ จริงๆ ผมยังเข้าใจว่า พล.อ.สุจินดาเขาก็คงรักษาคำพูด เพราะหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ออกมาประกาศว่าเขาอยากให้เปิดผลสอบสวน และหลังจากนั้นมาก็มีการส่งข่าวในลักษณะนี้”
 
เพราะเหตุนี้เมื่อมีข่าวตู้คอนเทนเนอร์ ญาติวีรชนจึงมีความหวัง ?
"ทันที ที่เราได้ข่าวจากรายการข่าวสามมิติขึ้นมา ญาติจึงมีความรู้สึกเกิดความหวังริบหรี่ว่าโอกาสที่เป็นไปได้น่าจะใช่ เนื่องจากตลอดเวลาเรามีข้อมูลเหล่านี้กระท่อนกระแท่นอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่มีศักยภาพพอที่จะไปตาม ทุกรัฐบาลก็ขาดการเอาใจใส่ สาเหตุหนึ่งที่เราปักใจก็เพราะข้อมูลจำนวนผู้สูญหายมันต่างกัน ระหว่างจำนวนที่ทางองค์กรต่างๆ ที่ร่วมกับญาติฯ พิสูจน์หา นับจากเหตุการณ์ปี 2535-2537 องค์กรต่างๆ ได้พยายามติดตามคนหาย จะเห็นว่าการจัดงานใน 6-7 ปีแรกคนจะมาเป็นหลายร้อย เพราะอะไร-เพราะมีญาติคนหายมาร่วมงานด้วย แต่หลังจากพ้นปีที่ 8 ไปแล้วทางการก็ไม่รับเรื่องเลย เขาก็เลยท้อกลับไปและไม่มาอีก แต่ผมเชื่อว่าน่าจะมีครอบครัวผู้สูญหายมาร่วมงานในปีนี้เพิ่มขึ้น"
 
ปัจจุบันรัฐบาลยอมรับตัวเลขคนหายอย่างเป็นทางการ 38 คน แต่พี่อดุลย์บอกว่าตัวเลขที่แจ้งไว้มีมากกว่านั้น
 
"ตัวเลขที่ทางการแจ้งเป็นตัวเลขที่ทางการไม่สามารถจะเลี่ยงได้ว่าไม่สูญหาย คือสูญหาย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีอีกจำนวนหนึ่ง 300 กว่าคน ที่มีเปอร์เซ็นต์สูงมากว่าน่าจะสูญหาย เราขอให้ทางรัฐพิสูจน์และจะได้ประกาศ แต่รัฐไม่ทำ จำนวนนั้นคือจำนวนที่นอกเหนือจากรัฐบาลประกาศ"
 
"300 กว่าคนนี้เปอร์เซ็นต์สูญหายสูงมากแต่รัฐบาลไม่ยอมพิสูจน์ ขณะเดียวกันมีผู้แจ้งอีกจำนวน 500 กว่าคนที่เข้าข่ายว่าต้องพิสูจน์ แต่ในเมื่อ 300 คนยังไม่ได้รับการพิจารณา ส่วนหลังนี้ก็ไม่ได้รับการพิสูจน์"
 
"ตัวเลขของเรา ตอนปี 2541-2543 คณะกรรมการญาติฯ กับ อ.พิภพ ธงไชย กับทีมนักวิชาการและองค์กรระดับโลกไปร้องเรียนสหประชาชาติ 3 ปีติดต่อกัน จนสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับ case พฤษภาทมิฬ นางแมรี โรบินสัน ข้าหลวงใหญ่ฯ ในขณะนั้นก็ให้ญาติฯ เข้าพบและรับ case เป็นครั้งแรกที่ผู้เสียหายเข้าไปร้องเรียนโดยตรง หลังจากนั้นปี 2546 นางแมรี โรบินสัน แวะมาที่อินโดนีเซีย มีโอกาสคุยกับคุณทักษิณ ก็พูดถึงเรื่องนี้ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมคุณทักษิณจึงตั้งคณะกรรมการมาสานเรื่องนี้"
 
"ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เป็นตัวเลขที่ญาติพูดลอยๆ แต่เป็นองค์กรทั้งหมดได้ร่วมพิสูจน์ รวมทั้งองค์กรระดับโลกอย่าง Human Rights Watch ก็บอกว่าตัวเลขไม่ใช่อย่างนี้ แต่รัฐบาลไม่ยอมขยับ นี่คือที่มาว่าทำไมญาติมีความเชื่อมั่น โครงกระดูกมนุษย์ที่ออกมาถ้ามีจำนวนแค่ 20-30 คนก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่เนื่องจากตัวเลขที่มันลักลั่นกันอย่างนี้เกือบ 10 เท่า เพราะฉะนั้นเมื่อโครงกระดูกมนุษย์ออกมามากอย่างนี้ ญาติฯ จึงมีความหวังว่านั่นน่าจะใช่ เพราะว่าตรงกับตัวเลขที่ทางญาติฯ ได้รับจากองค์กรที่ได้ทำการตรวจสอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาล take action และเข้าไปดำเนินการในขณะนี้"
 
มั่นใจไหมว่าจะพิสูจน์ได้อย่างตรงไปตรงมา ?
"ผม ฟังจากหน่วยงานที่ลงไปไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงพรทิพย์ ดีเอสไอ กองพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งกองทัพเรือ ฟังดูแล้วก็รู้สึกชื่นใจว่าแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่ ก็ต้องขอขอบคุณทุกองค์กรและคนเหล่านั้นที่เสียสละทำความกระจ่างในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ทางญาติฯ ก็คุยกัน เบื้องต้นมีความเห็นว่าน่าจะได้เวลาที่กองทัพต้องเมตตาพวกเรา คืนกระดูกให้กับพวกเราเพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนา เพราะผู้สื่อข่าวทุกแขนงคงเห็นแล้วว่าญาติส่วนใหญ่ก็คนแก่ 17 ปีมาแล้ว ตอนนี้คนแก่เหล่านั้นหายไปครึ่งหนึ่ง ถ้าขืนช้ากว่านี้อีกหลายปีก็ไม่มีโอกาสได้กระดูกลูกแล้ว แนวคิดของเราก็คงจะรวมตัวไปขอความเมตตาจากกองทัพอีกครั้งหนึ่ง"
 
แต่ผลพิสูจน์ที่ออกมามันอาจจะใช่ก็ได้ ไม่ใช่ก็ได้
"การ พิสูจน์เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรญาติฯ เป็นสมาชิกขององค์กรต่างประเทศอยู่ ญาติบางคนก็เคยได้รับการฝึกให้ทำการพิสูจน์ศพหรือดีเอ็นเอ คนของเราได้รับการ train ในเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันองค์กรระดับโลกที่เกี่ยวกับการพิสูจน์หลักฐาน ก็พร้อมที่จะเข้ามาถ้ารัฐบาลไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาต แต่ในเบื้องต้นคณะกรรมการญาติฯ คิดว่ายังไม่จำเป็น เพราะเหตุการณ์ก็ล่วงเลยมานานมากแล้ว มองว่าการพิสูจน์ไม่น่าเป็นเรื่องยากเย็น เพียงแต่ทุกฝ่ายใจกว้างพอไหมที่จะมีความตั้งใจ ที่จะมีความเมตตาคืนศพให้เขา ประเด็นมีอยู่แค่นั้นเอง ประเด็นอยู่ที่กองทัพว่าเวลาก็เนิ่นนานแล้ว สมควรแก่เวลาและก็ใจกว้างพอไหมที่จะเปิดโอกาสคืนให้เขา ไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งใดก็สามารถสืบได้"
 
ญาติผู้สูญหายที่เคยแจ้งไว้ 300 คน ตอนนี้ยังติดต่อได้ไหม
"300 กว่าคนติดต่อไม่ได้เลย อย่างที่บอกว่าหลังผ่านไป 7-8 ปีเขาไม่มาแล้ว เขาท้อ แต่เข้าใจว่า อ.กฤติยาน่าจะมีรายชื่อเหล่านั้นอยู่ ดีเอสไอก็มี ถ้าตรวจที่ดีเอสไอก็จะรู้ว่ามีใครอย่างไร"
 
"ใน ความเห็นผมก็พยายามจะขอผู้ที่เกี่ยวข้องที่มาควบคุมเหตุการณ์ ช่วงที่ทหารออกมาปราบปรามประชาชน ผู้อยู่ในสนามที่เกี่ยวข้องและเป็นกำลังหลักดูแลตรงนั้น ก็รู้สึกจะมี พล.ท.สำเภา ชูศรี, พล.ท.ชัยณรงค์ หนุนภักดี, พล.ท.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 3 ท่านนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดผู้หนึ่งจะรับผิดชอบในเรื่องเกี่ยวกับคนหายหรือไม่ เราไม่สามารถจะได้ข้อมูลจากท่านเหล่านี้ จริงๆ ผมอาจจะพูดมากไปหน่อย แต่เรื่องก็นานมาแล้ว ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับ 2 ท่านคือ ท่านสำเภากับท่านชัยณรงค์ ก็ได้รับคำตอบอย่างเดียวว่าในฐานะชายชาติทหาร ผมจะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น ขอโทษ ส่วนอีกท่านหนึ่งยังไม่ได้รับการพูดในลักษณะนี้จึงไม่ทราบว่าคืออะไร และไม่มีโอกาสได้คุยกับท่านเลย"
 
"กับ สองท่านนั้นก็ไปกับคณะกรรมการญาติฯ แต่ตอน พล.อ.สุจินดาไปเจอตัวต่อตัว ท่านขอเจอ ผมบอกผมไป ผมไม่กลัวหรอก ท่านส่งรถมารับ-ก็ไป เพราะผมไม่กลัวจริงๆ ก็เป็นที่รู้ๆ กันผมเป็นคนประนีประนอม ผมไม่ใช่คนที่ประจัญบาน อะไรที่จะทำให้บ้านเมืองเสียหายผมพยายามที่จะเลี่ยง"
 
 
จากใจผู้สูญเสีย
 
17 ปีผ่านไปจากความสูญเสีย คณะกรรมการญาติวีรชน พ่อแม่และผู้บาดเจ็บ พิการ ได้ผ่านการต่อสู้เคี่ยวกรำจนกลายเป็นองค์กรประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมั่นคง ยืนหยัดพิทักษ์เจตนารมณ์ของวีรชน ไม่ว่าความขัดแย้งในสังคมจะเปลี่ยนแปรไปอย่างไรก็ตาม
 
"ใน ช่วงแรกๆ กิจกรรมของญาติฯ ค่อนข้างจะมาก เพราะที่เราห่วงคือมักจะได้ยินเสมอว่ามีแนวโน้มจะปฏิวัติรัฐประหารอีก ซึ่งผมไม่ได้พูดลอยๆ รัฐบาลในช่วงนั้นๆ คงจะตอบคำถามได้ แต่ผมก็ยังเชื่อว่ากิจกรรมของญาติฯ ที่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นเครื่องเตือนใจประชาชนว่าต้องไม่ลืมเหตุการณ์ ขณะเดียวกันกองทัพก็จะต้องอยู่ในกรอบ กลับบ้านกลับช่อง อย่ามาวุ่นวายกับเรื่องของชาวบ้านเขาเลย การเมืองก็ปล่อยเขาไป ให้เขาว่ากันเอง หลังจาก 10 ปีมาแล้ว พวกเราก็รู้สึกยินดีเพราะเห็นว่าทหารได้กลับมาเป็นทหารของประชาชนอีกครั้ง หนึ่ง เกียรติที่ได้รับนั้นสูงส่ง และไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่คิดว่าวันดีคืนดีนักการเมืองเราก็ทำไม่ดีและเปิดช่องให้เขาเข้ามา อีก"
 
ใน ท่ามกลางความขัดแย้ง ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพูดเท่าที่จะสามารถพูดได้ว่า พวกเขาเองต้องผ่านความทุกข์และอดทนมามาก แต่ก็ต้องคิดถึงส่วนรวม
 
"ตลอดเวลา 10 ปีแรก ญาติฯ ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะบางเรื่องอยากจะพูด บางเรื่องอยากจะระบาย แต่เพื่อให้บ้านเมืองสงบ ญาติฯ ก็ไม่สามารถจะพูดได้ ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของสาธารณะเป็นใหญ่ ดังนั้นจึงคิดว่าก็เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สังคมยังคงไม่ลืมประเพณี วัฒนธรรมไทยของเราไป ถ้าไม่รู้จักความเมตตา ปรานี ถามว่าสังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่จนเสียชีวิต ทุกคนถูกสั่งสอนตามประเพณี วัฒนธรรมไทย ว่าต้องรู้จักสิ่งเหล่านี้"
 
"แต่ มาปัจจุบัน เราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป ตั้งหน้าตั้งตาว่าจะต้องกระทำต่ออีกฝ่ายให้สุดๆ ไปเลย ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ผมกังวลมากก็คือญาติฯ เฝ้าติดตามตั้งแต่ปี 2548-2549 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกของการขับเคลื่อนภาคประชาชนต่อรัฐบาลเป็นไปตามกระบวนการสิทธิมนุษยชน พอต่อมาหลังจาก 19 ก.ย. ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันข่าวผู้นำมวลชนถูกลอบยิง แล้วทุกเรื่องแปลกมากชี้ไปที่ทหารทั้งนั้นเลย ผมจึงไม่สบายใจว่าทำไมทางทหารลืมบทเรียนของพฤษภาไปแล้วหรือ อะไรที่เป็นเรื่องผิดพลาดและไม่ดีไม่งาม ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำและอย่าไปกระทำมัน แต่ปรากฏว่าก็ยังมีความรุนแรงลักษณะนี้อยู่"
 
"ญาติฯ รู้สึกไม่สบายใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็พูดในลักษณะมวลชนในฐานะมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนมาโดยตลอด จนกระทั่งมีส่วนในการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกมา 2-3 รัฐบาล ก็มีความรู้สึกว่ากระบวนการการขับเคลื่อนบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ความ รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสีไหน ทำไมใช้ความรุนแรงแบบนี้ แต่ในทางการเมืองผมก็ยังมองบวกอยู่นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเห็นชัดเลยว่าจากการปฏิวัติรัฐประหาร 19 ก.ย. ทำให้ความมั่นใจของผมมีมากขึ้นว่า การปฏิวัติรัฐประหารไม่สามารถจะลากปืนออกมายิงประชาชนได้อีกต่อไปแล้ว รูปแบบจึงค่อนข้างแปลก แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ พวกเราก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอย่างแน่นอน ดังที่ผมกล่าวมาตลอดว่าการคอรัปชั่นคือการฉ้อโกงประชาชน การปฏิวัติรัฐประหารคือการปล้นประชาธิปไตยของประชาชนเช่นกัน”
 
"ญาติ พฤษภาจะเพ่งเล็งเอาใจใส่ทหารเป็นหลัก ทุกวันเวลาจะมีญาติฯ คอยติดตามข่าวของทหาร ทุกข่าวของทหารเลย พูดง่ายๆ ญาติจะติดตามเหมือนกินอาหาร 3 มื้อ ณ ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เราจะดูการพัฒนาของทหารอยู่ตลอด เพราะนั่นคือหน่วยงานที่ทำให้พวกเราเสียหาย เราคิดอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะเราไปโกรธแค้นเขา หรือเป็นเพราะเราอาฆาต เราอโหสิกรรมไปแล้ว แต่สิ่งที่เรากังวลก็คือเราไม่อยากเห็นการปฏิวัติรัฐประหารอีก ดังนั้นทางญาติฯ จริงๆ แล้วก็ได้มีการบอกกล่าวกับประชาชน รวมทั้งองค์กรประชาธิปไตยแล้วตั้งแต่ปี 2548 ว่ามันไม่ดีนะ ท่าทางมันจะไม่ดีนะ อาจจะเป็นเพราะพวกเราผูกพันกับทางทหารมากเกินไปมั้ง เราก็รู้สึกว่ามันจะมีอะไรที่ผิดปกติ แต่ก็ภาวนาให้เราคิดผิด แต่ในที่สุดมันก็เกิดเหตุการณ์ 19 ก.ย.ขึ้นมา ซึ่งเราไม่สบายใจเลย"
 
"การ ต่อสู้ของเสื้อเหลืองจริงๆ แล้วผมต้องบอกเลยว่า-แกนนำพันธมิตรฯ การขับเคลื่อนครั้งนี้ได้ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเป็นวงกว้างมาก โดยปกติประชาชนในชนบทหรือทางไกลจะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร แต่การขับเคลื่อนของเขาทำให้ประชาชนตื่นตัวและเข้าใจทุกอย่างดีขึ้น ซึ่งผมถือว่าอันนี้เป็นคุณอนันต์และเป็นสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำได้ดีมากๆ เลยทีเดียว แต่มาตอนหลังอาจจะมีเรื่องของคนจำนวนมากขึ้น ความเข้าใจก็หลากหลาย ความคิดก็หลากหลาย รวมทั้งอาจจะใช้วิธีการที่ค่อนข้างสับสนไปหน่อย ก็ทำให้เกิดภาพที่ไม่ชัดเจนเหมือนตอนแรก แต่ถึงอย่างไรโดยสรุปแล้วผมถือว่ายังเป็นคุณต่อบ้านเมือง"
 
"ผม อยากจะขอพูดถึงทางแดงด้วยว่า สิ่งที่แดงเรียกร้องอะไรต่างๆ ถ้าดูจากสิ่งที่เขาพยายามเรียกร้องก็จะเห็นว่า ในส่วนหนึ่งก็คือการต่อต้านการใช้อำนาจของทหาร หรือการใช้ระบบอะไรต่างๆ และก็รวมทั้งความเป็นธรรม ผมไม่กล้าไปวิพากษ์วิจารณ์ตรงนี้ว่าประชาชนคิดอย่างไร แต่ผมอยากจะวิจารณ์ในฐานะผมเป็นผู้เสียหาย ผมบอกได้เลยว่าทางญาติฯ เองเข้าใจทางแดงพอสมควร ในเรื่องของความเป็นธรรมญาติฯ สนับสนุนด้วย เพราะอะไร เพราะถ้าจะมีกลุ่มบุคคลใดในประเทศไทยที่กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ก็มีกลุ่มญาติฯ นี่แหละ เนื่องจากใครฆ่ากันก็มีการฟ้องร้องกันเป็นคดีอาญา แต่กฎหมายนิรโทษกรรมทำให้ญาติเราตายฟรีนะครับ ถึงแม้พยายามต่อสู้ก็ไม่สามารถแก้ไข พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ ญาติฯ จึงมีความรู้สึกว่าความเป็นธรรมเป็นเรื่องใหญ่ และก็อยากจะเตือนไปถึง-ไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหนของทั้งภาคการเมือง รัฐบาล ทหาร หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้อย่าลืมบทเรียนตรงนี้ว่า สถานที่ใดถ้าไม่เกิดความเป็นธรรม สันติจะเกิดไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่แน่นอน รวมทั้งทางใต้ด้วย นี่เป็นความรู้สึกของญาติฯ"
 
 
เชื่อมั่นประชาชน
 
"ผม มองการพัฒนาภาคประชาชนขณะนี้ ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแรงว่าภาคประชาชนได้พัฒนาไปเกินกว่าภาคการเมือง และก็กองทัพ สาเหตุที่ผมยืนยันอย่างนั้นได้ เพราะจากประสบการณ์ ทันทีที่เกิดการลอบฆ่าผู้นำมวลชน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แทนที่สังคมจะสับสน สังคมไม่สับสนเลย สังคมกลับถามว่าการฆ่าคุณสนธิใครได้ประโยชน์สูงสุด จะเห็นเลยว่าประชาชนตั้งคำถามแรกแบบนี้ และเป็นคำถามเดียวด้วย จึงทำให้ทุกอย่างมันกระจ่างขึ้นมาว่าใครมีส่วนหรือว่ามีความชัดเจนที่เป็น ผู้ลอบฆ่าคุณสนธิ ตรงนี้เองที่ผมคิดว่าประชาชนพัฒนาไปไกลมาก และผมก็มีความเชื่อว่าจากนี้ไปการเมืองจะไม่สามารถหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อ ไป และมั่นใจว่ากองทัพยิ่งจะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัวหรือการจะแทรกแซง อำนาจในสิ่งที่องค์กรของตัวเองไม่ควรจะทำ ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากที่มีเรื่องของการลอบฆ่าผู้นำมวลชน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ มันไม่น่าเกิดขึ้น"
 
"ผม เชื่อว่าพลังบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในสีเหลืองกับสีแดง วันใดที่เขาคิดว่าพัฒนาและเขาเกิดมองว่าอยากจะปฏิรูปการเมืองให้เป็นการ เมืองเพื่อประชาชน ผมคิดว่าพลังตรงนี้มีโอกาส และเมื่อนั้นผมไม่เชื่อว่าจะมีสีอะไรที่แปลกประหลาดจะต้านทานอำนาจตรงนี้ได้ เพราะนี่คือของแท้ของประชาชน"
การสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงทำให้ทหารได้รับความชื่นชม ในฐานะญาติวีรชนเปรียบเทียบกับเหตุการณ์พฤษภาแล้วยอมรับได้ไหม ?
"พ.ร.บ. สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกฎหมายใหม่ เกิดขึ้นในสมัยนายกทักษิณ และก็ได้ใช้ในนายกอภิสิทธิ์ ถามว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นไหม ผมต้องยอมรับว่ามันก็จำเป็นนะ แต่สิ่งที่ผมไม่สบายใจคือการใช้กระสุนจริง ซึ่งผมได้ออกมาสัมภาษณ์แล้วว่าไม่ควรใช้กระสุนจริง แต่ถามว่ากระสุนแบลงค์หรือว่ากระสุนปลอมมีอยู่หรือไม่ อันนี้ต้องพิสูจน์ เพราะเท่าที่ทราบมันก็เกิดการบาดเจ็บขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น"
 
แต่ที่พี่อดุลย์วิตกคือความรุนแรงที่ทวีขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ?
"นับตั้งแต่สมัยที่มีการขับเคี่ยวระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาลทักษิณ หลังจาก 19 ก.ย.จะเห็นว่าการขับเคลื่อนมันเปลี่ยนรูปแบบไป ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงปล่อยให้มีเหตุการณ์รุนแรงซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน คนที่มีอำนาจรับผิดชอบคิดอย่างไรกับตรงนั้น เพราะบางเรื่องก็สามารถป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดปัญหา แต่ดูประหนึ่งว่าปล่อยให้มันเกิดเสียก่อนแล้วค่อยสางทีหลัง ซึ่งต่อไปไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ต้องป้องกันก่อนที่จะมาแก้ทีหลังอย่างนี้ ภาพเหล่านั้นถึงแม้จะมีความจำเป็น แต่มันเกิดความเสียหายกับประเทศมากเกินไป ที่จริงการปกครองของประเทศไทยเรา ก็มีการรัฐประหารสลับด้วยระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่ทุกครั้งก็เป็นการแย่งชิงอำนาจกับผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มการเมือง-ทหาร หรือกลุ่มนายทุน ศักดินา หรืออะไรก็แล้วแต่ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบเลยเพิ่งจะมีครั้งหลังสุดที่โลกพัฒนาไปสู่ยุคโลกาภิ วัตน์นานแล้ว แต่เรายังแย่งชิงทั้งอำนาจทั้งผลประโยชน์ แล้วปล่อยให้เกิดผลกระทบมาถึงประชาชน อันนี้ไม่ถูกต้องเลย ต้องถามว่าการเมืองมีสิทธิจะทำอย่างนี้ต่อประชาชนไหม การเมืองไม่มีสิทธิทำอย่างนี้ต่อประชาชนนะ พวกท่านไม่มีสิทธิจะทำร้ายประชาชนอย่างนี้ และถ้าขืนยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมว่าวันหนึ่งเมื่อประชาชนเขารับไม่ได้เขาก็จะมาใช้สิทธิของเขา ผมเชื่อว่าไม่นาน ภาคประชาชนก้าวไปเร็วมาก ผมได้บอกว่าไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยเสื้อเหลืองก็ได้ทำคุณอนันต์นี้ไว้ และหวังว่าแนวทางที่ได้ยินว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองก็น่าจะนำไปสู่ การเมืองที่เป็นภาคประชาชน ซึ่งผมคิดว่าสีไหนก็คงจะไม่สำคัญ"
 
ภาคประชาชนก้าวไปเร็วแต่แตกแยกเป็นสองฝ่าย ?
"ผมไม่แปลกใจ เพราะมันเป็นลักษณะที่เมื่อทุกคนเติบโต เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น จะเห็นว่าตอนนี้แนวคิดทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากแต่ละคนเป็นผู้นำองค์กรของตนเอง เพราะฉะนั้นแนวทางที่ปฏิบัติมามันก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เขาเกิด อุปสรรคในการที่จะหลอมรวมเข้าด้วยกัน"
 
"แต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างที่ท่านนายกชวนเคยพูดไว้ และผมคิดว่าเป็นสัจธรรมคือ การเมืองไม่มีทางลัด ดังนั้นการเรียนรู้ของภาคประชาชนก็ไม่มีทางลัดเช่นกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาหลายๆ ปีนี้ ประชาชนโชคดีและก็รับความทรมานไปด้วย ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและก็ต้องทรทรมานกับสิ่งที่เกิดขึ้น ประชาชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีความสุขน้อยลงเพราะอึดอัดและต้องคอยลุ้นกับ วิกฤติที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ตรงนั้นแหละที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตัวเองไปด้วย จะเห็นเลยการพัฒนาของภาคประชาชนทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั่วประเทศ มันเร็วกว่าธรรมดา ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพียงแค่เวลา 2-3 ปีเขาเข้าไปถึงตรงนั้นแล้ว ย่นระยะเวลา 10 เท่า พอเขาขับเคลื่อนไปแล้ว ประชาชนจะมีวิจารณญาณของตัวเอง แนวคิดของตัวเอง เวลารับสื่อต่างๆ จะไม่หลงเชื่อทันที 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้เข้าใจผิด ไม่ใช่คนที่มาชุมนุมเสื้อเหลืองก็จะฟังคนนำเสื้อเหลือง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่สนใจอะไรเลย เสื้อแดงก็เช่นกัน คนพวกนี้หลังจากที่เขาหยุดการต่อสู้ก็มีเวลาพัก พอพักคนเราได้คิด เขาจะมีความคิดของตัวเอง ผมเชื่อว่าพลังตรงนี้จะมากขึ้นและจะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเจริญ ขึ้น ฉะนั้นการขัดแย้งผมยังมองด้วยความสบายใจ"
 
"เพียงแต่การพัฒนาตรงนี้ผมไม่อยากให้มีมือที่ 3 มาแทรก ผมไม่ได้หมายถึงการปฏิวัติรัฐประหาร ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครกล้าทำอย่างนั้น ผมใช้คำนี้เพราะประชาชนจะไม่ยอมแน่ แต่ต้องระวังการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง ผมมีความเชื่อว่าสถาบันกองทัพได้รับการยกย่องและมีอำนาจในอาณาจักรของตัวเอง อยู่แล้ว ถ้าไม่เข้ามาแทรกแซง ปล่อยให้นักการเมืองพัฒนาไป ถึงแม้จะดูว่านักการเมืองตอนนี้มันแย่มาก ที่กล้าพูดคำว่าแย่มากเพราะประชาชนพัฒนาแล้วแต่พวกนี้ไม่พัฒนาเลย แต่สักพักหนึ่งถ้าเขาไม่ปรับตัวเขาก็จะหลุดออกไปจากวงโคจรของการเมืองแน่นอน มันเป็นสัจธรรม เพราะฉะนั้นมุมมองตรงนี้ผมยังคิดว่า ประเทศไทยถ้าไม่มีอะไรไปบิดเบือนบิดเบี้ยวหรือไปแทรกซ้อนมันมากนัก ผมมั่นใจว่าอีกปีสองปีเราจะเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เราเห็น"
 
การเรียกร้องให้กองทัพถอยจากการเมืองจะมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมอย่างไร ?
"ผมไม่ใช่นักวิชาการ ก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า 1 2 3 4 คืออะไร แต่ผมเพียงอยากจะเตือนไปถึงผู้นำกองทัพว่าถ้าหากว่าท่านไม่ใฝ่หาอำนาจเกิน กว่าอำนาจที่ท่านมีอยู่แล้วมากมาย บ้านเมืองก็จะไปได้ดี ผมเชื่อว่าประชาชนมองกองทัพแบบนั้นจริงๆ"
 
ถาม ถึงความแตกแยกกันสุดขั้ว พี่อดุลย์ยอมรับว่าที่ผ่านมาวางตัวลำบากมาก เพราะแกนนำทั้งสองสีก็เคยช่วยสนับสนุนการต่อสู้ของญาติวีรชนมาทั้งสิ้น
 
"เรา ขับเคลื่อนนโยบายหรือเป้าหมายที่จะออกมาบอกประชาชนให้เข้าร่วมในกิจกรรมนั้น มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นสีอะไร แต่พอเดินไปถึงปลายทางแล้ว เพื่อมุ่งหวังไปสู่ความสำเร็จก็ไม่ได้ระมัดระวังว่าแนวทางที่เดินมานั้น สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ อาจจะเป็นเพราะว่าเหนื่อยล้าหรือเพราะใจร้อน เลยอาจจะมีการใช้วิธีการที่สับสนไปบ้าง เลยทำให้ทุกอย่างจะว่าถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่ จะว่าผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่เชิง มันอิหลักอิเหลื่อ"
 
"ตอน นี้หลังจากการขับเคลื่อนยุติ ช่วงที่ผ่านมาหลายเดือน ผมมั่นใจประชาชนคิดได้แล้ว มั่นใจมาก เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นและมีการสื่อระหว่างเหลืองกับแดง (กรณีสนธิ) ว่าน่าจะไม่ใช่แดง แดงไม่ได้ทำนะ มันชัด แสดงว่าประชาชนได้คิด เพราะก่อนที่จะมีการออกสื่อตรงนี้มาประชาชนตั้งคำถามอย่างเดียวว่าใครทำ ใครได้ประโยชน์"
 
"มัน แสดงว่าสังคมจะเป็นผู้กำหนดในรูปแบบแล้ว เช่นการปรองดองประนีประนอมขณะนี้ ผมพยายามที่จะไม่พูดถึงการนิรโทษกรรม แต่ถามว่าขนาด รสช.ผิดพลาด ทำให้ประชาชนตายก็ยังได้รับอโหสิกรรม ทางการเมืองถ้าไม่ได้ฆ่าคนตาย การอโหสิกรรมก็น่าจะได้รับการพิจารณา แต่เหมาะสมหรือไม่ผมบอกไม่ได้ ส่วนการปรองดองผมเชื่อว่าอย่างไรก็เกิดขึ้น เพราะถ้ามองให้ดีกระแสประชาชนขณะนี้ไม่ว่าคุณจะทะเลาะกันอย่างไรก็แล้วแต่ กระแสประชาชนไม่ต้องการเห็นความแตกแยก ส่วนใครจะถือไพ่เหนือใครก็ไปว่ากันทางการเมือง อยากจะเล่นก็เล่นไป ไม่ได้ว่าอะไร รอได้ ถามว่าการปรองดองเกิดขึ้นไหม ผมเชื่อว่าต้องเกิด สังเกตดูว่ากระแสที่ประชาชนจะออกมาต่อต้านเรื่องการปรองดองไม่มีเลย"
 
ย้อนมาที่การสลายการชุมนุมเสื้อแดงเขาก็โวยว่ามีคนหาย จริงหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่เป็นเพราะ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ทุกครั้งมีคนหาย
"ประชาชน จะข้องใจเรื่องนี้ เพราะมันมีปรากฏการณ์ทุกครั้งที่กองทัพออกมาควบคุมฝูงชน ไม่ว่าตามกฎหมายหรือไม่ มักจะมีเรื่องเหล่านี้ ประชาชนก็ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน จะให้เขาเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงไปฝืนเขาไม่ได้ ในส่วนกองทัพไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมานั่งอธิบาย ในความเห็นผมนะ เพราะถึงอธิบายคนที่ไม่เชื่อก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นกองทัพก็อยู่เฉยๆ ดีกว่า ปล่อยให้คณะกรรมการหรือสังคมพิสูจน์ว่าของจริงคืออะไร สำคัญที่สุดมันอยู่ที่กองทัพ ถ้ากองทัพปฏิบัติตนอยู่ในกรอบและไม่เข้ามาแทรกแซง สังคมจะไปข้องใจกองทัพได้อย่างไร กองทัพพูดอะไรก็เชื่ออยู่แล้ว อย่าลืมว่ากองทัพต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าท่านเป็นกองทัพของประชาชน ไม่ใช่กองทัพของกองทัพ ของผู้นำเหล่าทัพ ประเด็นมีอยู่แค่นี้เองครับ"
 
"ทุก ครั้งมันมีคนหาย และคนหายเหล่านั้นไม่เคยได้คืนมาเลย นี่คือประเด็น ผมถึงบอกว่าไม่ว่าคุณจะอธิบายอย่างไร คนที่เชื่อก็เชื่อไป คนที่ไม่เชื่อก็ไม่มีทางจะเชื่อ เพราะมันมีแผลอยู่ พอบอกว่าครั้งนี้ไม่มีคนหาย คนก็บอกอ้าวแผลยังอยู่นั่นเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็น่าเห็นใจกองทัพเหมือนกัน บางทีอาจจะไม่ได้ทำอะไรเกินเลยไปกว่านั้น แต่ประชาชนก็ยังข้องใจ ถึงอยากจะบอกว่ากองทัพหรือผู้นำเหล่าทัพจะต้องเป็นผู้นำที่มีความเข้าใจที่ ดีและมีความคิดที่ดีที่จะนำเขาเหล่านั้นให้เป็นกองทัพของประชาชน อย่าลืมว่าทหารนี่ประชาชนให้ความเคารพอยู่แล้ว เป็นรั้วของชาติ ผู้นำกองทัพแต่ละคนบางยุคก็ดีบางยุคก็ทำตัวแปลกประหลาดจนกระทั่งประชาชน เริ่มหวั่นวิตก ขึ้นอยู่กับผู้นำกองทัพว่าจะนำเขาไปทางไหน"
 
 
 
 
 
เจตนารมณ์พฤษภา
วรดุลย์ ตุลารักษ์
 
 
อดีต แกนนำพรรคแสงธรรม พรรคนักศึกษาในธรรมศาสตร์ ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวอยู่กับ สนนท.ยุคปริญญา เทวานฤมิตรกุล ปัจจุบันเขาเป็นนักวิจัยอิสระ
 
วรดุลย์เห็นว่าเจตนารมณ์พฤษภามีเป้าหมายคือเรียกร้องนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นก้าวแรกของการเอาทหารออกไปจากการเมือง
 
"ผลของมันคือหลังพฤษภา กองทัพค่อนข้างจะสูญเสีย space ทางการเมืองไปมาก เช่นมีการพูดกันว่าทหารไม่กล้าแต่งชุดทหารขึ้นรถสาธารณะ"
 
"แต่ประเด็นหลักของพฤษภา พอจบก็ไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม คือมีความเชื่อกันว่าหลังจากทหารเสีย space ทางการเมืองไปแล้วก็คิดว่าทหารจะไม่ยุ่งการเมืองอีก ถ้าไปเปรียบเทียบประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย หลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจปี 1998 ก็มีการปฏิรูปกองทัพเป็นเรื่องเป็นราว เช่น ทหารเคยมีตัวแทนในรัฐสภาก็ลดลงเป็นระยะ 1-2-3 เพื่อให้ทหารปลอดจากการเมือง แต่ก่อนกองทัพมีอำนาจวีโต้การตัดสินใจของรัฐบาลพลเรือนตอนหลังก็ไม่มีแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ ธุรกิจทหารมีปัญหามาตั้งแต่สมัยซูฮาร์โต ก็โอนให้รัฐบาลพลเรือนมาดูแล เหมืนอวิทยุโทรทัศน์ไทยที่ทหารเป็นเจ้าของ ก็โอนมาให้รัฐบาลดูแลหมด เขาวางขั้นตอนเป็น 3 เฟส เฟสสุดท้ายเสร็จปีหน้า"
 
ทหารไทย อาจไม่เหมือนอินโดยุคซูฮาร์โต แต่ก็ไม่มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม โดยถ้าจะปฏิรูปกองทัพนอกจากเรื่องของวิทยุโทรทัศน์แล้ว วรดุลเห็นว่าต้องให้ผู้ตรวจการรัฐสภาตรวจสอบงบราชการลับได้ รวมทั้งรัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจลดงบประมาณกองทัพ ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
 
"ผล ของมันคือปัจจุบันเราเลยเห็นรูปแบบการกลับมาของทหาร เช่นการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีข้อครหาว่าทหารเป็นคนจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งข้อครหานี้รัฐบาลก็พิสูจน์ไม่ได้ การดึงทหารเข้ามาควบคุมสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธหนัก ในรูปแบบก็กลับมาเหมือนช่วงพฤษภา แต่ไม่มีใครว่าอะไร ปัจจุบันทุกคนในภาคประชาชน นักวิชาการ ก็เห็นว่าทหารเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง แต่กรณีผู้นำกองทัพบอกให้นายกฯสมชายลาออก ก็ไม่มีใครโต้แย้ง หรืองบประมาณกองทัพเพิ่มขึ้นในรัฐบาลสุรยุทธ์ และซื้ออาวุธไปแล้ว มันคือการกลับมาลบล้างเจตนารมณ์เดือนพฤษภาที่เคยเข้าใจกันมา"
 
"ประสบการณ์ 5-6 ปีในยุคทักษิณ มันได้สร้างแนวร่วม ประกอบด้วยนักวิชาการ นักกิจกรรมรุ่นพฤษภา คนเดือนตุลา ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ได้สร้างแนวร่วมเครือข่ายต่อต้านรัฐบาลทักษิณ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อทักษิณถูกรัฐประหารก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านโดยยึดหลัก การเดิมๆ"
 
ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็แล้วแต่ วรดุลย์เห็นว่า จิตวิญญาณประชาธิปไตยรวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาไม่เหลืออยู่แล้ว
 
"รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่ตัวบท ถ้าจะปฏิรูปการเมืองก็ต้องดึงจิตวิญญาณประชาธิปไตยกลับคืนมา"
 
เขา เห็นว่าสาเหตุที่เจตนารมณ์พฤษภาถูกทำลายไป ก็เพราะไม่มีการทบทวนตอกย้ำเรื่องทหารออกจากการเมือง หรือที่ปัจจุบันพูดเรื่องอำมาตย์ การอธิบายเรื่องพฤษภาจึงไม่ยึดโยงกับพฤษภาจริงๆ
 
"หลังพฤษภา ชนชั้นนำชนชั้นกลางร่วมผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ขณะนั้น พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เป็นวุฒิสมาชิกตัวแทนกองทัพ ยังร่วมเรียกร้องให้สภารับร่าง แต่พอทักษิณขึ้นมาและมีการขับไล่ทักษิณ ชนชั้นนำกลุ่มเดิมที่เคยเชื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2540 กลับหันหลังมาสนับสนุนการไล่ทักษิณในวิธีการที่ไม่ใช่ระบอบรัฐสภา คือรัฐประหาร หรือมาตรา 7 เป็นวิธีการเคลื่อนไหวที่มองแต่ผลสำเร็จในเชิงตัวบุคคล"
 
แต่เจตนารมณ์พฤษภากลับไปปรากฏในคนเสื้อแดงแทน
 
"ข้อ เสนอของเขาเกินครึ่ง เป็นอันเดียวหรือคล้ายๆ มวลชนพฤษภา เช่นระบบการเมืองที่ไม่ต้องการแทรกแซงจากทหาร หลักการเบื้องต้นสอดคล้องกัน แต่ภาพที่ออกมาเป็นคนของพรรคการเมืองจัดตั้งรับเงินมา มีการให้ภาพว่าเขาไม่ใช่ม็อบที่มีเจตนารมณ์ประชาธิปไตย และเป็นพวกทักษิณ ไม่ใช่ชนชั้นกลางไม่ใช่ม็อบมือถือแบบพฤษภา ทำให้เขาขาดภูมิคุ้มกันในการเคลื่อนไหวในสายตาสาธารณะ รวมถึงสื่อ มันต่างกันตรงนี้ ม็อบพฤษภาสื่อมองว่าเป็นม็อบมือถือ เป็นกลุ่มที่มีสถานะทางสังคมสูงพร้อมจะเสนออะไรต่างๆ ได้ แต่ม็อบเสื้อแดงถูกมองว่าไม่ใช่ภาคประชาชนด้วยซ้ำ ข้อเสนอเลยตกไป มันกลายเป็นว่าสำคัญที่ตัวตน ใครเป็นคนเรียกร้องจึงมีน้ำหนัก"
 
"แต่ ผมคิดว่าเจตนารมณ์พฤษภาไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ตลอดไป คนที่พูดอิงพฤษภามากที่สุดวันนี้กลับเป็น จตุพร พรหมพันธ์ การเป็นเจ้าของมันไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่การเอาหลักการพฤษภามารณรงค์ให้เห็นปัญหาการเมืองไทย เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักช่วยกันถกเถียงขบคิดให้มากกว่านี้"
 
เขามองว่าคนเสื้อแดงยากที่จะก่อการชุมนุมขนาดใหญ่ได้อีก เพราะไม่มีเครื่องมือในการเคลื่อนไหวให้สังคมยอมรับ แต่ NGO ภาคประชาชน ก็ควรหันมาสนใจคนเหล่านี้
 
"หลักการพฤษภาเคลื่อนไปอยู่ในคนเสื้อแดงที่เป็นคนจน 80 % ภาคประชาชนจึงควรมองคนเสื้อแดงเป็นชาวบ้านเป็นเกษตรกรจริงๆ ด้วย NGO ไม่ได้มองเสื้อแดงเป็นชาวบ้าน การทำงานเรื่องประชาธิปไตยก็ตัดคนเหล่านี้ไป ที่จริงตั้งแต่ปี 2523 แล้ว NGO จะ ทำงานกับชาวบ้านกลุ่มเดียวคือกลุ่มที่ปลอดการเมือง ควรหันมาสนใจคนที่มีสายสัมพันธ์กับ อบต. อบจ. นักการเมือง เพื่อยกระดับเขา ไม่ใช่ละเลยเขา"
 
มองทางออกจากวิกฤติอย่างไร
"การล้มกระดานตั้งแต่ 19 ก.ย.แล้วพยายามจะมาตั้งกระดานใหม่โดยฝ่ายหนึ่งมีแต้มต่อมาก ไม่ได้ตั้งตัวหมากรุก 2 แถวเท่ากัน มันก็เป็นไปได้ยากที่จะเดินต่อ ตอนที่มีวิกฤติการเมืองก่อน 12-13 เม.ย. ปริญญาเคยพูดให้ยุบสภา ถ้าเรามองว่าความขัดแย้งยังอยู่ก็น่าจะคงข้อเสนอในปัจจุบันว่าควรยุบสภา โดยให้สัญญาว่าเราควรยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยปรับปรุงองค์กรที่ดูแลการเลือกตั้ง เช่นไม่เชื่อ กกต.ก็มีการกำกับดูแล กกต.โดยภาคประชาชน ส่วนข้อเท็จจริงที่คนสงสัย ที่กล่าวหากัน เช่นทักษิณคอรัปชั่น การรัฐประหารใครมานั่งคุยบ้านใคร ก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวน แล้วแถลงผลเป็นระยะให้คนรู้"
 
เป็นไปได้ไหมว่า 17 ปีพฤษภาจะเป็นจุดเริ่มของการรณรงค์ให้ทหารออกจากการเมือง
"ผมคิดว่าน่าจะเป็นข้อเสนอหนึ่ง ซึ่งให้ทุกคนทบทวน เพราะมีกลุ่มที่เริ่มไม่เห็นด้วย 100% กับการมีบทบาททางการเมืองของกองทัพ ระยะหลัง ก็ไม่มีใครพูดว่าเห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็น่าจะสร้างเครือข่ายและเรียกร้องรณรงค์ระยะยาว ซึ่งมันต่างจากพฤษภาแน่"
 
"ผม คิดว่าวันหนึ่งจะมีจุดร่วมกัน ไม่ใช่เสื้อแดงร่วมกับพันธมิตร แต่จุดร่วมของคนที่รู้สึกว่าตัวเองเดือดร้อนกับการเมืองแบบที่มีทหารหนุน หลังอยู่ การร่วมกันระหว่างสองฝ่ายมีความเป็นไปได้ต่ำมาก เพราะเป็นปฏิกิริยาระหว่างกัน เช่นการที่เสื้อแดงเพิ่มมากขึ้นก็เพราะพันธมิตรเคลื่อนไหวหนักข้อ จนพูดเรื่องสองมาตรฐาน"
 
"มี หลายประเด็นที่คนสองฝ่ายร่วมกันไม่ได้ เพราะการเรียกร้องนายกฯมาจากเลือกตั้ง ก็สืบเนื่องจากพรรคการเมืองเลือกมาอย่างไรก็ยังเอา พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ แต่พันธมิตรยังเห็นด้วยกับรัฐบาลแบบนี้ พันธมิตรยังอิงกองทัพ ระบบราชการ ยอมรับการที่พรรคการเมืองกระจัดกระจาย รัฐธรรมนูญยุบพรรคตัดสิทธิได้ง่าย ขณะที่เสื้อแดงเห็นว่าการมีพรรคใหญ่มีสมาชิกสิบกว่าล้านเป็นพัฒนาการ ประชาธิปไตย"
 
พูดให้ถึงที่สุด ความคิดที่เปลี่ยนแปรไปของนักวิชาการและนักกิจกรรมหลังปี 40 มีผลต่อการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
"หลังปี 40 ผมคิดว่ากลุ่ม NGO นัก วิชาการมุ่งเข้าไปสู่แนวคิดบางแนวคิดที่ไม่ใช่ระบอบรัฐสภา ระบอบพรรคการเมือง อยู่บนฐานอคติต่อนักการเมือง ซึ่งมีมานานแล้ว ทั่วโลกเขาก็ไม่ชอบนักการเมือง แต่ที่ NGO คิดมัน หลงทางจนนำไปสู่การยุบพรรคตัดสิทธิ มองโจทย์ทักษิณเป็นโจทย์ใหญ่เรื่องตัวบุคคล และมองเรื่องกลุ่มผลประโยชน์เป็นลบมากเกินไป เช่น เสื้อแดงมีผลประโยชน์ ทักษิณมีผลประโยชน์ แต่ในต่างประเทศเขายอมรับว่านี่คือกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเกษตรกรเรียกร้องทางการเมืองก็ผ่านล็อบบี้ยิสต์"
 
"เป้า หมายคือกำจัดตัวบุคคลโดยไม่ได้สานต่อการปฏิรูปอื่นๆ เช่น ทักษิณขายหุ้นไม่เสียภาษี นำไปสู่การโค่นล้มทักษิณ แต่ไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปภาษีที่ไม่เป็นธรรม"
 
"นักวิชาการ NGO ที่ ต่อต้านทักษิณ มีความใกล้ชิดกับประชาธิปัตย์มาแต่อดีต เมื่อขึ้นมาเป็นรัฐบาลเขาก็ใช้วิธีการเจรจาต่อรองแบบล็อบบี้กัน ซึ่งเราก็ได้เห็นมาก่อนหน้านั้น ตอน คมช.ขึ้นมา คนจำนวนหนึ่งก็เข้าไปร่วมร่างกฎหมายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับภาคประชาชน เช่น ทีวีสาธารณะ ทั้งที่ไอทีวีก็เกิดจากเจตนารมณ์พฤษภา การหวังผลสำเร็จเฉพาะเรื่องเป็นไปได้ยาก”
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท