Skip to main content
sharethis

"ชัย" ส่งพ.ร.ก.กู้เงินตีความวันนี้

17 พ.ค.52 นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายในวันที่ 18 พ.ค.นี้ หลังจากตรวจสอบรายละเอียดก่อนการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ค.แล้วเห็นว่าไม่มีปัญหาอะไร จากนั้นจะแจ้งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ และชะลอการบรรจุวาระออกไปก่อน

"หาก ฝ่ายค้านยื่นรายชื่อตามกระบวนการถูกต้อง ประธานมีหน้าที่ที่จะต้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความต่อไป" นายชัยกล่าวและว่า อย่างไรก็ดี การประชุมในวันที่ 18 พ.ค.ยังมีตามปกติ เพราะฝ่ายค้านเสนอให้ตีความเพียง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้าน ส่วน พ.ร.ก.การขึ้นภาษีสรรพสามิตนั้นยังคงพิจาณาตามปกติ รวมถึง พ.ร.บ.เงินกู้ด้วย

ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวด้วยว่า จะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ซึ่งอาจจะมีพิจารณาวาระอื่นเพิ่มเติม รวมถึงร่างกฎหมายหลายฉบับที่ยังค้างอยู่ก็ได้ถ้ามีเวลา เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดสมัยวิสามัญประมาณ 15-30 วัน

เล็งเปิดวิสามัญถก พ.ร.ก.กู้เงิน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กล่าวว่า ถ้านายชัยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จำเป็นต้องเลื่อนวาระที่ 2 เรื่อง พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตขึ้นมาพิจารณาก่อน ในระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อาจจะไม่ทันสภาผู้แทนฯปิดสมัยประชุมในวันที่ 20 พ.ค.แล้ว หากคณะรัฐมนตรียังเห็นว่า พ.ร.ก.กู้เงินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรได้รับความเห็นชอบก็อาจจะขอเปิด ประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาได้

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าศาลตีความว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 วรรค 2 เท่ากับ ไม่เคยมี พ.ร.ก.ฉบับนี้มาเลย แต่ถ้าเข้าสภาแล้วสภาไม่อนุมัติ สิ่งที่ทำมาแล้วสมบูรณ์หมด ดังนั้น รัฐบาลควรรอให้ศาลวินิจฉัยให้เสร็จก่อน ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เข้าข่าวเรื่องความมั่นคงและจำเป็นเร่งด่วน

หวังศาลตีความเร็ว-ช้ากระทบ

นา ยกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ได้แต่หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาเรื่องนี้ให้จบโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหามาก โดยเฉพาะความหวังของรัฐบาลที่จะใช้เม็ดเงินส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจ เกรงว่าจะช้าออกไปอีกจากที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มต้นได้ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2552

ผู้ สื่อข่าวถามว่า หากประธานสภาผู้แทนฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ต้องส่งเรื่องตีความ และบรรจุเข้าสภาฯ แต่ฝ่ายค้านใช้วิธีวอล์คเอาต์ จะทำอย่างไรนายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การวอล์คเอาต์ เป็นมาตรการที่นำมาใช้ได้ ไม่มีใครว่า แต่หากฝ่ายค้านดำเนินการแบบนั้นจริง คิดว่ารัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก น่าจะดูแลได้

ส่วนความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ 8 แสนล้านบาทนั้น นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า หากดำเนินการได้แล้วเสร็จ อาจจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ส่วนใหญ่คงจะไม่ใช่ฝ่ายการเมือง และคุ้นเคยกับการทำงานในระบบนี้ 

"อำพน"ระบุถ้าช้าให้กู้แบงก์โลก
นาย อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หากการกู้เงินในส่วนของ พ.ร.ก.มีความล่าช้า รัฐบาลอาจจะใช้เงินกู้จากธนาคารโลกที่ ครม.เพิ่งมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงการคลังเสนอกู้เงินจากธนาคารโลก วงเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ตามมติ ครม.วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 สำหรับ เงื่อนไขการกู้เงินครั้งนี้ จะเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อาจใช้ดอกเบี้ยลอยตัวของหนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.55% ต่อปี เริ่มเบิกจ่ายวันที่ 1 สิงหาคม 2553 ระยะเวลากู้เงิน 20 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 8 ปี

พท.จี้"มาร์ค"บอกกี่เดือนไม่ขึ้นน้ำมัน
ด้าน นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงแนวทางการอภิปรายของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.ขึ้นภาษีสรรพสามิตสุรา บุหรี่ และน้ำมันว่า พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายกันในประเด็นความเหมาะสมและผลกระทบต่อค่าครองชีพและ ปัญหาปากท้องของประชาชนในวงกว้าง อีกทั้งเป็นช่องทางให้เกิดกระบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และบุหรี่สุราหนีภาษี ทำให้รัฐบาลไม่อาจจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย พรรคเพื่อไทยจะขอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรับปากกับพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นราคาน้ำมันเป็นเวลานาน กี่เดือนเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับผลกระทบจากน้ำมันราคาแพงในเร็วๆ นี้

แปรญัตติตรวจสอบใช้งบ 4 แสนล้าน
นายคณวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีเนื้อหาเหมือน พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสน ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดแผนการใช้เงิน เพียงแต่ระบุให้คณะรัฐมนตรีแจ้งรัฐสภาทราบก่อนดำเนินการ พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายให้เห็นช่องโหว่ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเป็นกฎหมายที่ทำให้เสียวินัยในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขัดกับหลักธรรมภิบาล ที่สำคัญยิ่งคือทำให้สถานะทางการคลังอ่อนแอ เพราะสร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมหาศาล พรรคจะผลักดันให้แปรญัตติกำหนดกลไกการตรวจสอบการใช้เงินในรูปคณะกรรมการ ติดตามตรวจสอบการใช้เงินต่อไป

ซัดกู้เงินส่อมีเก๋าเจี๊ยะพุงกาง
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศนโยบาย 99 วัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการยกเลิกกองทุนน้ำมันและเอาเงินมาลดราคาน้ำมันลิตรละ 2 บาท แต่เป็นรัฐบาลแล้วกลับลืมนโยบายแต่หันไปขึ้นราคาน้ำมันถึงลิตรละ 5 บาทและจะเต็มเพดานที่ 10 บาท จึงถามว่านโยบายสวยหรูของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนเป็น “99 วันกู้ทันที สร้างหนี้ทั่วไทย” แล้วหรือ

สนบ.เผยรูปแบบกู้เริ่ม มิ.ย. 2 แสนล้าน

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการภายหลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทประกาศใช้แล้วนั้น นายพงษ์ภาณุ  เศวตรุนทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สนบ.) กล่าวว่า สบน.จะดำเนินการกู้เงินได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ ก้อนแรกจะกู้ในวงเงิน 2 แสนล้านบาท นำมาชดเชยเงินคงคลังจากที่การจัดเก็บรายได้ต่ำกว่า ที่เหลือจะกู้เพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ในระยะต่อไป ซึ่งเริ่มช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2553  สำหรับ รูปแบบมีทั้งการออกพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ และกู้เงินจากสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่จะเน้นกู้จากสถาบันการเงินเป็นหลัก เพราะในระบบสถาบันการเงินยังมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง อีกทั้งต้นทุนการกู้เงินถือว่าอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในอดีต โดยพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ 3.2-3.6% ขณะที่การกู้เงินระยะสั้นต้นทุนอยู่ที่ 1% กว่า และของรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 2% กว่า

"เงินกู้ที่จะนำมาใช้ในการลงทุนเร่งด่วนตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ประมาณ  1.4 ล้านล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2552 ต่อเนื่องปีงบประมาณ 2553 น่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งเน้นใช้ในโครงการที่เกิดการจ้างงาน เช่น สร้างถนนในหมู่บ้าน ส่วนในปีงบประมาณ 2554-2555 จะใช้เงินกู้ในส่วนของ พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินอีก 4  แสนล้านบาท กว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ก็ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน" นายพงษ์ภาณุกล่าว

คาดงบฯสมดุลปี2557
นายจักรกฤศฏิ์  พาราพันธะกุล รองผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า การกู้เงินโดยตรงของภาครัฐ เพื่อใช้ในโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท เป็นการกู้ในปี 2553 จำนวน 2.8 แสนล้านบาท และในปี 2554-2555 ปีละ 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสิ้นปี 2552 อยู่ทื่ 47% สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม 43% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจติดลบถึง 3% และขึ้นไปสูงสุดในปี 2555-2556 ที่ 61% ต่อจีดีพี สูงสุดเท่ากับช่วงปี 2542 จากนั้นจะเริ่มปรับลดลงต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวโดยน่าจะอยู่ในระดับ 40% ได้ในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว 5-6% คาดว่างบประมาณจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลได้ในปี 2557 หรือ  2558 ขณะ ที่การชำระหนี้จะเริ่มจัดสรรงบฯได้มากขึ้นด้วย จากปัจจุบันที่ชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น ส่วนเงินต้นต้องใช้วิธีการยืดระยะเวลาชำระออกไป เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้จัดสรรได้เพียง 15%ของวงเงินงบประมาณ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net