รายงาน: รำลึกครบรอบ 55 ปี เดียนเบียนฟู (ตอนจบ): ปาฐกถา รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

 

...ชัยชนะ ที่เดียนเบียนฟู สำคัญกว่าในทางการเมือง คือเป็นการพิสูจน์ว่า สงครามในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก้าวเข้าสู่ยุคของการรบในรูปของสงครามจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร...

 

...สง ครามเดียนเบียนฟู พิสูจน์อย่างชัดว่า อำนาจของพลังจิตใจของคนนั้น เอาชนะอำนาจของอาวุธ ซึ่งนักการทหารของโลกตะวันตกอาจจะไม่เคยเห็น...

 

...ถ้า วันนั้นสัมพันธมิตรปฏิบัติต่อสยามในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามเหมือนกับกรณีของ เยอรมนี กรณีของญี่ปุ่น การเมืองไทยมาถึงวันนี้ไม่เหมือนเก่า เพราะทหารสัมพันธมิตรจะปลดอาวุธทั้งทหารญี่ปุ่นและปลดอาวุธทหารไทยพร้อมๆ กัน ผมคิดว่า ถ้าตอนนั้นสัมพันธมิตรตัดสินใจปลดอาวุธจริงๆ หลายอย่างเปลี่ยน รวมถึงเหตุการณ์กบฏวังหลวง ที่อาจารย์ปรีดีโดนก็อาจจะไม่เกิด...

 

...ปี 2551 ผมคิดว่าเราเห็นสภาวะของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย ที่เหมือนกับคนไต่เชือก พร้อมที่จะหล่นลงมาสู่หุบเหวแห่งสงครามได้ตลอดเวลา ถ้าเช่นนี้ทำอย่างไร ที่ไทยกับเพื่อนบ้านจะอยู่กันดั่งญาติ...

 

 

 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา  หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร-บริษัทชนนิยม จำกัด จับมือกับพันธมิตร ได้แก่ ชมรมวัฒนธรรมไทย-เวียดนามสมาคมไททรงดำแห่งประเทศไทย และบริษัทออลซีซันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้จัดกิจกรรมเพื่อสานมิตรสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม รำลึกครบรอบ 55 ปี เดียน เบียน ฟู                                                    

 

โดย ในงานดังกล่าว รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาในวาระรำลึกครบรอบ 55 ปี เดียนเบียนฟู จึงขอเรียบเรียงมานำเสนอบางส่วนดังนี้

 

 

รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

...การ รบที่เดียนเบียนฟูเป็นตัวแปรสำคัญ วันนี้หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า สงครามที่เดียนเบียนฟูอาจเป็นเรื่องของนักการทหาร แน่นอนถ้าคิดในมุมนั้น สงครามเดียนเบียนฟูเป็นแบบเรียนสำคัญของนักการทหาร คนที่เรียนประวัติศาสตร์สงครามทุกคนจะต้องอ่านบทเรียนของสงครามเดียนเบียนฟู ไม่มีใครไม่เคยอ่านบทเรียนสำคัญว่า ทำไมลุงโฮและนายพลหวอเหงียนย้าปนั้นรบชนะในสนามรบในพื้นที่แคบๆ และถนนเล็กๆ ในหุบเขา

 

ชัยชนะ ที่เดียนเบียนฟูสำคัญกว่าในทางการเมือง คือเป็นการพิสูจน์ว่า สงครามในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก้าวเข้าสู่ยุคของการรบในรูปของสงครามจรยุทธ์หรือสงครามกองโจร ในยุคขณะนั้น บางคนอาจจะคุ้นเคยกับการรบของเหมาในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในจีน ซึ่งชัยชนะของเหมาไม่ว่าจะต่อญี่ปุ่นหรือก๊กมินตั๋งในจีนนั้น พิสูจน์ชัดเจนก็คือ อำนาจการยิงที่เหนือกว่าไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในสงคราม อำนาจทางทหารที่เหนือกว่าของกำลังรบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งตัดสินว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เหมาพิสูจน์ให้เห็นจากสงครามจรยุทธ์ในจีนว่า ปัจจัยตัดสินพื้นฐานมาจากอำนาจของจิตใจและมาจากประชาชน

 

เช่น เดียวกัน สงครามเดียนเบียนฟูพิสูจน์อย่างชัดว่า อำนาจของพลังจิตใจของคนนั้นเอาชนะอำนาจของอาวุธซึ่งนักการทหารของโลกตะวันตก อาจจะไม่เคยเห็น

 

วัน ที่ 13 มีนาคม 1954 สำคัญเพราะว่าเป็นวันเปิดการยุทธ์ พูดง่ายๆ เป็นวันเริ่มต้นของสงครามเดียนเบียนฟู จริงๆ ฝรั่งเศสอาจจะเริ่มเข้าไปตั้งฐานที่มั่นในเดียนเบียนฟูหลายช่วง แต่พอถึง 13 มีนา กองกำลังของเวียดมินห์ ถ้าเราเรียกในขณะนั้น เริ่มตัดสินใจปิดล้อมจริงๆ แล้ว

 

เดีย นเบียนฟูเป็นเมืองที่น่าสนใจ ถ้าเรามอง เราคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเอาเดียนเบียนฟูเป็นฐานที่มั่นส่วนหน้า ตั้งรับเพื่อหวังว่าจะยันเวียดมินห์หรือจะยันการเคลื่อนไหวของพี่น้องที่ เป็นนักชาตินิยม เวียดนามนั้นต้องมีพื้นฐานสำคัญว่าจะทำอย่างไร ฝรั่งเศสคิดด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือว่า สร้างสนามบินไว้กลางเมือง เพื่อหวังว่าเมืองนี้จะไม่แตกถ้าสนามบินไม่ถูกยึด คล้ายๆ เพชรบูรณ์ตอนที่ครั้งหนึ่งทหารญี่ปุ่น ถ้าใช้ภาษาสุภาพก็คือ ขอผ่านแดนสยามในเดือนธันวาคม ปี 2484 แล้วเราในท้ายที่สุด รัฐบาลชุดนั้นเคยคิดอยู่ว่า ถ้าสุดท้ายรับมือญี่ปุ่นไม่ไหวก็ย้ายไปเพชรบูรณ์ ถ้าตอนนั้นย้ายเมืองหลวงจะเปลี่ยนเลย อันนี้คนกรุงเทพฯ จะเป็นคนบ้านนอก เพราะเมืองหลวงไปอยู่เพชรบูรณ์ แต่เผอิญการย้ายเมืองไม่เกิด รัฐบาลจอมพล ป. ต้องลาออกจากการเป็นรัฐบาล คือแพ้ญัตติในสภา แต่ตอนนั้นเราไม่มีขีดความสามารถในการสร้างสนามบินเหมือนอย่างที่ฝรั่งเศสทำ ที่เดียนเบียนฟู

 

และ วิธีคิดที่เชื่อว่าเดียนเบียนฟู ไม่แตกเพราะมีสนามบินอยู่ใจกลางเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ หลังจากเปิดการยุทธไม่กี่วัน สนามบินถูกถล่ม พันเอกปิโรตต์ (Charles Piroth) ของฝรั่งเศส มีวิธีคิดแบบฝรั่งจริงๆ คือ เริ่มคิดด้วยมีความเชื่อว่า เวียดมินห์ถ้าจะยิงปืนใหญ่ก็ยิงไม่เป็น ถ้ามีก็ยิงไม่เป็น หรือยิงเป็นก็ยิงไม่แม่น

 

ผม เคยอ่านรายงานของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวของกองทัพสหรัฐที่ประจำที่โตเกียวตอน สงครามโลกครั้งที่ ๒ เชื่อว่า คนญี่ปุ่นตัวเตี้ยเกินไป ขับเครื่องบินไม่ได้หรอก เพราะว่าด้วยรายงานอย่างนี้ มันถึงเกิดเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพราะเชื่อว่า ถึงญี่ปุ่นมีเครื่องบินก็ขับไม่ได้ เพราะนักบินญี่ปุ่นตัวเตี้ย เพราะฉะนั้นไม่ต่างจากที่พันเอกปิโรตต์คิดว่า สมมติถ้าเวียดมินห์มีปืนใหญ่ มีก็ยิงไม่เป็น ยิงเป็นก็ยิงไม่แม่น ในบทความได้โค้ดสิ่งที่ปิโรตต์พูดไว้ว่า ...ถ้าเวียดมินห์มีปืนใหญ่ ปืนใหญ่เวียดมินห์จะยิงได้ไม่เกินกว่า 3 นัด และหลังจากนั้น เราจะทำลายปืนใหญ่ของเวียดมินห์ได้... เพราะฉะนั้นในทางทฤษฎีการตั้งเมืองของฝรั่งเศส โดยสมมติฐานทางการทหารไม่ผิด ถ้าสนามบินไม่ถูกยึดเมืองไม่แตก

 

ฝรั่งเศส เชื่ออย่างหนึ่งว่า พื้นที่ตั้งปืนใหญ่ของฝรั่งเศสมันสูงพอที่จะคลุมหรือให้ความคุ้มครองกับสนาม บินของเมืองได้ ถ้าข้าศึกจะยึดเมืองหรือยึดสนามบินมีทางเดียวคือการเข็นปืนใหญ่ขึ้นภูเขา หรือใช้ภาษาทหารคือการส่งกองกำลังบำรุง

 

การ ส่งกองกำลังบำรุงที่เดียนเบียนฟู จริงๆ แล้วคือรากฐานที่สำคัญของชัยชนะของนายพลย้าป และตรงนี้ต้องอธิบาย เพราะปืนใหญ่ถูกเคลื่อนขึ้นเขาทั้งการลาก จูง ทำทุกอย่าง แล้วกองทัพที่เอาปืนใหญ่ขึ้นภูเขาได้เก่งที่สุด คือจักรยานยี่ห้อเปอโยต์ เป็นจักรยานที่พี่น้องชาวเวียดนามซื้อก่อนสงคราม แล้วถอดชิ้นส่วนของปืนใหญ่ขึ้นภูเขา ปืนใหญ่บางส่วนที่เข็นขึ้นภูเขาที่ไหลลง ต้องมีคนเสียสละ ใครที่อ่านบันทึก เมื่อปืนใหญ่ไหล พี่น้องที่เป็นนักชาตินิยมต้องเอาตัวไปขวางปืนใหญ่ ผมไม่ต้องบอกว่าปืนใหญ่นั้นหนักเท่าไหร่ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับผู้เสียสละเอาร่างกายขวางปืนใหญ่ที่กำลังไหลตกจากภูเขา

 

เพราะ ฉะนั้นในสภาพที่เราเห็น ทฤษฎีการตั้งรับของฝรั่งเศส เอาเข้าจริงๆ มันถูกในการทหารฆ่า สงครามเกิดเหมือนอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คือกองทัพเวียดมินห์เข้าตีที่ตั้งฐานของฝรั่งเศสตรงๆ หรือรบกันแบบที่รบในพื้นที่ของยุโรป นั่นหมายความว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น นายพลหวอเหงียนย้าป หรือกองกำลังของลุงโฮของเวียดมินห์ จะถูกบดขยี้ตั้งแต่ต้น แต่เมื่อสงครามเปลี่ยนทางเข้าสู่รูปแบบของสงครามจรยุทธ์ นั่นหมายความว่า กองกำลังของฝรั่งเศสไม่รู้เลยว่า กำลังของเวียดมินห์นั้นเคลื่อนเข้าปิดล้อมตัวเองหมดแล้ว

 

มี รายงานบางชิ้นพูดว่า แม่ทัพใหญ่ของฝรั่งเศสนั้น ไม่ยอมพูดความจริงกับผู้บัญชาการส่วนในสนามหรือผู้ที่เป็นผู้บัญชาค่ายของ เดียนเบียนฟูว่า พื้นที่ของเดียนเบียนฟู นั้นจะมีชีวิตอยู่เพียงไม่กี่วัน ถ้าเวียดมินห์ตัดสินใจเปิดการยุทธ์ เพราะรอบๆ ภูเขาของเดียนเบียนฟู ถูกปิดล้อมด้วยกองกำลังเวียดมินห์ นายพลย้าปใช้กำลังประมาณ 3 กองพลปิดล้อมเดียนเบียนฟู สองกองพลสกัดหัวท้ายไม่ให้ทหารฝรั่งเศสแตกออก โดยสภาพอย่างนี้ ฝรั่งเศสยังเชื่ออย่างเดียวว่า อำนาจการยิงที่ตัวเองมีนั้นสูงมากพอที่จะทำลายเวียดมินห์ได้ แต่เมื่อ 13 มีนาเกิดเหตุ หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันสนามบินถูกยึด เครื่องบินใช้ไม่ได้ การส่งกำลังทางอากาศที่ฝรั่งเศสเคยเขียนไว้ในแผนไม่เป็นจริง

 

ถ้า ทฤษฎีของเมืองนี้อยู่ได้ด้วยการที่ข้าศึกต้องไม่มีปืนใหญ่อยู่สูงกว่าเรา แต่เมื่อปืนใหญ่ของเวียดมินห์เริ่มยิง หลายคนที่ได้อ่านหนังสือที่พี่ศุขปรีดา (พนมยงค์) เขียน ก็จะเห็นพันเอกปิโรตต์ ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกอดระเบิดมือไว้ แล้วก็ดึงสลักกับตัว ไม่ได้ยิงตัวตายแต่เอาระเบิดมือถอดแล้วก็ดึงสลัก พูดง่ายๆ คือ ทฤษฎีที่นักการทหารฝรั่งเศสตั้งเอาไว้ผิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เพราะสนามบินเริ่มถูกคุกคาม เฉกเช่นเดียวกับที่ปืนใหญ่ของข้าศึกเริ่มส่งเสียงแล้วบอกว่า สิ่งที่ฝรั่งเศสคาดหวังไว้ไม่เป็นจริง

 

สงครามเริ่มเปิดการยุทธ์หรือเปิดการรบตั้งแต่ 13 มีนาคม 1 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญ พวกเราอาจบอกว่า 1 พฤษภาคมคือเมย์เดย์ วันกรรมกร แต่ 1 พฤษภาคมคือวันที่นายพลย้าปตัดสินใจเคลื่อนกำลังสุดท้าย เป็นวันเปิดการยุทธ์สุดท้าย สงครามดำเนินจากวันที่ 1 พฤษภาคม พอถึง 7 พฤษภาคม 17.30 น. กองกำลังฝรั่งเศสที่ฮานอยส่งคำสั่งสุดท้ายคือให้หยุดยิงทั้งแนว ผู้บัญชาการหน่วยทหารราบรับคำสั่งแล้วหยุดยิง แต่นั่งรอว่าทหารเวียดมินห์จะเข้ามาเมื่อไหร่ พอ 18.30 น. ทหารเวียดมินห์ส่งสัญญาณขอเข้าพบ และคำถามแรกที่ถามก็คือ จบแล้วใช่ไหม คำตอบที่ได้คือ Yes, it finished. คือ จบ

 

เพราะ ฉะนั้นจุด 18.30 น. เขาบอกว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่สำคัญที่สุดคือ จบ รวมถึงสุดท้ายก็คือวันที่ทหารเวียดมินห์ เตรียมเข้าไปในตัว บก.ใหญ่ของแม่ทัพฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู และแม่ทัพฝรั่งเศสก็แต่งตัวเต็มยศรอ แล้วในบันทึกบอกว่า ตอนที่แม่ทัพ ฝรั่งเศสเดินออกจาก บก. นั้น หันหลังกลับไปดูเห็นธงไตรรงค์ของฝรั่งเศสกำลังถูกชักลงจากเสา แล้วก็เห็นธงผืนหนึ่งที่เป็นผืนผ้าสีแดง พร้อมกับดาวทองนั้นกำลังถูกชักขึ้นสู่ยอดเสา

 

คง ไม่ต้องบอกนะครับว่า สงครามเดียนเบียนฟูสิ้นสุดในวันที่ 7 พ.ค. จะโดยเวลาอะไรก็แล้วแต่ เดียนเบียนฟูเป็นจุดของการรบที่คิดว่าจริงๆ จะพูดว่าเป็นการรบขนาดกลางก็ไม่ใช่ ถ้าเทียบในสงครามใหญ่ๆ แล้ว เดียนเบียนฟู เป็นเหมือนการรบในพื้นที่เล็กๆ แต่สำคัญกว่าคือผลของสงคราม

 

สงคราม ที่เดียนเบียนฟู ให้ผลที่เราเรียกกันในภาษาใหญ่ว่า นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์การทหาร 3 ประการใหญ่ๆ 1.ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูของพี่น้องเวียดนาม นำไปสู่การกำเนิดของประเทศเวียดนามที่เป็นเอกราช 2.ชัยชนะที่เดียนเบียนฟูตอกย้ำถึงการสิ้นสุดของระบอบอาณานิคมของชาติ มหาอำนาจตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 3.เป็นการส่งสัญญาณถึงพี่น้องในหลายประเทศที่เป็นอาณานิคมว่า ถึงเวลาที่ต้องกู้ชาติแผ่นดินอยู่แล้ว

 

มี คนอธิบายต่ออีกนิดหนึ่งว่า ผลประการที่ 3 นั้น มีอย่างสำคัญต่อการเรียกร้องเอกราชของชาวแอลจีเรีย ก็หลังจากที่เดียนเบียนฟูแล้ว ฝรั่งเศสประสบปัญหา ที่จริงถ้าเทียบผมว่าใหญ่กว่าที่เวียดนาม ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสที่แอลจีเรียใหญ่มาก แต่ที่แอลจีเรียนั้น ไม่ใช่แต่เพียงเป็นอาณานิคม แต่เป็นเหมือนฝรั่งเศสที่สอง เพราะฉะนั้น การเรียกร้องเอกราชที่พี่น้องในเวียดนามสร้างความสำเร็จให้เกิดในวันที่ 7 พฤษภา ปี 1954 สุดท้ายฝรั่งเศสไปจบจริงๆ ที่แอลจีเรีย

 

การ สิ้นสุดของสงครามอย่างนี้ให้ข้อคิดหลายอย่าง อย่างที่ผมเรียนให้กับพวกเราว่า เดียนเบียนฟู เป็นกรณีศึกษาของคนที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์ทหารทุกคน และในทางการเมืองเฉกเช่นเดียวกัน เดียนเบียนฟู ถือเป็นหัวข้อที่นักคิดทางการเมืองต้องคิด เดียนเบียนฟูตอกย้ำไม่ต่างกับสงครามปฏิวัติในจีน

สงคราม ในอดีตแบบสงครามโลกครั้งที่ 1 เราเห็นง่ายๆ ว่าเมื่อสงครามถูกตรึงด้วยการขุดสนามเพลาะ ไม่ใช่ทหารเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ชัยชนะเกิดจากอำนาจของฝ่ายตั้งรับที่เหนือกว่า แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดระบบยานยนต์เคลื่อนที่ถือกำเนิดขึ้น สงครามถูกเปลี่ยนจากสงครามตรึงกำลังที่เป็นสนามเพลาะเป็นสงครามเคลื่อนที่ ได้ ชัยชนะเป็นอำนาจของฝ่ายรุกที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามกองโจร สงครามครั้งนี้ไม่ได้พิสูจน์อำนาจของฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับเลย แต่พิสูจน์สิ่งที่นักคิด นักการทหารของโลกตะวันตกไม่คุ้นเคย พิสูจน์อำนาจของจิตใจที่เหนือกว่า

 

สงคราม ยุคใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้คำตอบสำหรับเราที่ชัดเจนคือ อำนาจของจิตใจที่หล่อหลอมรวมกันมีพลังสูงกว่าอำนาจการยิงที่เหนือกว่า มุมประเด็นเช่นนี้ไม่แต่เพียงตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงทางวิถีของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของเหมาในจีน ชัยชนะของลุงโฮ-นายพลย้าปในเวียดนาม รวมถึงในท้ายที่สุดเราเห็นการรวมชาติของพี่น้องในเวียดนามในเดือนเมษายน ปี 2518 ผลจากชัยชนะในสงครามเหล่านี้ เราอาจจะไม่ค่อยรู้สึก อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในปี 1954 หรือปี 2497 ในทางยุทธศาสตร์

 

แต่ สิ่งที่น่าสนใจอันหนึ่ง วันนี้ถ้าท่านเปิดหนังสือประวัติศาสตร์หรือเปิดหนังสือยุทธศาสตร์ในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมาของศตวรรษที่ 20 มีคนเอเชียกี่คนที่เป็นนักยุทธศาสตร์และนักการทหารที่ได้รับการยกย่องในรอบ 100 ปี เอาแค่รอบปีศตวรรษที่ 20 ท่านลองนึกว่าท่านกับผมคิดตรงกันไหม มี คนเอเชียเพียง 6 คน ที่ได้รับการยกย่องในเวทีสากลว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ สามคนเป็นญี่ปุ่น สองคนเป็นเวียดนาม และหนึ่งคนเป็นจีน

 

สาม คนเป็นญี่ปุ่นคือ จอมพลเรือโตโก ที่เป็นแม่ทัพเรือในการสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย 1904-1905 คู่กับนายพลโนกิ ซึ่งเป็นคนที่กุมกำลังทั้งหมดในการยึดเกาะอาเธอร์ของป้อมค่ายของรัสเซีย คนที่สามนายพลยามาโมโต้ เจ้าของแผนบอมบ์อ่าวเพิร์ล เสียดายนายพลยามาโมโต้ไม่ตัดสินใจยึดฮาวายตั้งแต่วันนั้น แต่วันนี้ท่านไม่ต้องห่วงนะครับ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะฮาวายเป็นสถานที่ฮันนีมูนของทหารญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าท่านเป็นคนฮาวาย อยากได้งานที่ดีท่านต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้ คำตอบคืออะไรครับ ญี่ปุ่นยึดฮาวายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ

 

สาม คนแรกเป็นญี่ปุ่น คนถัดมาเอเชียอีกคนหนึ่งเป็นจีน ผมไม่ต้องบอกท่าน คนๆ นั้นคือประธานเหมาเจ๋อตุง อีกสองคนผมคิดว่าเป็นพี่น้องในภูมิภาค ซึ่งในรอบ 100 ปี การบันทึกของโลกตะวันตกหรือในเวทีสากลนั้น ถือทั้งลุงโฮและถือทั้งนายพลย้าปนั้น เป็นนักยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ผมคิดว่าในจุดอย่างนี้ สงครามที่เดียนเบียนฟู จนในท้ายที่สุดสิ้นสุดลงด้วยสงครามรวมชาติในเดือนเมษายน 2518 หรือปี 1975 พิสูจน์ศักยภาพในทางความคิดของพี่น้องในภูมิภาคของเรา ด้วยการยกฐานะคนสองคนขึ้นเป็นนักยุทธศาสตร์ของโลก

 

ผล ของการเปลี่ยนแปลงหลังจากสงครามที่เดียนเบียนฟู ผมเปิดดูในหนังสือของพี่ศุขปรีดาหรือหนังสือหลายเล่มจะเห็นภาพทุกภาพ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ ญี่ปุ่นยึดเวียดนามก่อนขอผ่านแดนสยาม ในคำบรรยายพูดไว้ชัด เขาบอกว่า รัฐบาลอาณานิคมของฝรั่งเศสนั้นมีอำนาจเพียงแค่จวนข้าหลวง พ้นจากรั้วจวนข้าหลวงหรือจวนผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศสนั้น อำนาจจริงเป็นของทหารญี่ปุ่นทั้งหมด แม้กระบวนการกู้เอกราชในเวียดนาม ผมเชื่อว่าเหมือนกับขบวนการกู้เอกราชในหลายๆ ประเทศ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวของญี่ปุ่นในเอเชีย แม้ว่ากระบวนการกู้เอกราชในภูมิภาคเรา ไม่ว่าจะเป็นของท่านโฮจิมินห์ในเวียดนาม ของท่านสุพานุวงในลาว หรือของชาวพม่า หรือว่าของท่านซูการ์โนในอินโดนีเซียก็ตาม แต่พอญี่ปุ่นขึ้น คนพวกนี้ตัดสินใจจับมือกับสัมพันธมิตรรบกับญี่ปุ่น ภาพหลายภาพซึ่งเราเห็น และจะมีภาพหนึ่งซึ่งเราเห็นหลายเล่มตีพิมพ์ นายทหารที่เป็นหน่วยข่าวลับของอเมริกันหรือโอเอสเอสนั่ง แล้วมีลุงโฮนั่งอยู่ ทหารอเมริกันนั่งถัดมา คนที่สามนายพลย้าปใส่เสื้อเท่เลยนะครับ

 

เรา เคยคิดกันเล่นๆ ไหมครับ สมมติว่าเราย้อนเวลาได้ ถ้าสมมติทัศนะของอเมริกันต่อปัญหาลุงโฮกับเวียดนามไม่เปลี่ยน คือยังถือเอกราชของพี่น้องในภูมิภาคเป็นประเด็นสำคัญ แล้วไม่ตัดสินใจมองลุงโฮเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ตัดสินใจมองเวียดมินห์เป็นคอมมิวนิสต์ อะไรจะเกิดขึ้น อเมริกันทำอย่างหนึ่ง เรื่องการคุ้มครองเอกราชคือตัดสินใจที่จะคุ้มครองเอกราชของสยาม เรายืนกับญี่ปุ่นเต็มๆ วันที่ญี่ปุ่นเคลื่อน จอมพล ป. จูงมือกับท่านนายพลนากามูระ บันทึกของท่านนายพลนากามูระที่เป็นผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยตี พิมพ์สองครั้ง สำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์ไว้น่าอ่าน เล่มเล็กๆ อ่านแล้วต้องอ่านระหว่างบรรทัดว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในความสัมพันธ์ในสมัย สงครามโลก ถึงขั้นจอมพล ป. และนากามูระจูงมือกันไปสาบานที่วัดพระแก้ว ว่าจะร่วมหัวจมท้ายด้วยกันในสงคราม ผมก็ขยายความต่อด้วยประโยคๆ หนึ่ง ญี่ปุ่นแพ้แต่ไทยไม่แพ้ เพราะถ้าวันนั้นสัมพันธมิตรปฏิบัติต่อสยามในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามเหมือน กับกรณีของเยอรมนี กรณีของญี่ปุ่น การเมืองไทยมาถึงวันนี้ไม่เหมือนเก่า เพราะทหารสัมพันธมิตรจะปลดอาวุธทั้งทหารญี่ปุ่นและปลดอาวุธทหารไทยพร้อมๆ กัน

 

ผม คิดว่า ถ้าตอนนั้นสัมพันธมิตรตัดสินใจปลดอาวุธจริงๆ หลายอย่างเปลี่ยน รวมถึงเหตุการณ์กบฏวังหลวง ที่อาจารย์ปรีดีโดนก็อาจจะไม่เกิด ในมุมมองอย่างนี้น่าสนใจ ถ้าหลังสงครามโลกครั้งที่2 สงครามเย็นที่มีการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย หรือระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกสังคมนิยมไม่เกิด แล้วการกู้เอกราชของพี่น้องในเวียดนามไม่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวมถึงประเด็นที่สำคัญคือ นโยบายสืบเนื่องที่รัฐบาลสยามทำตั้งแต่สมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ยังได้รับการสานต่อ เราได้ยิน เสียดายไม่มีใครบันทึกไว้ให้เรารับรู้ การที่เสรีไทยนั้นส่งอาวุธให้พี่น้องในภูมิภาครบกับเจ้าอาณานิคม ผมคิดว่าไม่ใช่มีแต่ในกรณีของอาวุธที่ส่งจากสยามไปให้ขบวนการเวียดมินห์ แล้วในท้ายที่สุดลุงโฮได้ตั้งกองพันสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย ในฐานะที่ส่งอาวุธเพื่อช่วยในการกู้เอกราช ผมเคยมีโอกาสครั้งหนึ่ง พบเสรีไทยที่เป็นคุณลุงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคนที่ส่งอาวุธให้ซูการ์โนรบกับ ดัทช์ในชวา

 

ผม รู้ว่าผมเปลี่ยนการเมืองในภูมิภาคไม่ได้ แต่อย่างที่ผมทดลองเปิดประเด็นว่า ถ้าปัญหาคอมมิวนิสต์หรือปัญหาสงครามเย็นไม่เข้าสู่ภูมิภาค แล้วพี่น้องในภูมิภาคสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันใน ทางการเมือง ผมคิดว่าวันนี้จะไม่มีเหตุการณ์ปี 51 เหตุการณ์ปี 51 คืออะไรครับ ไม่ทะเลาะกับเพื่อนบ้านเรื่องกรณีปราสาทพระวิหาร สิ่งที่เราเห็นชัดก็คือในท้ายที่สุดนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนเส้นทางของประวัติศาสตร์ได้ ผมไม่อยากใช้ภาษาเก่านะครับว่า กงล้อประวัติศาสตร์มันหมุนแล้วก็ไม่มีใครไปขวาง แต่สงครามในเวียดนามก็จบลงในเดือนเมษายนปี 2518 หลังจากนั้นอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค แต่ในท้ายที่สุด สงครามทั้งหมดในภูมิภาคก็จบหลังจากปี 32, 33, 34 ไล่ขึ้นมา เราจะเริ่มเห็นชัดก็คือการแบ่งค่ายทางการเมืองในภูมิภาค ก็สิ้นสุดลงและสิ้นสุดลงด้วยสัญลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุด สิ้นสุดลงด้วยการที่เวียดนามสมัครเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน ผมคิดว่านั่นคือสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของการแบ่งค่ายทางการเมืองในภูมิภาค

 

ประเด็น นี้ตอบเราอย่างเดียว ถ้าเราทะเลาะกันน้อยลง จับมือกันมากขึ้นในภูมิภาค วันนี้ผมเชื่อว่าพวกเราที่เป็นพี่น้องร่วมกันในภูมิภาคจะอยู่กันด้วยความสุข ที่มากขึ้น แต่ถ้าเราถือเอากระแสการเมืองเป็นด้านหลัก แล้วเกิดปัญหา เราก็คงเห็นก่อนปี 18 เราอยู่ภายใต้กระแสของการปลุกระดมเรื่องอุดมการณ์บางอย่าง หลังปี 18 ยิ่งชัด เมื่อเวียดนาม ลาว และกัมพูชา แตก กระแสขวาจัดก่อตัวในสังคมไทย ผมไม่ต้องบอกว่าในท้ายที่สุดมันจบที่หน้าธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา ปี 2519 แล้ววันนี้เราเริ่มเห็นการก่อของกระแสขวาจัดในปีที่ผ่านมา

 

เรื่อง เหล่านี้มันเหมือนกลับมาสู่คำถามพื้นๆ วันนี้ท่านอยากเห็นประเทศไทยจัดความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ในช่วงหลังจากพี่น้องในภูมิภาคได้รับเอกราช ท่านประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซีย จัดการประชุมที่บันดุงหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของบันดุงคอนเฟอเรนซ์ ในปี 2498 ในการประชุมที่บันดุง ผู้นำตั้งแต่จีน เวียดนาม ยูโกสลาเวีย คิวบา อินเดียทั้งหลายต่างไปประชุม ซูการ์โนเสนอหลักการที่สำคัญที่สุดคือ ปัญจศีล คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประเทศในโลกที่สาม วันนี้ผมเชื่อว่าเวลามันเนิ่นนานจนเราลืมหลักปัญจศีลที่ซูการ์โนเคยเสนอ

 

วัน นี้ผมเสนอด้วยหลักการที่น้อยกว่าท่านซูการ์โน ผมเสนอหลักไตรสรณคมน์ในการมีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ผมได้ยินที่คุณชิบ (จิตรนิยม) เล่าว่า ท่านหวอเหงียนย้าปอยากให้ช่วยกันคิดความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ให้กระชับ ผมคิดว่านั่นเป็นโจทย์ที่วันนี้ก็ยังต้องคิด ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ไทยกับเวียดนาม แต่ยังรวมถึงพี่น้องในลาว กัมพูชา และพม่า สิ่งที่ผมเสนอ ผมเรียนว่าผมไม่ไปถึงห้าข้อ ผมมีข้อเสนอเพียงข้อระหว่างความสัมพันธ์เรากับเพื่อนบ้าน

 

เป็น ไปได้ไหมครับในอนาคตที่ความสัมพันธ์เรากับเพื่อนบ้านนั้น ยืนอยู่บนหลักการ 1.มิตรภาพ 2.สันติภาพ 3.ภราดรภาพ คือ 1.เชื่อว่าความสัมพันธ์ในอนาคตนั้น พี่น้องในภูมิภาคต้องเป็นมิตรต่อกัน 2.ต้องแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ 3.ต้องให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและเคารพต่อกันดั่งญาติ

 

ผม คิดว่าวันนี้พวกเราต้องคิด สงครามเดียนเบียนฟูสิ้นสุดเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบทเรียนสำคัญในวิชาประวัติศาสตร์ทหาร แต่สำหรับคนรุ่นหลังๆ ที่มีชีวิตอยู่กับโลกปัจจุบัน ภาวะร่วมสมัยสงครามเดียนเบียนฟู วันนี้เดียนเบียนฟูเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสถานที่ของการรำลึกเหตุการณ์ในอดีต แต่อนาคตที่รอเราอยู่ ไม่ต่างจากเดียนเบียนฟู ถ้าเราไม่สามารถจัดความสัมพันธ์เรากับเพื่อนบ้าน นั้นหมายความว่า อนาคตที่ต้องคิดโจทย์เดิมที่นายพลย้าปฝากคุณชิบกลับมาว่า ต้องช่วยกันคิดเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน อันนั้นยังเป็นปัญหา เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ได้ แน่นอนโอกาสที่จะหวนสู่สงครามระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นอะไรที่ไม่ไกลเกินไป

 

ปี 2551 ผมคิดว่าเราเห็นสภาวะของนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงไทย ที่เหมือนกับคนไต่เชือก พร้อมที่จะหล่นลงมาสู่หุบเหวแห่งสงครามได้ตลอดเวลา ถ้าเช่นนี้ทำอย่างไร ที่ไทยกับเพื่อนบ้านจะอยู่กันดั่งญาติ ผมย้ำนะครับ อยู่กันดั่งญาติ ไม่ต้องบอกว่าพี่น้อง พูดพี่น้องมีปัญหาว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง

 

ปัญหา สำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะกระโดดข้ามประตูของความขัดแย้ง ทำอย่างไรที่เราจะกระโดดข้ามปัญหาสงครามไปสู่อนาคตของการอยู่ร่วมกันดั่ง ญาติในภูมิภาคอย่างแท้จริง อย่างน้อยที่สุด ทำอย่างไรในอนาคตเราไม่จำเป็นต้องทะเลาะกันว่า ใครเป็นเจ้าของพระวิหาร แต่ทำอย่างไรที่คนในสังคมไทยพร้อมที่จะกล้าแสดงความยินดีในวันที่ขแมร์หรือ ญาติผู้ใหญ่ทางวัฒนธรรมของสังคมสยามนั้นได้รับพระวิหารอันเป็นมรดกโลก ถ้าเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ในท้ายที่สุดนโยบายต่างประเทศของไทย จะเป็นเพียงตัวแทนของทางการขวาตกขอบ เช่นที่เราเห็นจากกรณีความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ตั้งแต่ก่อนปี 2518 มาแล้วหรืออย่างน้อยเราเกือบจะได้เห็นในปี 2551 จากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร.

 

 

 

……………………………………

อ่านงานที่เกี่ยวข้อง

รายงาน : รำลึกครบรอบ 55 ปี เดียนเบียนฟู (ตอน 1)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท