Skip to main content
sharethis

การเมือง

สว.สมชายหนุนแก้มาตรา 237

โพสต์ ทูเดย์ - นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าการดำเนินการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่กรรมการสมานฉันท์ได้ให้อนุกรรมการฯพิจารณาอยู่นั้น สุดท้ายแล้ว ประเทศชาติและสังคมส่วนรวมจะต้องได้ประโยชน์เท่านั้น ไม่ใช่ดำเนินการเพียงเพื่อให้นักการเมือง และเห็นว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วย

 

ทั้งนี้ในส่วนมาตรา 190 ที่เสนอให้การแก้ไขนั้น ก็ควรพิจารณาในส่วนที่เป็นปัญหายากต่อการวินิจฉัยของฝ่ายบริหารเท่านั้น เช่นในวรรคที่ 2 ที่ ระบุว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และถ้ามีปัญหาเรื่องการตีความก็ให้แก้ไขเฉพาะคำว่าอย่างกว้างขวางและคำว่าอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น และผู้เสนอแก้ไขจะต้องเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของมาตรา 190 มาพร้อมกันด้วย เพราะที่ผ่านมา 3 รัฐบาลแล้วหลีกเลี่ยงที่จะทำกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จจะได้ไม่เกิดในการตีความอีก

 

ในส่วนที่จะให้การแก้ไขมาตรา 237 เพื่อไม่ให้กรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดและโดนยุบพรรครวมถึงการตัดสิทธิ์ 5 ปีนั้น เห็นควรผู้เสนอรัฐธรรมนูญต้องฟังเสียงทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบ เพราะที่ผ่านมามีการทุจริตเลือกตั้งอย่างมากมาย ผู้บริหารพรรคล้วนได้ประโยชน์จากจำนวน สส. ที่มากขึ้นเพราะการทุจริต รัฐธรรมนูญ 50 จึงตั้งใจใช้ยาแรง รักษาโรคร้าย ซึ่งก็เริ่มปรากฏผลแต่นักการเมืองกลับมาแก้ไขกฎหมายเพื่อให้พ้นผิด แทนที่จะแก้ไขพฤติกรรมและวิธีการเลือกตั้งให้สุจริต ดังนั้นถ้าจะแก้ไขมาตรา 237 เพื่อไม่ยุบพรรค ก็ควรที่จะคงโทษกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ทั้งการตัดสิทธิ์ทางการเมืองต่อไปและควรเพิ่มโทษอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ต่อกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิด และหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ในฐานะสมรู้ร่วมคิดใช้จ้างวาน หรือร่วมกระทำความผิด รวมถึงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มา สส. และสว.

 

นอกจาก นั้นนายสมชาย ยังได้แสดงความคิดเห็นกรณีที่จะให้มีการเลือกตั้ง สว.ทั้งหมดว่า การเลือกตั้งสว.ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งก็ไม่ใช่คำตอบ ของความเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่าห้วงที่ผ่านมา มีปัญหาการผูกขาดยึดครอง วุฒิสภาเป็นของบางกลุ่ม บางตระกูล มิได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างมีอิสระ จนถูกเรียกขานว่าเป็นสภาทาส สภาผัวเมีย ที่ถูกกำกับโดยรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะแก้ไข จำเป็นต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภามีหน้าที่ถ่วงดุล ตรวจสอบ ซึ่งหากมีการแก้ไขและเกิดสภาทาสอย่างเช่นในอดีต ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะมีวุฒิสภาอีก และตอนยกร่างรธน.ปี 50 ก็มีข้อถกเถียง ว่าให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือ มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หลังฟังความเห็นประชาชนถึง 360 เวที จึงได้ข้อสรุปที่มา สว. 2 แบบ คือเลือกตั้งกับสรรหา ดังนั้นการที่จะแก้กลับไปเป็นสว.เลือกตั้งแบบปี 40 ต้องมีผลการศึกษาที่ยอมรับได้มากกว่าแก้เพื่อตามใจนักการเมือง

 

 

มาร์คเชียร์ยกเลิกยุบพรรค

ASTVผู้ จัดการรายวัน - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่า คณะทำงานของพรรคเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้เสนอประเด็นการแก้ไข ตามที่เคยมีการศึกษาตั้งแต่ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการชุดอื่นที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้

  

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่พรรคเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.237 ในเรื่อง การยุบพรรคนั้นเห็นว่าควรแยก แยกระหว่างการลงโทษพรรคกับการลงโทษกรรมการบริหาร เพราะเห็นว่าพรรคเป็นองค์กร ที่เป็นของสมาชิกทุกคน ซึ่งการไปยุบพรรคแล้วกระทบกับสมาชิกดูไม่เป็นธรรมกับสมาชิก แต่กรรมการบริหารเป็นผู้ที่รับผิดชอบการบริหารพรรค หากพรรคจะทำอะไรที่ผิดต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ควรกระเทือนไปถึงสมาชิก

  

ส่วน ที่มีข้อเสนอจาก คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทยให้ คู่ขัดแย้งมาเจรจากันทางลับนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าหมายถึงใคร เจรจาในเรื่องอะไร เห็นแต่ข่าวเฉยๆว่า เสนอให้แกนนำคู่ขัดแย้งเจรจากัน อย่างไรก็ตามตนไม่ได้คิดว่า ปัญหาของประเทศขณะนี้เป็นปัญหาที่เป็นความขัดแย้งส่วนตัวของใคร ตนมองว่า แนวทางแก้ไขขณะนี้คือ การสร้างระบบที่เป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับมากกว่า ทั้งนี้ตนไม่แน่ใจว่า ผู้เสนอเขาคิดว่า คู่ขัดแย้งที่ว่านี้ คือใคร และจะให้เจราจาเรื่องอะไร แต่ถ้าถามทัศนะตนก็บอกว่า การแก้ไขปัญหาขณะนี้เป็นเรื่องการสร้างระบบ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากกว่า

  

ส่วน ที่นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอว่า คู่ขัดแย้งคือ ผู้ที่เคยทำธุรกิจด้วยกันเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แต่มาแตกแยกกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าความขัดแย้งที่มีในสังคมขณะนี้ และมีคนจำนวนมากที่เคลื่อนไหว หรือมีการแสดงความคิดเห็น คงจะเป็นประเด็นที่สำคัญและกว้างไปกว่าประเด็นความขัดแย้งส่วนตัวดูที่มาของ ความขัดแย้งขณะนี้

 

 

มติภท.ให้"ชาติชาย"พ้น รมช.เกษตรฯ

โพสต์ ทูเดย์ - นาย ศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรค ที่มี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานการประชุมว่า การประชุมวันนี้มีการหารือกันในหลายประเด็น รวมทั้งเสนอรายชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์คนใหม่ แทนนายชาติชาย พุคยาภรณ์ ที่จะถูกปรับออกจากตำแหน่ง โดยที่ประชุมพรรคมีมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นเอกฉันท์ที่จะให้นายชาติชาย พ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากนายชาติชายไม่สนองตอบนโยบายของพรรค รวมทั้งไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของพรรค พร้อมมอบให้หัวหน้าพรรค เป็นผู้พิจารณาบุคคลที่เหมาะสม และรายงานของที่ประชุมพรรคเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอนต่อไป

 

ส่วนกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่าง นายสรอรรถ กลิ่นประทุม และนายเนวิน ชิดชอบนั้น นายศุภชัย ยืนยันว่า ทั้ง 2 คนไม่มีปัญหาความขัดแย้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย ยังเตรียมจัดสัมมนาพรรคในระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายนนี้ ที่จังหวัดชุมพรด้วย

 

 

ผบ.ทบ.เห็นใจรัฐถังแตกรับถูกตัดงบเกือบหมื่นล.

ไทยรัฐ - วันนี้ (21 พ.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมถูกตัดงบประมาณไปถึง 1.9 หมื่นล้านบาทว่า ในส่วนของกองทัพบกถูกตัดไปเกือบ 10,000 ล้านบาท โดยโครงการใหม่ที่ตั้งงบประมาณผูกพันในปี 2553 ก็จะตัดออกไปทางรัฐบาลให้กองทัพใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณ ทำให้กองทัพต้องเริ่มโครงการใหม่เพื่อไม่ให้มีปัญหา เป็นโครงการที่จบในปีเดียว กับโครงการที่ใช้หนี้ผูกพันเท่านั้น ซึ่งสามารถบริหารได้ อย่างไรก็ตามโครงการเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับแผนงานในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของงบฯปฏิบัติงานก็คงไม่กระทบมากมาย

 

ต่อ ข้อถามที่ว่า เรื่องการตัดงบฯ จะกระทบต่อกำลังพลหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ต้องรับให้ได้ ถ้าบ้านเมืองมีความจำเป็น ไม่มีงบประมาณก็ต้องยอมรับ เข้าใจว่ากองทัพมีความจำเป็นแต่ว่า เมื่อตัดงบฯ ก็ต้องตัดในส่วนของกองทัพก่อนหน่วยงานอื่น เพราะหน่วยงานอื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ไปตัดเขาก็คงไม่ดีกับประชาชน ก็ต้องยอมตัดของทหารไป แล้วค่อยไปหามาตรการในการดูแลรักษายุทโธปกรณ์ หรือการฝึกไม่เหมือนจริง ไม่มีกำลัง เป็นการฝึกโดยการวางแผนเฉยๆ

สำหรับโครงการการจัดหารถหุ้มเกราะล้อยางจากประเทศยูเครนนั้น ในงบประมาณปี 2553 ไม่มีการริเริ่มโครงการใหม่ ส่วนที่จัดหามาก่อนหน้านั้นก็ดำเนินการไป

 

เมื่อ ผู้สื่อข่าวถามถึงการเสนอโครงการจัดหาอุปกรณ์ในการสลายการชุมนุมนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ก็เสนอในขั้นต้นไป เพราะในขณะที่เสนอไปจะมีการประชุมอาเซียนซัมมิทด่วน เมื่อการประชุมเลื่อนออกไปก็ต้องมีการทบทวนให้ละเอียดกว่านี้ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวตนได้เสนอขึ้นไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ และของใหม่ถ้ามีการเลื่อนไปก็จะดูรายละเอียด

 

 

ผบ.ทบ.ลั่นให้พิสูจน์คอนเทนเนอร์ ยันไร้ศพในค่า้ย

ไทยรัฐ - เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (21 พ.ค.) ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปตรวจเยี่ยมฐานปฏิบัติการผามออีแดง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ใกล้พื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนเขาพระวิหาร เพื่อรับฟังสถานการณ์ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ว่า คงไม่มีอะไรพิเศษ ไปดูตามวาระ ส่วนสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณดังกล่าวทราบว่า ผู้ปฏิบัติการทั้ง 2 ฝ่าย สามารถพูดคุยกันได้ ไม่ตึงเครียดตามแนวชายแดน สำหรับการที่ยูเนสโก ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้านั้น ความจริงการเข้าไปในพื้นที่นั้นต้องติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นฝ่ายดูแล ในส่วนของกองทัพจะดูเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ซึ่งก็มีปัญหาบ้างเล็กน้อย ว่า เจ้าหน้าที่ยูเนสโกเข้าจากทางใด ก็จะไปพูดคุยในเรื่องนี้ด้วยว่าเป็นอย่างไร

 

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังใช้ความรุนแรงโดยการสังหารและเผาซ้ำนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า จะลงไปดูสถานการณ์ในเร็วๆนี้ เพราะยังมีความโหดร้ายของการปฏิบัติ ก่อนหน้านี้มีใช้ความรุนแรงโดยการตัดคอเพื่อสร้างความรุนแรง เราก็ต้องหามาตรการที่จะทำให้ดีที่สุด และทหารเราใช้การเมือง การพัฒนา ไม่ใช่เอาการทหารปิดปากเขา เพราะจะเกิดปัญหาตามมา เมื่อใช้การพัฒนาแล้วเขาไม่ปฏิบัติก็ต้องใช้เวลา เพราะไม่รู้ว่าเขาจะพอใจแค่ไหน แต่หากเขาพอใจก็จะไม่ก่อเหตุ นี่คือความยากในการใช้การเมือ การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหา ในส่วนของทหารต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับประชาชน และไม่ให้มีความคิดจะไปร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบฯ และที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้กฎหมายอะไรเป็นพิเศษ ประชาชนในภาคใต้ยังใช้ชีวิตปกติ

 

พล.อ.อนุ พงษ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่พอใจที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่เข้าไปชี้แจงเรื่องการสลายการชุมนุม เมื่อช่วงสงกรานต์ว่า ผู้บัญชาเหล่าทัพและตนเองก็ให้ความเคารพ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่อยู่ด้วยกันตรงนั้นมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ นายกรัฐมนตรี และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ปฏิบัติการร่วมกันอยู่ อีกส่วนหนึ่ง คือ ส่วนที่ไปปฏิบัติการในรายละเอียด ซึ่งจัดการเรื่องความสงบเรียบร้อย เป็นอีกกลุ่มที่จะรู้ในทุกรายละเอียดดี ในส่วนแรกจะได้รับทราบจากการรายงาน ส่วนพวกที่อยู่ในศูนย์สั่งการจะรู้ในรายละเอียดการสั่งการ การโต้ตอบข่าวสารน่าจะตอบคณะกรรมการฯได้ดีกว่า

 

ส่วน ความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตู้คอนเทนเนอร์กลางทะเลนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่เห็น พูดไปสังคมก็จะยิ่งไปกันใหญ่ แต่มีความรู้สึกอย่างเดียว ว่า ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเป็นอะไร ส่วนขั้นตอนขึ้นอยู่กับผู้มีความรู้เกี่ยวกับใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมี หรือ ศพ จะเป็นส่วนพิสูจน์ทราบอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะปล่อยเฉยๆ ได้ ส่วนงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการจะคุ้มค่าหรือไม่นั้น ในความคิดของตนก็ยังคิดว่าจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นอะไร ไม่เช่นนั้น สังคม หรือประชาชน รวมถึงข้าราชการ ก็จะสงสัย ก็ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้

 

สำหรับกรณีที่ กลุ่มญาติวีรชน พฤษภาคม 2535 มายื่นหนังสือให้กองทัพบกหาศพผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเป็นญาติหรือลูกของเรา ไปเสียชีวิตในลักษณะเช่นนี้ก็ต้องดิ้นรนที่จะได้ศพคืน แต่คิดว่าสิ่งที่น่าทำต้องมีระบบที่ดีกว่านี้ ที่มีโอกาสจะได้ศพญาติของตนเองคืนมา ขอยกตัวอย่างว่า ถ้าเราไปทวงของ ซึ่งตนเอง และกองทัพบก ไม่มีศพดังกล่าวอยู่ เมื่อเราไม่มีศพอยู่ จะมาทวงก็ ไม่มี เชื่อว่าเขาทุกข์ใจ และอยากได้ สิ่งที่น่าทำ ตามที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ บอกไว้คือ ระบบการตรวจสอบ เรามีศพไม่มีญาติในสุสานเพิ่มขึ้นทุกวัน จนมีเป็น1,000 ศพ ก็ไม่มีระบบไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะใช่ก็ได้ เมื่อมันไม่ใช่ก็จะได้ไปสืบสวน สอบสวนว่าอยู่ที่ใด

 

'การ ที่จะมาขอจากกองทัพบก ผมก็เรียนด้วยความเคารพว่า ไม่มี สังคมต้องเข้าใจ ในส่วนตัวผมก็เข้าใจว่า เป็นความจำเป็นต้องดิ้นรนหา เป็นญาติผมก็ต้องทำเช่นนั้น แต่ผมจะไม่ไปขอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก ที่มันไม่มีพื้นฐานที่จะต้องขอ ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลทำระบบการตรวจสอบบุคคลสูญหายให้ดี อย่างที่คุณหมอพรทิพย์ ท่านริเริ่ม หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงจะมีแผนงานบ้างเพราะมีมาก ผมเคยอยู่ตามแนวชายแดน เคยให้เราดูศพไม่มีญาติในสุสานว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเราหรือไม่ ผมไม่เคยไปดู เขาก็ฝังไว้เช่นนั้น' พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

 

 

แฉขบวนการป่วนใต้5พันคนจ้องแยกดินแดน

ไทยรัฐ - วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังเกิดเหตุความไม่สงบอย่างต่อเนื่องว่า ต้องยอมรับว่า มีกลุ่มคนร่วมขบวนที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนจริงๆ ประมาณ 4,000-5,000 คน ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลคือ ต้องดูแลคน 3 จังหวัดภาคใต้อีกกว่าล้านคนให้มีคุณภาพชีวิตดี ไม่ใช่คิดไปไล่ล่าฆ่าคนที่อยู่ในขบวนการ หรือเป็นผู้ก่อการร้าย 5,000 คนนี้ แต่ต้องพยายามให้คนเหล่านี้กลับใจมาอยู่ข้างรัฐบาล ซึ่งผู้ก่อการต้องการอวดศักดา แสดงให้เห็นว่า ยังมีอำนาจ กระทำการร้ายได้ ซึ่งต้องแก้ไปเรื่อยๆ

 

เมื่อ ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ก่อความไม่สงบพยายามสร้างผลงาน เพื่อขอรับเงินสนับสนุน ก่อนมีการประชุมองค์การการประชุมชาติอิสลาม (โอไอซี) ในเดือนมิ.ย.นี้ ใช่หรือไม่ นายสุเทพ ตอบว่า เป็นเรื่องจริง กลุ่มคนแบ่งแยกดินแดนส่วนหนึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากนอกประเทศ ดังนั้นต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อถามว่า คิดว่านโยบายการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาล้มเหลวหรือไม่ นายสุเทพ ตอบว่า ไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น อย่าเพิ่งรีบสรุป ยอมรับว่าการทำงานอาจยังไม่ถูกใจประชาชน ทั้งนี้สัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประชุมร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้บริหารจังหวัด เพื่อชี้แจงตัวเลขงบประมาณ แผนงาน และโครงการต่างๆ ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ซึ่งเม็ดเงินจะออกมาในอีก 4 เดือนข้างหน้า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลชุดนี้ จะเน้นหนักไปที่การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยตั้งเป้าให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ 1.2 แสนบาท/ครอบครัว/ปี รวมถึงการปรับปรุงด้านการศึกษา และกระบวนการยุติธรรม

 

 

พรรค พธม.แท้ง กกต.ไม่รับจดเหตุชื่อซ้ำซ้อน

ไทยรัฐ - วันนี้( 21 พ.ค)นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กล่าวว่า กกต.มีมติไม่ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มี นางภานุมาศ พรมสูตร หัวหน้าพรรคได้ยื่นขอต่อกกต.ทั้งนี้เนื่องจากการตรวจสอบของฝ่ายวิจัยและ พัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมืองพบว่า นางรุ่งรัตน์ เป็นกระโทก สมาชิกพรรคของผู้ร่วมขอจัดตั้งพรรคฯ มีชื่อปรากฎเป็นสมาชิกพรรคมหาชน และเมื่อพิจารณาชื่อพรรคที่เป็นภาษาอังกฤษและชื่อย่อภาษาอังกฤษก็คล้ายหรือ ซ้ำกับพรรคประชาภิวัฒน์ ที่ถือว่าขัดกับมาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.บ.พรรคการเมือง 50 ที่ห้ามไม่ให้ชื่อพรรคการเมือง ซ้ำ พ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของผู้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือของพรรคการเมืองที่ได้จดแจ้งไว้ก่อนตามมาตรา 12 หรือของพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

 

นอกจาก นี้เลขาธิการฯ กกต.ยังระบุตรวจสอบพบข้อบังคับพรรคพันธมิตรฯหลายข้อขัดต่อพ .ร.บ.พรรคการเมือง จึงเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองสั่งไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคพัน ธมิตรฯ และแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้กับนางภานุมาศ ผู้ยื่นได้ทราบภายใน 30 วันซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 23 พ.ค.นี้แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ จึงจะแจ้งให้ทราบในวันที่ 25 พ.ค. ที่เป็นวันเปิดทำการ แต่หากนางภานุมาศ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง

 

 

คุณภาพชีวิต

ปัดฝุ่นกบช.รัฐหนุน50บ./เดือนช่วยออมเงิน

ไทย โพสต์ - นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะมีการเสนอจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อรองรับการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของแรงงานที่อยู่นอกระบบ เน้นผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมและสมัครใจเข้าร่วม ซึ่งจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนคนละขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน ขณะที่รัฐบาลจะสมทบให้ 50 บาทต่อเดือน หรือใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าจะทำให้ภายใน 1 ปี สถานะของกองทุน กบช.จะมีวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

 

ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เบื้องต้นการตั้งกองทุน กบช.จะต้องมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยเริ่มแรกจะเน้นที่แรงงานนอกระบบที่มีประมาณ 23-24 ล้านคน อาทิ ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ส่งเงินสมทบขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือน จนถึง 1,000 บาทต่อเดือน หรือจะส่งมากกว่านี้ก็ได้ ขณะที่รัฐบาลจะสมทบ 50 บาทต่อเดือน ซึ่งประเมินว่าหลังเกษียณอายุผู้ที่ส่งเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับผลตอบแทนคนละ 2,800 บาทต่อเดือน แต่หากส่งสมทบสูงกว่านี้ก็จะได้ผลตอบแทนมากกว่านี้

 

ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบที่มีการส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว แต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็สามารถเข้าร่วมกองทุน กบช.นี้ได้เช่น หากส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ 5% อาจจะปรับมาส่งเข้า กบช. 3% และส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2% เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายว่า หลังเริ่มต้นกองทุน กบช.กับกลุ่มแรงงานนอกระบบไปแล้ว 2 ปี จากนั้นจะมีการดึงกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคมเข้ามาร่วมด้วย เพราะปัจจุบันแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับผลตอบแทนกรณีชราภาพเพียงแค่ 38% ของเงินเดือนๆ สุดท้ายเท่านั้น โดยคาดว่าจะเริ่มจากบริษัทที่มีคนงาน 200 คนขึ้นไปก่อน จากนั้นค่อยขยายให้ครอบคลุมบริษัทที่มีคนงานต่ำกว่า 200 คน ในปีถัดไป

 

 

ถก กม.องค์กรจัดสรรคลื่นฯคืบได้ กสทช.11คน

ไทยรัฐ - วันนี้ (21 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคม ร่วมกันแถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปผลการพิจารณาในมาตรา 6 ให้มีจำนวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 11 คน จากเดิม 10 คน โดยแก้ไขให้มีสัดส่วนกรรมการใหม่ดังนี้คือ (1) ผู้มีผลงาน ความรู้ เชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกิจการกระจายเสียง 1 คน และกิจการโทรทัศน์ 1 คน (2) ผู้มีผลงาน มีความรู้ เชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกิจการโทรคมนาคม 2 คน (3) ผู้ มีผลงาน ความรู้ เชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ด้านละ 2 คน (4) ผู้มีผลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การส่งเสริมสิทธิ์เสรีภาพจำนวน 1 คน และ(5) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหรือวัฒนธรรม จำนวน 1 คน

 

โฆษกคณะกรรมาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนมาตรา 7 เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเป็นกรรมการ หสทช. มีการเพิ่มเติม (1) กำหนดคุณสมบัติด้านอายุกรรมการ ให้มีอายุตั้งแต่ 30-65 ปี จากเดิม 35-70 ปี และ (14) กำหนด ว่าต้องไม่เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา หรือพนักงาน หรือเป็นผู้ถือหุ้น ในองค์กรหรือบริษัทที่ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปี ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการเลือกสรร ส่วนมาตรา 8 มีการแก้ไขให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นฝ่ายเลขานุการในการรับขึ้นทะเบียน จากองค์กรหรือสถาบันที่จะส่งรายชื่อบุคคลเข้ามาเลือกกันเองเป็นกรรมการ อย่างไรก็ตาม นายบุญยอดกล่าวยอมรับว่า คณะกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้หยิบยกประเด็นการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือนอมินี หากผู้เข้ารับการสรรหาโอนหุ้นหรือกิจการไปให้ภรรยา บุตร-ธิดาหรือญาติถือแทน โดยรับว่าจะนำกลับไปหารือในคณะกรรมาธิการฯอีกครั้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯจะเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จสิ้นเพื่อเสนอเข้าสู่สภาฯให้ทันในสมัยประชุมหน้า

 

เศรษฐกิจ- การคลัง

ชงคลังขยายเวลาเช่าที่ดิน90ปี ธนารักษ์เล็งขึ้นค่าธรรมเนียม ยันไม่พับแผนศูนย์ช็อปทางด่วน

ไทย โพสต์ - นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ในการเสวนาเรื่องที่ราชพัสดุ กับการพัฒนาประเทศว่า กรมธนารักษ์สามารถนำที่ราชพัสดุพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้หลายรูปแบบ เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า อพาร์ตเมนต์ แต่ควรแก้กฎหมายเพื่อขยายระยะเวลาเช่าจาก 30 ปี เป็น 90 ปี เหมือนในต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาเช่าที่เพื่อลงทุน รวมทั้งยังสอดรับกับความต้องการของคนไทยในการซื้อทรัพย์สินเพื่อสืบทอดให้ ลูกหลาน ทั้งนี้ ควรออกกฎหมายควบคุมการให้เช่าพื้นที่ของชาวต่างชาติเพื่อป้องกันปัญหาด้าน ความมั่นคง เช่น การจัดเป็นโซนนิ่งอนุญาตให้เช่าเฉพาะในเขตพื้นที่เมือง หรือย่านท่องเที่ยว เป็นต้น

 

"ควรขยายระยะเวลาการเช่าออกไปอีกเป็น 90 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชน และคนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะถ้าให้เช่าแค่ 30 ปีในช่วงสัญญาที่เหลือ 4-5 ปีหลัง สิทธิการเช่าแทบจะไม่มีค่า ส่วนนิสัยคนไทยเองก็ต้องการเช่าที่ดินยาวๆ แล้วยกให้ลูกหลานได้เข้ามาเช่าต่อไป หรือบางคนคิดว่าตัวเองยังไม่ตายใน 30 ปี จึงไม่สนใจเข้าไปใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุเท่าไร" นายอธิปกล่าว

 

นายเทวัญ วิชิตะกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ข้อเสนอการขยายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุออกไปเป็น 90 ปีถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องศึกษาถึงความจำเป็นเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับรัฐและเอกชน และควรเสนอให้กระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีที่ราชพัสดุกว่า 12.5 ล้านไร่ อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการถึง 12.3 ล้านไร่ เหลืออีก 2 แสนไร่จะจัดสรรตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

 

สำหรับ ค่าเช่าและค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากภาคเอกชนหรือประชาชนได้ใช้มาเป็นเวลา หลายปี ขณะนี้ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง หรือ สวค.ศึกษาแนวทางการปรับค่าเช่าและค่าธรรมเนียมที่ราชพัสดุเพื่อเชิงพาณิชย์ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถจัดเก็บได้ทันปีนี้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาศึกษา โดยจะดูถึงการใช้ประโยชน์ การมีรายได้ของภาคเอกชน เพื่อให้มีการพัฒนาที่ราชพัสดุและใช้ประโยชน์ได้ตามศักยภาพ เพราะยอมรับว่าค่าเช่าและค่าธรรมเนียมที่ราชพัสดุยังอยู่ระดับต่ำ เช่น การเช่าที่ดินในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ตารางวาละ 5-6 บาทต่อเดือน

 

ด้าน นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องโครงการร้านค้าใต้ทางด่วนว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์ได้ส่งหนังสือชี้แจง รมช.คลัง โดยยังยืนยันให้ ธพส.เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังมีแนวคิดให้ใช้วิธีการทำโครงการในรูป แบบการลงทุนร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP แต่ จากการศึกษาแล้วพบว่า การทางพิเศษในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ใต้ทางด่วนไม่สามารถโอนที่ดินหรือทำ ธุรกิจร่วมกับเอกชนได้ ทำให้ไม่สามารถใช้รูปแบบการทำโครงการแบบ PPP ได้

 

ดัง นั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอให้ ธพส.เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าทางกระทรวงการคลังจะพิจารณาในรายงานดังกล่าว เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินโครงการร้านค้าใต้ทางด่วน ที่คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติให้ ธพส.กู้เงินประมาณ 1,077 ล้านบาทจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เช่น ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาที่ดิน เบื้องต้นโครงการนี้ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) จะทำหน้าที่ผู้บริหารการลงทุน และเปิดให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นยูนิต

 

 

ปิดฉากเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย "พาณิชย์"คาดลงนามเดือนต.ค.

กรุงเทพ ธุรกิจ - นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รักษาการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะเจรจาเขตการค้าเสรีเอฟทีเออาเซียนและอินเดีย จะประชุมระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 2552 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการประชุมสรุปขั้นสุดท้าย เพื่อแก้ไขกำหนดการลดภาษีใหม่และถ้อยคำของร่างความตกลงการค้าสินค้าให้ สอดคล้องกัน โดยทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายจะลงนามความตกลงและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนส.ค. นี้ แต่หากดำเนินการกระบวนการภายในประเทศเสร็จไม่ทัน ก็จะลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ต.ค. แทน

 

 การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเพียงการแก้ไขกำหนดการลดภาษี ซึ่งเดิมกำหนดให้ลดภาษีกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 แต่การลงนามไม่เป็นไปตามแผน เพราะอินเดียขอให้ผ่านช่วงเลือกตั้งของเขาไปก่อน ซึ่งจะเปลี่ยนไปเริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 จึงต้องปรับปรุงร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ก่อนที่แต่ละประเทศจะนำไปดำเนินการขอความเห็นชอบให้มีการลงนามต่อไป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภา รับทราบการแก้ไขเอกสารจากเดิมที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อเดือนม.ค. 2552” นางนันทวัลย์ กล่าว

 

ทั้งนี้ เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย จะช่วยขยายโอกาสการส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดีย ได้หลากหลายเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีสินค้าบางส่วน 82 รายการ ภายใต้กรอบไทย-อินเดีย (Early Harvest Scheme) สินค้า ไทยที่คาดว่าจะส่งออกไปอินเดียมากขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดียพุ่งสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5 แสนล้าน ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตามที่ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายไว้

 

ทั้งนี้ การค้าไทย-อินเดียในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1.99 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 1.12 แสนล้านบาท และนำเข้า 8.68 หมื่นล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 22% ส่วนการค้าไทย-อินเดียในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มีมูลค่า 46,480 ล้านบาท ขยายตัว 5.4% โดยไทยส่งออก 29,889 ล้านบาท และนำเข้า 16,591 ล้านบาท

 

อินเดีย เป็นตลาดใหม่ที่เป็นความหวังการส่งออกของไทย โดยปริมาณการส่งออกในปีนี้ลดลงในช่วงแรก ก่อนที่อัตราการขยายตัวจะติดลบน้อยลง และการส่งออกล่าสุดในเดือนเม.ย.กลับมาขยายตัวในอัตรา 4.4% ขณะที่การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 857 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.5%

 

 

ต่างประเทศ

"ซู จี" ถูกพิจารณาคดีลับอีกฝรั่งเศสกลัวกระทบ"โทเทล"

คมชัดลึก - รัฐบาลทหารพม่าได้กลับมาพิจารณาคดีนางออง ซาน ซู จี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตย วัย 63 ปี เป็นการลับอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (21 พ.ค.) ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีวันที่สี่ หลังจากยินยอมให้นักการทูตและผู้สื่อข่าวเข้ารับฟังการพิจารณาคดีได้เมื่อ วันพุธเพียงวันเดียว ทั้งยังยอมให้นางซู จีได้พบปะพูดคุยกับทูตไทย สิงคโปร์ และรัสเซียอีกด้วย

  

นาย อ่อง จ่อ บรรณาธิการนิตยสารอิระวดี ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ของนักข่าวพม่าในไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการที่ศาลอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวและนักการทูตต่างชาติเข้าไปชมการ พิจารณาคดีในวันพุธได้ เป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนความเห็นของนานาชาติต่อรัฐบาลทหาร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยทำทีเหมือนจะยอมอ่อนข้อให้การเคลื่อนไหวเรียกร้อง ประชาธิปไตยมาแล้ว เพียงเพื่อจะถอยหลังกลับไปอีกเมื่อความสนใจของโลกมุ่งไปที่อื่นแทน

  

ใน การพิจารณาคดีวันที่สี่นั้น นางซู จีไม่ได้เข้าร่วมในช่วงเช้า ซึ่งเป็นขั้นตอนที่คณะอัยการส่งมอบหลักฐานเอาผิดนายจอห์น วิลเลียม เยต์ทอว์ ชายอเมริกันที่ว่ายน้ำไปบ้านของนางซู จี จนถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายเข้าเมืองเพราะไปเยี่ยมนักโทษโดยใช้วีซ่านักท่อง เที่ยว และละเมิดกฎหมายท้องถิ่น ฐานว่ายน้ำในทะเลสาบอินยาอย่างผิดกฎหมาย

  

ด้าน นักกฎหมายชั้นนำระหว่างประเทศเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไต่สวนในพม่าแบบเดียวกับรวันดา และอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ที่มีการไต่สวนจนนำไปสู่การตั้งศาลพิเศษเพื่อดำเนินคดีต่อมา โดยระบุว่ารัฐบาลพม่าอาจก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการบังคับให้ชนกลุ่ม น้อยย้ายถิ่นฐานกว่า 3,000 หมู่บ้าน ประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศด้วยความรุนแรง

  

ขณะ ที่นายแบกนารด์ คุชแนร์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เตือนว่า ถ้ายุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อพม่าก็จะส่งผลกระทบหนักต่อ "โทเทล" บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ที่เข้าไปทำธุรกิจอยู่ในพม่า และจะนำมาซึ่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อภูมิภาค

  

นาย คุชแนร์กล่าวด้วยว่า เรื่องของโทเทลเป็นประเด็นที่ต้องมีการตัดสินใจในระดับประเทศ เพราะจะต้องมีการทบทวนสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าตัดการส่งก๊าซก็จะส่งผลต่อประชากรของพม่า ยังไม่รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางการส่งก๊าซจากพม่าด้วย แม้สถานการณ์ในพม่าจะเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ก็จะต้องมีการตัดสินใจอย่างระมัดระวัง ถ้าโทเทลถูกห้ามทำธุรกิจตามแหล่งก๊าซธรรมชาติในพม่า บริษัทของจีนก็รีบเข้าไปแทนที่ทันที

 

 

นักก.ม.ฮาร์เวิร์ดจี้ยูเอ็นไต่สวนพม่า

กรุงเทพ ธุรกิจ - วอชิงตัน - นักกฎหมายจากประเทศต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ไต่สวนสถานการณ์ในพม่า ชี้รัฐบาลทหาร ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เหมือนในรวันดา และอดีตประเทศยูโกสลาเวีย

 

บรรดา นักกฎหมายชั้นนำจากหลายประเทศ ได้เรียกร้องในนามคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดำเนินการไต่สวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า เช่นเดียวกับที่ให้มีการไต่สวนสถานการณ์ในรวันดาและในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ที่นำไปสู่การตั้งศาลพิเศษและฟ้องร้องดำเนินคดีผู้นำประเทศ เนื่องจากการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า อาจเข้าข่ายกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

 

รายงานเรียกร้องดังกล่าว จัดทำโดยคณะนักกฎหมาย ภายใต้การนำของนักกฎหมายชื่อดัง 5 คน รวมทั้ง นายริชาร์ด โกลด์สโตน จากแอฟริกาใต้ ที่เป็นอัยการคนแรก ในการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา และการล่วงละเมิดต่างๆ ในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ระบุว่า ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อพม่า แม้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะกระทำการรุนแรงอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบต่อประชาชนในประเทศ

 

รายงาน ฉบับนี้ มาจากการวิจัยของคลินิกสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ที่อ้างเอกสารของยูเอ็นว่า รัฐบาลทหารพม่าได้บังคับให้มีการย้ายถิ่นฐานในประเทศมากกว่า 3 พันหมู่บ้าน ประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ กระทำทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ สมาชิกในสภาคองเกรสของสหรัฐ ยังเตรียมยื่นจดหมายถึงนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดี เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ผลักดันให้ยูเอ็นเข้าไปไต่สวนเรื่องนี้

 

ทางด้านนายมาร์ก แคนนิง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า ซึ่งเป็น 1 ในนักการทูต 20 คนและผู้สื่อข่าวอีก 10 คน ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า ให้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีนางซู จี ในวันที่สาม ยืนยันว่า นางซู จี มีสุขภาพแข็งแรงดี และมีกำลังใจที่ดีเยี่ยม

 

นาย แคนนิง กล่าวด้วยว่า นางซู จี ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะเป็นการส่วนตัวกับบรรดานักการทูต นางจึงได้แต่กล่าวขอบคุณบรรดานักการทูตกลางห้องพิจารณาคดี ที่เดินทางมาให้กำลังใจ และหวังว่าจะได้พบปะกับบรรดานักการทูตในสภาพที่ดีกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม วานนี้ (21 พ.ค.) รัฐบาลทหารพม่า ได้เปิดการพิจารณาคดีนางซูจี แบบปิดลับอีกครั้ง หลังจากยินยอมให้นักการทูตและผู้สื่อข่าวเข้าไปฟังการพิจารณาคดีได้เพียง 1 วัน ที่เรือนจำ อินเส่ง ใกล้กับนครย่างกุ้ง ซึ่งหลายคนมองว่า เป็นการอ่อนข้อให้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนานาชาติ

 

 

แผนปิดเรือนจำกวนตานาโมส่อเค้าวืด

กรุงเทพธุรกิจ - วุฒิสภาสหรัฐ มีมติด้วยคะแนนเสียง 90 ต่อ 6 ปฏิเสธที่จะอนุมัติเงิน 80 ล้านดอลลาร์ตามคำร้องขอของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดี ที่จะใช้ปิดเรือนจำของสหรัฐ ที่อ่าวกวนตานาโม โดยวุฒิสภาสหรัฐ เห็นชอบให้ตัดเงินดังกล่าวออกจากร่างกฎหมายงบประมาณ 91,300 ล้านดอลลาร์ ที่ใช้สนับสนุนการทำสงครามในอัฟกานิสถาน และอิรัก และห้ามรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา ใช้เงินจากแหล่งอื่น เพื่อนำตัวผู้ถูกคุมขัง 240 คนจากเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโมมาคุมขังไว้ที่เรือนจำในสหรัฐ ทำให้นายโอบามา มีความยากลำบากขึ้นที่จะทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะปิดเรือนจำกวนตานาโมภายใน เดือน ม.ค.ปีหน้า

 

  

นักศึกษาเวเนฯ ประท้วงถูกตัดงบการศึกษา

กรุงเทพ ธุรกิจ - นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยหลายพันคนในกรุงคาราคาส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา ชุมนุมประท้วงการตัดงบประมาณสนับสนุนด้านการศึกษาของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีลงจากเดิมประมาณ 6% นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังแสดงความไม่พอใจที่นายชาเวซ พยายามหาทางปิดสถานีโทรทัศน์โกลโบวิชั่น ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งสุดท้ายในประเทศ ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายชาเวซ

 

 

ศาลสูง'กิมจิ' ตัดสินไฟเขียว 'การุณยฆาต'

ไทย โพสต์ - ศาลสูงเกาหลีใต้ยืนยันคำตัดสินตามศาลชั้นต้น อนุญาตให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจของหญิงผู้ป่วยสมองตายได้เป็นรายแรกของ ประเทศ

 

ศาลสูงเห็นชอบตามคำร้องของครอบครัวนางคิม ออคคยุง วัย 76 ผู้ป่วยที่นอนอาการโคม่ามาร่วมปี ที่ต้องการให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้เธอจากโลกนี้ไปอย่างไม่ต้องทรมาน

 

เมื่อ เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอดเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยหญิงรายนี้ได้ เนื่องจากร่างกายของเธอไม่สามารถตอบสนองใดๆ ได้มาตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ขณะที่ครอบครัวของผู้ป่วยก็เชื่อว่าตัวผู้ป่วยเองก็คงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ ต่อไปด้วยเครื่องช่วยหายใจเช่นกัน

 

ต่อมาในเดือน ก.พ. ศาลอุทธรณ์ยืนยันคำตัดสินตามศาลชั้นต้น แต่คณะแพทย์ปฏิเสธและยื่นเรื่องให้ศาลสูงพิจารณา

 

ทั้งนี้ ศาลสูงลงความเห็นว่ากรณีของผู้ป่วยที่ร่างกายส่วนสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ถูก ทำลายจนไม่สามารถใช้การได้แล้ว แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องก็คงไม่เป็นผล รังแต่จะเป็นการรบกวนร่างกายคนไข้ซึ่งอาจถือเป็นการดูหมิ่นเกียรติและคุณค่า ของคนไข้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย

 

นัก จริยธรรมทางการแพทย์มองว่าประเด็นนี้ที่มีการถกเถียงกันมายาวนาน ชี้ให้เห็นถึงการขาดระบบควบคุมที่แน่ชัดว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่า เมื่อใดจึงควรถอดเครื่องช่วยหายใจออกจากผู้ป่วยได้ และควรต้องทำอย่างไรจึงจะตรงตามความปรารถนาของผู้ป่วยมากที่สุด

 

ขณะ ที่นักวิจารณ์บางส่วนให้ความเห็นว่า เนื่องจากกรณีนี้ไม่มีเอกสารหลักฐานยืนยันความต้องการของผู้ป่วย และศาลเพียงแต่เห็นชอบตามคำขอของครอบครัวผู้ป่วย จึงเป็นการยากที่จะพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมได้ว่าตัวผู้ป่วยเองปรารถนาเช่น นั้นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดี ในระยะหลังกระแสสนับสนุนการกระทำการุณยฆาตแก่ผู้ป่วยนั้นเริ่มมีมากขึ้นใน เกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกรณีการเสียชีวิตของพระคาร์ดินัลสตีเฟน คิม หลังเขาปฏิเสธไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net