Skip to main content
sharethis

แรงงานข้ามชาติถูกจับกุมอย่างหนัก การสู่ในที่ที่มีค่าแรงสูงยากขึ้น
แต่ภาคธุรกิจกลับไปลงทุนตามตะเข็บชายแดนเพิ่มขึ้น

เมกะโปรเจกต์ใหม่ที่แม่สอด
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นาย ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในโอกาสเดินทางพร้อมคณะมาตรวจราชการที่ชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโรงงานอุตสาหกรรมที่พื้นที่ต่างได้รับผลกระทบจากยอดการ สั่งผลิตสินค้าที่ลดน้อยลง แต่โรงงานต่างๆได้พยายามต่อสู้กับวิกฤตด้วยการปรับกลยุทธ์สู้ อย่างไรก็ตาม โรงงานอุตสาหกรรมที่แม่สอดส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานไทยไม่ได้รับผลกระทบกับการถูกเลิกจ้าง แต่ในขณะนี้แนวโน้มของการประกอบกิจการของโรงงานเริ่มดีขึ้นแล้ว ยอดสั่งผลิตเริ่มเข้ามา เพราะส่วนหนึ่งนักธุรกิจต่างชาติมั่นใจในรัฐบาลชุดนี้

ผม สนับสนุนโครงการเมกะโปรเจกต์ การก่อสร้างถนน 4 เลน สายตาก-แม่สอด และโครงการก่อสร้าง-สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เชื่อมไทย-พม่า เพราะในอนาคตจะเพิ่มศักยภาพของการค้าชายแดน-การท่องเที่ยวและการลงทุนภาค อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยกระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนงบประมาณ โดยขณะนี้ทางจังหวัดตากและภาคเอกชนตากได้มีการนำเสนอโครงการดังกล่าวมาแล้วรมช.คลัง กล่าว

นาย ประดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเศรษฐกิจที่ถดถอยรัฐบาลได้ลงทุนโครงการต่างๆมากมายเพื่อกระจายรายได้ ให้ประชาชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ในเมื่อภาคเอกชนชะลอหรือระงับการลงทุนหรือลงทุนน้อยลง ภาครัฐจึงได้เพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาครัฐ เพื่อรองรับวันหนึ่งที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว โครงการที่รัฐลงทุนก็สามารถรองรับการลงทุนของภาคเอกชนได้ทันที เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆและโครงสร้างพื้นฐาน

ใน ส่วนของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดนตาก(แม่สอด)-เขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด ที่จะเชื่อมกับพม่า ตนเองเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวภายในต้นปี 2553 เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลที่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐและเอกชนทั้งใน และต่างประเทศและชายแดนไทย-พม่า แม่สอด-พบพระ เป็นพื้นที่ที่ควรที่จะส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วย การสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ดังกล่าว

แรงงานภาคเกษตรในแม่สอด
บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนด้วย ในปี
2550 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งทำธุรกิจปลูกพืช เพื่อใช้สำหรับพลังงานทดแทนจำนวน 2,025 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาดจะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มอีกประมาณ 10,000 ไร่ ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยในปีแรกจะใช้เป็นท่อนพันธุ์เพื่อขยายการปลูกอ้อยในพื้นที่ อื่นๆ ของอำเภอแม่สอดต่อไป โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 60,000 ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ในลุ่มน้ำแม่ตาวด้วย

สำหรับ โรงงานผลิตเอทานอลจะตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตเอทานอล 1 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งผลผลิตอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่สอดจะใช้เพื่อการผลิตเอทานอลเท่านั้น โดยจะจำหน่ายให้กับธุรกิจน้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ ส่วนกากอ้อยและกากส่าซึ่งเป็นผลพลอยได้จะนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า

แน่นอน ว่าโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะต้องมี “แรงงานข้ามชาติ” เป็นกลจักรสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่การปลูกอ้อย เพราะว่าแรงงานภาคการเกษตรค่าแรงถูกของไทยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานข้ามชาติทั้ง สิ้น

 

ย้ายฐานการผลิต
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหนังสือบางกอกโพสต์ของไทยนำ รายงานของ KING-OUA LAOHONG มาเผยแพร่ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการที่บริษัทพม่าเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากย่างกุ้งสู่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อหลีกเลี่ยงการแซงชั่นทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ทั้งนี้ นายทุนต่างกลัวตราสินค้า “ผลิตในประเทศพม่า” ซึ่งจะถูกปฏิเสธจากต่างประเทศ อย่างในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษ เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งกล่าว

โรงงานผลิตรองเท้า The Hush Puppies มีการจ้างแรงงานมากกว่า 1,500 คน ได้ย้ายที่ตั้งโรงงานจากอดีตเมืองหลวงเก่าของพม่ามาสู่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า จังหวัดกาญจนบุรีในฝั่งประเทศไทย ส่วนอีกหลายรายก็ย้ายฐานผลิตสู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีหลายโรงงานจากกรุงเทพ สมุทปราการ และนครปฐม ย้ายสู่พื้นที่ที่นายจ้างได้เปรียบเรื่องค่าแรงที่มีราคาถูก ซึ่งโรงงานในเขตชายแดนส่วนใหญ่มักจะใช้แรงงานข้ามชาติจากพม่า

งานตามตะเข็บชายแดน
“คน พม่าที่ทำงานในโรงงานฝั่งไทยจะกลับบ้านหลังหมดงาน ส่วนใหญ่พวกเขามีการศึกษาและทักษะที่ดี”แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว พวกเขาไม่ใช่แรงงานที่ผิดกฎหมาย และไม่มีความคิดที่จะย้ายไปทำงานที่กรุงเทพ เพราะพวกเขามีงานที่มั่นคงอยู่แล้ว

ถึง แม้ว่าพวกเขาจะได้รับค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกจับในฐานะแรงงานผิดกฎหมายกับการไปขายแรงใน เมืองใหญ่

 “ค่าแรง ของเราที่นี่สูงกว่าในพม่า” เธอกล่าว “เรามีความสุขกับการทำงานที่นี่และไม่เคยฝันถึงงานที่ได้ค่าแรงมากกว่านี้ใน กรุงเทพ เช่นเดียวกับที่เรากลัวถูกหลอกไปสู่ธุรกิจค้าประเวณี” อะยี ชาน แรงงานฟอกหนังชาวกะเหรี่ยงกล่าว เธอจบเกรด 12 จากโรงเรียนที่บ้านเกิด โดยโรงงานที่เธอทำงานตั้งอยู่ที่ อ.สังขละบุรี ตรงข้ามกับเมือง ถั่นบิวซายัต รัฐกะเหรี่ยงบ้านเกิดของเธอ เธอและน้องสาวข้ามพรมแดนมาทำงานในฝั่งไทยตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยรับค่าแรงวันละ 70 บาท

ส่วนเมียะ วัย 23 จากเมืองมะละแหม่ง กล่าวว่าครอบครัวของเธอยากจนมากรายได้จากการค้าไม้ให้กับพ่อค้าชาวไทยก็ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ จ.กาญจนบุรี ไม่ได้เผชิญแค่ปัญหาการทะเข้ามาของแรงงานต่างชาติเท่านั้น แต่ยังพบกับปัญหาการใช้เด็กขายบริการ แก๊งอิทธิพล และอื่นๆ โดยแรงงานส่วนใหญ่

ภิญโญ วีระสุขสวัสดิ์ นักพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและครอบครัว กล่าวว่าปัจจุบันไทยมีแรงงานข้ามชาติ 1.2 ล้านคน ชาวพม่าและชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมการประมงและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้นายจ้างต่างปกป้องแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายของพวกเขา และเจ้าหน้าที่ก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่

ไม่โชคดีเสมอไป
เมื่อ วันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ด่านตม.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมแรงงานชาวพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 47 คน เป็นชาย 35 คน หญิง 12 คน จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าราชอาณาจักรโดย ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้แรงงานกลุ่มนี้ได้ลัก ลอบเดินเท้าข้ามชายแดนเดินลัดเลาะมาตามขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ มายังจุดนัดพบกับนายทุนที่จะมารับไปทำงานที่โรงงานในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และปริมณฑล

แหล่งข่าวด้านแรงงานข้ามชาติรายหนึ่ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีการข้ามแดนของแรงงานพม่าว่า สำหรับกรณีที่ อ.แม่สอด แรงงานพม่าอาจจะสามารถทำงานแบบไปกลับได้สะดวก และมีบางโรงที่ทางเข้าโรงงานติดกับชายแดน “ที่แม่สอด เคยเป็นความคิดของรัฐบาลด้วย ที่จะให้คนงานไปเข้าเย็นกลับ” เขากล่าว

แต่นโยบายนี้ก็เงียบหายไป ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานจากพม่าใน อ.แม่สอด ก็ยังคงเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้ามาและหาที่พักพิงใกล้กับโรงงาน ส่วนที่ อ.สังขละบุรี เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกล จึงทำให้แรงงานต้องลักลอบข้ามแดนมาอย่างผิดกฎหมายและก็เป็นข่าวดังที่ได้กล่าวไป

คุณูปการ แรงงานข้ามชาติ
จากข้อมูลในปี 2550 องค์ของ สำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออก พบว่าจากสมมติฐานที่ว่ามีแรงงานผู้อพยพจำนวน 1.8 ล้านคน ในประเทศไทยจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ จากการเพิ่มในการหมุนเวียนของค่าเงิน  และ ในด้านผลผลิตถึงแม้ไม่มีสถิติที่แน่ชัดว่าแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติผลิต มากกว่ากัน แต่หากตั้งสมมติฐานให้แรงงานข้ามชาติสร้างผลผลิตเท่ากับแรงงานไทย ในแต่ละประเภทกิจการ คูณปการของแรงงานเหล่านี้จะสูงประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.2% ของ GDP ของไทย ขณะที่หากแรงงานข้ามชาติมีความสามารถในการผลิตเป็น 75% ของแรงงานไทย คุณูปการทางเศรษฐกิจจะเหลือ 8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 5% ของ GDP นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรม 7-10% และมูลค่าเพิ่ม 4-5% ในภาคเกษตร

แต่ ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ การลดภาระด้านต้นทุนแรงงานเป็นสิ่งที่บรรดาผู้ประกอบการกำลังมองหา และการใช้แรงงานข้ามชาติที่มีค่าแรงถูกก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งรัฐเองก็สนับสนุนด้วย แต่ในทางกลับกันกลับพบว่าหากแรงงานความยากของการเข้ามาสู่ในที่ที่มีค่าแรง สูง (กรุงเทพและปริมณฑล) ของแรงงานข้ามชาติ กลับพบอุปสรรคมากขึ้น

 

ข้อมูลจาก:

  • Burmese firms set up shop in Thailand (KING-OUA LAOHONG, Bangkok Post, 18-05-2009)
  • รมช.คลังหนุนตั้งเขตเศรษฐกิจแม่สอดรับหางบทำเมกะโปรเจกต์-ดันค้าชายแดน (ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์,15-05-2009)
  • บีโอไอเร่งกระตุ้นทุนเหนือล่าง นำทัพเรียนรู้ธุรกิจยาง-สปาใต้ (ผู้จัดการรายวัน, August 17-08-2008
  • รายงานวิจัย การจ้างแรงงานข้ามชาติตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กับการจัดทำบัญชีรายชื่ออาชีพสำหรับคนต่างชาติ (กฤตยา อาชวนิจกุล และ กุลภา วจนสาระ, International Organization for Migration, 2008)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net