Skip to main content
sharethis

 

 

เวลา 18.00 น. วันที่ 25 พ.ค. กลุ่มนักกิจกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศประมาณ 20 คน จากสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (ฟอรัม เอเชีย) และตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และกลุ่มนักศึกษาภาคใต้ ได้รวมตัวกันที่หน้าตึก โอเชียนทาวเวอร์ ซอยสุขุมวิท 19 ซึ่งสถานทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยตั้งอยู่บนชั้นที่ 13 ของ อาคารดังกล่าว เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวทมิฬ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมรวมทั้งแพทย์ เข้าให้การช่วยเหลือชาวทมิฬที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ

นาย อาเต๊ฟ โซ๊ะโกะ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาให้การดูแลด้านสิทธิมนุษยชนแก่ชาวทมิฬ และเรียกร้องคนไทยให้ร่วมเป็นกำลังใจแก่ชาวทมิฬ

“ผม ในฐานะคนไทยขอให้กำลังใจเพื่อนร่วมโลก และก็ไม่อยากให้คนไทยนิ่งดูดายต่อเพื่อนร่วมโลก ผมขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวทมิฬในศรีลังกา”

จากนั้นนายอาเต๊ฟได้อ่านแถลงการณ์ของฟอรัมเอเชีย เรียกร้องต่อรัฐบาลศรีลังกาและองค์การสหประชาชาติ 13 ประการ คือ

1 อนุญาตให้บุคลากรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมไปถึงขบวนรถพยาบาล และเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้สามารถเข้าถึงที่ๆ เคยเป็นพื้นที่สงครามโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำการแจกจ่ายอาหาร ยาและความคุ้มครองอื่นๆ แก่บุคคลที่มีความจำเป็น

2 ต้องอนุญาตให้มีตัวแทนจากระหว่างประเทศอยู่ด้วยในขณะที่มีการอพยพพลเรือนออก จากพื้นที่สงครามในทุกขั้นตอน โดยต้องมีกระบวนการกลั่นกรองการเดินทางและการขนส่งเพื่อให้แน่ใจว่ามีการให้ ความคุ้มครองและสิ่งจำเป็นทางมนุษยธรรม

3 เคารพอย่างเต็มที่และรับรองในกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของนักปกป้องสิทธิ มนุษยชนซึ่งรวมไปถึงผู้สื่อข่าวและผู้เฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนด้วย

4 อนุญาตให้คณะผู้แทนระหว่างประเทศสามารถเข้าถึงจุดที่สู้รบ สถานกักกัน และค่ายรับรองผู้พลัดถิ่นได้โดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อที่จะสามารถประเมิน สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการด้าน มนุษยธรรมและความคุ้มครองเพียงใด

5 เคารพในสิทธิในการมีชีวิตอยู่แบะศักดิ์ศรีของเหล่าบุคคลที่อยู่ในสถานกักกัน

6 รับรองว่าชาวศรีลังกาทุกคนที่หลบหนีสงครามและการดำเนินคดีภายในประเทศจะกลับ คืนสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัย และลงหลักปักฐานใหม่ได้ในระยะเวลาที่กำหนด

7 พัฒนานโยบายที่เข้มแข็ง เพื่อการับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยอย่างจริงจัง และหันหน้าเข้าคุยกับกลุ่มชนเหล่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชาวทมิฬ

8 รับรองว่าจะทำตามมาตรฐานทางระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองอดีตพลรบที่ได้ยอมจำนนตามกฎหมายว่าด้วยสงครามและอนุสัญญากรุงเจนีวา

นอกจาก นี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังได้เรียกร้องต่อสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ได้ ตัดสินใจกำหนดภารกิจพิเศษในศรีลังกา โดยแถลงการณ์ได้เรียกร้องต่อสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 3 ประการคือ

9 รับรองมติที่เข้มแข็งเมื่อการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยศรีลังกาเปิดฉากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย

10 เรียกร้องให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน (OHCHR) เผ้าระวังในการทำตามคำแนะนำที่มีขึ้นในการประชุมสมัยพิเศษเรื่องศรีลังกา

11 เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาจัดให้สหประชาชาติและเอ็นจีโอระหว่างประเทศ สามารถเข้าถึงคุกและสถานกักกันได้อย่างเต็มที่ เปิดกว้าง และต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นการรับรองถึงการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัว

12 เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาทำการสอบสวนอย่างจริงจังเกี่ยวกับคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎเกี่ยวกับการสู้รบ โดยร่วมือกับ OHCHR และตอบรับในประเด็นนี้ด้วยการเริ่มต้นดำเนินคดี

13 เสริมความเข้มแข็งของ OHCHR ในศรีลังกา ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานภาคสนามในศรีลังกาด้วย

ในการรวมตัวกันครั้งนี้ มีพระธิเบต จากเมืองพาราณสี ประเทศอินเดียและพระจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย 2 รูป โดยพระศานติ (L.N. Shanti) จากเมืองพาราณสี ประเทศอินเดียกล่าวว่า ในฐานะชาวพุทธ ต้องการมาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวพุทธ ที่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และเดินตามแนวทางแห่งพุทธศาสนา ในฐานะที่ประเทศศรีลังกาก็เป็นประเทศพุทธเช่นกัน รัฐบาลศรีลังกาจึงควรดำเนินรอยตามแทนพุทธศาสนา มากกว่าการใช้กำลังซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหา

พระ ศานติกล่าวต่อไปด้วยว่า ชาวทมิฬ ก็ควรได้รับสิทธิเฉกเช่นชาวสิงหล และหวังว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะสามารถมีหนทางสมานฉันท์ได้ และหากรัฐบาลศรีลังกาเป็นรัฐบาลของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจริง ก็ต้องไม่ใช้ความรุนแรง

สงครามระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) เป็นสงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 26 ปี และปะทุอย่างรุนแรงอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจบลงด้วยการประกาศชัยชนะโดยรัฐบาลศรีลังกาพร้อมด้วยการประกาศว่าผู้นำคน สำคัญของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลม นายเวฬุภิลไล ประภาการัณ ถูกสังหารแล้วพร้อมกับผู้นำคนสำคัญอื่นๆ อีก 3 คน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.

ทั้งนี้ ในการประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 19 พ.ค.นั้น ประธานาธิบดีราชปักษากล่าวตอนหนึ่งว่า “ไม่มีชุมชนกลุ่มน้อยในประเทศนี้ ที่นี่มีเพียง 2 ชุมชนเท่านั้น คือชุมชนของผู้รักชาติและของผู้ที่ไม่รักชาติ”

สหประชาชาติประเมินเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ว่า มีพลเรือนชาวทมิฬกว่า 6,500 คนถูกฆ่าตายนับจากเดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ความสามารถของสื่อต่างประเทศและหน่วยงานระหว่างประเทศในการเข้าถึงบริเวณการ สู้รบ ค่ายผู้ถูกย้ายถิ่น และสถานกักกันถูกควบคุมไว้อย่างเข้มงวด อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น ส่งผลเป็นการยากที่จะตรวจสอบว่าจำนวนที่แท้จริงของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต นั้นมีอยู่เท่าใด

การ ชุมนุมกันหน้าตึกโอเชียนทาวเวอร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่จากฟอรัมเอเชีย เป็นผู้ขึ้นไปยื่นหนังสือต่อสถานทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยบนชั้นที่ 13 ของตึดังกล่าวมี ผู้สนใจหยุดฟังและมีชาวต่างชาติเดินเข้ามาขอเอกสารแถลงการณ์ หลังจากมีการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งจุดเทียนเพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากการสู้รบของรัฐบาล ศรีลังกาและกลุ่มพมัคฆ์ทมิฬอีแลมแล้ว ทั้งหมดจึงแยกย้ายกันกลับ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

รายงาน: สงครามแบ่งแยกดินแดนในศรีลังกา กับความเป็นมนุษย์ที่หล่นหาย ตอนที่1: เสียงจากชาวทมิฬอพยพ

ผู้นำพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเสียชีวิตแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net