ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนวิจารณ์สื่อรัฐบาลพม่า ปิดกั้นเสรีภาพ-รายงานข้างเดียว

 

จอห์น วิลเลี่ยม ยิตทอว์ (คนที่สองจากทางซ้ายมือ) สาธิตวิธีการเข้าไปในบ้านของนางออง ซาน ซูจี ขณะทำแผนประกอบคำให้การในวันที่ 28 พ.ค. (ภาพเผยแพร่ของ Myanmar News Agency)

 

 

ศาลเลื่อนการตัดสินพิจารณาคดีออง ซาน ซูจี ไปเป็นเดือนหน้า

นา งออง ซาน ซูจี ผู้ถูกดำเนินคดีจากข้อหาละเมิดข้อบังคับการถูกกักบริเวณ แสดงให้เห็นถึงสุขภาพทีเสื่อมโทรมลง ขณะที่ศาลพม่าเลื่อนการพิจารณาคดีนางออง ซาน ซูจี ออกไปอีก

 

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของพม่าเปิดเผยว่า นางออง ซาน ซูจี คงไม่สามารถนอนหลับได้สบายนักในตอนกลางคืน เนื่องจากเธอแสดงอาการเป็นตะคริวที่ขามาหลายวัน ขณะที่ทนายความของนางซูจีคือ เนียน วิน เปิดเผยว่าทางศาลได้เลื่อนการพิจารณาคดีกับนางออง ซาน ซูจี ไปเป็นวันที่ 5 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยไม่ได้บอกถึงเหตุผลในการเลื่อนพิจารณาคดี

 

สภาพร่างการที่ทรุดโทรมของนางซูจี ปรากฏให้เห็นไม่กี่วันหลังจากต้องย้ายออกจากบ้านไปพักยัง เรือนจำกลางอินเส่น ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. โดยเธอต้องได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำและอาการขาดน้ำ (dehydration) ทางพรรค NLD ได้แสดงความเป็นห่วงอย่างมากกับสุขภาพของนางซูจี และบอกว่าเธอควรได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสม

 

 

กลุ่มจับตาสื่อ วิจารณ์รัฐบาลพม่ารายงานข่าวคดีนางซูจีแบบ "ความข้างเดียว"

กลุ่มจับตามองสื่อที่ชื่อ "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" (Reporters Without Borders) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประณามรัฐบาลทหารพม่าที่อนุญาตให้มีการรายงานข่าวการดำเนินคดีของนางออง ซาน ซูจี แบบ "ความข้างเดียว" (one-sided) เท่านั้น และยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกมาตรการปิดกั้นสื่อในการทำข่าวเกี่ยวกับการดำเนินคดีนางซูจี

 

ตั้งแต่ที่มีการพิจารณาคดีนางซูจีในวันจันทร์สัปดาห์ที่แล้ว (18 พ.ค.) นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ในกรุงย่างกุ้งได้แสดงความไม่พอใจที่พวกเขาไม่สามารถ รายงานการพิจารณาคดีได้อย่างอิสระเนื่องจากมีการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออย่าง หนัก รัฐบาลพม่ายังได้สั่งพวกเขาอีกว่าให้รายงานข่าวตามข้อมูลที่มีอยู่ใน หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลคือ เดอะ นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ (The New Light of Myanmar) ทั้งยังสั่งนักข่าวไม่ให้ตีพิมพ์รูปของนางออง ซาน ซูจี ด้วย

 

เคยมีการแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใสในการพิจารณาคดี ทำให้ในการพิจารณาคดีวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลจึงยอมให้นักข่าวพม่า 25 คน เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีพิเศษของเรือนจำอินเส่ง มีนักข่าวสิบคนมาจากสื่อของพม่า ขณะที่อีก 15 คน เป็นนักข่าวชาวพม่าที่ทำสื่อให้สำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 พ.ค. นักข่าวได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี 10 คน

 

เนียน วิน โฆษกพรรค NLD บอก กับหนังสือพิมพ์อิระวดี ว่า "หนังสือพิมพ์ของพม่า ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร แล้วก็เป็นรัฐบาลเดียวกับที่ฟ้องร้องออง ซาน ซูจี เราจึงไม่อาจคาดหวังให้มีการพิจารณาคดีที่เป็นอิสระและเป็นธรรมได้"

 

นอกจาก นี้ทางกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดน ยังรู้สึกไม่ประทับใจในท่าทีของรัฐบาลทหาร ที่เพิกเฉยต่อการวิจารณ์จากอาเซียนและจากผู้นำตะวันตก โดยหันไปตอบโต้ว่าเป็นเรื่อง "กิจการภายใน"

 

กลุ่ม นักข่าวไร้พรมแดนยังได้เปิดเผยอีกว่า ท่าทีของรัฐบาลทหารในการเปิดกว้างต่อสื่อดูขึ้นลงไม่แน่นอน นักข่าวพม่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปรับฟังการพิจารณาคดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ การตัดสินใจของทหาร ขณะที่นักข่าวต่างประเทศก็ถูกกันออกไปอย่างระมัดระวัง

 

"ชาว พม่าไม่ได้รับรู้ข่าวสารอย่างเหมาะสมเนื่องจากการเซนเซอร์สื่อจากทหาร ทำให้ไม่มีสื่ออิสระใดเล็ดลอดไปได้ การขาดความโปร่งใสยิ่งทำให้การดำเนินคดีอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นยิ่งเป็น ไปได้ยาก" กลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนกล่าวในแถลงการณ์

 

การสั่งห้ามสื่อที่ไม่ใช่สื่อของรัฐบาลนี้ขยายวงไปถึงกลุ่มที่เรียกตัวว่า "นักข่าวพลเมือง" (Citizen Journalists) ด้วย มีตำรวจจากสถานีนอกเรือนจำอินเส่นเตือนประชาชนไม่ให้ถ่ายรูปของนางออง ซาน ซูจีหรือผู้ที่สนับสนุนเธอ

 

 

ซูจี บอกกับทนาย "พวกเรากำลังเผชิญกับวิกฤติของรัฐธรรมนูญ"

ในวันที่ 28 พ.ย. เนียน วิน ทนายความของนางออง ซาน ซูจี ออกมาเปิดเผยว่าซูจีได้บอกกับเขาเป็นการส่วนตัวว่าข้อกล่าวหาของเธอนั้นมี สภาพเป็นโมฆะ เนื่องจากเธอถูกตั้งข้อหาโดยอิงจากกฏหมายความมั่นคงในชาติฉบับปี 1975 ซึ่งเป็นกฏหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2008

 

"พวกเรากำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่วิกฤติจากรัฐธรรมนูญ" (We are facing a crisis of constitution, not a constitutional crisis) ซูจีบอกกับทนายของเธอในวันีท่ 28 พ.ค.

 

ทนายเปิดเผยอีกว่าที่ซูจีพูดถึงกฏหมายความมั่นคงปี 1975 เธอหมายถึงกฏหมายที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 1974 ซึ่งถือเป็นโมฆะไปแล้วนับตั้งแต่ทหารยึดอำนาจไปในปี 1988 นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธเจ็ดขั้น (seven-step road map) ของรัฐบาลทหารทำให้มีการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2008 โดยการลงประชามติ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังทำให้กฏหมายของปี 1975 ถูกยกเลิกบังคับใช้อีกด้วย

 

ในวันที่ 28 พ.ค. หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล The New Light of Myanmar รายงานว่า พยานฝ่ายจำเลยของซูจี ให้การถึงสิ่งที่ซูจีได้กล่าวไว้ โดยบอกว่าหากรัฐธรรมนูญของปี 1974 ยังคงมีผลบังคับใช้ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญในตอนนี้ก็จะเป็น "โมฆะและไม่มีผลบังคับ" (Null and Void)

 

จี วิน เป็นคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เป็นพยานให้การในวันที่ 28 พ.ค. ขณะที่พยานคนอื่น ๆ อีกสามรายไม่ได้รับอนุญาต โดยที่ศาลไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดถึงไม่อนุญาต

 

นอกจากนี้ทางหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล The New Light of Myanmar ยัง ได้พยายามตีความการให้การของจี วิน ผิดไปจากเดิม โดยบอกว่าจี วิน กล่าวถึงการที่มียามรักษาความปลอดภัยจากรัฐบาลอยู่รอบที่พักของนางออง ซาน ซูจี แต่ไม่สามารถป้องกันผู้บุกรุกได้ ดังนั้นยามรักษาความปลอดภัยจึงมีความผิด ไม่ใช่ซูจี

 

แต่คำในให้การจริงของจี วิน นั้นบอกเอาไว้ว่า "กฏหมายการป้องกันประเทศจากอันตรายของผู้ประสงค์จะล้มล้าง" (Law to Safeguard the State against the Dangers of Those Desiring to Cause) เป็นกฏหมายที่ถูกยกเลิกการบังคับใช้แล้ว

 

ขณะ เดียวกันหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่าได้รายงานการพิจารณาคดีนายยิตตอว์ ชายชาวอเมริกันผู้ถูกกล่าวหาว่าทำการบุกรุกเข้าบ้านพักนางซูจีเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยในวันที่ 9 ของการพิจารณาคดีนายยิตตอว์ยืนยันในคำให้การว่าตนเข้าไปในบ้านพักของนางออง ซาน ซูจีในเช้าวันที่ 4 พ.ค. และออกจากบ้านพักก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 5 พ.ค. และเขาเป็นผู้ตัดสินใจไปยังบ้านของนางออง ซาน ซูจี ด้วยตนเอง

 

เนียน วิน บอกกับหนังสือพิมพ์อิระวดีว่า ทีมทนายของนางซูจี ไม่มีใครที่ให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้นำตัวผู้บุกรุกชาวอเมริกัน มายังแถบทะเลสาป

 

จากการรายงานของ The New Light of Myanmar นาย ยิตทอว์ ยังได้สารภาพต่อศาลซ้ำ ๆ ว่า ตนยอมรับว่าได้ละเมิดกฏหมายการเข้าเมืองของพม่าและละเมิดกฏหมายของคณะ กรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (Rangoon City Development Committee) โดยการลักลอบเข้าไปยังสถานที่พักยามวิกาลและไม่ได้รับอนุญาต แม้เขาจะทราบว่าที่พักมีการรักษาความปลอดภัยหนาแน่นก็ตาม

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

"We are Facing a Crisis of Constitution,” Suu Kyi Tells Lawyer, The Irrawaddy, Min Lwin, 29-05-2009

Myanmar's Suu Kyi ill, court delays trial, Reuters, Aung Hla Tun, 29-05-2009

Media Watchdog Criticizes ‘One-Sided’ Coverage of Suu Kyi Trial, The Irrawaddy, Arkar Moe, 29-05-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท