Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

  

มนุษย์รับรู้ เข้าใจอะไรได้ผ่านภาษา แต่ภาษาเป็นเครื่องมือที่สามารถสื่อ “ความหมาย” (meaning) มากกว่าสื่อ “ความจริง” (fact) และมันตลกตรงที่ว่าขณะที่มนุษย์สามารถใช้ภาษาเพียงสื่อความหมาย แต่เขากลับคิด หรือเชื่อ (อย่างเอาเป็นเอาตาย) ว่าตนเองกำลังสื่อความจริง

ความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถใช้ภาษาสื่อความจริง ทำให้มนุษย์รู้สึกอย่างสามัญว่าตนมีอำนาจเหนือภาษา สามารถ “ใช้” ภาษาสื่อโน่นนี่ตามที่ตนต้องการได้ทุกอย่าง แต่ทว่าภาษากลับเล่นตลกกับมนุษย์ คือนอกจากมันจะไม่ยอมสื่อความจริงอย่างเป็นไปตามความต้องการของผู้สื่อ (เท่านั้น) แล้ว ยังย้อนเกล็ดกลับมาเล่นงานผู้ที่ “ใช้” มันอย่างหน้าตาเฉย แสดงให้เห็นว่าในด้านหนึ่งภาษามันมีอำนาจเหนือการควบคุมของผู้ใช้ภาษา อย่างที่ว่ากันว่า “เมื่อเราพูดออกไป คำพูดจะเป็นนายของเรา”

ไม่ทราบว่าใครคือมนุษย์คนแรกที่สร้างคำ เช่น “ผี” ขึ้นมา และไม่ทราบว่าเขาสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการสื่อ “fact” หรือ “meaning” อะไร แต่คำ เช่น “ผี” มันมีอำนาจทำให้คนกลัวทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็น “fact” ที่ตัวเองกลัว เหมือนคำ เช่น “โคตรโกง” “โกงทั้งโคตร” “ล้มล้างสถาบัน” “ไม่จงรักภักดี” “ขายชาติ” ฯลฯ คนจำนวนมากก็ยังไม่ได้เห็น “fact” ที่คำพวกนี้อ้างถึง แต่ก็ทำให้คนทั้งเกลียดทั้งกลัว “meaning” ของคำต่างๆ เหล่านี้และทั้งเกลียดทั้งกลัวใครบางคนที่ถูกการรวบ“meaning” ของคำต่างๆ เหล่านี้มาปะติดปะต่อให้สังคมเห็นภาพว่าเขาคือ “ปีศาจ”

ไม่มีใครเห็นผี แต่คนต่างกลัวความหมายของผีที่ถูกสร้างขึ้น (โดยเฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนที่อ้างว่าเห็นผี) เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีที่ทำให้คนกลัว มิได้เกิดจากอำนาจของผู้เล่า หากเกิดจากอำนาจของเรื่องเล่านั้นๆ เอง

ลองเทียบเคียง (อาจจะดูผิวเผินมาก) ว่า คนส่วนใหญ่เคยเห็น “ปีศาจทักษิณ” ที่เป็น “fact” อย่างจะจะกระจ่างแจ้งหรือไม่ แต่ทำไมผู้คนจำนวนมากต่างกลัว “meaning” ของ “ปีศาจทักษิณ” ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวาทกรรม เช่น “ไม่จงรักภักดี” “ล้มล้างสถาบัน” “ขายชาติ” ฯลฯ

อำนาจของภาษาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามันโชว์ “fact” อะไร แต่อยู่ที่มันสามารถแสดง “meaning” อะไร ในการสัประยุทธ์ทางการเมืองระหว่าง “สี” เห็นได้ชัดว่า เป็นสงครามการผลิตสร้าง“meaning” และเป็นสงครามที่ดำเนินไปบนหลักการ (กู) ที่ว่า “fact” จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่าคนเชื่ออะไร หรือคนคล้อยตาม “meaning” แบบไหน

สิ่งยืนยันข้อสรุปข้างบนนี้ก็คือ จนป่านนี้ “fact” ของ “โคตรโกง” “โกงทั้งโคตร” “ล้มล้างสถาบัน” “ไม่จงรักภักดี” “ขายชาติ” ฯลฯ ยังไม่ถูกโชว์ให้สังคมเห็นจะจะผ่านกระบวนการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่คนที่ถูกทำให้มี “meaning” ของ “ปีศาจ” ก็ไม่มีแผ่นดินอยู่แล้ว (ที่แย่กว่านั้นคือคนในสังคมกลับพูดถึงกันแต่ “meaning” ของ “ปีศาจ” มากกว่าที่จะใส่ใจการสืบค้น “fact” ของ “ปีศาจ”)

อย่างไรก็ตาม ในแง่หนึ่งอำนาจของภาษาอาจดูเหมือนเป็นอิสระจากอำนาจของผู้ใช้ภาษา แต่ในอีกแง่หนึ่งอำนาจของผู้ใช้ภาษาหรืออำนาจที่เป็นฐานผลิตสร้างภาษาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาษามีอำนาจอย่างซับซ้อน และหรือกระทั่งมีอำนาจอย่างที่ใครไม่อาจตั้งคำถามได้ ดังนั้น ภาษาจะมีอำนาจมากหรือน้อยบางทีก็ขึ้นอยู่กับว่ามันเป็น “ภาษาของอำนาจ” ใดด้วย

เมื่อเราดูหนังจีน ได้ยินคำเช่น “ขอจงทรงพระเจริญหมื่นๆ ปี” เราอาจขำๆ กัน แต่สำหรับคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ที่หนังกล่าวถึง หรือคนที่กล่าวคำเช่นนั้นในกาลเทศะทางประวัติศาสตร์เช่นนั้นย่อมจำนนต่อ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของภาษาของอำนาจ (ที่ไร้ความหมายในทางข้อเท็จจริงหรือความเป็นไปได้ใดๆ) เช่นนั้น

ดังนั้น ธรรมชาติแห่ง “ภาษาของอำนาจ” มันจึงยิ่งไม่ใส่ใจ “fact” แต่เต็มไปด้วยพลังของ “meaning” ที่ห้ามการคิดต่าง หรือมีลักษณะเผด็จการอย่างเบ็ดเสร็จต่อความเห็นต่าง

คำในเชิง positive เช่น “เราจะสู้เพื่อในหลวง” “ปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์” “กู้ชาติ” “ใช้ธรรมนำหน้า” “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ฯลฯ ทั้งผู้สื่อและผู้รับสื่อต่างก็ไม่ชัดเจน (หรือไม่เข้าใจตรงกัน) ว่าคำพวกนี้สื่อถึง “facts” อะไรกันแน่ในบริบทของสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่เช่นทุกวันนี้ แต่ที่แน่ๆ คือคำพวกนี้มันมี “meaning” ที่ศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ว่าทำให้คนคล้อยตามได้ง่ายๆโดยไม่ตั้งคำถามใดๆในบริบทสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆที่วัฒนธรรม “critical thinking” ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอื่นๆยังไม่เข้มแข็ง

ทำนองเดียวกัน คำในเชิง negative เช่น “ศัตรูของชาติ” “ขายชาติ” “ล้มล้างสถาบัน” “ฝ่ายอธรรม” “เนรคุณแผ่นดิน” ฯลฯ ก็ไม่ชัดเจนว่าสื่อถึง “facts” อะไรกันแน่ แต่ “meaning” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคำต่างๆเหล่านี้ได้ทำให้เกิดภาพอันน่าเกลียดน่ากลัวของ “ปีศาจ” อย่างสมเจตนาของฝ่ายที่ผลิตสร้างวาทกรรมเหล่านี้

จะเห็นว่า ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรา “ภาษาของอำนาจ” ตามตัวอย่างที่ยกมา มันแสดงอำนาจเผด็จการต่อความเห็นต่างอย่างคึกคะนอง ยิ่งมันพยายามแสดงให้เห็นว่ามีความสนิทแนบแน่นกับสถาบันอันเป็นฐานผลิตสร้างตัวมันเอง ยิ่งทำให้มันย่ามใจในการแสดงอำนาจเผด็จการต่อความเห็นต่างอย่างไม่เลือกคนเล็กคนน้อย กรรมกร คนขับแท็กซี่ ไปจนถึงไม่เลือกแม้กระทั่งหน้าอินทร์หน้าพรหม

แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า ในแง่หนึ่งภาษามันมีอำนาจของตัวมันเองที่เป็นอิสระจากอำนาจของผู้ใช้ภาษาหรืออำนาจของสิ่งที่เป็นฐานในการผลิตสร้างภาษา ดังนั้น “meaning” แห่งภาษาของอำนาจจึงไม่ได้เป็นไปตามอำนาจหรือความต้องการของผู้ผลิตสร้างภาษาเสมอไป

ภาษาที่ผู้สร้างต้องการจะให้มันมี “meaning” ในทางเป็นฐานความชอบธรรมแก่ฝ่ายตนและมี “meaning” ในทางทำลายล้างฝ่ายอื่นๆ จึงย้อนกลับมาทำลายเครดิตของฝ่ายตนเสียเอง เป็นอุปสรรคต่อการเดินไปข้างหน้าในทางที่ฝ่ายตนคิดว่าสร้างสรรค์ (เช่น การสร้างการเมืองใหม่) และแม้กระทั่งย้อนกลับไปทำลายเครดิตของสถาบันต่างๆ (เช่น สถาบันสื่อ นักวิชาการ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ) ให้ลดหรือหมดความน่าเชื่อถือลงไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อำนาจของภาษากำลังแสดงให้เราเห็นอะไร? เราใช้ภาษาหรือภาษาใช้เรา? เป็นเรื่องที่ยากจะชี้ชัดลงไปเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว แต่ที่พอจะเห็นรางๆ คือ “ภาษาของอำนาจ” (ตามจารีตเดิมๆ) กำลังลดความน่าเกรงขามและไร้พลังลงเรื่อยๆ ขณะที่ “อำนาจของภาษา” (ซึ่งไม่มีตัวตนของเจ้าของอำนาจเช่นนี้) กำลังย้อนเกล็ดภาษาของอำนาจอย่างคึกคัก

โปรดระวังอย่าไปสร้าง “ภาษาของอำนาจสายพันธุ์ใหม่” ด้วยการสร้างบรรทัดฐานใดๆ ที่กีดกันการเสวนาแลกเปลี่ยนอย่างเสรีและเชิงวิพากษ์ด้วยเหตุผล “พื้นที่เสรี” และ “วัฒนธรรมการวิพากษ์ด้วยเหตุผล” ที่เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้นที่ “อำนาจของภาษา” จะสามารถแสดงพลังของมันออกมาในทางส่งเสริมความเท่าเทียมในความเป็นคน

หมายเหตุ: ที่เขียนมานี้ใช้ความเข้าใจของ “ผม” ต่อ “บางทฤษฎี” มาเป็นฐานอธิบาย “บางปรากฏการณ์แห่งสี” แต่ไม่แน่ใจว่า “ผม” จะเข้าใจตรงตาม “fact” หรือ “meaning” ของบางทฤษฎีหรือความคิดของนักทฤษฎีนั้นหรือไม่ หรือเพียงใด จึงไม่ได้กล่าวอ้าง “บางทฤษฎี” นั้น หรือไม่ได้ปฏิบัติตาม “ประเพณีอ้างอิงทางวิชาการ” ถือว่าเป็นความคิดชายขอบๆ ก็แล้วกัน เอวัง...ผู้ (หลงมา) อ่านจะมีอะไรว่าต่อก็เชิญ !
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net