Skip to main content
sharethis

วันนี้ (3 มิถุนายน 2552) ที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เริ่มเปิดฉากประชุมประจำปี โดยมีเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานเป็นวาระสำคัญในการ ประชุม ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอาจทำให้อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การประชุมประจำปีดังกล่าวจะมีไปจนถึงวันที่ 19 มิถุนายนนี้ มีสมาชิกจากภาครัฐ สหภาพแรงงาน และสมาคมนายจ้างรวม 183 ประเทศ เข้าร่วมประชุม รวมถึงตัวแทนจากประเทศไทย

นายฮวน โซมาเวีย ผู้อำนวยการไอแอลโอ กล่าวว่า อัตราว่างงาน และตัวเลขแรงงานที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะยากจนทั่วโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงจำเป็นต้องมีความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการสร้างงาน เพื่อจัดการวิกฤตินี้ และบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน พร้อมคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานยังจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงปลายปี 2553 และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2554

ก่อนหน้านี้ ไอแอลโอประเมินว่า อัตราว่างงานเฉลี่ยทั่วโลกอาจพุ่งมาอยู่ระหว่าง 6.8-7.4% สูงจากอัตราว่างงานเมื่อปี 2546 ที่ 6.5% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดนับแต่ปี 2534 ที่ไอแอลโอเริ่มประมาณการระดับการว่างงานโลกเป็นครั้งแรก

ไอแอลโอ ยังระบุว่า จะมีแรงงานราว 210-239 ล้านคน ตกงานภายในสิ้นปี 2552 เพิ่มขึ้นราว 39-59 ล้านคน ภายในช่วง 2 ปี นับแต่เริ่มเกิดวิกฤติการเงินโลก และคาดว่าอัตราการจ้างงานโดยทั่วไป จะเริ่มกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติการเงินในอีกราว 4-5 ปีข้างหน้า (กรุงเทพธุรกิจ 3/6/52)

จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกดังกล่าวเมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว หรือกัมพูชา ประเทศเหล่านี้ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติกันอย่างถ้วนหน้า ไม่ต่างจากในประเทศไทย แม้ว่าวิกฤติจะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี
      

พม่า : เกษตรกรรมและการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพโคลงเคลง

แม้ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของพม่า จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมาเป็นเวลานาน แต่พม่าก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ จากรายงานข่าวของสำนักข่าวอิระวดี และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 52 ระบุว่า ภาคธุรกิจที่สำคัญอย่างเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพโคลงเคลง ส่วนมูลค่าการค้าขายในนครย่างกุ้งก็ลดลง เช่น พนักงานขายของประจำร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง เล่าว่า เมื่อปีที่แล้ว “ร้านของเธอขายสินค้าได้ 300 ถึง 400 ดอลลาร์ต่อวัน แต่ขณะนี้ ยอดขายลดเหลือไม่ถึงวันละ 100 ดอลลาร์”

จากบทเรียนที่สำคัญในอดีตอาจช่วยให้สามารถคาดคะเนได้ล่วงหน้าว่า สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มักเป็นต้นเหตุสำคัญของความไม่สงบในพม่าหลายต่อหลายครั้ง เช่น การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคม – กันยายน 2550 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (2531) ก็เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่ล่มสลาย ทำให้ประชาชนเกิดความสิ้นหวัง

ตลอดเวลาที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายแบบเผด็จการทหาร ทำให้เศรษฐกิจพม่าได้รับความเสียหายจากปัญหาว่างงาน เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมีจำนวนน้อยลง และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอ่อนแอ ธนาคารเอกชนในท้องถิ่นกว่า 20 แห่งที่ถูกปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2546 ก็ยังไม่ฟื้นมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมในประเทศที่ประสบความสำเร็จก็มีน้อยมาก พม่ายังต้องพึ่งพาการขายก๊าซธรรมชาติ ไม้และสินค้าอื่นๆ ให้กับจีน ไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังทำธุรกิจกับพม่าอยู่

Sean Turnell ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าประจำมหาวิทยาลัยแมคควารีของออสเตรเลีย ระบุว่า พม่ามีรายได้จากก๊าซธรรมชาติลดลง 50% ในปี 2552 นี้ และภาคเกษตรกรรมซึ่งคิดเป็น 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องเผชิญกับหายนะ ภายหลังจากที่พม่าเผชิญกับพายุไซโคลนนาร์กิสเมื่อพฤษภาคม 2551 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 135,000 ราย แถมยังกวาดเอาเครื่องมือและฝูงปศุสัตว์ในแหล่งปลูกข้าวทางตอนใต้ของประเทศไปด้วย ขณะที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่ขาดสภาพคล่อง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกู้เงินมาลงทุนเพาะปลูกได้อีก

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization) ได้เคยให้ข้อมูลภายหลังเหตุการณ์นาร์กิสผ่านไป 3 เดือน ว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 63 เปอร์เซ็นต์ยังคงจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่เมล็ดพันธุ์พืชมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ถูกทำลายเสียหาย ส่งผลกระทบให้ชาวนา 75 เปอร์เซ็นต์ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้เพาะปลูกในปีถัดไป

ทางด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ยอดผู้โดยสารขาเข้าลดลงติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเฉพาะหลังการประท้วงใหญ่เมื่อปี 2550 จนมาถึงวิกฤติเศรษฐกิจ และการพิจารณาคดีซูจี ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัวว่าจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในพม่าอีกครั้งหนึ่ง 

ลาว : อุตสาหกรรมเหมืองทองแดงและโครงการสะหวัน-เซโน เริ่มเห็นผลกระทบชัดเจน

แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศลาวไม่รุนแรงมากนัก  เป็นเพราะลาวไม่ได้พึ่งพาการส่งออกเป็นอุตสาหกรรมหลัก  สินค้าที่ผลิตได้ยังคงเป็นไปเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก รวมทั้งลาวยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจาก ไทย  เวียดนาม และจีน

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หนังสือผู้จัดการได้รายงานว่า บริษัท ล้านช้าง
มิเนอรัล จำกัด (Lane Xang Mineral Ltd) ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดของลาวในเขตอำเภอวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ได้ปลดคนงานออกรวม 67 คน เนื่องจากผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทำให้ราคาทองแดงอันเป็นสินค้าหลักของบริษัทในตลาดโลกตกต่ำ คนงานที่ถูกปลดออกเป็นชาวต่างชาติจำนวน 41 คน หรือคิดเป็น 20% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด อีก 26 คนเป็นคนงานชาวลาว ซึ่งในนั้นแบ่งออกเป็นลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 22 กับพนักงานประจำ 4 คน      

นายริชาร์ด เทย์เลอร์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของเหมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ได้พยายามหลีกเลี่ยงการปลดคนงานมาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานชาวลาว โดยได้พยายามหาตำแหน่งงานสับเปลี่ยนให้ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายกรณีแต่ไม่สามารถทำได้กับจำนวนที่ถูกปลด

ผู้บริหารรายนี้ได้กล่าวโทษภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ที่กดดันให้ราคาทองแดงรวมทั้งสินค้าอื่นๆ ในตลาดตกต่ำลง กดดันให้บริษัทฯ ต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินงาน

นอกจากอุตสาหกรรมเหมืองทองแดงที่ได้รับผลกระทบแล้ว ทรงฤทธิ์ โพนเงิน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ที่แขวงสะหวันนะเขต ที่รัฐบาลลาวได้วาดความหวังไว้ว่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้าไปในลาวนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากแต่จนถึงเวลานี้การพัฒนาโครงการก็สามารถดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก และยิ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเงินเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้การลงทุนของต่างชาติในแขวงสะหวันนะเขตลดลงถึง 74% ในช่วงไตรมาสแรกของแผนการประจำปี 2008-2009 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของแผนการประจำปี 2007-2008 ที่ผ่านมา

เขมร : พนักงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก สามเดือนแรกของปี 52 ถูกเลิกจ้างไปกว่า 20,000 คน

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ประเทศกัมพูชา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2552 รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2552 แรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้ถูกเลิกจ้างไปแล้วกว่า 20,000 คน มีโรงงานถูกปิดถึง 46 แห่ง เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่วิกฤติอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ระบุเพิ่มเติมว่า การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไตรมาสแรกหดลงกว่า 35% การส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาเลวร้ายที่สุด คือลดลงถึง 47% เทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง 22% แคนาดา 21% โดยมีรายละเอียดว่า ยอดส่งออกเสื้อผ้าลดลงทุกเดือน คือ ลด 19% ในเดือนมกราคม 23% ในเดือนกุมภาพันธ์ และลดลงเป็น 60% ในเดือนมีนาคม ส่งสัญญาณให้เห็นว่านั่นอาจจะเป็นจุดเลวร้ายที่สุดแล้ว

ยังไม่มีตัวเลขส่งออกในเดือนเมษายน แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมกัมพูชาคาดว่า ยอดส่งออกเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะดีขึ้นมาก แม้ข้อบ่งชี้ต่างๆ จะยังไม่ชัดเจนก็ตาม

.................................................................................................................................

หมายเหตุ: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency - CBNA) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย จัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานไทย คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ Union Network International: Thai Liaison Council (UNI-TLC) กับ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (แรงงานอพยพ) และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย คือ ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน เพื่อนไร้พรมแดน และ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552
 
ติดต่อศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน : crossborder.newsagency@gmail.com
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net