ข้อเสนอเชิงนโยบาย “การขยายการประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
1. สถานการณ์
·         ประเทศไทยมีประชากรที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานประมาณ 37 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่นอกระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมประมาณ 23 ล้านคน (ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ)  และจำนวนคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 
o    แม้ว่าคนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งได้ทำประกันชนิดต่างๆ ไว้กับบริษัทเอกชน แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย และมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเท่านั้น
·         โครงการประกันสังคมเปิดให้กลุ่มแรงงานนอกระบบสมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 โดยผู้ประกันตนเป็นผู้จ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียวปีละ 3,360 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะ 3 กรณีคือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย  แต่ที่ผ่านมามีผู้สมัครเข้าโครงการน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างสิทธิประโยชน์และเบี้ยประกันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรกลุ่มเป้าหมาย
·         ตั้งแต่ปี 2545 โครงการประกันสังคมได้ขยายความครอบคลุมไปถึงแรงงานในระบบในกิจการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการบังคับโดยกฎหมาย แต่ในบรรดากิจการที่มีลูกจ้าง 1-5 คนนั้น มีเพียงส่วนน้อยที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และในทางปฏิบัติ สำนักงานประกันสังคมไม่สามารถตรวจสอบและบังคับให้กิจการที่เหลือมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ  
·         รัฐบาลหลายชุดได้พยายามขยายการประกันสังคมออกไปสู่แรงงานนอกระบบ (รวมเกษตรกร) หรือให้ครอบคลุมครอบครัวผู้ประกันตน แต่ไม่เคยมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องนี้
o    แต่ที่ผ่านมา แรงจูงใจส่วนหนึ่งคือเพื่อลดภาระการอุดหนุนของรัฐบาล (เช่น ค่าหัวของโครงการ 30 บาทฯ) ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานนอกระบบเหล่านั้น โดยเฉพาะในระยะหลังที่โครงการ 30 บาทฯ เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้น
·         รัฐบาลนี้ได้ขยายโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (เดือนละ 500 บาท) ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทั้งหมดและในระยะหลังมีการผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย แต่ในส่วนหลังนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก
2. หลักการ
·         การขยายหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุมคนทั้งประเทศจะสามารถช่วยประชาชนจำนวนมากรับภาระความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่หรือจะเกิดเมื่อใด (เช่น การเสียชีวิต/ทุพพลภาพ/บาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ และการเจ็บป่วยหนักในกรณีอื่นที่ต้องนอนโรงพยาบาล)
·         แม้กระทั่งการรับภาระในกรณีที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่ง (เช่น การมีบุตร และชราภาพ) ซึ่งอาจเตรียมการล่วงหน้าได้โดยการอดออมเพื่อเป็นหลักประกันให้ตัวเอง (self insurance) คนจำนวนมากก็ยังมีข้อจำกัดในการออม ซึ่งรวมทั้งกรณีที่ปัจเจกให้ความสำคัญกับการบริโภคในปัจจุบันมากกว่าอนาคตมาก และ/หรือกรณีที่มีข้อจำกัดด้านรายได้ที่รุนแรง
·         ในทั้งสองกรณีข้างต้น การมีหลักประกันทางสังคมจะช่วยบรรเทาลดปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เป็นภาระกับปัจเจกน้อยลงแล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่กรณีเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาสังคมด้วย ดังนั้น รัฐจึงมีเหตุผลที่จะสนับสนุน/อุดหนุนโครงการเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สามารถคุ้มครองประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้เป็นจำนวนมาก)
·         ในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากโครงการเหล่านี้เกิดกับประชาชนโดยตรง ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมที่สำคัญในการรับภาระค่าใช้จ่ายจากโครงการเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นบำนาญ
·         อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่สูงมาก ในขณะที่รัฐมีบทบาทค่อนข้างน้อยในการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกระจายรายได้  กลุ่มแรงงานนอกระบบ (รวมทั้งเกษตรกร) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย   การสร้างหลักประกันทางสังคมสำหรับคนเหล่านี้อย่างกว้างขวางจึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญจากภาครัฐด้วย
·         ภายใต้หลักการข้างต้น แนวทางการขยายหลักประกันทางสังคมอาจทำโดยขยายโครงการประกันสังคมภาคสมัครใจ โดยรัฐเข้ามาร่วมแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถปรับชุดสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการและกำลังความสามารถในการจ่ายของแรงงานนอกระบบโดยส่วนใหญ่ได้
·         แม้ว่าในทางปฏิบัติ รัฐบาลสามารถแยกโครงการบำเหน็จบำนาญของแรงงานนอกระบบออกจากโครงการนี้ แต่ถ้าโครงการทั้งสองจะต้องอาศัยเงินสมทบบางส่วนจากการออมของแรงงานนอกระบบ การพิจารณาทั้งสองโครงการนี้จะต้องทำไปด้วยกัน (ทั้งในด้านกำลังความสามารถในการจ่ายของกลุ่มแรงงานนอกระบบ และในด้านการบริหาร เช่น กระบวนการนำส่งเงินสมทบของแรงงานนอกระบบ)
3. ข้อพิจารณาเพิ่มเติม
·         ถึงแม้ว่าการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชนทั้งประเทศมีแนวโน้มที่จะทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  แต่การละเลยคนกลุ่มนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มข้าราชการและลูกจ้างสถานประกอบการเอกชน) ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงในสังคมไทย โดยประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชนบทและในเมืองจำนวนมากมีความเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจกับพวกเขามากเท่ารัฐบาลในอดีต ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศที่รุนแรงขึ้นได้ในอนาคต  
·         ปัจจุบันรัฐบาลให้สวัสดิการข้าราชการและข้าราชการบำนาญคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อปี และจ่ายเงินสมทบเข้าโครงการประกันสังคม ให้ลูกจ้างประมาณปีละ 2,500 บาทต่อคน (1,700 บาทต่อคน ถ้าไม่รวมส่วนที่กองทุนประกันสังคมกันไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล) และในปีนี้ก็ได้ให้ความช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้างที่มีรายได้น้อยอีกคนละ 2,000 บาท (โครงการเช็คช่วยชาติ) ในขณะที่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ (ซึ่งมีรายได้น้อยกว่า) ไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ และที่ผ่านมามีเสียงแสดงความไม่พอใจในกรณีนี้ออกมาไม่น้อย
·         แม้ว่ารัฐบาลนี้จะได้สานต่อและปรับปรุงโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการมาในอดีตหลายโครงการ (เช่น รักษาฟรี เรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมทั้งได้ต่ออายุ 5 มาตรการของรัฐบาลเดิม) แต่รัฐบาลนี้ก็ยังไม่ได้มีโครงการใหม่สำหรับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีจุดขายที่เด่นชัดและถือได้ว่าเป็นความริเริ่มของรัฐบาลนี้อย่างชัดเจน
·         ในแง่นี้ นอกจากโครงการนี้จะเป็นโครงการที่มีประโยชน์และความจำเป็นในตัวเองแล้ว โครงการนี้น่าจะมีจุดขายทางการเมืองทั้งต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (แก้ข้อกล่าวหาเรื่อง “ไม่เห็นหัวคนจน” และ “ลอกนโยบาย”) และต่อกลุ่มผู้ที่มีเศรษฐานะดีที่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน
4. แนวทางการดำเนินการ
·         แก้ พรบ. ประกันสังคม ในส่วนของการประกันตนภาคสมัครใจตามมาตรา 40 โดยให้รัฐบาลและผู้ประกันตนร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่าย แทนการผลักภาระทั้งหมดให้ผู้ประกันตนในปัจจุบัน
o    โครงการนี้จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างหลักประกันทางสังคมของคนทั้งประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธิ์จำนวนมากเข้าร่วมโครงการ แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีรายได้น้อย และโครงการนี้จำเป็นต้องอาศัยความสมัครใจของพวกเขา รัฐบาลจึงต้องมีส่วนร่วมจ่ายที่สำคัญ (ในเบื้องต้นจึงขอเสนอให้รัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 50-66.7 ของค่าใช้จ่ายของโครงการ และเสนอให้แก้ พรบ. ประกันสังคมตามนั้น แต่ถ้ารัฐบาลต้องการให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้นก็อาจแก้กฎหมายให้รัฐบาลรับภาระจ่ายเงินสมทบระหว่างหนึ่งในสามถึงสองในสามของเงินสมทบรวม)
o    ในเบื้องต้น เสนอให้รัฐบาลจ่ายสมทบประมาณ 1,700-2,000 บาทต่อคนต่อปี (ซึ่งใกล้เคียงกับเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ผู้มีสิทธิประกันสังคมส่วนที่ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล) ทั้งนี้ ในช่วงสองถึงสามปีแรก รัฐบาลจะยังมีภาระทางการเงินไม่มากนัก เนื่องจากคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 ปีก่อนที่จะมีประชาชนจำนวนมากสมัครเข้าร่วมโครงการนี้
·         ปรับเปลี่ยนชุดสิทธิประโยชน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (เช่น ปัจจุบันมีโครงการรักษาฟรีซึ่งรวมคลอดบุตรอยู่แล้ว) และเน้นการประกันความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า (เช่น ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชดเชยรายได้ในกรณีที่ต้องเข้านอนโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน) และอาจรวมถึงความเสี่ยงวัยชรา (เช่น บำนาญ ซึ่งอาจเชื่อมโยงหรือไปรวมกับโครงการกองทุนบำนาญแห่งชาติ)
o    ในระยะยาว สิทธิประโยชน์ในด้านเหล่านี้น่าจะใกล้เคียงกับของผู้ประกันตนในระบบ แต่ในระยะสั้น การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของผู้ประกันตนด้วย
·         กองทุนส่วนนี้ควรอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว  แต่ในทางกฎหมายกองทุนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะเฉลี่ยความเสี่ยงข้ามเวลาสำหรับการประกันในส่วนนี้ได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่อาจยังมีผู้เข้าร่วมโครงการไม่มาก) รวมทั้งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน (ซึ่งก็ควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับการประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 รวมถึงกองทุนเงินทดแทนฯ ด้วย)
·         จะต้องมีการออกแบบโครงการที่คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแรงงานนอกระบบ (เช่น มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่มีนายจ้างที่จะหักเงินเดือนส่งสำนักงานประกันสังคม)
o    เนื่องจากการพิสูจน์รายได้ทำได้ยาก ในทางปฏิบัติจึงแทบเป็นไม่ได้ที่จะเก็บเงินสมทบตามรายได้ ในระยะแรกจึงอาจมีการประกันตนเพียงเมนูเดียว (ทำนองเดียวกับการประกันตนตามมาตรา 40 ในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนจ่ายเงินสมทบในอัตราเดียวกัน) ซึ่งออกแบบโดยเน้นที่ให้คนจำนวนมากสามารถเข้าร่วมโครงการได้ก่อน และในอนาคตอาจมีเมนูทางเลือกใหม่ๆ ที่มีระดับสิทธิประโยชน์ที่สูงขึ้น    
 
 
เชิงอรรถ
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 565 ซอยเทพลีลา ถนนรามคำแหง แขวง/เขตวังทองหลาง กทม. 10310 โทรศัพท์ 081-382-7846 02-718-5460 ต่อ 338 โทรสาร 02-722-7461 E-mail: virojtdri@yahoo.com หรือ naranong@econ.yale.edu (ฉบับปรับปรุง 10 พฤษภาคม 2552)
 
ประเทศไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16 ของรายได้เท่านั้น
 
แม้ว่าหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของการประกันสังคมคือการเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งโครงการภาคบังคับมักจะทำได้ดีกว่า  แต่ถ้าต้องการสร้างระบบที่แรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมจ่ายด้วย ก็คงต้องเริ่มจากโครงการภาคสมัครใจ (เช่น ปรับการประกันตนตามมาตรา 40 ให้จูงใจแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่) ทั้งนี้ เรามีบทเรียนมาแล้วว่า แม้กระทั่งในกรณีของแรงงานในระบบเองนั้น การใช้วิธีออกกฎหมายก็ไม่สามารถบังคับนายจ้างและ/หรือลูกจ้างที่ไม่สนใจให้มาลงทะเบียนได้
 
ในอัตราร้อยละ 2.75 ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท (หรือประมาณร้อยละ 1.87 ถ้าไม่รวมร้อยละ 0.88 ที่กำหนดให้ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล)
 
ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนในทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลนี้ ซึ่งต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่อง “ลอกนโยบาย” มาโดยตลอด
 
ส่วนนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้น ทั้งนี้ทางสถาบันฯ กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาได้ภายในปีนี้
 
ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมในพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งในปีพ.ศ. 2552 การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีประเด็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 40 คือ
            “มาตรา 40 บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 จะสมัครเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงาน
            หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ประเภทของประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามมาตรา 54 ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
            ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึงหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง
ในความเห็นของผู้จัดทำข้อเสนอนี้ ควรแก้ส่วนหลังของวรรคสุดท้ายเป็น “....แต่ไม่น้อยกว่าเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง และไม่เกินสองเท่าของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง”(ซึ่งก็คือรัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 50-66.7
หรือถ้าต้องการให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็อาจแก้เป็น “....แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึงของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง และไม่เกินสองเท่าของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง”(ซึ่งก็คือรัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 33.3-66.7
 
แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากน้อยเพียงใด แต่คาดว่าในสองปีแรกน่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ภาระทางการเงินของรัฐบาลอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงสองปีแรก
 
 
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 565 ซอยเทพลีลา ถนนรามคำแหง แขวง/เขตวังทองหลาง กทม. 10310 โทรศัพท์ 081-382-7846 02-718-5460 ต่อ 338 โทรสาร 02-722-7461 E-mail: virojtdri@yahoo.com หรือ naranong@econ.yale.edu (ฉบับปรับปรุง 10 พฤษภาคม 2552)
 
ประเทศไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16 ของรายได้เท่านั้น
 
แม้ว่าหลักการที่สำคัญประการหนึ่งของการประกันสังคมคือการเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งโครงการภาคบังคับมักจะทำได้ดีกว่า  แต่ถ้าต้องการสร้างระบบที่แรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมจ่ายด้วย ก็คงต้องเริ่มจากโครงการภาคสมัครใจ (เช่น ปรับการประกันตนตามมาตรา 40 ให้จูงใจแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่) ทั้งนี้ เรามีบทเรียนมาแล้วว่า แม้กระทั่งในกรณีของแรงงานในระบบเองนั้น การใช้วิธีออกกฎหมายก็ไม่สามารถบังคับนายจ้างและ/หรือลูกจ้างที่ไม่สนใจให้มาลงทะเบียนได้
 
ในอัตราร้อยละ 2.75 ของเงินเดือนที่ไม่เกิน 15,000 บาท (หรือประมาณร้อยละ 1.87 ถ้าไม่รวมร้อยละ 0.88 ที่กำหนดให้ใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล)
 
ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนในทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลนี้ ซึ่งต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่อง “ลอกนโยบาย” มาโดยตลอด
 
ส่วนนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้น ทั้งนี้ทางสถาบันฯ กำลังดำเนินการศึกษาวิจัยซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาได้ภายในปีนี้
 
ในปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมในพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งในปีพ.ศ. 2552 การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีประเด็นการแก้ไขที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 40 คือ
            หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ประเภทของประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามมาตรา 54 ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
            ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึงหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง
ในความเห็นของผู้จัดทำข้อเสนอนี้ ควรแก้ส่วนหลังของวรรคสุดท้ายเป็น “....แต่ไม่น้อยกว่าเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง และไม่เกินสองเท่าของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง”(ซึ่งก็คือรัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 50-66.7
หรือถ้าต้องการให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็อาจแก้เป็น “....แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึงของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง และไม่เกินสองเท่าของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง”(ซึ่งก็คือรัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 33.3-66.7
 
แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการมากน้อยเพียงใด แต่คาดว่าในสองปีแรกน่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่เกิน 1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ภาระทางการเงินของรัฐบาลอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงสองปีแรก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท