Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน  
หลังคำสั่งศาล เมื่อ 30 พ.ค.2552 ในขั้นตอนการไต่สวนการตายชี้ว่าผู้เสียชีวิต 78 คน กรณีตากใบเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ไม่พบเหตุร้ายอย่างอื่น และเจ้าหน้าที่พนักงานที่ปฏิบัติการในวันเกิดเหตุ (25 ต.ค. 2547) ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ
ปรากฏว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นไม่ว่าเหตุการณ์ทั้งการซุ่มยิง บุกยิงซึ่งหน้า ซุ่มระเบิด ระเบิดในลักษณะคาร์บอมบ์บุคลกรทางการศึกษา บุคลากรที่ทำงานร่วมกับรัฐ นักการเมืองท้องถิ่นหรือผู้บริสุทธิ์ ทั้งพุทธและมุสลิม ท่ามกลางหน่วยความมั่นคงเต็มพื้นที่ ด่านตรวจเป็นระยะๆ สวนทางความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่กับการออกมาโหมโรงของฝ่ายความมั่นคงว่าเดินมาถูกทางและ เหตุการณ์ทางสถิติลดลง  ผู้เขียนในฐานะผู้ประเมินภายนอกของสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพสถาน(สมศ.) ได้เข้าไปประเมินโรงเรียนบ้านกะรูบี  อำเภอกระพ้อ จังหวัดปัตตานีวันที่ 1-3 มิถุนายน 2552 ก่อนเหตุการณ์ยิงครู และเจ้าหน้าที่ชรบ.ในบริเวณที่ไม่ไกลจากที่นั้นเพียงไม่กี่วัน
พบว่าความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์ต่อนโยบายความมั่นคงของรัฐที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้นคนในพื้นทีไม่มั่นใจ พวกเขาจำเป็นต้องอยู่หรือสอนในพื้นที่พราะเป็นบ้านของพวกเขา ในงานเข้าสุนัตของลูกชายกำนันที่นั้นซึ่งผู้เขียนได้เข้าร่วมด้วยมีผู้คนมากมายแต่เต็มไปด้วยหน่วยงานความมั่นคงถือปืนเต็มไปหมด ผู้เขียนกับเพื่อนนั่งรับประทานอาหารไปกังวลไป เหมือนกับอยู่ในภาวะสงคราม
เหตุการณ์ต่างๆยังคงรุนแรงทุกวันโดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส เมื่อ 20.30 น. คืนวันที่ 8 มิ.ย. ที่คนร้ายบุกยิงพี่น้องไทยมุสลิมซึ่งกำลังทำละหมาดที่มัสยิด เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บอีก 13 คน
จนบางคน มองว่าอาจจะเป็นการแก้แค้นผลของคำสั่งศาลที่มีต่อคดีตากใบซึ่งพวกเขามองว่าความยุติธรรมของขบวนการศาลที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายหมดความชอบธรรม
เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังผลให้มีการวิพากษ์ออกเป็นสองฝ่ายกล่าวคือ
รัฐออกมาปฏิเสธทันควันว่า รัฐหรือคนของรัฐไม่ทำอย่างแน่นอนและโทษฝ่ายผู้ก่อการทันทีว่าเป็นกระทำและปล่อยข่าวว่าคนของรัฐทำเพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างไทยพุทธและมุสลิมในขณะที่ชาวบ้านบางส่วนมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่สร้างสถานการณ์เองนั้นเพื่อหวังได้งบประมาณเพิ่มในการดูแลปัญหา จังหวัดชายแดนนั้น
ในขณะเดียวกันผศ.ชิดชนก ราฮมมูลา (จากการสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องของการปล่อยข่าวเสียทีเดียว กล่าวคือกระบวนการปล่อยข่าวอาจจะมีขึ้นบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วกระแสข่าวเหล่านี้ น่าจะเกิดขึ้นจากมายาคติที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาเอง เพราะความเชื่อในเรื่องนี้ เป็นเหมือนความเชื่อที่ถูกผลิตซ้ำมานานพอสมควร จากเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มักมองว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับชาวบ้านก็ต้องพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐก่อน ทั้งที่จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ตาม ซึ่งความเชื่อนี้ก็ไม่ได้มีแต่ชาวบ้านที่คิด แม้แต่ตัวสื่อมวลชนเองบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังมีการตั้งคำถามเสมอว่าเกิดจากการกระทำของภาครัฐหรือไม่
ต่อคำถามว่า มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้ในพื้นที่อีก ผศ.ชิดชนก กล่าวว่า ตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเช่นนี้อีก และยังอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะต้องยอมรับว่าจนถึงขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเอง อาจจะยังจับประเด็นไม่ได้ด้วยซ้ำว่าการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเป็นฝีมือของคนกลุ่มใดกันแน่ และทำเพื่อหวังผลอะไร
“อย่างที่บอกว่าพื้นที่นี้มันเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูง และความขัดแย้งก็มีมากหลายเรื่องมาก ทั้งในเรื่องความมั่นคง เรื่องยาเสพติด หรือแม้แต่เรื่องการเมือง มันก็เหมือนเป็นพื้นที่ ที่ใครจะมาใช้สร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลอะไรก็ได้เราก็ไม่รู้ อย่างในช่วงแรกก็มีกระแสข่าวว่าเป็นอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แต่มาในช่วงหลังการตรวจสอบพบหลายครั้งก็มีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือบางครั้งก็อาจมีการโยงไปถึงเรื่องการเมืองได้อีก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐได้ตกเป็นจำเลยของสังคมส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะไม่ได้ทำหรือมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่บางครั้งสังคมอาจจะลืมตระหนักก็คือ บางครั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่อาจเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างประชาชนเอง เช่นปัญหาอาชญากรรม ฉก ชิง วิ่งราว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบเลย แต่ท้ายที่สุดก็ถูกมองเป็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเรื่องของการให้เงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ไม่สงบ ก็ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตบางรายพยายามให้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อให้เจ้าหน้าที่มองสาเหตุการเสียชีวิตเป็นเรื่องของเหตุการณ์ไม่สงบเพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องมองตรงจุดนี้ด้วยว่าบางครั้ง การใช้เงินในการแก้ปัญหาก็อาจทำให้ภาพคดีนั้นเปลี่ยนไป สุดท้ายก็ส่งผลต่อภาพรวมของสถิติการก่อความไม่สงบในพื้นที่
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรแต่การที่คนร้ายบุกยิงพี่น้องไทยมุสลิมซึ่งกำลังทำละหมาดที่มัสยิดเป็นสิ่งที่ต้องถูกประณาม อย่างรุนแรงจากทุกศาสนิกและผู้เขียนขอชื่นชมพี่น้องชาวไทยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชาวไทยพุทธในพื้นที่ได้เข้าไปเยี่ยมและกำลังใจผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net