Skip to main content
sharethis

 

สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรที่ดินเนื้อที่ทั้งสิ้น 23,746 ไร่ จำนวน 9 แปลง ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ให้กับประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน หลังจาก สัญญาเช่าเขตป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา โดยการปลูกไม้ยูคาลิปตัสเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อกระกระดาษ สิ้นสุดลง
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะชน รัฐบาลและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากที่กลุ่มชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่หมดอายุสัญญาเช่าในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่) บ้านลำนางรอง ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่หลังจากที่ให้ บริษัทเอกชนได้เข้าไปทำประโยชน์มาแล้วเกือบ 30 ปี และเพื่อให้นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้กับประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกินและที่มีดินทำกินไม่เพียงพอ ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
 
ภายหลังการเข้าตรวจสอบพื้นที่ของชาวบ้าน ได้มีกลุ่มเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำนางรอง” “กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงใหญ่ 4” และ “กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้เรียกร้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่หมดอายุสัญญาเช่า โดยยื่นรายชื่อผู้ประสงค์ขอเช่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนทั้งสิ้น 3,913 ราย อีกทั้งเรียกร้องให้ราชการผลักดันกลุ่มชาวบ้านที่เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบโฉนดชุมชนออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน โดยอ้างเหตุผลว่าไม่สามารถเข้ารังวัดพื้นที่เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินได้
 
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.2552) กลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์ขอเช่าจำนวนกว่า 1,000 รายได้บุกเข้าไปตัดไม้ยูคาลิปตัส เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไประงับเหตุและผลักดันให้กลุ่มต่างๆ ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนท้องถิ่นว่าเกษตรกรทุกกลุ่มได้จับมือร่วมกันสู้แล้ว แม้จะมีแนวทางการต่อสู้ เป้าหมาย วิธีการ และพฤติกรรมการทำงานมีความแตกต่างกันอย่างมาก
 
แถลงการณ์ยังระบุถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า มีเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลัง ทั้งตำรวจ ป่าไม้ ทหาร ฝ่ายปกครอง กว่า 2,500 นาย เข้าพื้นที่แล้ว
 
ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ มีความเชื่อว่าเกษตรกรกลุ่มที่ขอเช่า เป็นกลุ่มคนยากจน ไร้ที่ดินทำกินจริง และรัฐต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม ซึ่งกลุ่มเกษตรกรในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เองก็มีสถานภาพไม่ต่างจากเกษตรกรทั่วประเทศที่ตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าการจัดการที่ดิน โดยใช้เงื่อนไขสิทธิของชุมชนและสังคม มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ภายใต้รูปแบบโฉนดชุมชน จะเป็นหลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดิน
 
กรณีพื้นที่สัญญาเช่าใน อ.โนนดินแดง เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มบริษัทที่หมดอายุสัญญาเช่ายังมีความพยายามขอเช่าพื้นที่ต่อ ดังจะเห็นได้จากการผลักดันให้องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง ประชุมให้ความเห็นชอบในการจำแนกจัดสรรที่ดินให้บริษัทครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งเป็นของเกษตรกรซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 ราย ( เฉลี่ยจะได้ประมาณรายละ 1 ไร่เศษ ขณะที่บริษัทรายเดียวได้ไป 16,000 ไร่ ) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวันที่ 23 เม.ย.2552
 
แถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีแกนนำเกษตรกรบางกลุ่ม บางคน ทำตัวเป็นนอมินี ตัวแทน และนายหน้าของบริษัทเอกชนเหล่านี้ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์มหาศาลจากไม้ซึ่งบริษัทปลูกไว้ที่ยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งขออนุญาตใช้ประโยชน์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากรัฐบาลดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน จะนำมาสู่การสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ในท้องที่บางคนได้อานิสงค์จากการขอเช่าที่ของเอกชน ทำให้มีพื้นที่บางแปลงที่เอกชนได้ปลูกสร้างสวนป่าเกินพื้นที่สัญญาเช่าจำนวนมาก
 
“ถึงที่สุดแล้ว หากเกษตรกรไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างแท้จริง ผืนแผ่นดินอำเภอโนนดินแดง ย่อมตกอยู่ในมือนายทุนดังเช่นที่แล้วมาอย่างแน่นอน และในวันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากลุ่มที่นั่งอยู่บนภู ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และคอยตักตวงเอาผลประโยชน์หลังลมฝนสงบลงคือ นายทุนนั่นเอง” แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3
“ข้อเท็จจริงกรณีพื้นที่สัญญาเช่า อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์”
 
สืบเนื่องจากการเข้าตรวจสอบพื้นที่หมดอายุสัญญาเช่าของกลุ่มชาวบ้านในนาม “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย” พื้นที่บ้านลำนางรอง ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา นั้น
 
เจตนารมณ์ของกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวข้างต้น เป็นไปเพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้ โดยมีพื้นที่กว่า 23,746 ไร่ ภายหลังจากที่ได้อนุญาตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา จนหมดอายุลงในวันที่ 5 พฤษภาคม 2552 จากนั้น ให้นำพื้นที่ดังกล่าวมาดำเนินการจัดสรรให้กับประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน และที่ดินทำกินไม่เพียงพอในรูปแบบ โฉนดชุมชน ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเข้าตรวจสอบพื้นที่ของชาวบ้าน ได้มีกลุ่มเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำนางรอง” กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงใหญ่ 4” และ “กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ได้เรียกร้องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่หมดอายุสัญญาเช่า โดยยื่นรายชื่อผู้ประสงค์ขอเช่าต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนทั้งสิ้น 3,913 ราย อีกทั้ง เรียกร้องให้ราชการผลักดันกลุ่มชาวบ้านที่เข้าตรวจสอบพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบโฉนดชุมชนออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน โดยอ้างเหตุผลว่าไม่สามารถเข้ารังวัดพื้นที่เพื่อประกอบการขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินได้ จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2552 กลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์ขอเช่า จำนวนกว่า 1,000 ราย ได้บุกเข้าตัดไม้ยูคาลิปตัส ทั้งนี้ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าระงับเหตุหรือผลักดันกลุ่มต่างๆออกจากพื้นที่ต่อไป โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลัง ทั้งตำรวจ ป่าไม้ ทหาร ฝ่ายปกครอง กว่า 2,500 นาย เข้าพื้นที่แล้ว
 
ข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า เหตุใดกลุ่มเกษตรกรที่ขอเช่าจึงมีความพยายามที่จะผลักดันกลุ่มปฏิรูปที่ดินออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก่อนช่วงที่เข้าบุกตัดไม้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2552 แกนนำกลุ่มได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนท้องถิ่นว่าเกษตรกรทุกกลุ่มได้จับมือร่วมกันต่อสู้แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริง แนวทางการต่อสู้มีความแตกต่างทั้งในเชิงเป้าหมาย วิธีการ และพฤติกรรมการทำงานอย่างสำคัญ
 
เช่นนี้แล้ว พวกเราในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงขออธิบายและตั้งข้อสังเกตต่อข้อเท็จจริงให้สื่อมวลชน รัฐบาล หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนได้รับรู้ เข้าใจถึงผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังฉากการแสดงให้ปรากฏชัดเจน ดังนี้
 
1. เรามีความเชื่อว่าเกษตรกรกลุ่มที่ขอเช่า เป็นกลุ่มคนยากจน ไร้ที่ดินทำกินจริง และรัฐต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม
 
2. พวกเรากลุ่มเกษตรกรในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีสถานภาพไม่ต่างจากเกษตรกรทั่วประเทศที่ตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้น พวกเราจึงมีความเชื่อว่าการจัดการที่ดิน โดยใช้เงื่อนไขสิทธิของชุมชนและสังคม มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ภายใต้รูปแบบโฉนดชุมชน จะเป็นหลักประกันความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการเช่า ที่สักวันหนึ่งที่ดินอาจตกไปอยู่ในมือนายทุนอุตสาหกรรมการเกษตร ดังเช่นที่เรามีบทเรียนมาโดยตลอด
 
3. ในกรณีพื้นที่สัญญาเช่าอำเภอโนนดินแดง เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มบริษัทที่หมดอายุสัญญาเช่ายังมีความพยายามขอเช่าพื้นที่ต่อ ดังจะเห็นได้จากการผลักดันให้องค์การบริหารส่วนตำบลลำนางรอง ประชุมให้ความเห็นชอบในการจำแนกจัดสรรที่ดินให้บริษัทเช่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ ที่เหลืออีกร้อยละ 50 เป็นของเกษตรกรซึ่งมีจำนวนกว่า 10,000 ราย ( เฉลี่ยจะได้ประมาณรายละ 1 ไร่เศษ ขณะที่บริษัทรายเดียวได้ไป 16,000 ไร่ ) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในวันที่ 23 เมษายน 2552 อีกทั้ง ไม้ที่บริษัทปลูกไว้ยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก มูลค่ามหาศาล
 
4. เป็นไปได้หรือไม่ว่า มีแกนนำเกษตรกรบางกลุ่ม บางคน ทำตัวเป็นนอมินี ตัวแทน และนายหน้าของบริษัทเอกชนเหล่านี้ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์มหาศาลดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งขออนุญาตใช้ประโยชน์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หาไม่แล้ว หากรัฐบาลดำเนินนโยบายโฉนดชุมชน จะนำมาสู่การสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก
 
5. นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ในท้องที่บางคน ที่ทำตัวเลือกปฏิบัติ เห็นแก่อามิสสินจ้าง และประวัติศาสตร์ได้ยืนยันอย่างแน่ชัดว่า เขาเหล่านี้ได้อานิสงค์จากการขอเช่าที่ของเอกชนอย่างมาก ทำให้มีพื้นที่บางแปลงที่เอกชนได้ปลูกสร้างสวนป่าเกินพื้นที่สัญญาเช่าจำนวนมาก
 
6. ถึงที่สุดแล้ว หากเกษตรกรไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างแท้จริง ผืนแผ่นดินอำเภอโนนดินแดง ย่อมตกอยู่ในมือนายทุนดังเช่นที่แล้วมาอย่างแน่นอน และในวันนี้ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากลุ่มที่นั่งอยู่บนภู ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และคอยตักตวงเอาผลประโยชน์หลังลมฝนสงบลงคือ นายทุนนั่นเอง
           
พวกเรา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นการรวมตัวกันของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ให้มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง หากแต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เราขอเรียนต่อสื่อสารมวลชน หน่วยงานราชการ รัฐบาล และสาธารณชน พิจารณาแยกแยะกลุ่มฝ่ายต่างๆ ให้แน่ชัด ทั้งนี้ เพื่อดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ถูกวิธี และนำความผาสุกมาสู่เกษตรกรอย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยกันเปิดโปงโฉมหน้ากลุ่มคนบางส่วนที่หากินบนซากปรักหักพังของเกษตรกร
 
สมานฉันท์
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
9 มิถุนายน 2552
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net