สมัชชาคนจน “หัวนา-ราษีไศล” ยืนยัน อยู่ยาวจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

 

(9 มิ.ย. 2552) ศรีสะเกษ สมัชชาคน เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา ชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ตามติดการแก้ไขปัญหาของกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา และได้ข้อตกลงให้มีการประชุมแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในวันที่  11 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ยืนยันจะอยู่ที่สันเขื่อน ติดตามการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะแล้วเสร็จ
 
ความคืบหน้า การชุมนุมของสมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา ที่บริเวณสันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมบริเวณสันเขื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 6 มิถุนายน จัดเวทีให้ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนที่กำลังจะสร้างในแม่น้ำโขง โดย นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ พร้อมด้วย นางสาวสดใส สร่างโศรก นักวิชาการจากสถาบันวิจัยจุฬาฯ ตลอดจน การบอกเล่าสถานการณ์ในพื้นที่เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ของแกนนำชาวบ้านทั้งสองพื้นที่
 
 
ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน ได้มีการรณรงค์ทำความเข้าใจในหมู่บ้านรอบๆเขื่อนราษีไศลและตัวอำเภอราษีไศล นายสุข จันทร แกนนำชาวบ้านเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า “การมาชุมนุมที่สันเขื่อนเพราะปัญหาเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนายังไม่ได้รับการแก้ไข หลายรัฐบาลมาแล้วที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา อยากให้ประชาชนเข้าใจถึงความเดือดร้อนของเรา พวกเราไม่ได้มาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ซึ่งเราจะยังชุมนุมต่อเพื่อทำการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองและติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข”
 
นอกจากนี้นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มารับฟังปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณสันเขื่อน พร้อมพูดคุยพบปะเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุม
 
จากนั้น วันที่ 8 มิถุนายน กลุ่มผู้ชุมนุมทำการรณรงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความคืบหน้าของการถมลำมูนเดิมเพื่อปิดเขื่อนหัวนา การรับรองผลการตรวจสอบที่ดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้าของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการจำกัดสิทธิของประชาชนในการแก้ไขปัญหา บริเวณพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา อ.ราษีไศล และ อ.อุทุมพรพิสัย
 
นายสำราญ หอกระโทก แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า “พวกเราได้จัดขบวนรณรงค์ในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มีความเข้าใจที่ตรงกันและติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับเขื่อนหัวนา ซึ่งเป็นโครงการรัฐที่กำลังมีความเคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากให้มีการดำเนินต่อโดยที่ยังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อชาวบ้าน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ที่การศึกษาผลกระทบและการตรวจสอบทรัพย์สินยังไม่เสร็จแล้ว มาเก็บกักน้ำก่อน ทำให้ปัญหาหลายอย่างตามมา ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ค่าชดเชยจากการสร้างเขื่อนแล้วนำท่วมไร่นา สูญเสียที่ดินทำกิน และป่าสาธารณะไปเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยก่อนที่จะปิดเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำ”
 
นายแดง คาวี แกนนำชาวบ้านเขื่อนหัวนา กล่าวว่า “ที่ผ่านมา 6 วันก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร กรมชลประทานพยายามที่จะเข้ามาแบ่งแยกมวลชน ด้วยการสร้างความสับสนในการตรวจสอบที่ดินทำกินและรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามพวกเรารู้ว่าเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว เราก็เห็นทิศทางของตัวเอง เมื่อมีการชุมนุมแล้วถ้าไม่บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหา พวกเราก็จะไม่ถอย ซึ่งตอนนี้ก็กำลังเตรียมการเจรจากับสำนักงานชลประทานที่ 8 รวมทั้งเตรียมข้อมูล เตรียมเอกสาร เพื่อไปประชุมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนของรัฐบาลในวันที่ 11 มิถุนายน ที่จะถึงนี้”
 
พร้อมกันนี้ในเวลา  14.00 น. นายประดิษฐ์ โกศล ตัวแทนสมัชชาคนจน ได้อ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 “ขอให้กรมชลฯ กลับใจ เพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้าน”
 
รายละเอียดในแถลงการณ์ระบุว่า การแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ผ่านมาแล้ว  16 ปี ผ่านการบริหารงานของ 9 นายกรัฐมนตรี  10 รัฐบาล 2 หน่วยงาน แต่ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม แม้ว่าในปี พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีมีการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทั้งสองเขื่อน
 
แถลงการณ์ ระบุอีกว่า ก ร ณี เ ขื่ อ น หั ว น า มีมติให้ระงับการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเด็นที่ไม่เคยห่างหายไปจากความกังวลของชาวบ้านเลย คือ การนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยนักการเมือง ให้มีการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อบังคับน้ำให้ไหลผ่านบานประตูเขื่อนหัวนา ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบ การตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ใช้เวลา 7 ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะกรมชลฯหน่วงเหนี่ยว ไม่อยากรับรองสิทธิ์ ล่าสุดมติการประชุม 29 มกราคม 2552 ถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบิดเบือน โดยแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งกรรมการไม่ให้มีอำนาจรับรองการตรวจสอบทรัพย์สิน
 
ขณะที่ ก ร ณี ร า ษี ไ ศ ล มีมติให้เปิดประตูน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการแพร่กระจายของดินเค็ม และผลกระทบทางสังคม ตลอดจนเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดิน แต่จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้แม้แต่ประเด็นเดียว
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาค่าชดเชยที่เหลือ ได้หลักการที่ชัดเจนหมดแล้วว่า ให้ใช้มติคณะรัฐมนตรี  1 กุมภาพันธ์ 2543 ในการพิสูจน์ที่ดินทำกินและจ่ายในราคาไร่ละ 32,000 บาท แต่หลังจากนั้นกลไกการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในมือกรมชลประทาน กลับไม่ทำงาน มีการเล่นแง่หน่วงเหนี่ยวตลอดเวลา นอกจากนั้นปัญหาอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้า เช่นกรณี นานอกอ่างและการศึกษาผลกระทบ
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ ระบุทิ้งท้ายว่า สมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ได้ชุมนุมที่สันเขื่อนราษีไศลเป็นเวลา 6 วันแล้ว และขอประกาศว่า การแก้ไขปัญหาที่ยาวนาน ได้ประจักษ์แล้วว่า การบริหารของรัฐบาลโดยกรมชล ไม่มีความจริงใจ ดูถูก และตั้งใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวยืดเยื้อ ไม่แก้ไขปัญหาให้จบสักที การแก้ไขปัญหาของทั้งสองเขื่อนจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี หากกรมชลประทานกลับตัวกลับใจไม่ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระยอมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  1 กุมภาพันธ์ 2543 และมติคณะรัฐมนตรี 25 กรกฎาคม 2543 อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเคร่งครัด
 



 
 
แ ถ ล ง ก า ร ณ์ ฉ บั บ ที่ ๒
สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล – เขื่อนหัวนา
วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ณ สันเขื่อนราษีไศล
ขอให้กรมชลฯ กลับใจ เพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้าน
             
การแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ผ่านมาแล้ว ๑๖ ปี ผ่านการบริหารงานของ ๙ นายกรัฐมนตรี ๑๐ รัฐบาล ๒ หน่วยงาน แต่ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม
แม้ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีมีการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทั้งสองเขื่อน คือ
ก ร ณี เ ขื่ อ น หั ว น า มีมติให้ระงับการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเด็นที่ไม่เคยห่างหายไปจากความกังวลของชาวบ้านเลย คือ การนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยนักการเมือง ให้มีการถมลำน้ำมูนเดิม เพื่อบังคับน้ำให้ไหลผ่านบานประตูเขื่อนหัวนา ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบ
การตรวจสอบทรัพย์สินผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ใช้เวลา ๗ ปี แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะกรมชลฯหน่วงเหนี่ยว ไม่อยากรับรองสิทธิ์ ล่าสุดมติการประชุม ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ ถูกเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบิดเบือน โดยแก้ไขคำสั่งแต่งตั้งกรรมการไม่ให้มีอำนาจรับรองการตรวจสอบทรัพย์สิน
 
ก ร ณี ร า ษี ไ ศ ล มีมติให้เปิดประตูน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการแพร่กระจายของดินเค็ม และผลกระทบทางสังคม ตลอดจนเพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดิน แต่จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้แม้แต่ประเด็นเดียว
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาค่าชดเชยที่เหลือ ได้หลักการที่ชัดเจนหมดแล้วว่า ให้ใช้มติคณะรัฐมนตรี ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ในการพิสูจน์ที่ดินทำกินและจ่ายในราคาไร่ละ ๓๒,๐๐๐ บาท แต่หลังจากนั้นกลไกการแก้ปัญหา ซึ่งอยู่ในมือกรมชลประทาน กลับไม่ทำงาน มีการเล่นแง่หน่วงเหนี่ยวตลอดเวลา นอกจากนั้นปัญหาอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้า เช่นกรณี นานอกอ่างและการศึกษาผลกระทบ
 
พวกเราสมัชชาคนจน เขื่อนหัวนาและเขื่อนราษีไศล ได้ชุมนุมที่สันเขื่อนราษีไศลเป็นเวลา ๖ วันแล้ว พวกเราขอประกาศว่า
การแก้ไขปัญหาที่ยาวนาน ได้ประจักษ์แล้วว่า การบริหารของรัฐบาลโดยกรมชล ไม่มีความจริงใจ ดูถูก และตั้งใจเตะถ่วงหน่วงเหนี่ยวยืดเยื้อ ไม่แก้ไขปัญหาให้จบสักที การแก้ไขปัญหาของทั้งสองเขื่อนจะคลี่คลายไปได้ด้วยดี หากกรมชลประทานกลับตัวกลับใจไม่ตั้งตัวเป็นรัฐอิสระยอมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ และมติคณะรัฐมนตรี ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓ อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเคร่งครัด
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งสัจจะ
สมัชชาคนจน เขื่อนราษีไศล – เขื่อนหัวนา
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท