Skip to main content
sharethis


ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวง นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ปัตตานี ที่สร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 90

 

ตามถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย ช่วงรอยต่อระหว่างอำเภอสายบุรีกับอำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ดูเงียบเหงา นานๆ จะมีรถวิ่งผ่านสักคัน ชายหาดที่ดูแคบลงเพราะถูกคลื่นทะเลกันเซาะกลืนกิน เหลือระยะห่างจากทะเลถึงถนนประมาณ 5 เมตร ส่วนบ้านฝั่งติดทะเลหลายหลังก็ดูรกร้าง บางหลังถูกคลื่นไล่กัดเซาะจนถึงเสาบ้าน

ส่วนบ้านที่อยู่อีกฟากถนน ก็มีกำแพงทางมะพร้าวปิดกั้นฝุ่นทราย “เขาทำไว้ป้องกันทรายและน้ำที่พัดมาจากทะเล” หญิงสาวพื้นที่คนหนึ่ง บอก

ช่วงที่ยังอยู่ในเขตอำเภอสายบุรี ท่อซีเมนต์วางเรียงรายใกล้ๆ บ้านชาวบ้าน มีฝาปิดมิดชิด เป็นบ่อหมักบูดู อาหารขึ้นชื่อของเมืองสายบุรี ต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่หลงเหลือจากการตัดทำลาย ออกลูกสะพรั่งตลอดรายทาง

“อยากให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่นี่ เพราะลูกหลานจะได้มีงานทำ” คำของพาตีเมาะ สาแม หญิงวัยกลางคน ผู้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยอาณาบริเวณนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งดำเนินการก่อสร้างสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการเกินกว่า 90 % แล้ว

พาตีเมาะ เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ฉันกับสามีนี่แหละ ที่เป็นคนไปเจรจากับชาวบ้านให้ขายที่ดินกับบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ที่เข้าร่วมดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 

มีกำนันมะ แห่งตำบลท่าน้ำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นผู้ประสานงานการซื้อขายที่ดินทั้งหมด ตอนนี้ก็ทำงานช่วยกำนัน งานดูแลความเรียบร้อยอาณาบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของเธอและครอบครัว ก็เป็นการทำงานช่วยกำนัน

“ข่าวที่ออกมาว่าการดำเนินการตั้งนิคมอุตสาหกรรมไม่คืบหน้า ไม่เป็นความจริง เพราะฉันอยู่ตรงนี้ตลอด นิคมอุตสาหกรรมมีการดำเนินการอยู่ทุกวัน ทำถนนบ้าง เดินสายไฟฟ้าบ้าง เดินท่อส่งน้ำบ้าง แล้วแต่ว่าตรงไหนสะดวกก็ทำไปก่อน ตรงไหนไม่สะดวกก็ไปทำตรงอื่นไปพลาง” พาตีเมาะเล่า 

เมื่อถูกถามว่า ไม่กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบ้างหรือ พาตีเมาะตอบด้วยความมั่นใจว่า ไม่กลัวหรอก เพราะบ้านฉันอยู่ห่างจากโรงงานตั้งไกล บ้านฉันไม่ได้อยู่ใกล้โรงงาน

“ห่างตั้ง 1 กิโลเมตรกว่า” คำตอบที่ทำให้ทุกคนตกใจและหันไปสบตากัน ก่อนใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า นิคมอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ห่างตั้ง 30 กิโลเมตร เขายังได้รับผลกระทบเลย คำพูดนั้นพลอยทำให้พาตีเมาะมีสีหน้าตกใจไปด้วย

จะโทษพาตีเมาะก็คงไม่ถูกนัก เพราะก่อนหน้านี้ตอนปี 2547 บริษัทฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด ได้เหมาเครื่องบินยกลำนำชาวบ้านไปศึกษาดูงานเพียงแค่ครั้งเดียว ที่สหฟาร์ม จังหวัดลพบุรี  นั่นเป็นเพียงตัวอย่าง และข้อมูลข่าวสารเดียว ที่พาตีเมาะรับรู้มา 

ขณะที่ตัวสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สร้างเกือบเสร็จแล้วนั้น ยังมีชาวบ้านอีกหลายคน ยังไม่ยินยอมขายที่ดิน

“ถ้าเริ่มกว้านซื้อเลย ตั้งแต่ตอนมีโครงการใหม่ๆ ชาวบ้านยังไม่ทันตั้งตัว ผมคิดว่าซื้อได้หมดตามที่ต้องการ 900 กว่าไร่ แต่พอชักช้าหลายคนก็เปลี่ยนใจ ไม่รู้ว่าเปลี่ยนใจไม่ขายจริงๆ หรือเปลี่ยนใจเพื่อโก่งราคา ที่ดินที่พร้อมจะนำไปพัฒนาเป็นนคมอุตสาหกรรมได้ตอนนี้เลย ผมคิดว่าน่าจะไม่เกินร้อยกว่าไร่” เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโครงการ  ถึงกระนั้น ชาวบ้านที่ปฏิเสธไม่ขายที่ดิน ก็ยังถูกบังคับให้ขาย ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีกรณีบุคคลภายนอก เข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทำกินกันมากว่า 50 ปีแล้วอีกต่างหาก

“ผมทำเกษตรมากว่า 50 ปีแล้ว เสียภาษีมาตลอด อยู่ดีๆ มีคนจากบ้านคอกควาย อำเภอปะนาเระ ชื่อครูพิชิตมาอ้างว่า ที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของพ่อ แต่เขาไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน หลังจากเจรจาทางอำเภอเลยตัดสินให้ผมแบ่งให้ครูพิชิต 3 ไร่ คนที่มีปัญหาเหมือนผมมี 7 คน ครูพิชิตเลยได้ที่ดินจากแต่ละเจ้าของรายละ 3 ไร่ รวมทั้งหมด 21 ไร่ นำไปขายต่อให้บริษัทดำรงฯ เรียบร้อยแล้ว” ภาษามลายูถิ่นที่ถูกแปลเรียบร้อยแล้ว ออกจากปากของชายชราผู้ได้รับผลกระทบ และไม่ประสงค์ออกนาม 

ชายชราผู้นี้ บอกว่าบริษัทดำรงฯ ยังคงบังคับให้ขายที่ดินที่เหลืออีก 7 ครั้ง จนต้องยืนยันต่อหน้านายอำเภอว่า ยังไงก็ไม่ขาย

พอบอกว่าไม่ขาย นายอำเภอเลยเสนอแลกกับที่ดินแปลงใหม่บนภูเขา ชายชรายังคงยืนกรานปฏิเสธ  ทว่า บริษัทดำรงฯ ยังยืนยันจะเอาให้ได้ และบอกกับชาวบ้านต่อหน้านายอำเภอว่า จะเจรจากับชาวบ้านเอง ไม่ผ่านนายหน้าอีกต่อไป

“เคยมีคนมาขู่ด้วย ว่าให้ขายที่เพราะคนอื่นๆ เขาขายหมดแล้ว” ชายชราเสริม พร้อมบอกว่า “แต่ตอนนี้คนที่มาขู่โดนยิงตายไปแล้ว”
 
“ขณะที่บริษัทฟาตอนี อินดัสทรีส์ จำกัด เริ่มขยายพื้นที่ตัดถนนแล้ว เจ้าของที่ดินจำนวนมากก็ยังไม่ทราบว่า เริ่มมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ กันแล้ว” ชาวบ้านคนหนึ่งเสริม 

ชายชราคนเดิมบอกว่า เราก็ไม่รู้ว่า เขาเอาไปออกโฉนดที่ดินได้อย่างไร แม้แต่ตอนที่ครูพิชิตอ้างเอกสารสิทธิ์เอาที่ดินจากชายชรา ครูพิชิตก็ยังไม่รู้ว่าที่ดินอยู่ตรงไหน

“ไม่รู้ว่าออกโฉนดกันจริงหรือเปล่า เพราะตอนที่เขามาอ้างสิทธิ์นั้น เราก็ไม่ได้เห็นโฉนด เราเลยยังทำมาหากินกันอยู่ที่เดิม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าที่ดินตรงไหนที่เขาเอาขายบริษัทฯ แล้ว” 

จากการขับรถวนดูรอบๆ พบว่า มีการเดินสายเสาไฟฟ้าแรงสูงเรียบร้อยแล้ว ถนนสี่เลนที่จะเชื่อมกับถนนสายหลักอยู่ระหว่างเกลี่ยพื้นที่ และท่อส่งน้ำขนาดใหญ่สีดำที่น่าจะสูบน้ำมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ก็ต่อท่อตรงเชื่อมกับแม่น้ำสายบุรีเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

แน่นอน เมื่อดูขนาดท่อแล้ว น่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำ และต่อสัตว์น้ำในแม่น้ำแห่งนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้เลย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net