Skip to main content
sharethis

 

(Irrawaddy 10 มิ.ย.52) สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือ ดีเคบีเอ โดยมีกองทัพพม่าหนุนหลัง กับกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ หรือ เคเอ็นแอลเอ ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้ลี้ภัยเข้ามายังฝั่งไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกว่า 6,000 คนจากอำเภอพะอัน รัฐกะเหรี่ยงหนีภัยสงครามเข้ามายัง อ.ท่าสองยาง จ.ตากตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และบางส่วนกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นได้คลอดบุตรในวัดหลังจากเดินทางมาถึงฝั่งไทยได้ไม่นาน

นายซอลาทุน ผู้อำนวยการองค์กรเยาวชนกะเหรี่ยง (Karen Youth Organization) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเปิดเผยว่า ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกหนักและต้องเดินทางเพื่อหนีมายังประเทศไทยโดยไม่มีที่พัก ทำให้เด็กและผู้หญิงเป็นจำนวนมากป่วยเป็นโรคมาเลเรีย อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (Karen Refugee Committee) และสมาคมชายแดนไทย – พม่า (Thailand Burma Border Consortium) เป็นต้น

นางนอคีลาวัย 35 ปี ที่หนีมายังฝั่งไทยเปิดเผยว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันเห็นพวกทหารพม่า ฉันรู้สึกทั้งกลัวและเกลียด พวกเขาไร้หัวใจ” เธอยังเล่าอีกว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านของเธอเกือบทั้งหมดตัดสินใจหนีเข้าไทยทันทีหลังกองทัพพม่าและดีเคบีเอใช้ปืนครกยิงถล่มหมู่บ้าน โดยระบุว่า ชาวบ้านจะถูกทหารพม่าและดีเคบีเอจับไปเป็นลูกหาบและค้นหากับระเบิดหากไม่หนีเข้ามายังประเทศไทย

“หากพวกทหารพม่าและทหารดีเคบีเอไม่ใช้ปืนครกยิงถล่มหมู่บ้านของเรา เราเองก็คงจะยังอยู่ที่นั่น และพวกเราก็คงถูกจับให้ไปเป็นลูกหาบและค้นหาระเบิดให้กับพวกทหารพม่าและดีเคบีเอ”

มีรายงานว่า ดีเคบีเอร่วมกับกองทัพพม่าจะโจมตีพื้นที่ควบคุมของกำลังเคเอ็นแอลเอ กองพล 7 ไปจนกว่าจะสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งภารกิจครั้งนี้อาจต้องสูญเสียกำลังทหารถึง 500 นาย ทั้งนี้ การโจมตีหลายครั้งที่เพิ่งผ่านไป ทหารพม่าได้สนธิกำลังกับดีเคบีเอโดยมีกำลังพลถึง 9,000 นาย

ขณะที่วัยรุ่นในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้รวมตัวกันเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในค่าย หลังมีข่าวลือว่ากองทัพพม่าและดีเคบีเอเตรียมเข้าโจมตีในพื้นที่ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าว

ทั้งนี้ กองกำลังดีเคบีเอได้แยกตัวออกจากเคเอ็นยูเมื่อปี 2538 และทำสัญญาหยุดยิงร่วมกับรัฐบาลพม่าในเวลาต่อมา โดยดีเคบีเอได้ร่วมกับกองทัพพม่าโจมตีกองพลที่ 7 ของเคเอ็นแอลเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเคเอ็นยูตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้มีรายงานว่า ทหารจากดีเคบีเอและกองทัพพม่าเสียชีวิตจากการสู้รบครั้งนี้ไปแล้วกว่า 20 นาย ขณะที่ไม่มีรายงานการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกองกำลังเคเอ็นแอลเอแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้เคเอ็นยูได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีหมูบ้านกะเหรี่ยงของกองทัพพม่า ที่ต้องการกำจัดชาวกะเหรี่ยง พร้อมระบุว่า การดึงดีเคบีเอเข้าเป็นทหารรักษาชายแดนภายใต้การนำของกระทรวงกลาโหมของพม่า ถือเป็นการทำให้ดีเคบีเอกลายเป็นทาสรับใช้กองทัพพม่า

นางซิปโปรา เส่ง เลขาธิการสหชนชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู ชี้ว่า การโจมตีของกองทัพพม่าแสดงให้เห็นว่า กองทัพพม่าไม่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและเคเอ็นยูรวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้วยสันติวิธี นอกจากนี้ยังใช้ดีเคบีเอเป็นเครื่องมือทำร้ายชาวกะเหรี่ยงด้วยกันเอง โดยเธอยังได้เรียกร้องให้ดีเคบีเอทบทวนบทบาทของตัวเองด้วย

นาย William Spindler โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวรายงานในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะร่วมมือกับทางการไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรายใหม่ที่เดินทางเข้าไทย ซึ่งคาดว่ามีจำนวนอยู่ระหว่าง 2,000 – 6,400 คน

ด้านผู้ลี้ภัยเองเปิดเผยว่า พวกเขาต้องการอยู่ในพื้นที่ที่ใกล้กับหมู่บ้านของพวกเขาในฝั่งพม่ามากที่สุด เพื่อจะได้เดินทางกลับบ้านได้ทันทีเมื่อสงครามสงบ “พวกเราไม่ต้องการเห็นการสู้รบ และต้องการที่จะอยู่อย่างสงบในบ้านของเรา” นางนอคีลากล่าวทิ้งท้าย

 

 

โกกั้งปฏิเสธเข้าร่วมทหารชายแดนภายใต้กองทัพพม่า
กองกำลังโกกั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อเสนอในการเข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดนภายใต้การนำของกองทัพพม่า

(Irrawaddy 8 มิ.ย.52) ผู้นำกองทัพพันธมิตรเพื่อเอกราชชาติพันธุ์ในสหภาพพม่า (MNDDA) หรือ กลุ่มโกกั้ง ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐฉานใกล้ชายแดนจีน ได้บอกกับพลโทเยมิ้น ฝ่ายเจรจาจากกองทัพพม่าว่า กลุ่มโกกั้งยังไม่พร้อมที่จะวางอาวุธและเข้าร่วมกองกำลังรักษาชายแดนภายใต้การนำของกองทัพพม่าในขณะนี้ โดยจะตัดสินใจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2010 และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วเสร็จ

ขณะที่รัฐบาลพม่ายังคงเดินหน้ากดดันกลุ่มหยุดยิงกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานที่มั่นอยู่ใกล้กับชายแดนจีน – พม่า อย่างเช่น กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กองกำลังคะฉิ่นอิสระ (KIA) และกลุ่มโกกั้ง (MNDDA) เป็นต้น

ด้านกองทัพว้าได้ออกมาปฏิเสธตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะไม่อยู่ภายใต้การนำของกองทัพพม่า

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในพื้นที่ชายแดน-พม่า-ชี้ว่า การปฏิเสธของกองทัพสหรัฐว้าและโกกั้งจะไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดรุนแรงจนนำไปสู่การเผชิญหน้ากับกองทัพพม่า เนื่องจากในขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังเผชิญกับการกดดันอย่างหนักจากนานาชาติต่อการพิจารณาคดีนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มติดอาวุธทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามากกว่า 17 กลุ่ม โดยกองทัพสหรัฐว้าเป็นกลุ่มหยุดยิงกลุ่มใหญ่ที่สุด มีกำลังพลมากกว่า 20, 000 นาย ขณะที่กลุ่มหยุดยิงเมืองลาหรือ NDAA มีกำลังพล 1,200 นาย ส่วนกลุ่มโกกั้งมีกำลังพล 600 นาย

 

ทหารพม่ายิงชาวประมงบังกลาเทศเจ็บ 6
กองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนของบังกลาเทศส่งจดหมายโจมตีรัฐบาลพม่า หลังทหารพม่ายิงชาวประมงบังกลาเทศ บาดเจ็บจำนวน 6 คน

(DVB) นายไค เพร เต่ง (Khaing Pray Thein) ซึ่งเป็นชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศเปิดเผยกับสำนักข่าวดีวีบีว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา เรือลาดตระเวนชายฝั่งของกองทัพพม่าเปิดฉากยิงใส่เรือประมงของชาวบังกลาเทศจำนวน 3 ลำที่จอดเทียบท่าใกล้กับแม่น้ำนาฟ(Naff) ซึ่งมีลูกเรือชาวบังกลาเทศจำนวน 11 คน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 คน หนึ่งในจำนวนนั้นอยู่ในอาการโคม่า โดยทหารพม่าได้เข้ายึดเรือจำนวน 2 ลำและปล่อยตัวชาวประมงไปกับเรือที่เหลือหนึ่งลำ

ด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายแดนบังกลาเทศได้ส่งจดหมายโจมตีการกระทำของทหารพม่าในครั้งนี้ทันที แต่ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากทางการพม่า และยังไม่ได้คืนเรือให้กับชาวประมงแต่อย่างใด โดยนายไค เพร เต่งกล่าวว่า เรือของบังกลาเทศทั้ง 3 ลำได้รุกล้ำเข้าไปจับปลาในเขตน่านน้ำของพม่า

เหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในครั้งนั้นมีชาวประมงบังกลาเทศเสียชีวิต 1 คน โดยความตึงเครียดระหว่างสองประเทศได้ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้ว หลังทางการพม่าและทางการบังกลาเทศต่างอ้างสิทธิ์ในเขตน่านน้ำในอ่าวเบงกอลซึ่งทับซ้อนกันอยู่ ตามมาด้วยการเพิ่มกำลังทหารและอาวุธหนักเพื่อเผชิญหน้ากันบริเวณชายแดนพม่า – บังกลาเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการพม่าต้องระงับโครงการก่อสร้างรั้วกั้นระหว่างชายแดนบังกลาเทศ – พม่าไว้ชั่วคราว หลังทางการบังกลาเทศร้องเรียนว่าก่อสร้างประชิดชายแดนมากเกินไป นอกจากนี้ ชาวบ้านในฝั่งพม่าเปิดเผยว่า หากมีการกั้นรั้วระหว่างชายแดนพม่า – บังกลาเทศเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในฝั่งพม่าที่เดินทางไปรักษาตัวและซื้ออาหารจากฝั่งบังกลาเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net