Skip to main content
sharethis

คนเชียงใหม่เตรียมถกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ‘ฟื้นฟูประตูเมือง เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่’ เชิญผู้เชี่ยวชาญรื้อประเด็นประตูเมืองและกำแพงเมือง เชิญทุกฝ่ายร่วมหาทางออกและฟื้นฟูก่อนจะเสียหายหนัก ย้ำต้องร่วมกันสร้างสังคมเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสังคมแห่งปัญญาอย่างแท้จริง

12 มิ.ย. 52 - ศ. เฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ ในฐานะคณะทำงานจัดงานเสวนาวิชาการเรื่องฟื้นฟูประตูเมือง เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า องค์กรภาคเอกชนในเมืองเชียงใหม่ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ และกลุ่ม Lanna Watch เล็งเห็นว่า เขตโบราณสถานคูเมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่สำคัญต่อทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี การท่องเที่ยว และทั้งยังความเชื่อและเป็นจิตวิญญาณของชาวเมือง การพัฒนาหรือดำเนินการใด ๆ ในเขตดังกล่าวมีความละเอียดอ่อนและจะมีผลต่อภาพรวมของเมือง ดังเช่นที่เคยมีการคัดค้านการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ใกล้เคียงกับเขตคูเมืองมาแล้ว
กรณีกำแพงเมือง และประตูเมืองเชียงใหม่เคยเป็นจุดสนใจจากสังคมมาแล้วหลายครั้งเช่น ระหว่างปี 2542-2549 มีการคัดค้านการสร้างน้ำพุที่ปากประตูช้างเผือก จนที่สุดต้องรื้อย้ายน้ำพุดังกล่าวออกไป กรณีน้ำพุดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “ขึด” ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าหากมีการ “ถมสมุทร ขุดกระแส แหม่รู(ท)วาร ฮานสลี” ถือเป็นขึดหลวง หรืออาเพศที่ร้ายแรงต่อเมือง การสร้างน้ำพุ ณ จุดดังกล่าวตรงกับขึดหลวงเรื่อง แหม่รู(ท)วาร ก็คือไปปิดทางเข้าออกสำคัญ เพราะประตูช้างเผือกเป็นประตูทิศเหนือตรงกับทิศ “เดช” ในตำราทักษาเมือง การเข้าออกเมืองระหว่างพิธีสำคัญของท้าวพระยามหากษัตริย์ในยุคก่อนต้องเข้าออกทางประตูด้านนี้เพื่อเป็นสิริมงคล ดังนั้นการเอาน้ำพุปิดปากประตูเมืองทำให้บ้านเมืองเกิดอาเพศ ตรงกันข้ามกับสวัสดิมงคล
นอกจากเรื่องน้ำพุช้างเผือกที่จบสิ้นลงแล้วด้วยดี ระยะที่ผ่านมาได้เกิดความเห็นแย้งการพัฒนาประตูเมือง และกำแพงเมืองอีกครั้ง โดยทางกรมศิลปากรได้พบหลักฐานภาพถ่ายว่าประตูเมืองช้างเผือกก่อสร้างเป็นประตู 2 ชั้น มีที่โล่งตรงกลางระหว่างประตูชั้นหนึ่งกับสอง จึงมีโครงการขุดค้นหาหลักฐานเพื่อยืนยันหลักฐานภาพถ่ายแต่ทว่าการขุดค้นยังไม่ครบถ้วนต้องหยุดไปเนื่องจากมีกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ระงับการดำเนินการใด ๆ บนพื้นที่ดังกล่าวรวมถึงมีการปลูกสร้างอาคารขึ้นมาบนพื้นที่ปากประตูด้วย
กรณีการสร้างอาคารชั่วคราวขึ้นมาดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร นอกจากนั้นยังมีกลุ่มประชาชนยื่นหนังสืออีกฉบับเพื่อขออนุญาตทำลานสาธารณะ หรือ ข่วงบริเวณปากประตูเมืองพร้อมกันด้วย โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาขออนุญาตเช่นเดียวกัน
องค์กรประชาชนที่ร่วมกันจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ หาได้ต้องการแสดงความเห็นแย้ง หรือคัดค้านใด ๆ ต่อการยื่นขออนุญาตจากกลุ่มประชาชนที่กำลังดำเนินการอยู่ เพียงแต่เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมเชียงใหม่โดยรวมน่าจะรับรู้ ได้ร่วมกันศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการตัดสินใจให้ครบถ้วนที่สุด เพราะกำแพงเมืองและประตูเมืองด้านทิศเหนือ เป็นพื้นที่สำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวและเป็นจิตวิญญาณของเมือง ดังนั้นหากภาครัฐหรือกลุ่มเอกชนจะดำเนินการใด ๆ น่าจะเปิดกว้างให้มีกระบวนการรับรู้และมีส่วนร่วอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมทำ ระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวในตอนท้ายว่า การเสวนาครั้งนี้ จะเน้นไปที่การเชิญวิทยากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญกับประเด็นประตูเมืองและกำแพงเมืองโดยตรง และคิดว่าจะเป็นพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการร่วมกันสร้างสังคมเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสังคมแห่งปัญญาอย่างแท้จริง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมงานเสวนาวิชาการ เพื่อความรู้ ความเข้าใจ เรื่องประตูเมือง และ กำแพงเมืองเชียงใหม่ กรณี ประตูช้างเผือก ร่วมรับฟังข้อมูลวิชาการจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อจะร่วมกันคิดและกำหนดทิศทางของประตูสำคัญที่ได้รับการยกเป็นประตูหัวเวียง ว่าควรจะเป็นเช่นไร

 
เสวนาเชิงวิชาการ “ฟื้นฟูประตูเมือง เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่”
 
เสาร์ 13 มิถุนายน 2552
 
เวลา 13.00-17.00 น ณ ห้องประชุม คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ (เชิงสะพานนวรัฐ)
จัดโดย องค์กรภาคประชาชนเชียงใหม่ : ชมรมจักรยานวันอาทิตย์ ภาคีคนฮักเจียงใหม่ กป.อพช.(เหนือ) และกลุ่ม Lanna Watch
 
13.30 น. พิธีเปิด
 
13.45 น. บรรยายเรื่อง“หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประตูช้างเผือก:ทำไมต้อง 2 ชั้น ?”
                        โดย คุณ ไกรสิน อุ่นใจจินต์ นักวิชาการโบราณคดี กรมศิลปากร
 
14.45 น. พัก ของว่าง
 
15.00 น. บรรยายเรื่อง “ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ประตูช้างเผือกในฐานะประตูหัวเวียง
                        โดย อ.เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาคดี
 
16.00 น. แลกเปลี่ยน ซักถาม
                        ดำเนินการโดย อ.ลัดดาวัลย์ อินทจักร คณะการสื่อสารมวลชน ม.ช.
 
17.00 น. ปิดการเสวนา
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net