Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“...ขอพระเจ้าได้โปรดอภัยโทษและประทานสรวงสวรรค์แก่เหล่าชาฮีดอัลฟุรกอน
ขอพระเจ้าได้โปรดอภัยโทษและประทานสรวงสวรรค์แก่เหล่าชาฮีดอัลฟุรกอน
ขอพระเจ้าได้โปรดอภัยโทษและประทานสรวงสวรรค์แก่เหล่าชาฮีดอัลฟุรกอน...
 
คือส่วนหนึ่งของดูอา(ขอพร) ในคุตบะห์(การบรรยายธรรม) ในช่วงการละหมาดวันศุกร์ของชาวมุลิมที่มัสยิดใหญ่ๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คอตีบ หรือ ผู้บรรยายธรรมกล่าวย้ำถึง 3 ครั้ง ให้ผู้เข้าร่วมพิธีละหมาดเกือบพันคนที่นั่งฟังอย่างเงียบสงบภายในมัสยิดจนล้นออกมาตรงลานด้านหน้าและด้านข้าง
 
โดยเป็นชาฮีด ในความหมายว่าผู้พลีชีพในการต่อสู้เพื่อศาสนา คำนี้ดูจะเป็นคำแสลงเอามากๆ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งในทางศาสนา
 
แต่หลังเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกเข้ากราดยิงชาวบ้านที่กำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 11 คน บาดเจ็บไปอีก 12 คน เมื่อค่ำวันที่ 8 มิถุนายน 2552
 
ที่ล่วงไปจนถึงวันศุกร์ล่าสุด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงการรับรู้ของมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่น่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ ถูกสะท้อนออกมาผ่านพิธีกรรมดังกล่าวแล้ว พร้อมกับปรากฏเป็นเสียงสะท้อนว่าเหตุการณ์อัลฟุรกอน น้องๆ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
 
ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุคนร้ายยิงครูไทยพุทธ 2 คนเสียชีวิตก่อนหน้านั้นเพียง 2 – 3 วัน โดยหนึ่งในนั้นเป็นครูสตรีที่กำลังตั้งท้อง 8 เดือน ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้คนไทยไม่แพ้อีกหลายๆ เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา
 
หลังเหตุการณ์ที่มัสยิดอัลฟุกอน ก็ปรากฏตามมาด้วยคำเตือนถึงการล้างแค้นและให้ระวังถึงการปลุกกระแสให้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 2 – 3 ก็เกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงคนงานสาวเสียชีวิต พร้อมกับทิ้งใบปลิวที่ระบุว่าเป็นการล้างแค้น ตามมาด้วยเหตุยิงพระสงฆ์ขณะออกบิณฑบาตในพื้นที่จังหวัดยะลา
 
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเร่งให้ความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ต้องเร่งจับตัวผู้ก่อเหตุมาให้ได้ รวมทั้งเหตุการณ์ลอบยิงครู ยิงชาวบ้าน ยิงพระรวมทั้งเหตุการณ์อื่นๆที่เกิดขึ้น
 
คำว่า “อัลฟุรกอน” ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับ โดยในหนังสือ “ตัฟฮีมุลกุรอาน” ความหมาย คำภีร์อัล – กุอาน” เล่มที่ 4 เมาลานา ซัยยิต อบุล อะลา เมาดูดี สถาปนิกและผู้นำชั้นแนวหน้าของขบวนการฟื้นฟูอิสลามยุคปัจจุบัน ได้อรรถาธิบายคำนี้ไว้ ซึ่งแปลโดยนายบรรจง บินกาซัน ตีดพิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2543 หน้า 1654 ว่า
 
หมายถึง “เกณฑ์ตัดสิน” หรือ “เครื่องจำแนกแยกแยะ” โดยคำภีร์อัล – กุรอาน ก็ถูกเรียกว่า อัลฟุรกอน เพราะมันเป็นเกณฑ์สำหรับตัดสินความถูกต้องและความผิด ความดีและความชั่ว สัจธรรมและความเท็จ
 
ดูเหมือนว่า คนกลุ่มใหญ่ในชายแดนภาคใต้ จะแยกแยะและปักใจเชื่ออะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นใน “อัลฟุรกอน” ไปแล้ว รัฐจะแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net