Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เด็กหญิงม่วง เด็กหญิงธิ๋ง ธิ๋ง และเด็กชายป่าไม้ จ๋า”

ลองเงี่ยหูฟังดูซิ ! ได้ยินไหมเสียงปี่เขาควายที่โหยหวน เสียงฆ้องกบ เสียงพรึบพรับ พรึบพรับ ของจังหวะเท้าขบวนคนไม่ยอมจำนน วันนี้แล้วซินะ บทเพลงของแอ้โด๊ะฉิได้ถูกบรรเลงขึ้นกลางเมืองหลวงล้านนา พร้อม ๆ กับเรื่องเล่าของเขาและผองเพื่อนจะถูกถ่ายทอดจากแผ่นฟิล์มสู่สายตาทุกคู่ในงานนี้
พวกหนูยังจำเพื่อน ๆ ของแอ้โด๊ะฉิ ได้ไหม ? ปีที่แล้วทีมงานต้องข้ามน้ำ ข้ามฟ้า ไปถึงฝั่งโน้น ไปนั่งฟัง
เด็ก ๆ เหล่านี้เล่าเรื่องราวชีวิต จนกลายมาเป็นมหากาพย์ชีวิตคนสองแผ่นดิน การต่อสู้ของคนตัวเล็ก ๆ จากดินแดนที่โลกหลงลืม แต่วันนี้เด็ก ๆเหล่านี้เพิ่งข้ามน้ำเมยมาลี้ภัยในประเทศไทย พวกเขากำลังหลบหนีภัยสงครามการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าร่วมด้วยกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (ดีเคบีเอ) กับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกจ๊ะ และก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ชะตากรรมชีวิตในเงื้อมือสงคราม เกิดขึ้นมานานแล้ว
ที่ฝั่งโน้น ตะวันออก ประเทศพม่า: ทหารพม่ากำลังดำเนินการกวาดล้างไม่ให้ชาวบ้านที่ถูกเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อยที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล” อยู่บ้านตนเอง ทหารพม่าจะบังคับให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่จัดให้ เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งเสบียงให้กับกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่างๆ รวมถึงลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ พวกเขาต้องละทิ้งไร่นา ไม่สามารถกลับไปที่อยู่ชุมชนเดิมหรือกลับไปทำการเกษตรได้อีกต่อไป ถ้าใครไม่ยอมไป หรือหนีไม่ทัน พวกเขาจะถูกทหารบังคับให้เป็นแรงงานในกองทัพ ทั้งหาบกระสุน เสบียง รวมทั้งทำหน้าที่เป็น "โล่มนุษย์" ยามมีการสู้รบกับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ความกดดันและชีวิตที่ยากลำบากต่างๆ โถมทับมาสู่ชาวบ้านยาวนาน ความบีบคั้นที่เผชิญทุกวี่วัน ในที่สุดกลายเป็นระลอกคลื่นของชาวบ้านที่อพยพหนีออกนอกประเทศ เพื่อไปให้พ้นจากการถูกทำร้ายและเผชิญกับความลำบากที่ตนเองไม่ได้ก่อ
ที่ฝั่งนี้ ตะวันตก ประเทศไทย : ชาวบ้านที่หลบหนีภัยสงครามเข้ามา จะถูกเรียกว่า “ผู้ลี้ภัย” แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ลี้ภัยในค่าย และ อีกกลุ่ม คือ ผู้ลี้ภัยนอกค่าย ความต่างของชาวบ้าน 2 กลุ่มนี้คือ ถ้าเป็นชาวบ้านกะเหรี่ยงหรือกะเรนนี พวกเขาจะสามารถอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่รัฐบาลไทยจัดไว้ให้ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านไทใหญ่ ปะโอ จะเป็นกลุ่มที่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับว่าเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่หลบหนีภัยสงครามเหมือนกับกลุ่มแรก จะสะกัดกั้น ผลักดันกลับ กดดันให้สภาพความเป็นอยู่มีความยากลำบาก ซึ่งผลักดันให้พวกเขาต้องกลายไปเป็นแรงงานข้ามชาติ ทั้งๆที่พวกเขาก็ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้เช่นเดียวกัน
ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งแรกในประเทศไทยถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2527 เมื่อมีผู้ลี้ภัยประมาณ 9,000 คนเข้ามาในประเทศไทย ในปัจจุบัน พฤษภาคม 2552 มีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าอย่างน้อย 116,478 คน (หญิง 57,524
ชาย 58,954) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน (ค่ายกะเรนนี) ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี (ค่ายกะเหรี่ยง) นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยอื่นๆ มากกว่า 200,000 คน เช่น ชาวไทใหญ่ ปะโอ โรฮิงญา กำลังอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
เนื่องจากพื้นที่ของค่ายผู้ลี้ภัยได้ถูกกำหนดอาณาเขตอย่างแน่นอน แต่สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่ายังเลวร้ายลงเรื่อยๆ จึงมีผู้เดินทางขอลี้ภัยรายใหม่เดินทางมายังค่ายอยู่เสมอ ทำให้เกิดปัญหาสภาพบ้านเรือนที่แออัด เกิดการขาดแคลนน้ำ อาหาร ผู้ลี้ภัยบางคนที่เติบโตหรืออาศัยอยู่ในค่ายมายาวนาน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของที่กดดัน ผลักดันให้เกิดปัญหาด้านสังคมติดตามมาบ่อยครั้ง เช่น การดื่มสุรา ยาเสพติด ความรุนแรงและอาชญากรรม แต่ปัญหาใหญ่สุด คือ ปัญหาด้านความคุ้มครองและความปลอดภัย ผู้หญิงและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ซึ่งกลไกระบบความยุติธรรมในค่ายยังทำงานไม่เป็นผลพอที่จะคุ้มครองเหยื่อและดำเนินคดีเอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้
นอกจากนั้นเมื่อผู้ลี้ภัยถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่เพียงเฉพาะในค่าย ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านเครื่องอุปโภคจากภายนอก เช่น เชื้อเพลิงหุงต้ม เตาไฟ เสื้อผ้า ผ้าห่ม มุ้ง เสื่อ เป็นต้น ในปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชน 20 องค์กร ซึ่งรวมตัวกันเป็น คณะกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (CCSDPT) ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ภายใต้ข้อตกลงกับกระทรวงมหาดไทย
คน ไทยโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า รัฐบาลไทยจะต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ผู้ลี้ภัยคือภาระ คือรายจ่ายที่คนไทยต้องร่วมแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว CCSDPT และ UNHCR เป็นคนสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ลี้ภัย ประเทศไทยเป็นเพียงการให้พื้นที่ที่จำกัดในการพักพิงเพียงเท่านั้น ปีหนึ่งๆ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยใช้เงินในการดูแลผู้ลี้ภัยในค่าย 9 แห่ง อย่างน้อย 2,000 ล้านบาท เงินที่องค์กรเหล่านี้นำมาใช้จ่ายมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
ที่แย่ไปกว่านั้น ! ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไม่สามารถกลับบ้านได้ แม้ว่าสงครามจะสงบแล้วก็ตาม รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อยต่างๆ เป็นคนของประเทศตนเอง เนื่องจากการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศนั้น จะต้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาในค่ายจำนวนมาก
ทำให้ไม่มีหลักฐานแสดงได้ว่าเป็นประชาชนของประเทศพม่า และรัฐบาลพม่าเองก็ไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นมาใหม่ว่าเป็นพลเมืองของตน
ที่น้าเล่ามา นี่เป็นแค่น้ำจิ้มนะคะ เรื่องเล่าชีวิตแบบนี้เล่ากี่วันก็ไม่จบสิ้น ตราบใดที่รัฐบาลพม่ายังใช้ความรุนแรงกระทำต่อชาวบ้าน ต่อประชาชนในประเทศตนเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ความลำบาก ความทุกข์ทรมาน ความไม่มั่งคงปลอดภัย ที่เกิดขึ้น และความตาย
ใครล่ะ ! จะกล้าใช้ชีวิตอยู่บ้านตนเอง
“น้าป่าน”
13 มิ.ย. 52
 

 
จากจดหมายข่าวศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ฉบับพิเศษ จัดทำขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล “บินข้ามลวดหนาม” ตอน 2 เชียงใหม่ ฉบับที่ 1: 13 มิถุนายน 52 วันเปิดงานเทศกาลบินข้ามลวดหนาม ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ พรสุข เกิดสว่าง, อดิศร เกิดมงคล, บัณฑิต แป้นวิเศษ และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ พวกเราเชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา” ติดต่อเรา: crossborder.newsagency@gmail.com
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net