Skip to main content
sharethis

  

 
เมืองมาลัง ประเทศอินโดนีเชีย - สิตี หญิงวัยกลางคน ยังชีพด้วยการรับงานมาทำที่บ้าน เธอกำลังง่วนอยู่กับการถักตาข่ายพันรอบลูกแบทมินตันอยู่ ด้วยสองมือ ที่ทำงานอย่างคล่องแคล่ว และอย่างชำนิชำนาญ ท่ามกลางคนงานหญิงคนอื่นๆ ที่มาทำงานที่บ้านของเธอ
 
แม้ว่าตอนนี้ เวลาย่ำ่บ่ายแก่ๆ แล้ว แต่ดวงอาทิตย์ยังคงแผดแสงจ้าลอดผ่านเข้ามาในบ้าน ที่หมู่บ้านอาร์โจซารี ในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้าน ต่างใช้บ้านตัวเองเป็นโรงงานผลิตลูกแบทมินตัน พวกเขาดูเหน็ดเหนื่อย แต่ก็ยังคงพยายามทำงาน เพื่อให้ได้ผลผลิต ตรงกับจำนวนออเดอร์ที่สั่งมา
 
สิตี เป็นหนึ่งในคนที่ทำงานอยู่กับบ้าน โดยก่อนหน้านี้ จะรับงานผลิตจากโรงงานมาทำที่บ้าน และส่งขายโรงงานโดยตรง แต่เมื่อไม่นานมานี้ เธอผันตัวเองมาเป็น "นายจ้างของตนเอง" (Self-employment) เธอจัดให้ที่บ้านเป็นโรงงานขนาดเล็ก และ เป็นที่ซึ่งเพื่อนบ้านจะมาทำงานร่วมกับเธอ เพื่อผลิตสินค้าขาย ให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือขายตรงไปยังร้านค้าต่างๆ ซึ่งสิตีจ่ายค่าจ้างตามสัดส่วนหน้าที่ของแต่ละคน
 
เธอมีปัจจัยการผลิตสำคัญเตรียมพร้อมไว้ทุกอย่าง ทั้งเครื่องมือและวัตถุดิบสำหรับผลิตลูกแบทมินตัน มีเครื่องจักรที่ใช้ตัดแต่ง มีขนนกเทียมที่เธอบอกว่านำเข้ามาจากไต้หวัน นอกจากนี้ยังมี กระดาษ กาว กรรไกร และวัสดุอื่นๆ ที่จำเป็น
 
พื้นที่ในทุกห้อง ทุกมุมของบ้านจะถูกจัดให้เป็นสถานที่ผลิตลูกแบทมินตัน โดยแบ่งกันไปตามขั้นตอนการผลิต แม้ว่าบ้านจะมีขนาดจำกัด แต่มันก็ยังใช้เป็นโรงงานขนาดย่อมที่มีคนสัก 4-6 คน ทำงานอยู่ภายใต้แสง (ที่เล็ดลอดเข้ามา) ของดวงอาทิตย์ และแสงจากหลอดไฟเล็กๆ
 
"พวกเราขายผลิตภัณฑ์ให้กับร้านค้าปลีก ซึ่งให้ราคาดีกว่าบริษัท (โรงงาน) เช่น สปอร์ตคลับ ร้านขายเครื่องกีฬา และร้านเครื่องเขียน แต่หากว่ามันขายไม่ได้ ทางร้านก็จะจัดส่งคืนมาโดยไม่ต้องมีค่าตอบแทนให้พวกเรา แต่ถ้าพวกเขาขายได้พวกเขาก็จะจ่ายค่าตอบแทน นอกจากนี้เรายังขายให้กับใครก็ตามที่มาซื้อผลิตภัณฑ์ที่บ้านเราด้วย" สิตีกล่าว
 
ในเขตเดียวกันยังมีบ้านเป็นถูกทำให้เป็นเสมือนโรงงานอยู่รอบหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนงานหญิง - แรงงานนอกระบบ โดยปริมาณของผู้ใช้แรงงานนอกระบบเหล่านี้ อยู่ในอัตราส่วนสองในสามของแรงงานเอเชียทั้งหมด ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียด้วย
 
เมื่อมองออกไป จะเห็นเด็กวิ่งเล่นอยู่รอบหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ยังมีเด็กสาววัยรุ่นที่คอยช่วยเหลือพ่อแม่ดูแลเด็กเล็กๆ ส่วนที่เหลือก็จะช่วยพ่อแม่หรือญาติทำงาน พวกเธอจะจับจ้องที่สองมือทำงานอย่างรอบคอบขณะที่กำลังถักเส้นด้ายหรือตัดขนนกเทียม
 
ในแต่ละวัน บ้านหลังหนึ่งๆ จะผลิตลูกแบทมินตันได้สักห้าสิบโหล ซึ่งค่าจ้างก็จะจ่ายตามจำนวนชิ้นงานและชนิดของงานที่ทำ ยกตัวอย่างเช่น คนที่คอยเติมขนนกรอบลูกแบทมินตัน เป็นวงจะได้รับค่าจ้างประมาณ 1,500 รูเปียร์ (ประมาณ 0.15 ดอลลาร์) ต่องาน 12 ชิ้น และคนทีคอยร้อยด้ายรอบขนนกก็จะได้รับ 600 รูเปียร์ (ประมาณ 0.06 ดอลล่าร์) ต่องาน 12 ชิ้น
 
โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะใส่ขนนกและร้อยพวกมันไว้ด้วยกันนั้น กลุ่มผู้ชายจะคอยเป็นคนเตรียมขนนกโดยการตัดมันแต่ละชิ้นให้มีขนาดเล็กลงจนพอเหมาะก่อน ขณะที่ชายอีกกลุ่มจะเอาแท่งเหล็กแทงลงไปบนลูกแบทมินตันให้เป็นรู และเสียบขนนกลงไป จากนั้นฝ่ายหญิงก็จะเป็นคนคอยร้อยเส้นด้ายรอบลูกแบทมินตันอย่ารวดเร็วและชำนิชำนาญ หลังจากชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ในบ้านหลังหนึ่งหรือในครอบครัวหนึ่งจะผลิตลูกแบทมินตันได้ประมาณ 50 โหล (รวมแล้ว 600 ลูก) ต่อวัน
 
คนงานจะผลิตลูกแบทมินตันและขายตามระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยพวกเขาจะขายผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพพอใช้ประมาณ 10,000 รูเปียร์ ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีปานกลางที่ 20,000 รูเปียร์ และที่คุณภาพดีที่สุดจะขายราคา 25,000 รูเปียร์ โดยทั้งหมดนี้จากราคาต่อ 1 กล่อง (1 กล่องจุลูกแบทมินตัน 12 ลูก) หากพวกเขาสามารถขายสินค้าทั้งหมดได้ พวกเขาก็จะต้องคำนวณรายได้ทั้งหมด ซึ่งมันก็ยากที่จะบอกว่าค่าตอบแทนจากแรงงานพวกเขาจะเหลืออยู่เท่าไหร่
 
"ฉันไม่รู้ว่าพวกเขาขายมันได้มากเท่าไหร่ที่ร้าน" สิตีบอกขณะที่เธอหยุดพักงานแล้วหันมาเล่นกับลูกสาวตัวเล็ก
ศรีก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ "เป็นนายจ้างของตัวเอง" (Self-employment) ในงานฝีมือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไม้แบทมินตันในหมู่บ้านอาร์โรซารี เธอเปิดใจพูดถึงการรับคำสั่งผลิตสินค้าจากบริษัทที่มา ไม่แน่ไม่นอน ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวที่ไม่แน่นอนไปด้วย
 
"หลายปีก่อนหน้านี้ ราว ๆ ปี 1997-1998 พวกเราไม่ได้รับออเดอร์สั่งสินค้ามาหลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากสำหรับเรา เมื่อพวกเราได้รับออเดอร์งานแล้วเราก็แค่ทำตามใบสั่งโดยไม่ได้สนใจเลยว่าเป็นสินค้ายี่ห้ออะไรที่เราผลิตให้ หรือว่าเป็นบริษัทไหนที่เราร่วมงานด้วย เราแค่ทำงานของเราก็เท่านั้นเอง" ศรีกล่าว
 
มีเพื่อนบ้านมาเป็นแรงงานที่บ้านของด้วย และเธอเองก็ต้องรับผิดชอบกับสินค้าที่ไม่ดี ด้วย "พวกเราได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมาก เราก็มีทำผิดพลาดมาก (เพราะต้องเร่งทำงานให้ได้มากๆ ในแต่ละวัน) แต่พวกเขาก็มักจะเรียกร้องสินค้าที่มีคุณภาพดีที่สุดจากเราอยู่ มันทำให้ฉันโกรธมาก" ศรีกล่าว
 
อย่างไรก็ตามในพื้นที่บริเวณใกล้ๆ กัน ก็มีโรงงานทอเครื่องหวาย ซึ่งมาร์ลีนาเป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงงานในระดับครัวเรือน เธอพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อคนงานและครอบครัวของเธอ ด้วยการพัฒนาให้สินค้าเครื่องหวายมีคุณภาพดีและจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานอย่างเหมาะสม
 
"ฉันต้องทำงานหนักและดูแลด้านการตลาดไปด้วย เรารู้ว่ายังมีการผลิตสินค้าประเภทเดียวกันนี้อีกเป็นจำนวนมากในเขตของเรา แต่ผลผลิตของพวกเราก็มีคุณภาพดี ผลิตภัณฑ์เก้าอี้หรือตะกร้าหวายจะใช้ได้คงทนเป็นเวลานาน"
"มีนักธุรกิจไทยบางคนก็มาสั่งออเดอร์จากเราให้ส่งออกไปที่ไทย หรือแสดงต้นแบบให้เราเห็นแล้วขอให้เราทำสินค้าในรูปแบบเดียวกัน ด้วยราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับค่าแรงในประเทศของเขา" มาร์ลีนา กล่าว
 
ในตอนนี้สินค้าของมาร์ลีนาได้ส่งออกไปมากมายหลายที่ ทั้งยังมีขายในอินโดนีเชียเอง ที่ส่งขายไปนอกประเทศก็เช่น ที่ออสเตรเลีย , ยุโรป และ ไทย
 
อย่างไรก็ตาม สิตี , ศรี และ มาร์ลีนา ยังต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายในต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่ทำงานที่บ้านแล้ว พวกเขาไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคมด้านต่างๆ และไม่มีกฎหมายประกันค่าแรงขั้นต่ำ หรือค่าตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา
 
"พวกเราต้องการรายได้มากขึ้นกว่านี้ เพื่อจะสามารถเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกๆ ได้เพียงพอ เพราะค่าธรรมเนียมการศึกษานับวันก็เพิ่มสูงขึ้น แล้วเราก็ยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แม้ว่าเราจะได้รับบาดเจ็บจากการทำงานก็ตาม" สิตี ผู้ที่ทำโรงงานผลิตลูกแบทมินตันที่บ้านกล่าว
 
สุทาร์ตี ประธานสหภาพแรงงานหญิงผู้ทำงานอยู่กับบ้านในอินโดนีเชีย (Association Indonesia Home-based Women Workers - HWPRI) ซึ่งตัวเธอเองก็รับงานมาทำที่บ้านด้วย ซึ่งเธอให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "คนงานที่ทำงานที่บ้าน เปรียบเสมือนแรงงานที่ไม่มีตัวตนในสายตาของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พวกเราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ครอบครัวและชุมชนของเรามีมาตรฐานชีวิตที่ดีกว่านี้ และมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว"
 
สหภาพแรงงานหญิงผู้ทำงานอยู่กับบ้านในอินโดนีเชีย หรือ HWPRI จัดตั้งขึ้นจากกลุ่มผู้หญิงทำงานในเมืองมาลัง โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและพัฒนาความสามารถของแรงงานหญิง
 
HWPRI ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดและเข้าถึงโดยตรงกับกับแรงงานหญิงที่ทำงานที่บ้านเพื่อสนับสนุนพวกเขาในหลายๆ ทาง HWPRI ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการเข้าคอร์สฝึกฝนหลายครั้ง เช่น การฝึกพัฒนาเชิงเทคนิคความสามารถ การฝึกฝนด้านการตลาด การเรียนรู้กฎหมายและนโยบายทางการเมือง รวมถึงการฝึกความเป็นผู้นำ
 
"HWPRI ยังได้พยายามเสริมกำลังให้กับแรงงานที่ทำงานที่บ้านในหลายๆ ทาง เพื่อเพิ่มพลังในการต่อรองและสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองได้ แม้ว่ามันจะยากสำหรับแรงงานหญิงที่ทำงานที่บ้านในการเก็บรวบรวมเงินทุนสำหรับตั้งตัวกับธุรกิจของพวกเธอเอง"
 
"แล้วมันก็ยังคงยากในการให้แรงงานหญิงที่ทำงานที่บ้านหยุดงานของพวกเธอเพื่อมาเข้าร่วมการประชุมหรือร่วมกิจกรรมทางสังคมและการเมืองอื่นๆ" ประธาน HWPRI กล่าว
 
สิซัทกาส์ ดวีโก บุตรี หนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงงานหญิงผู้ทำงานอยู่กับบ้านในอินโดนีเชีย แต่ตอนนี้เธอไม่ได้รับงานไปทำที่บ้านแล้ว ได้พูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอว่า" บางทีออเดอร์งานจากบริษัทก็มาไม่คงที่ พวกเราเคยไม่ได้รับออเดอร์มาหลายเดือนติดกันทำให้ไม่มีรายได้เลย นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าอีกต่างหาก"
 
"ยกตัวอย่างเช่น พวกเราเคยทำเสื้อแจ็คเก็ตที่โรงงาน แต่พอพวกเขานำเข้าสินค้าที่ราคาถูกกว่ามากจากจีน พวกเราก็จำต้องเปลี่ยนไปผลิตเสื้อผ้าชนิดอื่นแทน ดังนั้นคนงานต้องปรับตัวให้เข้ากับการผลิตงานแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ฉันรู้สึกไม่มั่นคง" สิซัทกาส์ กล่าว
 
สิซัทกาส์ เริ่มต้นธุรกิจของเธอมาประมาณปีหนึ่งแล้ว โดยการผลิตและจำหน่ายผงเครื่องดื่มสมุนไพรสำเร็จรูปตรา "มาลาตี" ในตอนนี้เธอสามารถเป็นเจ้าของชีวิตตนเองโดยวางแผนจัดการกับธุรกิจและรายได้ของเธอเองได้
"ฉันค่อนข้างมีความสุขดีในตอนนี้ ฉันสามารถกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และวางแผนการที่ดีกว่ากับการหารายได้ให้ครอบครัว" เธอกล่าว
 
ดูเหมือนว่า ไม่ใช่แค่เธอจะสามารถกำหนดราคาเองได้ แต่ยังสามารถสร้างความมั่นใจและมีความภาคภูมิใจในตนเองด้วย แม้ว่าในขณะนี้เธอยังมีลูกค้าไม่มากนัก "ฉันรู้ว่ายังมีอะไรอีกมากมายที่ฉันต้องเรียนรู้อีกมาก เกี่ยวกับการทำธุรกิจ"
 
อินโดนีเชียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด และสินค้าหลักอีกประเภทที่มีไว้ทั้งสำหรับการใช้เองภายในประเทศและใช้เพื่อส่งออก คือผ้าโพกศีรษะ , ผ้าคลุมหน้า หรือ ญิฮาบ (สำหรับหญิงมุสลิม)
 
"พวกเราทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนแรงงานที่ทำงานที่บ้านโดยเริ่มต้นขึ้นที่เมืองมาลัง เพื่อให้พวกเรามีพลังในการต่อรองกับนักธุรกิจหรือกับบริษัท พวกเราพยายามหาเทคนิคและวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเราดูดีขึ้นและดูสวยขึ้น พวกเราระดมความคิดกันและสร้างรูปแบบสินค้าที่แตกต่างจากของบริษัทอื่น ซึ่งจะทำให้เราได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น" ประธานสหภาพฯ กล่าว
 
ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ นโยบายเน้นการลงทุนจากต่างชาติดูจะเป็นทางออกที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่แรงงานจะได้รับค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด เพราะนอกจากจำทำให้เกิดจำนวนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมากขึ้น จนต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบในที่สุด ในขณะเดียวกันแรงงานนอกระบบซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับความสนใจและขาดความสามารถในการต่อรองทางอำนาจและด้านสิทธิแรงงาน นอกจากนี้พวกเขายังไม่ได้รับการคุ้มครองจากด้านเศรษฐศาสตร์ , สังคม และกฎหมายเลยแม้แต่น้อย
 
นอกจากนี้ ภายใต้โครงร่างนโยบายทางเศรษฐกิจของอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีคำขวัญว่า "การตลาดที่เป็นหนึ่งเดียว" (One market) ทำให้มีการผลักดันการเซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) เกิดขึ้น การไหลเวียนทางการเงินอย่างเสรีและการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ในประเทศอาจจะยิ่งทำให้จำนวนผู้ใช้แรงงานนอกระบบมีมากขึ้นไปอีก
 
ในทุกวันนี้ ไม่เพียงสินค้าของจีนเท่านั้นที่หลั่งไหลออกไปสู่ทั่วโลก แต่จีนยังได้ส่งออกผ้าบาติค (ผ้าพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวชวา) มายังอินโดนีเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธุรกิจท้องถิ่นรวมถึงผู้ใช้แรงงานด้วย
 
"จำนวนผู้ใช้แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมีการปรับความสัมพันธ์เชิงการผลิตไปเป็นแบบนอกระบบ โดยการที่โรงงานอุตสาหกรรมลดจำนวนลูกจ้างในระบบลง และจ้างลูกจ้างนอกระบบ (รับงานมาทำที่บ้าน) มากขึ้น ซึ่งบางส่วนอาจจะเคยเป็นลูกจ้างเดิมของพวกเขามาก่อนด้วยซ้ำ" แดเนียล ส. สเตฟานัส นักวิชาการ หัวหน้าสำนักงานภาควิชาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยมาชุง (Ma Chung) อินโดนีเซีย กล่าว
องค์กรแรงงานสากลระหว่างประเทศ (ILO) รายงานว่ามีแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับจำนวนคนยากจนในประเทศ เช่น ที่อินโดนีเชียประชาชนมีความแตกต่างระหว่างรายได้สูงมาก โดยมีจำนวนแรงงานนอกระบบในประเทศอยู่ถึงร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด และโดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
ในกรณีของอินโดนีเชียซึ่งมีประชากรราว 224 ล้านคน (ข้อมูลเมื่อปี 2008) ในจำนวนประชากรดังกล่าวนี้มีจำนวนผู้ที่ทำงานเป็นแรงงานอกระบบมากขึ้นทุกปี
 
ตามที่ธนาคารโลกรายงานมา (ในปี 2006) ที่อินโดนีเชีย มีประชากรราวร้อยละ 17.8 มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าระดับความยากจน และมีร้อยละ 49 ที่มีค่าครองชีพรายวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราวไม่เกิน 80 บาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินไทยในปัจจุบัน)
 
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติส่วนกลางของอินโดนีเชีย (Indonesian Central Statistics Bureau) ในปี 2008 พบว่ามีอัตราผู้ว่างงานร้อยละ 9.75 ขณะที่ สำนักงานสถิตของอินโดฯ (BPS-Statistic Indonesia) รายงานว่ามีประชากรร้อยละ 63.41 ที่ถูกนับว่าเป็นคนยากจน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด
 
เฮสติ อาร์ วิจายา นักวิจัย อินโดฯ ชี้ให้เห็นว่าขอบข่ายงานจำพวกนี้กำลังดำเนินไปได้ดีในประเทศสมาชิกอาเซียน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนที่เรียกว่า "การตลาดร่วม" (integration market) จะทำให้เกิดธุรกิจที่จ้างงานอย่างผิดกฎหมาย เกิดการอพยพพร้อมกับแรงงานข้ามชาติ และเกิดโรงงานขูดรีด โดยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสภาพการจ้างงานหรือการดูแลด้านสุขภาพ
 
"พวกเราต้องการเพิ่มพลังในการต่อรองกับนายจ้าง หรือบริษัท/โรงงานให้ได้มากกว่านี้ ต้องเรียกร้องให้แรงงานได้รับค่าแรงที่เหมาะสม และประชาชนควรให้ความสำคัญ หรือเห็นคุณค่าในงานที่ผู้หญิงทำให้มากกว่านี้ด้วย" สุทาร์ตี ประธาน HWPRI กล่าว
 
 
* บทความชิ้นนี้ ได้รับทุนและการสนับสนุนจาก องค์กรพันธมิตรสื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Alliance) ประจำปี 2552



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net