Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย ความไม่ยุติธรรมของรัฐที่มีต่อชาวบ้าน และความเฉยเมยของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับชะตากรรมของชาวไทย-มลายู มุสลิม เปรียบเหมือนเชื้อเพลิงที่เติมให้ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นวงจรอันไม่รู้จบ และแน่นอนว่า เหตุการณ์ฆาตกรรม 11 ศพในมัสยิดที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาย่อมไม่ใช่ความรุนแรงครั้งสุดท้าย
 
หากเราต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงดังกล่าว การเจรจากับผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนคงจะยากเกินไปเสียแล้ว แต่เรายังพอมีหวังด้วยการชนะใจของชาวไทย-มลายู ที่ไม่ใช่กลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งความหวังที่เหลืออยู่ ก็ขึ้นกับพวกเขา และคนไทยพุทธที่ควรหันมาใส่ใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย  
 
และนี้คือข้อแนะนำที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
 
1.ชนะใจชาวไทย-มลายู มุสลิมที่ไม่ใช่กลุ่มหัวรุนแรง โดยการสนับสนุนการกระจายอำนาจการปกครอง เช่น การจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีเขตปกครองตนเองพิเศษอย่างแท้จริง
 
ผู้ที่มีเพื่อนเป็นชาวไทย-มลายู มุสลิม อาจเคยได้ยินพวกเขาตัดพ้ออยู่บ้างว่า เพราะเหตุใดพวกเขาจึงไม่สามารถเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเองได้ ในเมื่อพื้นที่ที่เขาอยู่นั้นมีประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง การที่รัฐไทยแต่งตั้งข้าราชการใหญ่จากกรุงเทพฯ มาปกครองพวกเขาทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยก และมีความรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐไทย ซึ่งนี้ก็อาจเรียกได้ว่า เป็นการดูถูกผู้คน ผู้ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐอิสลามแห่งปัตตานีที่ยิ่งใหญ่
 
และถ้าหากคุณได้สนทนากับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไว้วางใจคุณแล้วละก็ พวกเขาจะพูดกับคุณว่า หากวันใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง วันนั้นจะเป็นวันเริ่มต้นแห่งจุดจบ และนี้คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในปัตตานีเคยกล่าวกับผู้เขียน เพราะเหตุใดนะหรือ ก็เพราะพวกเราไม่ไว้วางใจชาวท้องถิ่น ซึ่งเขาก็ไม่กล้าจะพูดมันออกมาตามตรง
 
แต่เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ถ้าปราศจากความไว้วางใจจากทั้งสองฝ่าย
 
2. สื่อมวลชนไม่ควรรายงานความขัดแย้งเฉกเช่นการรายงานข่าวอาชญากรรมรายวัน แต่ควรเพิ่มมุมมองเชิงวิพากษ์จากคนท้องถิ่นลงไปในเนื้อข่าวด้วย เช่นในทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ทำไมสื่อจึงไม่ลองให้ชาวไทย-มลายู มุสลิมเขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ดูบ้าง
 
อย่างไรก็ตามสื่อกระแสหลักที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่เคยเลยที่จะให้พื้นที่กับคนเหล่านี้ แต่เราจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นและการถกเถียงเพื่อหาทางออกอย่างมีคุณภาพ
 
3. ชนะใจพวกเขาด้วยการเคารพในความแตกต่างของเขา ทั้งในเรื่องเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
 
สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักเรียกพวกเขาว่า “ชาวไทยมุสลิม” ซึ่งเป็นการเรียกที่ละเลยและมองข้ามลักษณะวิถีชีวิตของพวกเขาที่ผูกพันกับวัฒนธรรมมลายูและภาษามลายู นอกจากนี้ “ชาวไทยมุสลิม” ก็ไม่จำเป็นต้องหมายถึงชาวไทย-มลายู มุสลิมก็ได้ หากแต่อาจเป็นชาวไทยมุสลิมซึ่งมีเชื้อสายอินเดียหรือเชื้อสายอื่นๆ แต่ในที่สุดแล้ว เราจะชนะใจพวกเขาได้อย่างไร หากเราละเลยตัวตนของพวกเขา
 
นอกจากนี้ ผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์พอสมควรจะทราบว่า รัฐปัตตานีถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามไม่ใช่ด้วยการแต่งงานของราชวงศ์หรือการรวมกันอย่างสันติ หากเป็นการใช้กำลัง และด้วยเพราะเหตุนี้หรือ จึงทำให้รากเหง้าของพวกเขาไม่สมควรได้รับการกล่าวถึง?
 
4. เลิกโฆษณาชวนเชื่อว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้คนจากต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 
ถ้าหากนั่นเป็นเรื่องจริงแล้วละก็ โศกนาฏกรรมที่ทำให้ชาวไทย-มลายู มุสลิมเสียชีวิตถึง 78 รายที่ตากใบ โศกนาฏกรรมที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวไทย-มลายู มุสลิม 11 รายซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 มิถุนายน) การทารุณกรรม การเลือกปฏิบัติ ความรู้สึกแปลกแยก และคำตัดสินอันโหดร้ายของศาลที่ตัดสินว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความผิดในเหตุการณ์ตากใบเพราะได้รับความคุ้มครองจากกฎอัยการศึกคงไม่เกิดขึ้น
 
เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลควรจัดประกวดเรียงความสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหัวข้อ “ชีวิตของฉันในฐานะพลเมืองชั้นสอง ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง” และนำเรียงความที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นมาตีพิมพ์และเผยแพร่ไปทั่วประเทศ
 
โฆษณาชวนเชื่อ ความเฉยเมยและการละเลย ต้องถูกกำจัดออกไปให้มากที่สุด มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่จะมีคนตายไปมากกว่านี้ 
 
และถ้าคุณมีเจตนาดีและต้องการช่วยแก้ปัญหา หรือต้องการเข้าใจสถานการณ์มากกว่านี้ คุณอาจทำได้โดยการใช้เวลาในช่วงวันหยุด เข้าไปศึกษา พูดคุย ทำความเข้าใจกับชาวไทย-มลายู มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พูดคุยกับเขาอย่างเพื่อนคนหนึ่งที่ไว้วางใจกัน พยายามชนะใจของเขา แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา และเตรียมใจเผชิญกับความจริงอีกชุดหนึ่งที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน
 
ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่เคยทำเช่นนั้นเมื่อไม่กี่ปีก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net