Skip to main content
sharethis

เดือนที่แล้ว กองทัพรัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศชัยชนะต่อกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในประเทศ เดือนนี้ ประธานาธิบดีศรีลังกาเยือนพม่า โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ด้วยศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเดียวกัน แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า พม่าต้องการหารือยุทธวิธีปราบกบฏจากศรีลังกา

ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ของศรีลังกา ร่วมกับ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ประธาน SPDC ของสหภาพพม่า เดินตรวจแถวทหารเกียรติยศ ที่สนามบินกรุงเนปยิดอว์ ระหว่างการเยือนพม่า อย่างเป็นทางการเมื่อ 14 มิ.ย. ภายหลังการปราบกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (ที่มา: ภาพจากหนังสือพิมพ์ News Light of Myanmar 15 มิถุนายน 2552 หน้า 8)
 
 
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ของศรีลังกา ได้เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับศรีลังกาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยพม่าเป็นประเทศแรกที่ประธานาธิบดีศรีลังกาเดินทางไปเยือนหลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาได้รับชัยชนะจากการปราบปรามกลุ่มกบฏพยักษ์ทมิฬอีแลมเป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
แหล่งข่าวภายในพม่าเปิดเผยว่าผู้นำกองทัพพม่าที่นำทัพเข้าโจมตีกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงต่อต้านรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาแสดงความประทับใจในยุทธวิธีของกองทัพรัฐบาลศรีลังกาที่ใช้ในการปราบปรามกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
 
พลตรีอาย มินท์ (Aye Myint) รักษาการณ์กระทรวงกลาโหมของพม่ากล่าวในการอภิปรายที่งาน แชงกรีลา ไดอะลอก ครั้งที่ 8 (8th Shangri-La Dialogue)* เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า "เมื่อไม่นานมานี้โลกได้เป็นพยานกับการปราบปรามกบฏในศรีลังกาซึ่งสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี แต่ก็ลืมนึกถึงพวกกบฏในพม่า ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่าไม่มีการต่อสู้ครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในพม่าเลยในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพม่าดำเนินการมาถึงขั้นที่สามารถยังยั้งการก่อกบฏภายในประเทศได้แล้ว พวกเราเห็นว่าการใช้กำลังอย่างรุนแรงอย่างเดียวไม่เป็นผลกับการต่อต้านกลุ่มกบฏ ฉะนั้นพวกเราจึงต้องแก้ปัญหาการก่อกบฏอย่างอดทน อดกลั้น และอาศัยระยะเวลาอย่างมาก"
 
ทางรัฐบาลทหารพม่าเคยให้เงินสนับสนุนรัฐบาลศรีลังกา 50,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อการไล่ที่ชาวบ้านทางตอนเหนือของศรีลังกา ขณะที่ในการประชุมพุทธศาสนิกชนโลกเมื่อปี 2004 ตาน ฉ่วย นายพลอาวุโสก็เคยให้การต้อนรับมหินทรา ราชปักษา ซึ่งในตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีของศรีลังกา เป็นอย่างดี
 
การพบปะของพม่าและศรีลังกาในครั้งนี้ยังถือเป็นการรำลึกวาระครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ โดยทางหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่ายังได้เน้นย้ำถึงการที่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเหมือนกันอีกด้วย
 
โดยนอกจากเรื่องศาสนาแล้ว ทั้งพม่าและศรีลังกาต่างก็ได้ตกลงพัฒนาความร่วมมือด้านการทหารของทั้งสองประเทศ
 
โรหิทา โบโกลลากามา (Rohitha Bogollagama) รัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกาที่มาพร้อมประธานาธิบดีกล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีราชปักษาเลือกพม่าเป็นประเทศเทศแรกที่เดินทางมาเยือนหลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ถือเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ
 
โบโกลลากามา ระบุว่า นายพลตาน ฉ่วย ได้กล่าวถึง "การก้าวย่างอย่างอาจหาญ" ของรัฐบาลการศรีลังกาในปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งรัฐบาลทหารในพม่ามักจะแปะป้ายให้กลุ่มกบฏชาติพันธ์ว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย
 
ด้านสื่อของรัฐบาลศรีลังการายงานว่า ประธานาธิบดีราชปักษา ยังได้เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองกำลังทหารพม่าสองกองโดยการนำไปฝึกฝนการรบที่โรงเรียนฝึกทหาร โคตะกาวาละ ตามที่มีข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์ ในปี 2007 เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการปราบปรามการก่อการร้าย และมีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร
 
ศาตราจารย์ทินท์ สวี (Tint Swe) ผู้แต่งตั้งตนเองเป็นรัฐมนตรีสารสนเทศของรัฐบาลพม่าพลัดถิ่น หรือ รัฐบาลร่วมแห่งชาติเพื่อสหภาพพม่า (National Coalition Government of the Union of Burma) กล่าวกับหนังสือพิมพ์อิระวดีว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ซื่อสัตย์ที่นำเรื่องพุทธศาสนามาอ้างทั้งๆ ที่รัฐบาลเคยปราบปรามการชุมนุมของพระสงฆ์ด้วยอาวุธในปี 2007 ที่ผ่านมา
 
พระอะชิน อิสริยา (Ashin Issariya) ผู้นำสหพันธ์พระสงฆ์พม่า (All Burma Monks Alliance หรือ ABMA) บอกว่า "ศรีลังกาเป็นประเทศที่นับถือพุทธในนิกายเถรวาท รัฐบาล (ของศรีลังกา) อนุญาตให้พระสงฆ์พม่าชุมนุมประท้วงในประเทศได้ตอนปี 2007 (ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงในพม่า) แต่ศรีลังกาไม่ได้ประณามรับบาลทหารพม่าในเรื่องนี้เลย"
 
รัฐมนตรีโบลโกลลากามากล่าวว่าการที่พม่ากับศรีลังกามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและแน่นแฟ้นนั้นเนื่องมาจากการที่ทั้งสองประเทศต่างมีอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยยังได้บอกอีกว่าทั้งพม่าและศรีลังกาเชื่อมโยงกันทางการเมือง ศาสนา และ แหล่งวัฒนธรรม มาด้วยกันถึง 20 ปีแล้ว
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของศรีลังกายังได้เปิดเผยด้วยว่า ทางประธานาธิบดีราชปักษามีความต้องการจะสนับสนุนด้านทุนการศึกษาแก่พระสงฆ์จากพม่าที่ต้องการศึกษาในชั้นเรียนที่สูงกว่าในมหาวิทยาลัยของศรีลังกา
 
แต่นักวิเคราะห์การเมืองในพม่ามองว่า การมาเยือนของประธานาธิบดีศรีลังกาไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เป็นเพราะกองทัพเริ่มรู้สึกอยากลำบากในการจัดการกับกลุ่มกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทางพรมแดนตอนเหนือของประเทศและต้องการจะเรียนรู้วิธีการกำจัดศัตรูจากประธานาธิบดีของศรีลังกา ผู้เคยปราบกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเป็นผลสำเร็จมาแล้ว
 
 
หมายเหตุ
*การอภิปราย แชงกรีลา ไดอะล็อก ครั้งที่ 8 (8th Shangri-La Dialogue) เป็นงานของสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษานานาชาติ (The International Institute for Strategic Studies) ซึ่งเป็นงานรายปีที่มีรัฐมนตรีกลาโหมของแต่ละประเทศมารวมประชุมที่โรงแรมแชงกรีลาของสิงห์โปร เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือด้านกลาโหมและด้านความมั่นคงในประเทศเขต เอเชีย-แปซิฟิก มีประเทศ 27 ประเทศส่งตัวแทนจากกระทรวงกลาโหมหรือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเข้าร่วมประชุม
 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Burma-Sri Lanka Connection: Religion and Terrorism, Irrawaddy, Arkar Moe, 15-06-2009 http://www.irrawaddy.org/highlight.php?art_id=16005
 
ข้อมูลเชิงอรรถจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Shangri-La_Dialogue (เข้าดูเมื่อ 15 มิ.ย. 2552)
http://www.iiss.org/events-calendar/forthcoming-events/8th-shangri-la-dialogue (เข้าดูเมื่อ 15 มิ.ย. 2552)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net