เครือข่ายปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจงสภาพปัญหาปฏิรูปที่ดินในพื้นที่

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 1 แจงข้อเท็จจริงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของคนจนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยืนยันเจตนารมณ์เครือข่ายหวังลดการผูกขาดการถือครองที่ดินของคนส่วนน้อย อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของเรื่องความยากจนเชิงโครงสร้าง เพื่อทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินต่อประชาชนคนยากจนและเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย

 

วานนี้ (15 มิ.ย. 52) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ชี้แจงข้อเท็จจริงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของคนจนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ยืนยันเจตนารมณ์เครือข่าย หวังลดการผูกขาดการถือครองที่ดินของคนส่วนน้อย อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของเรื่องความยากจนเชิงโครงสร้าง เพื่อทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินต่อประชาชนคนยากจนและเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
 
000
 
แถลงการณ์ฉบับที่ 1
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
 
เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของคนจนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เรียน พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่เคารพ
 
เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสภาพปัญหา เรื่องการปฏิรูปที่ดินในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี จึงขอชี้แจงดังนี้
 
1. ที่ดินของรัฐ เช่น ที่ดินราชพัสดุ ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดินป่าไม้ ที่รัฐนำมาให้เอกชนเช่า เพื่อทำการปลูกปาล์ม ยางพารา ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 200 ไร่ ถึงหลายพันไร่และหลายหมื่นไร่ ได้หมดสัญญาเช่าลง ประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหลายจังหวัดในภาคใต้ ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้นำแปลงที่ดินดังกล่าวมากระจายการถือครองให้เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพได้เช่าบ้าง ทำให้รัฐบาลได้นำที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนเช่าในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี จำนวน 2,000 ราย จำนวน 20,000 ไร่ ในปี 2549
 
2. ผลของการจัดที่ดินไปแล้วนั้นมีทั้งสำเร็จ แก้ปัญหาความยากจนได้บ้างและไม่สำเร็จบ้าง ในบางพื้นที่ เนื่องเพราะ 1. ภาคประชาชนยังขาดความเข้มแข็งในการรวมตัว ทั้งระดับพื้นที่และระดับเครือข่าย 2. ภาครัฐขาดความตั้งใจในการปฏิรูปที่ดิน ได้ละทิ้งปัญหาและบางส่วนจงใจหรือมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหา
 
3. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยความตั้งใจจริงของเจตนารมณ์ที่ 1. ต้องการลดการผูกขาดการถือครองที่ดินของคนส่วนน้อย อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของเรื่องความยากจนเชิงโครงสร้าง เพื่อทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินต่อประชาชนคนยากจนและเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและไร้ที่อยู่อาศัย 2. ให้ที่ดินเป็นที่สร้างอาชีพทางการเกษตรและอาชีพเสริมเพื่อแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่และให้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน 3. พัฒนาแผนการผลิต การตลาด และการพัฒนาสังคมให้คนอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและสร้างระเบียบวินัยการจัดการที่ดิน ไม่ให้ที่ดินหลุดมือจากคนยากจน 4. เสริมสร้างความสมดุลย์ระหว่างคนกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 5. ประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐทุกระดับ 6. เสริมสร้างการยกระดับการเรียนรู้ การวิจัยในด้านต่าง ๆ และยกระดับศีลธรรม 7. ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 
4. เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ได้เข้าร่วมทำงานกับทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการตั้งคณะทำงานร่วมกันในนามศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือชื่อย่อว่า “ศจพ.จ.สฎ.” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในเดือนพฤษภาคม 2551 ในช่วงที่ผู้ว่าฯ วินัย บัวประดิษฐ์ จนถึงเดือนมกราคม 2552 ในช่วงปัจจุบัน
 
ผู้ว่าฯ ประชา เตรัตน์ นับรวมระยะเวลาการทำงานร่วมกับ 2 ผู้ว่าฯ 8 - 10 เดือน ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินสุราษฎร์ธานี ได้ทำบัญชีรายชื่อผู้เดือดร้อนในพื้นที่ 18 อำเภอ จำนวน 3,500 กว่าราย เสนอต่อจังหวัดและได้ยกระดับการเรียนรู้สมาชิกในแนวทางที่สร้างสรรค์ ได้ประสานติดตามการทำงานร่วมกับนายอำเภอในพื้นที่ 15 อำเภอตลอดเวลา การทำงานร่วมกัน เวลา 8 เดือน ที่ผ่านมา ทางภาคประชาชนได้มุ่งมั่นที่จะผลักดันการปฏิรูปที่ดินให้เป็นจริงตามเจตนารมณ์ โดยได้นำเสนอให้จังหวัดนำที่ดินจำนวน 10 แปลง ประมาณ 17,000 กว่าไร่ ที่หมดสัญญาเช่า ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 สิงหาคม 2546 ซึ่งรัฐต้องนำที่ดิน 10 แปลง ดังกล่าวมาจัดปฏิรูปให้ประชาชนและทางจังหวัดได้มีมติที่ประชุมเมื่อเดือน พฤษภาคม 2551 ให้นำที่ดินมาจัดให้ประชาชน แต่ปรากฏว่าเวลาที่ทำงานร่วมกัน ได้เปิดเผยธาตุแท้ว่าทางรัฐ ได้ใช้เวทีการประชุมระดับจังหวัดเป็นเครื่องมือ ถ่วงเวลาในการจัดที่ดิน โดยปราศจากความจริงใจต่อประชาชน
 
5. ผลที่รัฐหรือข้าราชการบางส่วนในจังหวัดขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา ทำให้ประชาชนจึงหลั่งไหลเข้าไปอยู่ในแปลงต่างๆ ที่กาญจนดิษฐ์ ชัยบุรี พระแสง เคียนซา จนมีกรณีการปะทะฆ่ากันตายที่ อำเภอชัยบุรี อันเป็นผลพวงมาจากทางจังหวัดได้เมินเฉยต่อการเสนอแนวทางการทำงานและแบบแผนการแก้ปัญหาแบบถูกต้องและครบวงจรจากภาคประชาชน จึงทำให้ปัญหาบานปลาย ซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน
 
6. ทางเครือข่ายฯ ขอชี้แจงต่อพี่น้องว่า ที่ดิน 10 แปลงในขณะนี้ที่ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่า เป็นที่มีเจ้าของและประชาชน “เข้าไปเอาที่เพื่อน” ทำผิดกฎหมายนั้น ทางเครือข่ายขอชี้แจงว่า ในความเป็นจริง ที่ดิน 10 แปลงดังกล่าว ได้ตกมาเป็นที่ของรัฐแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี 26 สิงหาคม 2546 โดยเป็นมติให้รัฐนำที่ดินดังกล่าวมาจัดให้ประชาชนคนสุราษฎร์ธานี ที่ไร้ที่ดินทำกิน
 
เอกชนและกลุ่มทุนบางส่วนที่ครอบครองอยู่และบางแปลงที่ครอบครองอย่างผิดกฎหมายถึง 17 - 18 ปี อย่างกรณีชัยบุรีปาล์มทอง สวนปาล์มหมื่นกว่าไร่โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนรู้เห็นเป็นใจและมีส่วนได้เสียเป็นเวลายาวนาน อันเป็นการฉ้อฉลประเทศชาติร่วมกันมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการฉ้อฉลร่วมกันของหลายฝ่ายได้มีในที่ดินหลายแปลงและในที่ดินหลายประเภท ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยปราศจากคนลุกขึ้นมาตรวจสอบ
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจึงต้องชี้แจงความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ขอให้สังคมได้ช่วยกันตระหนักและอย่าประณามหรือตัดสินสิ่งใด โดยขาดข้อมูลความจริง
 
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท