Skip to main content
sharethis

เขื่อนปากมูลเปิดแล้ว คนหาปลาบอกเปิดช้าปลามาน้อย ระบุรัฐบาลควรเปิดตั้งแต่พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่ปลาอพยพมาจากแม่น้ำโขงแล้ว และหากจะฟื้นฟูชีวิตคนลุ่มน้ำมูลและระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำ ต้องเปิดประตูน้ำอย่างถาวร พร้อมเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อรัฐและ กฟผ.ให้ยอมรับแนวทางนี้

กรณีที่รัฐบาลมีมติครม.เปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา จากเดิมที่ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน และปิดอีก 8 เดือน โดยปัจจุบันใช้มติ 12 มิถุนายน 2550 ซึ่งเป็นมติในยุครัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเสนอในนามของ กอ.รมน. โดยอ้างว่าเป็นผลสำรวจความเห็นของชาวบ้าน ในเขต 3 อำเภอในพื้นที่ผลกระทบจากเขื่อนปากมูล โดยภายหลังมีมติ ครม.นี้หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายประชาชนได้ตั้งข้อสังเกต ว่าเป็นมติที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในฐานของงานวิชาการใดๆ

เมื่อเขื่อนปากมูลเปิดขึ้น คนหาปลาจากหมู่บ้านต่างๆ ที่มารอการหาปลา ก็มีโอกาสสัมผัสชีวิตของแม่น้ำมูลอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านระเว ต.ระเว อ.พิบูลมังสาหาร คนหนึ่งกล่าวว่า ตนรู้ข่าวการเปิดประตูเขื่อนปากมูลจากญาติพี่น้องที่หมู่บ้านอยู่ริมมูล ส่งข่าวถึงกันเสมอเพราะไม่มีความแน่นอนว่าเขื่อนจะเปิดหรือไม่ วันไหน เพราะเปลี่ยนไปทุกปี ถ้าแต่ละปีมีวันกำหนดแน่นอนคนหาปลาก็จะได้เตรียมตัวได้ ส่วนปลาที่หาได้จะนำไปเป็นอาหารในช่วงการดำนา ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก หากได้มากก็จะทำปลาร้า คนในหมู่บ้านมาทุกปี ในช่วงการเปิดเขื่อน ปีนี้มาแล้วไม่คุ้มค่านักเนื่องจากปลามีน้อยกว่าทุกปี หากเขื่อนเปิดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจะมีปลามากกว่านี้

นายคาน หวังผล ชาวบ้านหัวเห่ว ต.โขงเจียม กล่าวว่า บ้านหัวเห่วเริ่มหาปลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่จะหาแถวท้ายเขื่อน เพราะปลามาจากแม่น้ำโขง ข้ามเขื่อนไม่ได้ ยอมรับว่าปลามามากในช่วงเดือนพฤษภาแต่ข้ามเขื่อนไม่ได้ เปิดเขื่อนเหมือนเปิดโอกาสให้คนเหนือเขื่อนได้มีปลากิน และปลาก็จะได้ขยายพันธุ์ด้วย ธรรมชาติของปลาต้องขึ้นไปข้างบนเพื่อวางไข่ตามแก่งหินหากขึ้นไม่ได้อาจจะสูญพันธุ์ในเร็ววัน

การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน เป็นปัญหาต่อเนื่องจากรัฐบาลยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้บิดเบือนงานวิจัยม.อุบลฯ ที่ไม่ยอมเปิดประตูน้ำตลอดปีตามข้อเสนอของผลวิจัย แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของรัฐบาลสุรยุทธและคมช. ยิ่งเป็นการตัดสินใจที่ไปแนวทางที่เลวร้ายยิ่งกว่าโดยได้ล้มล้างผลการศึกษาม.อุบลฯ และมติรัฐบาลทักษิณด้วยการเปลี่ยนมติครม.จาก 8 มิถุนายน 2547 เป็นมติ 12 มิถุนายน 2550 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเปรียบเสมือนการปฏิเสธความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยอ้างเขื่อนปากมูลสร้างผลประโยชน์ด้านชลประทานให้แก่ชาวบ้านกว่า 20,000 ราย ทั้งที่ในหลายปีที่ผ่านมารายงานทางวิชาการหลายชิ้น ระบุว่า เขื่อนไม่ได้มีศักยภาพด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า และด้านอื่นๆ เหมือนที่ กฟผ. โฆษณาไว้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net