Skip to main content
sharethis

(17 มิ.ย./จุฬา) วันนี้ แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่อง “นโยบายแห่งชาติด้านยา: ประสบการณ์จากออสเตรเลีย เป็นข้อคิดสำหรับประเทศไทย” โดยได้เชิญ Dr. Mary Murray ซึ่งเป็นอดีตผู้จัดการ PHARM Committee ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบการบริหารนโยบายยาของออสเตรเลีย และมีประสบการณ์ในการพัฒนานโยบายยาแห่งชาติ รวมทั้งได้ผลักดันจนทำให้เกิดระบบยาที่ดีในออสเตรเลีย
 
Dr.Murray ได้เล่าถึงกระบวนการ (Process) ที่ทำให้เกิดความสำเร็จของการพัฒนานโยบายยาแห่งชาติและการผลักดันให้มีการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยสาระสำคัญได้แก่
 
การก่อตัวของนโยบายยาแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย วัตถุประสงค์หลักของการวางนโยบายดังกล่าวคือการสนับสนุนสวัสดิการที่ดีด้านสุขภาวะแก่ประชาชนชาวออสเตรเลีย เริ่มต้นจากการอธิบายนโยบายหลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การเข้าถึงเภสัชภัณฑ์ (Access) เป็นนโยบายแรกที่เริ่มต้นโดย APAC และตามมาด้วยนโยบายการสนับสนุนด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของยา (Quality and Safety) นโยบายด้านคุณภาพการใช้ยา (Quality of Use) และสุดท้ายคือ นโยบายด้านความรับผิดชอบ (Responsibility)
 
Dr.Murray ชี้ว่า สิ่งที่ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ได้จากการวางนโยบายยาแห่งชาติดังกล่าว คือ การเปิดโอกาสให้ภาคีกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ซึ่งไม่เพียงแต่กลุ่มผู้ชำนาญการด้านสุขภาวะ แต่ยังให้ภาคีกลุ่มผู้บริโภค ชุมชน และนักวางแผนนโยบายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างด้านการตั้งหน่วยงาน National Prescribing Service ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นช่องทางที่สำคัญในการเฝ้าระวังการใช้ยาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยาอย่างเป็นกลางแก่ผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตัวอย่างที่ประเทศไทยอาจเรียนรู้ได้ แต่ Dr. Mary Murray ยังขอให้กลุ่มภาคีต่างๆ ต้องจับตามอง อิทธิพลของบริษัทยาผ่านช่องทางการเมืองที่แม้แต่ในประเทศออสเตรเลีย ปัญหาดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่
 
ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ระบุว่า ขณะนี้ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยามีมากมาย ตั้งแต่การมีตำรับยามากมาย บางตำรับไม่มีประโยชน์ การมียาราคาแพงเกินกว่าความสามารถของประชาชนหรือประเทศที่จะจัดหายาให้กับประชาชน มีการกระจายยาไปสู่ประชาชนอย่างไม่เหมาะสม เห็นได้จากการมียาอันตรายในชุมชน ตลอดจนการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมอันนำไปสู่มูลค่าการใช้ยาที่สูงขึ้นตลอดเวลา ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยแม้ว่าจะมีนโยบายระดับชาติด้านยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 [A1] และแก้ไข ปี 2536 แล้วก็ตาม แต่นโยบายยาดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นลดน้อยหรือหมดไป
 
“หลังการประชุม กพย.จะได้มีการพัฒนานโยบายยาแห่งชาติเพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนาระบบยาของไทย นำเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งจะได้ร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการนำนโยบายยาแห่งชาติไปปฏิบัติได้จริง”

......................................

หมายเหตุ:

 [A1] อาจารย์สำลี เสนอว่าแท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ ปี 2513 แต่มีฉบับแรกคือ พ.ศ. 2524 มีการปรับแก้อยู่บ้างหลังจากนั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net