Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 เวลาประมาณ 15.00 น. ภาควิชาสุวรรณภูมิอุษาคเนย์  คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราฯ และชมรมอุษาคเนย์-อาเซียน จัดการเสวนาประชาธิปไตยในพม่า คำตอบในสายลม ที่ห้อง 301 คณะศิลปศาสตร์ มธ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ร่วมอภิปรายประกอบไปด้วย ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศรีประภา เพชรมีศรี มหาวิทยาลัยมหิดล  ซอว์ อ่อง รองเลขาธิการ Forum for Democracy in Burma และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ดำเนินรายการโดย สมฤทธิ์ ลือชัย
 

000
ศรีประภา เพชรมีศรี: สิทธิมนุษยชนคือทุกสิ่งทุกอย่าง และน่าจะหมายถึงการเข้าถึงอาหาร และน้ำสะอาด และอื่นๆ ที่ขาดหายไปในประเทศพม่า


ศรีประภา เพ็ชรมีศรี
จากสำนักสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เดือนมิถุนายน ไม่เพียงเป็นเดือนเกิดของอองซาน ซูจีเท่านั้น แต่ยังเป็นเดือนเกิดของ อู ถั่น ซึ่งเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนที่ 3 ซึ่งเกิดในวันที่ 3 มิถุนายน ทว่า “น่าเสียใจที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยของอู ถั่นไม่ได้รับการสานต่อในพม่า”

ศรีประภากล่าวว่า ขณะนี้ ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพม่า เน้นเรื่องมนุษยธรรม แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาเลย และประการที่ต่อมาที่สำคัญคือ เวลาที่คนคิดถึงพม่า จะคิดถึงสิทธิมนุษยชนในพม่า คนส่วนใหญ่จะพูดเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและเสรีภาพในพม่า แต่ที่หลายคนลืมไปคือ สิทธิมนุษยชนคือทุกสิ่งทุกอย่าง และน่าจะหมายถึงการเข้าถึงอาหาร และน้ำสะอาด และอื่นๆ ที่ขาดหายไปในประเทศพม่า
 

ดร. ศรีประภาอ้างอิงข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติว่า ขณะนี้พม่ามีประชากรประมาณ 51-53 ล้านคน โดยมีอัตราการตายของเด็กที่อายุไม่ถึง 5 ขวบ มีอัตราการตาย 104: 1000  คน และอายุขัยเฉลี่ยของคนพม่า ไม่ถึง 60 ปี

จากตัวเลขเท่าที่องค์การสหประชาชาติหาได้ พม่ามีผู้หลบหนีภายในประเทศประมาณ1 เปอร์เซ็นต์ของประกรทั้งหมด ยังไม่นับกรณีที่หลบออกนอกประเทศ เฉพาะในประเทศไทยมีกว่าสามล้านคน
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาความมั่นคง องค์การสหประชาชาติ พยายามเสนอแนวทางแก้ไข  แต่กลับพบว่า มีประเทศที่คัดค้านแนวทางการแก้ไขของสหประชาชาติ ได้แก่ จีน และรัสเซีย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้งดออกเสียง โดยระบุว่าเรื่องที่ถูกยกมาเป็นมติของคณะความมั่นคง ไม่ได้เป็นเรื่องคุกคามสันติภาพของโลก

“นี่เป็นเรื่องน่ากังวลมากว่าหากบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนพม่า ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อส่วนอื่นของโลก นี่คือทัศนคติของประเทศเพื่อนบ้านพม่า” ศรีประภากล่าวในที่สุด

ooo

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ “อาเซียนเอง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยจี๊ดจ๊าดมาจากไหน ไปด่าเขามาก เดี๋ยวเขาก็หันมาบอกให้มองตัวเอง แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็ตาม”

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองพม่า หลังยุคอาณานิคมว่า เมื่อปี 2505 พม่ามีรัฐประหาร แล้วปิดประเทศ ในช่วงที่สงครามเย็นดุเดือด โดยพม่าพยายามที่จะเดินสายกลาง คือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่อย่างไรก็ตามการพยายามเคลื่อนไหวในแนวทางสายกลางของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ผล และในที่สุดสงครามเย็นก็เป็นสิ่งที่กำหนดทั้งหมด หลังจากนั้นพม่าก็เดินสายตัวเองพัฒนาตัวเองตามแนวทางสังคมนิยม เป็นเส้นทางสังคมนิยมพม่า

“พม่าเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว เหมือนคิวบา เมื่อรัฐบาลทหารพม่า เริ่มอยากจะพัฒนาประเทศ ก็เริ่มเปิดประเทศ ในปี 1988 ลองทดสอบให้มีการเมือง มีรูปแบบประชาธิปไตย ให้มีการชุมนุม และมีคนออกมามีส่วนร่วมเยอะมาก โดยเฉพาะนักศึกษา ซึ่งเป็นหัวหอก เพราะตอนนั้นไม่มีกลุ่มประชาสังคมอะไรมาก ตอนนั้นระหกระเหินและปั่นป่วนนมาก มีการเปลี่ยนรัฐบาลและยึดอำนาจ และในที่สุดแล้วรัฐบาลทหารพม่าก็ยอมให้มีการเลือกตั้ง และอองซานซูจี กลับบ้านไม่เยี่ยมแม่ที่ป่วยและชรา และก็ถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมทางการเมือง และอองซานซูจีก็มีบารมีที่ไม่มีใครเคยคิดมาก่อน และชนะการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งชนะแบบถล่มทลาย รัฐบาลทหารไม่ยอมถ่ายอำนาจให้ และยึดอำนาจกลับ และนี่เป็นอีกช่วงหนึ่งของพม่า”

“เวลาผ่านไป 19 ปี ฉะนั้น ผมขอเรียกว่า อองซานซูจีเป็นทั้งสัญลักษณ์และเป็นตัวจริงต่อฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย และถ้าเลือกตั้งก็คงจะชนะ และเท่าที่เราประเมินได้ ถ้าเลือกตั้งกันแบบแฟร์ๆ ก็น่าจะชนะอีก สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ มีความพยายามไม่ให้อองซานซูจีมีส่สนในการเลือกตั้งในปีหน้า และแม้ว่า รัฐบาลจะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ผ่องถ่ายอำนาจ โดยทหารจะคงสัดส่วนเอาไว้ 25 เปอร์เซ็นต์ของสภา และต้องคุมกระทรวงสำคัญ คือ มหาดไทย กลาโหม ต่างประเทศ”

ฐิตินันท์กล่าวว่า หากอองซานซูจีและพรรค NLD (สันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย-National League for Democracy)ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ไม่ชอบธรรมแน่นอน และกรณีของนายยัตธอว์ ซึ่งว่ายน้ำเข้าไป ก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าประหลาด แปลกเกินจริง เหมือนเป็นเรื่องที่ถูกจัดฉาก และผลจากเหตุการณ์นี้อองซานก็คงถูกจับติดคุกอีก สามถึงห้าปี ทั้งที่ปีนี้อายุ 64 แล้ว

สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า คาดการณ์ว่าทหารน่าจะคุมการเลือกตั้งได้ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์
ฐิตินันท์ประเมินว่าโดยรวมแล้ว สถานการณ์ในพม่าจะยังเหมือนเดิม แม้จะมีรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วง 18 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจของพม่าจะมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะที่ความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย จะส่งผลกระทบสำคัญต่อไทย “หากเขารบกันแบบตะลุมบอนขึ้นมา เราจะมีคนที่อพยพเข้ามาอีกเยอะมาก”

ประเด็นพม่าต่ออาเซียนนั้น ฐิตินันท์กล่าวว่า พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนมา 12 ปี แล้วและเป็นห่วงผูกคออาเซียนมาโดยตลอด แม้ว่าพม่าจะเป็นอินเดียมากกว่าเอเชียอาคเนย์ เพราะรากเหง้าเขามาจากอินเดียมากกว่า และสมัยที่อังกฤษปกครองพม่าก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมบริติชอินเดีย การที่อาเซียนพยายามรับพม่าเข้ามา เพื่อให้มีประเทศสมาชิกถึง 10 ประเทศเพื่อศักยภาพในการต่อรองกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ทว่า เมื่อพม่าเข้ามาในอาเซียน ก็กลับเป็นประเด็นที่ทำให้อาเซียนถูกจับตา
 

ฐิตินันท์ยกตัวอย่างว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาสนใจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงไม่กี่ประเด็น เรื่องแรกก็คือพม่า  ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอองซานซูจี เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพม่า แต่ไม่ธรรมดาสำหรับอาเซียน เพราะอาเซียนมีกฎบัตร ที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ธรรมดา ในมาตรา 7 ระบุว่าอาเซียนต้องส่งเสริมและคุ้มกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่เพราะรัฐบาลพม่ากำลังละเมิดเรื่องนี้อยู่ แม้จะมีการแถลงอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะในกฎบัตรเองก็ขจัดแย้งเพราะมีข้อหนึ่งว่าห้ามแทรกแซงกิจการภายใน

“สำหรับอาเซียนเอง ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยจี๊ดจ๊าดมาจากไหน ไปด่าเขามาก เดี๋ยวเขาก็หันมาบอกให้มองตัวเอง แม้กระทั่งประเทศไทยเองก็ตาม”
 

“สำหรับจีนนั้น หากพม่าถูกกดดัน จีนชอบเพราะพม่าจะหันมาหาจีน คนจีนไปอยู่พม่าทางเหนือเป็นล้านคน ด้านอินเดีย มีแนวโน้มไปได้ดี เป็นประชาธิปไตยและพรรคที่ชนะการเลือกตั้งล่าสุดเป็นประชาธิปไตยหัวก้าวหน้ามากขึ้นแต่ก็ลำบากเพราะว่าในอินเดียเองก็มีหลายชนเผ่า  ด้านสหรัฐ อังกฤษ ยูเอ็น ยุโรป ก็ลำบากเพราะมีมาตรการออกมามากแล้ว จรกระทั่งพม่าไม่เจ็บอีกแล้ว มาตรการไม้หนักที่จะทำได้มีเหลือน้อย ในสิงคโปร์ ถ้าแข็งขึ้นก็น่าจะทำได้ เพราะนายพลทั้งหลายฝากเงินที่สิงคโปร์ไว้เยอะ กรณีพม่าสำหรับอาเซียนนั้นถ้าเล่นแรงขึ้นมาก็เข้าตัว เล่นเบาก็โดนด่า ผลจึงออกมาเป็นแค่การแถลงการณ์ แต่ไม่มีการกระทำที่เป็นรูปธรรม”

“ประเด็นไทย ผมคิดว่าไทยเราต้องมาชั่งน้ำหนักเรื่องพม่าใหม่ เพราะไทยเราเป็นประธานอาเซียน ผมไม่มองพม่าแบบคนไทยหรือโรแมนติกว่า เป็นวันเกิดอองซาน แต่ถ้าเรามองในเชิงความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของไทย เราต้องคิดใหม่หลายเรื่อง ถ้าเราเป็นศัตรูกัน ก็อยู่อย่างสงบสุขไม่ได้ ขณะเดียวกัน พม่าก็ทำให้เราเสียคะแนนทางการเมืองมาก และรวมถึงปัญหายาเสพติดมาก รวมถึงแรงงาน เราต้องมีนโยบานเรื่องแรงงานต่างชาติที่มาจากพม่า เรามีนโยบายรองรับไหม ถ้าลูกหลานเขาไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบก็จะลำบาก ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพราะพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทย”
 

“ถ้ารัฐบาลทหารพม่า มีอาวุธนิวเคลียร์  ซึ่งขณะนี้ที่เนปิดอร์ มีผู้เชี่ยวชาญเกาหลีเหนือ และกำลังขุดหลุดหลบภัย เขาได้เกาหลีเหนือช่วยขุดหลุมหลบภัยและได้เทคโนโลยีจากรัสเซีย มีการร่วมมือกับจีน เขามีสิทธิเป็นภัยความมั่นคงกับไทยได้เหมือนกัน สรุป ถามว่า ถ้าพม่าเป็นประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ จะดีกับไทยหรือไม่ ถ้าเขามีสุญญากาศทางอำนาจ ชนกลุ่มน้อยอพยพมากเป็นล้านๆ คน เราต้องมองอย่างลึกซึ้ง ประชาธิปไตยแบบไหน ในระยะเวลาเท่าไหร่ ในเงื่อนไขแบบไหน”
 

ฐิตินันท์วิเคราะห์ว่าแนวโน้มของการเมืองในพม่า มีสองแนวคือพม่าจะยืดเยื้อเรื้อรัง ยื้อไปอีกหลายปี อาจจะถึงสิบปี หรือยี่สิบปี อาจจะค่อยๆ สร้างกระบวนการประชาธิปไตย อีกแบบคือ ถ้ามีการเลือกตั้งซึ่งสังคมพม่าต้องการการเปลี่ยนแปลง และหากเริ่มเปลี่ยนแล้วคุมไม่อยู่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าที่คนคิด เพราะฉะนั้นต้องจับตาการเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องการให้กองทัพมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องจำเป็น

000

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี “ผมไม่คิดว่าใครจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางนี้ได้ ผมคิดว่าสหประชาชาติไม่ได้มีแผนการใดๆ เกี่ยวกับพม่า บันคีมุน จะเดินทางไปพม่า ผมเชื่อว่าเขาจะเดินทางไปด้วยสมองที่ว่างเปล่า”


สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น : ผมมีความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลว่าความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจจะมีต้องมาจากภายในพม่า ผมไม่ค่อยเชื่อพลังจากข้างนอก ผมทำข่าวอาเซียนมามากว่าสิบปี ผมไม่เคยเชื่อเลยว่าอาเซียนมีปัญญาเปลี่ยนแปลงอะไรในพม่า
 

อองซานซูจีมีความสำคัญอย่างไรในพม่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมไปพม่า เมื่ออองซานอายุ 54 ปี ทุกๆ เย็นเธอจะออกมายืนหน้าบ้าน แล้วก็ปราศรัย มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งอัดเทปแล้วเอาไปขายที่ต่างจังหวัด แล้วมาพ้องกับนักร้องคนหนึ่งตั้งชื่อว่า power 54 ปรากฏว่าอัลบั้มนี้ถูกแบน นี่แสดงให้เห็นว่าอองซานซูจีเป็นสัญลักษณ์ของความกลัวของรัฐบาลทหารพม่า ฉะนั้นจงอย่าแปลกใจถ้าอองซานซูจีจะถูกจับ ถ้ากองทัพพม่าจะร้องเพลงอะไรให้อองซาน ผมคิดว่าควรเป็นเพลงจำเลยรัก คือมันเป็นการกักขังที่ไร้เหตุผล ถ้ากักขังด้วยความรักก็ดีไป แต่นี่คือการกักขังด้วยความกลัว รัฐบาลทหารพม่ารู้ดีว่าถ้าปล่อยให้ผู้หญิงคนนี้เพ่นพ่านตามท้องถนน เขาไม่มีวันชนะ ฉะนั้นพรรคการเมืองที่กำลังจะฟอร์มตัวเป็นพลังที่สำคัญก็คือพลังมวลชน

ความจริงการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในสมองของทหารพม่า แต่ใครล่ะที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้ ผมไม่คิดว่าใครจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางนี้ได้ คนหลายคนให้ความหวังกับสหประชาชาติ ผมคิดว่าสหประชาชาติไม่ได้มีแผนการใดๆ เกี่ยวกับพม่า เลขาธิการบันคีมุน จะเดินทางไปพม่า ผมเชื่อว่าเขาจะเดินทางไปด้วยสมองที่ว่างเปล่า

สำหรับอาเซียน ผมอ่านกฎบัตรอาเซียนทุกค่ำคืน ก็ไม่พบมาตราไหนที่จะใช้ในการขับพม่าออกจากอาเซียน มีแต่กฎว่าด้วยการรับสมาชิก ไม่มีกฎว่าด้วยการไล่สมาชิก และอีกอย่างพม่าถ้าเขาไม่อยากสมาคมกับใครเขาก็ไม่แยแสไม่นำพา แต่ผมเข้าใจว่าพม่ายังต้องการอาเซียนอยู่ อาเซียนเคยลงโทษพม่า ซึ่งผมคิดว่าแรง ที่การประชุมที่เวียงจันทร์ด้วยการบอกว่าอย่าเป็นประธานอาเซียนจนกว่าประเทศจะดีขึ้น ผมคิดว่าถ้าจิตวิญญาณและสันดานของพม่ายังเต็มเปี่ยมอยู่ในเวลานั้น ผมว่าต้องลาออกไปแล้ว แต่ว่าไม่ พม่ายังอยู่ต่อไป
 

อาเซียน มีประเทศไทยเป็นประธาน ถามว่าประเทศไทยพอจะทำอะไรได้บ้างไหม ประเทศไทยมีบทบาทอะไรที่จะดำเนินการเยี่ยงใดได้บ้างในพม่า ผมมาคิดๆ ดูผมว่ามีเหตุผลสัก 5 ข้อที่จะตอบว่าประเทศไทยทำอะไรไม่ได้เลย

เหตุผลข้อแรก รัฐบาลไทยในปัจจุบันไม่อยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลทหารใดๆ ในโลกนี้ รัฐบาลไทยชุดนี้ก็วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลไทยชุดนี้ ก็ตั้งอยู่บนฐานของทหารเหมือนกัน ถ้าอภิสิทธิ์จะบอกว่า ทหารควรจะออกไปจากการเมืองได้แล้ว อนุพงษ์ก็อาจจะเรียกไปคุย ไอ้น้อง มีเหตุผลอะไรที่ทหารจะออกจากการเมือง
 

ข้อหนึ่งย่อยในข้อหนึ่งใหญ่ คนไทยเองมีจิตใจที่ฝักใฝ่ทหารอยู่เป็นทุนเดิม ประเทศไทยเพิ่งจะมอบดอกไม้ให้กับการยึดอำนาจ แล้วจะมีคนมาพูดให้ทหารพม่าออกจากการเมือง ก็จะถูกถามว่ามีเหตุผลอะไร ถ้าบอกรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็จะถูกถามกลับว่าแล้วรัฐบาลนี้ชนะการเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อไหร่ นี่คือขีดจำกัด ทำให้ Merit หรืออานิสสงส์ของประชาธิปไตยไทยไม่ได้แรงกล้าพอที่จะผลักดัน หรือเอาสิ่งนี้ใส่เข้าไปในนโยบายต่างประเทศ
 

ประการที่ 2 ผมคิดว่า Civil society ภาคประชาสังคมของไทย ไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันแน่หนาต่อฝ่ายค้านพม่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบปริญญาให้อองซานซูจีก็จริง แต่นอกจากปริญญาแผ่นเดียว นอกจากนี้ไม่มีอะไรอีก ช่างเป็นสายสัมพันธ์ที่บางมาก ไม่สามารถสนับสนุนการต่อสู้ได้อย่างมีพลังเพียงพอ ประการต่อมาผมเข้าใจว่าสังคมไทยไม่มีศรัทธาใดๆ ต่อฝ่ายค้านพม่าเลย ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดคือทุกครั้งที่ไทยได้รัฐบาลใหม่ สิ่งที่จะทำคือการกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ที่สำคัญที่สุดคือ กษิต ภิรมย์ เพิ่งไปพูดกับชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามชายแดนไทยว่า ให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองพม่า ทีนี้คำว่ามีส่วนร่วมทางการเมือง แปลว่าอะไร แปลว่ายอมแพ้ซะ เพราะการมีส่วนร่วมทางการเมืองพม่าก็คือการวางอาวุธ

เพราะฉะนั้นเราจึงมิอาจมีความหวังว่า พลังที่จะต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งพอจากเพื่อนบ้านไทย
 

ประการที่ 3 ซึ่งสำคัญและสำคัญมากด้วย เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงพม่ามาก ทรัพยากรของพม่าสร้างความมั่งคั่งให้กับไทย ตลอดจนเพชรนิลจินดา 20 เปอร์เซ็นต์มาจากพม่า ยังไม่นับแก๊สธรรมชาติซึ่งไทยดูดแก๊สจากพม่าวันละหนึ่งพันล้านยูนิต  การค้าของเรา 7.4 พันล้านบาทต่อปี การลงทุนของไทยในพม่าคือ 6 พันล้านบาท สิ่งนี้ใหญ่โตมากเกินกว่ารัฐบาลไทยจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจกดดันพม่า นอกจากจะไม่ทำแล้วยังจะช่วยสนับสนุนปล่อยกู้ เราจะสนับสนุนสร้างเส้นทางต่อมาจากพม่า ถ้ามีคนอื่นใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ ไทยก็ไม่เอ็นจอย ยกตัวอย่าง กรณีกฎหมายอเมริกาซึ่งแบนผลผลิตจากพม่า ปรากฏว่าไทยได้รับผลกระทบด้วย เพราะใช้ทรัพยากรและแรงงานจากพม่า 
 

ประการที่ 4 เป็นปัญหาซึ่งสำคัญมากอีกเช่นกันซึ่งทำให้ไทยไม่สามารถทำอะไรได้มาก คือประเทศไทยมีพรมแดนยาวกว่าสองพันสี่ร้อยหนึ่งกิโลเมตร แต่เพิ่งปักปันกันแค่ห้าสิบกิโลเมตร ปัญหาชายแดนมีทั้งการค้ายาเสพติด ค้าเด็ก ค้าผู้หญิง ยาเสพติดโดยที่ไม่สามารถจะจัดการได้ ยาเสพติดจึงทะลักเข้าไทย

เวลาที่ไทยมีความเห็นใดๆ ต่อพม่า พม่ารู้ไหม ผมคิดว่ารู้ เพราะมีเหตุการณ์ที่เกิดเชื่อมโยงกันวันที่ท่านนายกอภิสิทธิ์ ออกแถลงการณ์ประณามพม่า พม่าธรรมดาก็รบกับกะเหรี่ยงอยู่แล้ว แต่พม่าก็เปิดปฏิบัติการอย่างรุนแรง ส่งผลให้คนอพยพมากขึ้น ฉะนั้นพม่ารู้จุดอ่อนนี้ สถานการณ์ชายแดนที่อยู่ติดกันแบบนี้ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า มี burden of proximity โทษฐานที่เราใกล้ชิดกัน ความใกล้ชิดทำให้เราไม่สามารถทำอะไรที่กระทบกระทั่งกัน ฉะนั้นโอกาสที่คาดหวังว่าเรามีรัฐบาลที่จากการเลือกตั้งแล้วบอกว่าเราเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยและเราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนพม่า มันเหลวไหลทั้งเพ ผมอ่านบทความที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีบทบาทในการแก้ปัญหา ผมสงสัยนี่เรียกร้องเทวดาที่ไหนทำเนี่ย โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบัน

ประการที่ 5 ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศไทยไม่มีฐานะที่จะเป็นประธานอาเซียนได้ บังเอิญว่าไล่ตามลำดับตัวอักษร  แถลงการณ์ที่รัฐบาลไทยออก ไม่ได้เขียนเอง เป็นการก๊อปปี้มาจากการประชุมที่ชะอำ มิใช่แถลงการณ์ใหม่ ผมอ่านแล้วแทบตกเก้าอี้ เพราะขณะที่ออกแถลงการณ์นั้น นางออซานซูจีอยู่ในเรือนจำ ปรากฏว่าแถลงการณ์นั้นเริ่มต้นด้วยการแสดงความห่วงใยในปัญหาสุขภาพ ก็เขาเพิ่งพบหมอสัปดาห์ก่อนหน้านั้น จะห่วงใยในปัญหาสุขภาพทำไมเล่า นี่เป็นปัญหาของการพยายามใส่อะไรลงไป แต่ใส่ไม่ลง ไม่สามารถที่จะใส่ความเห็นได้ว่า กระบวนการในการดำเนินคดีนั้นมีความโปร่งใสชอบธรรม จึงต้องใส่เรื่องปัญหาสุขภาพ

สุดท้าย ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศไทยจะผลักดันอะไรที่นำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ในพม่า อย่างน้อยที่สุดคือ ควรทำให้กระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็คือ การเปิดโอกาสให้คนหลายๆ มีส่วนร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการเลือกตั้ง พรรค NLD เปิดออฟฟิศได้หรือยัง เลขาธิการก็วิ่งเข้าออกคุก ประธานพรรค แก่แล้ว สมาชิกพรรค ถ้าไม่ถูกกักขังอยู่ก็ถูกบังคับให้เลิกเล่นการเมือง พรรคNLD ปัจจุบันมีความเป็นพรรคการเมืองที่เรียกว่าเป็นพรรคการเมืองได้แค่ไหน สาขาต่างๆ ในจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากย่างกุ้งทำงานได้แค่ไหน พอจะลงเลือกตั้งได้หรือไม่ อาเซียนพอจะพูด ไทยพอจะพูดประเด็นเหล่านี้ได้ไหม

คำตอบคือ ผมยังไม่พบกระบวนการที่ตั้งใจจะทำสิ่งเหล่านี้แต่อย่างใดเลย ผมถามรัฐมนตรีกษิต ว่านอกจากแถลงการณ์อันเดียวแล้วยังมีอะไรอีกไหมครับ ท่านตอบว่า รอดูกันไปก่อน


000

ซอว์ อ่อง: สิบกว่าปีที่ผ่านมา หมู่บ้านทั่วประเทศพม่ากว่าสามพันหมู่บ้านถูกเผาทำลาย ปัญหาของประเทศพม่าไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการเมือง แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจและสังคม เราจะเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้

ซอว์ อ่องรองเลขาธิการ Forum for Democracy in Burma: ผมอยากจะขอพูดถึง การวิเคราะห์ 2 ประเด็น แรกอองซานซูจี ตอนนี้ ถูกขังในคุกอินเส่ง รัฐบาลทหารพม่าใช้กฎหมายเมื่อ ค.ศ.1975 คือกฎหมายคุ้มครองประเทศกล่าวหาอองซานซูจี โดยกล่าวหาว่าการที่คนอเมริกันเข้าไปพักอยู่ที่ย้านของนางอองซานซูจีสองคืนเป็นการละเมิดกฎหมายนี้ ขณะนี้ทีมทนายซึ่งเป็นผู้ช่วยสมาชิกพรรค พยายามแก้ไขปัญหาในศาล ใช้ข้อที่ว่ากฎหมายเหล่านี้ ตั้งมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 1974 แต่รัฐบาลทหารพม่า ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้นไปแล้ว
 

รัฐธรรมนูญใหม่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญนาร์กิส ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขาใช้วิธีบังคับให้มีการลงมติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญใหม่ หลังเลือกตั้งไปแล้วนี้ อำนาจของรัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ได้ต่อไป เพราะว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร ก็จะไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 2 ตอนนี้ทหารพม่าเข้ามาโจมตีสหภาพกระเหรี่ยง และมีประชาชนอพยพกว่าหกพันคน ตั้งแต่เมื่อสันที่ 2 มิ.ย. จนถึงขณะนี้ และเขาขอความช่วยเหลือทั้งอาหารและผ้า รวมถึงเขากำลังประสบภัยจากโรคร้ายแรง เช่นมาเลเรีย แต่ผมอยากเน้นเรื่องที่ทำไมรัฐบาลพม่า ต้องโจมตีปัญหานี้ ปกติทหารพม่าโจมตีหน้าแล้ง แต่ตอนนี้เขาโจมตีหน้าฝน เพราะพยายามกวาดล้างกลุ่มเหล่านี้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า
 

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายพลฝ่ายควบคุมทหารด้านความมั่นคง นายพลเอ มิ้น เข้าไปเจรจากับกลุ่มชนกลุ่มน้อย เช่น ว้า ให้หยุดยิง และแต่งตั้งพรรคการเมือง แต่กลุ่มเหล่านี้มีอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่ามาตลอด ข้อแลกเปลี่ยนคือกลุ่มเหล่านี้ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงตามแนวชายแดน แต่ไม่มีอำนาจในการปกครอง  แล้วก็มีข้อแลกเปลี่ยนอีกประการคือ ทหารที่มีอำนาจสั่งการจะมาจากกองทัพของพม่า

แนวโน้มของกลุ่มประชาธิปไตยที่อยู่ภายนอกประเทศและภายในประเทศ ในประเทศพม่าเรามีแนวร่วม ของเยาวชนกลุ่มน้อย แนวร่วมนักศึกษา และสตรี เราร่วมมือทำงานกันและจะปรึกษาหารือว่าจะเดินหน้าต่อไป และเราจะมีข้อเสนอต่อนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาเซียน อียู หรือสหประชาชาติ ถ้าปัญหาของพม่าแก้ไขได้สักวันหนึ่ง เราจะประยุกต์การแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคมเราจะทำอย่างไร สำหรับยูเอ็นนั้น แม้ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน แต่ว่าเราในฐานะของประชาชนพม่า เราก็ลุกขึ้นต่อสู้มาตั้งแต่ปี 1988 ซึ่งเป็นการต่อสู้ขนานใหญ่ รวมถึงการสู้เป็นกลุ่มเล็กๆ น้อยๆ มาตลอด แต่เราต้องการขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้าน
 

สิบกว่าปีที่ผ่านมา หมู่บ้านทั่วประเทศพม่ากว่าสามพันหมู่บ้านถูกเผาทำลาย ปัญหาของประเทศพม่าไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องการเมือง แต่ยังมีเรื่องเศรษฐกิจและสังคม เราจะเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้
 

สำหรับการแซงก์ชั่น (การแทรกแซงด้วยการลงโทษ) จากภายนอก ได้ผลไหม อาเซียนทำอะไรได้บ้าง เราต้องพยายามเรียกร้องไปเรื่อยๆ เราเรียกร้องสิ่งเหล่านี้เพราะอะไร เพราะรัฐบาลพม่าถ้าไม่มีการกดดัน สถานการณ์ภายในจะยิ่งแย่กว่านี้
เราจะเรียกร้องต่อสหประชาชาติให้หยุดการขายอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า มีข้อมูลหลายๆ ทางที่รัฐบาลพม่าใช้อาวุธกับชนกลุ่มน้อย และเรายื่นเรื่องเหล่านี้ให้สภาความมั่นคง และคณะกรรมการสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เราเรียกร้องให้มีการแซงค์ชั่นเพิ่มและเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างใกล้ชิดและเข้มงวด เราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าต้องโดดเดี่ยว เราต้องมีการสัมพันธ์ ถ้าสิ่งเหล่านี้
 

ซอว์ อ่อง “ผมหนีออกมาจากพม่ามายี่สิบกว่าปีแล้ว ผมยังมีความหวังนะครับ ในปีที่ผมหนีมา บางคนยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป แต่ปัจจุบันนี้คนเหล่านั้นเขาก็ออกมาร่วมมือกับ เราต้องพยายามเรียกร้องไปเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลพม่านั้น ถ้าไม่มีการกดดัน สถานการณ์ภายในจะยิ่งแย่กว่านี้”

หลังเสวนามีกิจกรรมเนื่องในวันเกิดอองซาน ซูจี 19 มิ.ย. โดยผู้ร่วมงานร่วมกันจุดเทียนและเขียนป้ายผ้าเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเป็นภาษาต่างๆ โดยป้ายผ้าดังกล่าวจะถูกนำไปแสดงที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยต่อไป ผู้ร่วมงานประมาณ 100 คน

ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา มีการอ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนนักศึกษาเรียกร้องต่อเลขาธิการอาเซียนให้ระงับสมาชิกภาพของพม่าในองค์การอาเซียน โดยระบุว่า รัฐบาลทหารม่าได้กระทำการปิดกั้น ประทุษร้าย ทารุณกรรม ต่อประชานผู้รักประชาธิปไตยในพม่า ทั้งยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวอองซานซูจีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2531 (1988) จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2552 (2009) ผู้รักประชาธิปไตยในเมืองไทยและในสากลโลกได้เรียกร้องวิงวอนหลายครั้งหลายหน ให้รัฐบาลทหารพม่าคืนอำนาจอธิปไตยกับปวงชนชาวพม่า เยี่ยงนานาอารยชาติทั้งหลาย แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล จึงเรียกร้องให้พิจารณาระงับสมาชิกภาพของพม่าในองค์กรอาเซียนเป็นการชั่วคราวมีกำหนด 1 ปี หรือจนกว่าอองซานซูจีจะได้รับการปลดปล่อย หน่วงเหนี่ยว กักขัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการตักเตือนในความประพฤติอันมิชอบดังกล่าวของรัฐบาลทหารพม่า และหากภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่นี้ต่อไป คือเมื่อถึง พ.ศ. 2555 (2012) ถ้ารัฐบาลทหารพม่า มิยอมให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย ก็ขอให้องค์การอาเซียน ดำเนินการขับไล่พม่าออกจากองค์กรภูมิภาคอาเซียน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net