Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา รายการ “มองคนละมุม” ผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 MHz ได้เชิญ อาจารย์ชัยพงษ์ สำเนียง จากคณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา มาเล่าถึงเรื่องการอภิวัฒน์ 2475 เนื่องในโอกาสใกล้วันครบรอบในวันที่ 24 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
 
อ.ชัยพงษ์ได้เริ่มต้นว่า เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยเรามักจะมองว่า วันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ. 2475 เป็นวันที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามองในมิติประวัติศาสตร์เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลึก และไกลกว่านั้น สมัยก่อน 2475 ในสังคมไทยเรายึดถือเรื่อง “ชาติวุฒิ” คือเรื่องชาติกำเนิดของแต่ละคน ใครเกิดมามาจากชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นไพร่ หรือชนชั้นต่ำกว่า ฉะนั้นอาชีพการงานความเจริญก้าวหน้าจึงผูกยึดกับชาติวุฒิเป็นหลัก
 
ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปฎิรูปการปกครองของ ร. 5 ที่ทำให้เห็นการเติบโตของกลุ่มคนที่เรียกว่าคนชั้นกลาง หรือ คนสามัญ เช่น เทียนวรรณ, ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่เป็นปัญญาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้ที่มาจากจารีตแบบไทย ความรู้ที่มาจากฝรั่งที่เข้ามาที่มีอิทธิพลในสมัยนั้นเป็นกลุ่มคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม
 
“อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของ ร. 5 คือ กลุ่มข้าราชการ ที่ได้รับการศึกษา และเข้ามาอยู่ในระบบราชการ เป็นไพร่บ้างเป็นชนชั้นขุนนางระดับกลางระดับล่าง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการแสดงความคิดเห็นทำให้เกิดการเป็นแปลงในสังคม”
 
ช่วงนั้นจะเห็นได้ว่าเกิดกลุ่มคนที่หลากหลาย แม้แต่ชาวนาเองมีการเรียนรู้หรือเขียนคำถวายฎีกา ซึ่งคำถวายฎีกาส่วนใหญ่มักจะเห็นว่าเป็นการเรียกร้อง แต่สิ่งที่ปรากฏในฎีกาในสมัยนั้นคือ การเสนอให้สังคมเกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง สิ่งที่เราเห็นคือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในสังคม และค่อยๆ เติบโตทีละระดับ เกิดกลุ่มคนที่หลากหลาย เกิดกลุ่มคนในวิชาชีพต่างๆ ที่เราเรียกว่า “คนชั้นกลาง” รวมถึงการถั่งโถมของแนวคิดสมัยใหม่ที่เข้ามาสู่สังคมไทย จนมาถึง 2475 คนเหล่านี้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเป็นกลุ่มที่มีพลัง
 
“ในปี พ.ศ. 2475 กลุ่มทหารเพียงไม่กี่พันคนไม่มีทางทำการการปฏิวัติ ถ้าคนในสังคมไม่มีความรู้พื้นฐานไม่มีการเตรียมตัว การปฏิวัติก็คงยากที่จะเกิด”
 
ทั้งนี้ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามว่า เปิดประเทศของ ร. 5 ทำไมถึงสุกงอมเอาช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2475
 
อ.ชัยพงษ์ ได้ตอบว่า โดยบริบทของมันคือช่วงนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในราชการที่ 6 เรื่อยมาจนถึงราชการที่ 7 เกิดการวิกฤติการค้าข้าว ไทยต้องกู้เงินจากต่างประเทศมารวมถึงสังคมไทยเราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน โดยภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เป็นแรงผลักดันให้มีกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นมาและมีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆที่ เช่นในประเทศจีน ในปี ค.ศ 1911 (พ.ศ.2454) มีการโค่นล้มราชวงศ์ชิง ของซุน ยัตเซ็น รวมไปถึงในญี่ปุ่นที่ชนะสงครามในรัสเซียในปี ค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูปเมจิ ที่มีการปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ในสังคมไทยเองก็เกิดการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปี ร.ศ. 103 (พ.ศ.2427) และใน ร.ศ. 130 (พ.ศ.2454)
 
“เราจะเห็นได้ว่าประเทศที่ไม่มีการยึดติดกับชาติวุฒินั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศนั้นๆได้”
 
และในสมัยนั้นมีข้าราชการออกไปดูงานและศึกษาในต่างประเทศ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของนานาอารยประเทศ เป็นการเปิดโลกทัศน์เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม แล้วย้อนกลับมามองภายในประเทศไทยเราที่มีการแบ่งชนชั้น เล่นพรรคเล่นพวก ของกลุ่มศักดินา กลุ่มอำมาตยาธิปไตย ในการบริหารประเทศ ในระบบราชการ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของกลุ่มบริหาร นำมาสู่ความผิดพลาดในการบริหารประเทศ เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำให้เป็นแรงผลักดันของกลุ่มคน (ชั้นกลาง)ที่มองเห็นประชาธิปไตยคือทางออกของสังคม
 
“คุณูปการของ 2475 คือการที่กลุ่มคนต่างๆ มีความเสมอหน้ากัน มีความเท่าเทียมกัน มีสิทธิเสรีภาพ ในด้านการศึกษา การกระจายรายได้ ด้านเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่เราต้องตระหนัก แต่ช่วงหลังมาไม่ค่อยมีการระลึกถึงกัน”
 
ทั้งนี้ในส่วนตัว อ.ชัยพงษ์ คิดว่าเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับนานาประเทศ อย่างจีน หรือลาว เขาคิดว่าวันที่มีการปฏิวัติ หรือวันประกาศเอกราชเป็นวันสำคัญเป็น “วันชาติ” แต่สำหรับคนไทยไม่ใช่
 
ผู้ดำเนินรายการถามว่าในช่วงนั้น ทั้งยุโรป เอเชียมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง แล้วความสัมพันธ์ยังมีอยู่หรือเปล่า ในแง่ของความเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการของประชาธิปไตยในมุมมองของอาจารย์เป็นอย่างไร
 
อ.ชัยพงษ์ มองว่าพัฒนาการของประชาธิปไตยมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ การตีความคำว่าประชาธิปไตยส่วนตัวคิดว่ามันลื่นไหล มีความความเปลี่ยนแปลงในความหมายอย่างมหาศาล
 
“อย่าง 14 ตุลา 16 ประชาธิปไตยคือ สันติ ประชาธรรม เสมอภาค แต่ 6 ตุลา 19 อำมาตยาธิปไตยขึ้นมาแทน ประชาธิปไตย คือ คนกลุ่มน้อยขึ้นมามีอำนาจ เป็นประชาธิปไตยที่ต้องฟังผู้ใหญ่ชี้นำ แม้จะมีสิทธิเสรีภาพแต่การบริหารอยู่ในมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คิดว่าประชาธิปไตย มันมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ”
 
อ.ชัยพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ประชาธิปไตยหลัง 2540 มีการเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ให้สิทธิกับทุกกลุ่มทั้งรัฐและเอกชน กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมีพลังมีอำนาจ แต่หลังจาก 19 กันยา ประชาธิปไตยกลับหลังอีกครั้งหนึ่ง อำมาตยาธิปไตยขึ้นมาแทนประชาธิปไตย ที่ต้องชี้นำสังคมไทย ต้องอยู่ในความควบคุมของผู้ใหญ่ ต้อยค่อยเป็นค่อยไป มีการออกมาของกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดง มีความหลากหลาย อย่างไรก็ แต่ประชาธิปไตยที่เราต้องยึดร่วมกัน คือ สิทธิเสรีภาพ ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงมีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน
 
ผู้ดำเนินรายการได้ถามต่อไปว่าเหตุผลที่ประชาธิปไตยในไทยของเรา ทำไมถึงกลับไปกลับมาอยู่ตลอด ตั้งแต่ 2475 เรื่อยมาจนถึงตอนนี้วัฒนธรรมประชาธิปไตยจริงๆ ทำไมไม่ยอมเกิดสักที
 
อ.ชัยพงษ์ ตอบว่าสังคมไทยเรามักจะโหยหาอดีต ยึดติดกับวีรบุรุษคนใดคนหนึ่ง เมื่อก่อนเราอาจจะคิดถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ที่ใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ปัจจุบันอาจจะเป็นทักษิณ ชินวัตร หรือคนใต้อาจจะคิดถึงท่านชวน หลีกภัย คือ ประชาธิปไตยแบบนี้เรายึดกับตัวบุคคลเป็นหลัก
 
“แบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ถ้าเราได้คนที่คิดถึงประชาธิปไตยที่มีความเสมอหน้า ระบบก็จะเติบโตไปตามที่มันควรจะเป็น แต่ถ้ายึดติดกับบุคคลแล้วประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นปัญหาทันที คือ ถ้าการเข้ามาโดยระบบมันก็สามารถเดินได้ด้วยตัวของมันเองไม่ว่าใครจะเข้ามาก็ตาม ปัญหาคือเราไม่ให้การศึกษาแบบประชาธิปไตย หรือประวัติศาสตร์การเมืองไทยย่างจริงจัง”
 
ทั้งนี้เวลาเราอธิบายประวัติศาสตร์เรามักจะมองที่กลุ่มคนต่างๆ ประวัติศาสตร์ไทยกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่แห้งแล้งน่าเบื่อหน่ายไม่น่าจดจำ แต่ถ้าศึกษาจริงเราเห็นทั้งความปีติ น้ำตา เศร้า ดีใจ สุข ทุกข์ มันคือวิญญาณของมนุษย์ มันคือ คนที่มีชีวิต สามารถที่จะติดตามได้ สิ่งเหล่านี้เรายังขาดแคลนอยู่มาก เพราะเรามองไม่เห็นว่ากลุ่มนั้นขัดแย้งกับกลุ่มนี้ แต่ในด้านการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านชนบทเราไม่เห็นเลย ประวัติศาสตร์ของเราจึงแห้งแล้งขาดชีวิตชีวา
 
อ.ชัยพงษ์ กล่าวต่อว่า สังคมเราไทยส่วนใหญ่แล้วจะสอนแต่ประวัติศาสตร์ที่เป็นระบบของราชการ ในส่วนของประวัติศาสตร์ของส่วนอื่นๆ ของคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ยอมเข้าใจเลย ไม่เห็นความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่าง เช่น กลุ่มกบฏวังหลวง กบฏอื่นๆ อีกมากมายที่เราไม่มีการศึกษาว่าเกิดเพราะเหตุใด ส่งผลสะเทือนต่อสังคมอย่างไร และผลของเหตุการณ์นั้นๆสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีคนกลุ่มใดเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาเหล่านั้นเป็นใคร มีแรงผลักดันใดที่เขาเข้ามากระทำการนั้นๆ สิ่งเรานี้เราไม่เห็นในประวัติศาสตร์ไทย เราจึงทำให้จำแต่เหตุการณ์ที่แห้งแล้ง และทำให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อ
 
กรณีที่น่าสนใจในประเทศเพื่อนบ้านก็คือการศึกษาประวัติศาสตร์ของลาว ที่น่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เห็นคนทุกกลุ่ม คือไม่ทำให้ใครเป็นชายขอบ แต่ถ้ามองของไทยส่วนใหญ่แล้วจะเห็นแต่สมัยอยุธยา ไม่เคยปรากฏประวัติศาสตร์ของอีสาน ของภาคเหนือ (ล้านนา) ของภาคใต้ เป็นยังไง
 
“ของลาว คือ ทุกเผ่าจะแยกออกจากกันไม่ได้ ซึ่งเขาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลย ในส่วนของไทย คือ ต้องเป็นคนไทย ต้องเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย และถือศาสนาพุทธถึงจะได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ แม้ในรัฐธรรมนูญจะตราไว้ว่าให้ยอมรับในความหลากหลายในเชื้อชาติศาสนา แต่ประชาธิปไตยโดยในตัวอุดมการณ์เราไม่ค่อยเห็นในสังคมไทย เวลาเราสอนประวัติศาสตร์เราไม่เคยสอนความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย คนชายขอบต่างๆ”
 
.ชัยพงษ์ กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันเห็นได้จากการกระจายการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่าง อบต. อบจ. หรือเทศบาลต่างๆ ที่เป็นประชาธิปไตยทางตรง ที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดทิศทางความเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดเมืองนอนของตน ส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาของประชาธิปไตยไทย ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 คือ การรัฐประหารไม่ว่าจะด้วยกลุ่มคนใด และเหตุผลใด แต่ประหลาด คือ คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมกับ มองว่าการรัฐประหาร คือ ทางแก้ปัญหา
 
“พ.ศ. 2475 ที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่ระยะทางต่างหากที่เป็นปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตย มีทั้งกลุ่มอำมาตย์กลุ่มทหาร ที่พยายามเข้าแทรกแซงชี้นำสังคมไทย และเป็นปัญหามาตลอด รวมถึงเป็นโจทย์ให้สังคมไทยขบคิดว่าเราจะหลุดพ้นจากวัฏจักร อัปลักษณ์นี้ได้อย่างไร” อ.ชัยพงษ์กล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net