‘สื่อเหนือ’ ย้ำสิทธิชุมชน-ป้องปฏิรูปสื่อ

 

เครือข่ายสื่อภาคเหนือเรียกร้องรัฐเคารพกฎหมาย คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน โดยเสนอให้แยกการประกอบกิจการสื่อของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่อที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  หวั่นกระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนหลงทาง เหตุมุ่งคุ้มครองธุรกิจ

วันนี้ (22 มิ.ย. 52) ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดเวทีชี้แจงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และร่างมาตรฐานเทคนิคกิจการบริการชุมชน (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ฉบับชั่วคราว และชี้แจงขั้นตอนการเตรียมการเพื่อลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุชุมชน โดยมีศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธาน

ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงร่างประกาศฯ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า มีบางฝ่ายพยายามขัดขวางกระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนตนจึงอยากให้ทุกคนฟังคำชี้แจงของอนุกรรมการเพียงเท่านั้น การออกอากาศจากนี้ไปจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย คือไม่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และให้มีการบันทึกเทปสามสิบวันตามกฎหมาย หลังแสดงความประสงค์แล้วก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตได้
“ผู้ที่ทดลองออกอากาศสามารถมีโฆษณาได้หรือไม่ ผมอยากเรียนว่าผู้ที่ทดลองออกอากาศเป็นการชั่วคราวจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินการที่คณะกรรมการกำหนด ปัจจุบันคณะกรรมการไม่ได้ห้ามไม่ให้แสวงหารายได้โดยการโฆษณา ท่านทำอะไรอยู่ก็สามารถดำเนินการต่อไป ท่านอยากโฆษณาท่านก็สามารถดำเนินการได้” ประธานคณะทำงานกล่าว
ทั้งนี้ระหว่างการชี้แจงของอนุกรรมการ ตัวแทนวิทยุท้องถิ่นจากสมาคมวิทยุท้องถิ่นไทย สมาคมกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และเครือข่ายวิทยุชุมชนเพื่อความมั่นคง สมาคมสมัชชามวลชนเพื่อความมั่นคง ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นด้วยกับร่างประกาศดังกล่าวแม้ว่าเดิมจะไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้สมาชิกของตนพร้อมที่จะลงทะเบียน เนื่องจากอนุกรรมการได้หาทางออกให้ภาคธุรกิจได้อย่างแยบยล โดยการเปิดให้วิทยุท้องถิ่นได้ขึ้นทะเบียน และจากนั้นจะให้ใบทดลองออกอากาศซึ่งจะทำให้เราออกอากาศต่อไปได้ตามเดิม ทั้งนี้วิทยุท้องถิ่นจะไม่ไปขอใบอนุญาตวิทยุชุมชนแน่นอน
อย่างไรก็ตามเครือข่ายสื่อภาคประชาชนในภาคเหนือยังมีข้อกังวลว่ากระบวนการและกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราวที่ให้สิทธิแก่วิทยุธุรกิจท้องถิ่นดำเนินการได้ตามเดิมในระยะเวลาสามร้อยวันจะทำให้เกิดการรบกวนคลื่นความถี่ของวิทยุชุมชนซึ่งมีกำลังส่งน้อยกว่า ประกอบกับขณะนี้ขั้นตอนการออกใบอนุญาตเป็นเพียงร่างประกาศ การเร่งรัดให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าโดยไม่แยกแยะประเภทการประกอบกิจการจึงก่อให้เกิดความสับสนแก่ชุมชนที่ต้องการใช้สิทธิดำเนินการวิทยุชุมชน
แหล่งข่าวจากเครือข่ายสื่อภาคเหนือตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนของอนุกรรมการและ กทช. ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดความสับสนระหว่างวิทยุชุมชนและวิทยุธุรกิจต่อไป เนื่องจากขั้นตอนวิธีการภายใต้กระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนขณะนี้เอื้อให้วิทยุท้องถิ่นซึ่งเป็นวิทยุภาคธุรกิจดำเนินการต่อไปเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะเข้ามาทำวิทยุชุมชนแต่อย่างใด หาก กทช.และอนุกรรมการฯ ใช้โอกาสในการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนมุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลมากเกินขอบเขตของกฎหมาย ก็อาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและนำไปสู่การปฏิเสธกติกาในครั้งนี้ได้
ทั้งนี้เครือข่ายสื่อภาคเหนือและแนวร่วมที่เข้ายื่นหนังสือให้กับ กทช. และอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม.

 
แถลงการณ์
“ขอให้รัฐปกป้องสิทธิการสื่อสารของชุมชนและเร่งผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อ”
 
ตามที่ กฎหมายพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) นั้น
 
บัดนี้ คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว ได้จัดเวทีชี้แจงร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุชุมชนทั่วประเทศนั้น
 
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้ประชุมหารือร่วมกัน ในวันที่ 20-21 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งมีความกังวลต่อขั้นตอนและกฎเกณฑ์ในการให้ใบอนุญาตแก่วิทยุชุมชน ดังนี้
 
1. การที่อนุกรรมการฯ ให้วิทยุที่ไม่ใช่วิทยุชุมชนทดลองออกอากาศได้ 300 วัน นับจากวันที่ได้แจ้งความประสงค์ โดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น กำลังส่งกระจายเสียง (วัตต์) อาจส่งผลกระทบต่อวิทยุชุมชนที่ขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ซึ่งมีกำลังส่งกระจายเสียงน้อยกว่า เป็นต้น
2. การประกาศของคณะอนุกรรมการฯ เรื่องขั้นตอนการให้ใบอนุญาตแก่วิทยุชุมชนไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการรับลงทะเบียนแจ้งความประสงค์การประกอบกิจการวิทยุชุมชน ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ดำเนินงานวิทยุชุมชนได้
 
ดังนั้น เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนตามรายชื่อแนบท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อขั้นตอนและกฎเกณฑ์การให้ใบอนุญาตแก่วิทยุชุมชน ดังนี้
 
            1. คณะอนุกรรมการฯ และกทช. ควรมีมาตรการคุ้มครองวิทยุชุมชนที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนชั่วคราว ให้สามารถส่งกระจายเสียงได้ โดยไม่ถูกวิทยุอื่นๆรบกวน หรือเบียดทับ เนื่องจากวิทยุชุมชนมีกำลังส่งกระจายเสียงที่น้อยกว่าวิทยุประเภทอื่นๆ
 
            2. คณะอนุกรรมการฯ และกทช. ควรกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้วิทยุประเภทอื่นๆ ที่มิใช่วิทยุชุมชน ทดลองออกอากาศได้ 300 วัน ภายใต้กรอบที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิในการสื่อสารของภาคประชาชน
 
            3. คณะอนุกรรมการฯ และกทช. ควรใช้หลักเกณฑ์การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนชั่วคราว โดยอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารของภาคประชาชน เช่น การตรวจสอบรายการ โดยให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตวิทยุชุมชนนั้น ต้องบันทึกเทปรายการเป็นเวลา 30 วัน อาจเป็นภาระแก่ผู้ดำเนินงานวิทยุชุมชนได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ และกทช. ควรมีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย เป็นต้น
 
            4. คณะอนุกรรมการฯ และกทช. ควรเร่งผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อโดยเร็ว ทั้งสื่อของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปีพุทธศักราช 2550 ในการใช้คลื่นความถี่อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม
 
ด้วยความเชื่อมั่นต่อพลังแห่งการปฏิรูปสื่อ
 
เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
 
22 มิถุนายน 2552
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท