ระดมความเห็นที่เชียงใหม่เรื่อง “สิทธิปฏิเสธการรักษา”

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมกับหลายเครือข่ายจัดรับฟังความคิดเห็น “สิทธิปฏิเสธการรักษา” ของผู้ป่วย ระดมความเห็นทุกภูมิภาค ล่าสุดจัดที่เชียงใหม่ เพื่อนำข้อเสนอมาประมวลและใช้ในการปรับแก้กฎกระทรวงที่จะกำหนดหลักการปฏิบัติ ด้านเลขาสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้เรื่องนี้ต้องเข้าใจทั้งกฎหมาย สังคม วัฒนธรรม และศาสนาควบคู่กันไปเพื่อให้การใช้สิทธิเป็นไปตามความปรารถนาและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

 
เมื่อ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมมือกับเครือข่ายพุทธิกา และศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย” และแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยในวาระสุดท้ายเพื่อการจากไปอย่างสงบ ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการจัดเวทีสาธารณะเช่นนี้ได้มีการจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค คือ ขอนแก่น สงขลา กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพื่อนำมาประมวลและใช้ในการปรับแก้กฎกระทรวงที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่าง
เนื่องจากในการแพทย์แผนปัจจุบันมีวิธีการต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจด้วยเครื่องมือทันสมัยแม้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้เองแล้วก็ตามและผู้ป่วยก็ไม่อาจคืนความรู้สึกตัวกลับมาได้ต้องนอนสลบตลอดเวลากินอาหารเองไม่ได้ ไม่สามารถตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ การมีชีวิตด้วยเครื่องมือดังกล่าวบางทีเรียกว่า สภาพผักถาวร (persistent vegetative state) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน และไร้ซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ในขณะที่ญาติผู้ดูแลและครอบครัวต้องโศกเศร้าเสียใจ และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลอันเนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลและการใช้เทคโนโลยีที่เกินจำเป็น โดยบางครอบครัวถึงกับต้องเป็นหนี้สินหรือล้มละลายเพราะเห็นว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ตายได้
ทั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือ สิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองเกี่ยวกับเรื่องเฉพาะตัว (The right of self determination หรือ Human autonomy) ฉะนั้นจากสภาพการณ์ดังกล่าวจึงก่อให้เกิดพัฒนาการในเรื่องแนวคิดของ “สิทธิในการที่จะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง” อันเป็นพื้นฐานของแนวคิดสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิด “สิทธิปฏิเสธการรักษา” ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจด้วยตนเองในเวลาที่วาระสุดท้ายของชีวิตตนมาถึงว่าจะรับการรักษาหรือไม่ ซึ่งถือเป็นสิทธิผู้ป่วยที่นานาชาติให้การยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นแพทยสภาคมโลก (World Medical Association) ที่ให้การรับรองคำแถลงเรื่อง เอกสารแสดงเจตจำนงล่วงหน้าของแพทยสมาคมโลก นอกจากนี้ยังมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายประเทศ เช่น กฎหมายสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เดนมาร์ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามบุคลากรทางการแพทย์ก็ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ความทุกข์หรือ Palliative Care และกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องเอาผิดจนทำให้สูญเสียความมั่นใจในการรักษาและพยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่ และบุคคลทั่วไปก็ยังมีความเข้าใจในเรื่องนี้ไม่มากนักเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนเฉพาะกลุ่มที่ทำงานบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แม้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางรายมีความประสงค์ที่จะปฏิเสธการใส่ท่อช่วยหายใจหรือหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อยืดการตายของตนออกไป แต่คำร้องขอของผู้ป่วยมักได้รับการปฏิเสธจากญาติและผู้ให้การรักษา โดยมองว่าเป็นการแสดงความอกตัญญูต่อบุพการีอันเป็นที่รักหรือไม่พยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อผู้ป่วย
สำหรับประเทศไทยได้มีการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 โดยให้สิทธิกับทุกคนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ แต่มิได้เป็นการบังคับจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่การทำหนังสือดังกล่าวนั้นกฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งขณะนี้ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยและร่างกฎกระทรวงขึ้นมา พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นอกจากนี้ยังได้ทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการกับองค์กรวิชาชีพ หน่วยงาน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล และนำมาประมวลความเห็นเพื่อปรับแก้ให้เหมาะสม
ทั้งนี้ในการใช้สิทธิดังกล่าวนั้น นพ. ชาตรี เจริญศิริ เลขาสำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจทั้งกฎหมายและเข้าใจเรื่องชีวิตและความตายทั้งทางสังคม วัฒนธรรมและศาสนาควบคู่กันไปด้วยจะทำให้การใช้สิทธิเป็นไปตามความปรารถนา และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกัน
หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะนำเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตฯ พ.ศ. ... ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และขอความเห็นชอบหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารายละเอียดในคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเสนอขอความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท