Skip to main content
sharethis

ครั้งหนึ่ง ‘พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์’ ได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของการเกิด“พื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ชายแดนในภาคเหนือ” ของรัฐไทยสมัยใหม่ ผ่านมิติทางชาติพันธุ์บนเศรษฐศาสตร์การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐอาณานิคมแห่งสยาม จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 
 
ประเด็นปัญหาตามเขตแนวชายแดนไทย-พม่าในเขตภาคเหนือ ยังคงคุกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากทำให้หลายฝ่ายมองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีอีกหลายมิติที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ รวมไปถึงเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์และชาติพันธุ์
 
‘ประชาไท’ ขอหยิบประเด็นจากการประชุมวิชาการ “ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม” ซึ่งจัดโดย โครงการจัดตั้งศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (RCSD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่นั้น ออกมานำเสนออีกครั้ง
 
โดยในเวทีดังกล่าว ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดคุยในหัวข้อย่อย เรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์และชาติพันธุ์ชายแดน ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของการเกิด“พื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่ชายแดนในภาคเหนือ” ของรัฐไทยสมัยใหม่ ผ่านมิติทางชาติพันธุ์บนเศรษฐศาสตร์การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐอาณานิคมแห่งสยาม จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
 
ดร.พิชญ์ สรุปชัดว่า ชายแดนของไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ แต่มันมีการผสมกลมกลืนระหว่างการสร้างพรมแดน(Frontier)กับการกำหนดเส้นแดนที่เรือนร่างคน(primitive accumulation) รวมไปถึงสร้างแรงงานไม่ให้เคลื่อนที่ แต่ทุนเคลื่อนที่ไปได้
 
 
ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์บอกว่า การพูดเรื่องชาติพันธุ์โดยไม่พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นไปไม่ได้ และเสนอว่า การเกิดประเทศไทยเกิดจากการล่มสลายของอาณาจักรใหญ่ ๆ หลายอาณาจักร และอยากเสนอข้อเสนอหลัก ๆ คือ ชาติพันธุ์ไม่สามารถละเลยเรื่องบริบทการเกิดรัฐไทย และการล่มสลายของอาณาจักรใหญ่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งบริเวณที่เรียกว่าภาคเหนือก็คือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่จำนวนมาก
 
ดร.พิชญ์ ย้ำว่า 1.ชายแดน ไม่ได้เกิดขึ้นใหม่ แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ 2.แนวคิดว่าด้วย ชาติพันธุ์ อาทิ ลาวเฉียงเป็นชาติพันธุ์หรือไม่? หรือคนเมืองเป็นชาติพันธุ์ในสายตาของคนกรุงเทพ หรือไม่? ดังนั้น สำหรับกรอบแนวคิดว่าด้วยชาติพันธุ์ จะต้องมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของคนทั้งหมดในพื้นที่ร่วมด้วย และ 3.เมืองชายแดนกับชาติพันธุ์ ซึ่งชายแดนเป็นพื้นที่สำหรับแนวคิดว่าด้วยชาติพันธุ์สมัยใหม่ และแยกออกจากภูมิรัฐศาสตร์ในแบบเดิมๆ
 
ดร.พิชญ์ ได้เสนอให้เห็นว่า ชาติพันธุ์ที่ชายแดน (กรณีจังหวัดตาก)นั้นมีอำนาจทั้งในด้านการค้า และการสงคราม ไม่ได้มีแค่มิติเพียงเรื่องของวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว เหล่านี้ล้วนเป็นมิติทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่เราควรให้ความสนใจ
 
“ดังนั้น ขอเสนอกรอบการพูดเรื่องชาติพันธุ์ปัจจุบันว่า มี 3 ปัญหา เนื่องจากพัฒนาจากกรอบที่สำคัญ คือ 1.มีตัวแบบของชาติพันธุ์ ซึ่งเกิดจากประวัติศาสตร์ของความสำเร็จเพื่อกำหนดความเป็นชาติพันธุ์ 2. ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่ไม่มีความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือไม่ได้มองความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ หรือเป็นการมองจากภายนอก โดยการเอาคำว่า ไทยและสยาม มาแปะไว้ในพื้นที่ ไม่มองเรื่องอำนาจ การค้า และการสงคราม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐไม่สามารถจัดการกับความแข็งแกร่งของความหลากหลายที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ 3.การพูดถึงชาติพันธุ์ใดเฉพาะ และมองว่าเป็นเหยื่อ และแยกออกจากเศรษฐกิจการเมือง แยกการค้า พ่อค้าในอดีต ไม่ได้ให้รัฐคุ้มครอง...”
 
ทั้งนี้ ดร.พิชญ์ ได้นำเสนอมีอยู่ 2 ประเด็นความหมายสำคัญ คือ 1.กายภาพ และ 2.กาย
 
“...เมื่อเส้นแดน และเรือนร่างของชาติไม่ใช่ก้อนเดียวกัน คนในพื้นที่ชาติเป็นชาติพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามักพูดถึงมากเรื่องเส้นแดน กับการแบ่งพื้นที่โดยไม่สนใจกับบริบทประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ทำให้มองเส้นแดนแบบเส้นตรง คือ เส้นแดนกำเนิดชายแดน ทั้ง ๆ ที่มันมีการเปลี่ยนตลอดเวลา”
 
ในทางกลับกัน ดร.พิชญ์ ก็พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าชายแดนก็คือศูนย์กลางแบบหนึ่งของพื้นที่ อาทิ ความเป็นศูนย์กลาง ในฐานะสิ่งสำคัญ หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดชุมชนในพื้นที่ชายแดน เช่น การค้า เป็นต้น
 
“...ชายแดนเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดที่สร้างเศรษฐกิจ หรือเป็นพื้นที่ที่เติบโตมาก เช่น กรณีเชียงแสน กับตาก ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชายแดน ทำให้ชายแดนเดิมถูกเปลี่ยนไปที่ชายแดนใหม่ หรือกล่าวอีกนัยก็คือชายแดนมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของรัฐศูนย์กลางมากขึ้น ในกรณีพื้นที่ร้างบางพื้นที่ อาทิ เชียงแสนจึงไม่ได้ร้างเอง มันถูกบังคับให้ถูกร้าง เพื่อให้เชียงใหม่โต เนื่องจากชายแดนกับศูนย์กลางมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ต้องมองพัฒนาการของทั้งสองพื้นที่ พื้นที่ชายแดนกับพื้นที่การค้า หรือเส้นทางการรบกับเส้นทางการค้ามันไปด้วยกัน...”
 
ดร.พิชญ์ บอกว่า ความรกร้างของเชียงแสนทำให้เกิดพรมแดน(Frontier) ระหว่างเชียงใหม่กับเชียงตุง เพราะว่ารัฐส่วนกลางจัดการพื้นที่ไม่ได้ เพราะว่าเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจเหนือพื้นที่ของเขา การแย่งชิงอำนาจเชิงพื้นที่จึงสูงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ชายแดนมีความสำคัญกับศูนย์กลาง ไม่ใช่พื้นที่ที่อำนาจรัฐเหมือนแรงเทียนตามความเชื่อแบบเดิม
 
“ดังนั้น เมื่อรัฐไทยมีประวัติศาสตร์ที่จัดการพื้นที่ไม่ได้ก็เลยใช้การจัดการคน เพื่อควบคุมพื้นที่ชายแดน อาทิ กรณีระแหง ซึ่งไม่ใช่เมืองใหญ่ และแม่สอดเป็นพื้นที่ชายแดนใหม่ พระเจ้าตากไม่ใช่คนเมือง อังกฤษ สนใจเชียงใหม่มากกว่ากรุงเทพฯ ทำให้เมืองระแหงเติบโต เมื่อตากเริ่มเป็นพื้นที่ที่โตขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโดยมีรถไฟมาภาคเหนือ เกิดการเปลี่ยนแปลงความสำคัญของตาก เพราะการเดินทางไม่ต้องอาศัยแม่น้ำปิงอีกต่อไป ตอนแรกเป็นป่า แล้วถูกเปลี่ยนเป็นป่าไม้ในเชิงการค้า เมื่อไม่ให้สัมปทานอังกฤษแล้ว รัฐไทยพยายามเข้ามาจัดการพื้นที่ แม่สอดเกิดการเติบโต แต่ว่ารัฐไทยก็ไม่สามารถจัดการพื้นที่นี้ได้ เพราะว่าเมื่อก่อนพื้นที่ของแม่สอดเป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยงที่มีอำนาจในการจัดการควบคุมพื้นที่ เกิดภาษีการค้าของกองทัพกะเหรี่ยง…”
 
ดร.พิชญ์ บอกอีกว่า รัฐไทยควบคุมเส้นแดน สร้างเส้นแดนบนตัวคน(กาย) ผ่านระบบพลเมือง และคนกลุ่มน้อยถูกทำให้เป็นชาติพันธุ์ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่รัฐสร้างขึ้นมา เรื่องชายแดนจึงไม่ใช่การสร้างเส้นเขตแดน แต่ว่ามันเกี่ยวข้องกับการสร้างชาติผ่านคน เช่น คนในบังคับอังกฤษเป็นการลงทะเบียนคน และชาติพันธุ์ ในขณะที่ไทยลงทะเบียนเฉพาะคนไทย
 
ดร.พิชญ์ พูดถึงชนกลุ่มน้อย 16 กลุ่มด้วยว่า มีลักษณะพิเศษที่รัฐไทยอีหลักอีเหลื่อต่อการจัดการ รัฐจึงต้องใช้กรอบเป็นวิธีที่ยืดหยุ่น เพื่อจัดการกับคนที่เดินทางให้อยู่กับที่ (พื้นที่) ที่แน่นอน แต่ก็ไม่สามารถขอเป็นสัญชาติไทยได้ ทำให้ชาติพันธุ์ไม่ใช่คนไทยแต่เป็นชนกลุ่มน้อยในเชิงการเมืองเรื่องพื้นที่และการทหาร เท่านั้น
 
“...รัฐไทยจัดพื้นที่ไม่ให้คนเดินทาง ไม่ให้เคลื่อนย้าย โดยให้อยู่ที่ชายแดน และมีผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ โดยต้องให้คนกลุ่มนี้ขอใบอนุญาตทำงาน หรือไม่ก็ต้องหนีเข้าเมือง ดังนั้น ในที่นี้ รัฐไทยก็เลยใช้เส้นแดนบังคับคนเหล่านี้ โดยเมื่อไหร่ที่คุณกลุ่มนี้มีบัตร เส้นแดนมันก็ตามคนพวกนี้ตลอด รัฐไทยจึงสร้างพื้นที่ของการยอมรับผ่านการใช้ชายแดนที่อยู่บนเรือนร่างของเรา อาทิ เมื่อเราไปไหนที่ไม่มีบัตรเราข้ามพรมแดน หนึ่งสู่อีกพรมแดนได้หรือไม่ ดังนั้นพรมแดนจึงไม่ใช่ทางกายภาพ แต่เป็นกาย (คน) ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยได้ คุณข้ามพรมแดนไม่ได้...”
 
ดร.พิชญ์ ได้ย้ำในตอนท้ายว่า ดังนั้น ชายแดนของไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ แต่มันมีการผสมกลมกลืนระหว่างการสร้างพรมแดน(Frontier) กับการกำหนดเส้นแดนที่เรือนร่างคน(primitive accumulation) รวมไปถึงสร้างแรงงานไม่ให้เคลื่อนที่ แต่ทุนเคลื่อนที่ไปได้.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net