Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ห้วงเวลายามหัวค่ำหลายวันก่อน ขณะที่ฉันเดินทางจะกลับเข้ามาบ้านในพื้นที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ ฉันสังเกตเห็นคัทเอาท์ขนาดใหญ่ติดอยู่ตรงสี่แยกไฟแดง สีสันสดใสกับการ์ตูนยิ้มร่าเริงดีใจ ข้อความบนป้ายมีใจความว่า “บริษัททรานส์ไทย – มาเลเซีย (ประเทศ) ไทย จำกัด ขอเชิญร่วมฉลอง 2,000,000 ชั่วโมง การทำงานอย่างปลอดภัย 25 – 26 มิถุนายน 2552 ณ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ทิ้งท้ายด้วยคำขวัญ สร้างคุณภาพ ตะหนักความปลอดภัย ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” หัวสมองฉันทำงานโดยอัตโนมัติ “โรงแยกก๊าซสร้างภาพลวงโลก” นึกในใจที่นี่เป็นตำบลหนึ่งที่แนวท่อก๊าซผาดผ่านเพื่อส่งก๊าซจากอำเภอจะนะไปยังประเทศมาเลย์
ระหว่างทางขณะนั่งอยู่บนรถสองแถวสายหาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปยังอำเภอจะนะ สายตาทอดมองธรรมชาติสองข้างทาง คิดอะไรเพลินๆ อยู่ๆ สายตาหยุดสะดุดกับคัทเอาท์ประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ของโรงแยกก๊าซ ข้อความเดียวกับที่ฉันเห็นที่ไฟแดงหน้าบ้านฉัน
เมื่อเห็นข้อความนั้นซ้ำๆ หลายครั้ง หลายวันต่อมาฉันเริ่มคิดว่า จะทำอะไรดีหนอกับคำว่า “2,000,000 ชั่วโมง กับการทำงานอย่างปลอดภัย” ที่ติดค้างในใจ เพราะความเป็นจริงที่ฉันรับรู้มา 2,000,000 ชั่วโมง กับการทำงานที่ผ่านมาของบริษัททรานส์ไทย – มาเลเซีย (ประเทศไทย) หรือชื่อย่อเรียกสั้นๆ ว่า “ทีทีเอ็ม” ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่โฆษณาชวนเชื่อสร้างภาพไว้ จากที่ฉันได้ลงพื้นที่ร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จากโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นกลไกหนึ่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เสียงสะท้อนถึงผลกระทบและความวิตกกังวลจากพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน และตำบลสะกอม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย มีมากมายหลายประเด็น อาทิ…
ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่ว
คิดว่าทางบริษัททีทีอ็มยังจำเหตุการณ์ท่อก๊าซรั่ว ณ สถานีควบคุมก๊าซที่ 1 เมื่อประมาณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 ได้ดี วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “จะนะหนีวุ่นท่อก๊าซแตกพุ่งสูง 1 เมตร ชี้วาล์วขัดข้อง” (คมชัดลึก 8 กุมภาพันธ์ 2552) “แตกตื่นท่อส่งก๊าซจะนะ” รั่ว เผยงูเข้าหม้อแปลงไฟช็อร์ต (มติชน 8 กุมภาพันธ์ 2552) “ตื่นท่อก๊าซจะนะ” รั่วสูง 1 เมตร เหตุหม้อไฟระเบิดดันวาล์วเปิด (กรุงเทพธุรกิจ)
กรณีเสียงเครื่องจักรดังจนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาประท้วง
ตั้งแต่โรงแยกก๊าซเดินเครื่องได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากมาย “น้าพงษ์” หรือนายสมพงษ์ ประสีทอง ชาวบ้านตำบลตลิ่งชันเล่าว่า วันแรกที่โรงแยกก๊าซเปิดเดินเครื่อง น้าพงษ์พร้อมด้วยภรรยาและลูกหลาน พร้อมทั้งเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง ต้องวิ่งหนีออกจากบ้าน เพราะเสียงเครื่องจักรที่ดังสนั่นผิดปกติ ทุกคนต้องวิ่งออกมาดู เพราะตกใจและหวั่นกลัวว่าจะเกิดระเบิด
น้าพงษ์เล่าว่า เสียงดังเหมือนเวลาเครื่องบินขึ้นลง หลังโรงแยกก๊าซเปิดเดินเครื่องเสียงนั้น ยังดังอยู่ ชาวบ้านตำบลตลิ่งชันรวมตัวประท้วง จนโรงแยกก๊าซต้องจ่ายค่าชดเสียงกรณีเสียงดัง จริงเท็จอย่างไร โรงแยกก๊าซน่าจะรู้ดี ที่สำคัญกรณีที่เกิดจากการเดินเครื่องบริษัททีทีเอ็ม อธิบายในเวทีคณะกรรมการไตรภาคีว่า “เป็นเพราะชาวบ้านไม่ชิน อยู่ไปชาวบ้านจะชินเอง”
กรณีเสียงดังที่ว่ามา ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงไก่ ในพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน ที่ต้องเลิกกิจการไปประมาณ 14 ราย หนึ่งในนั้น “นิคม คล้ายกุ้ง” มีอาชีพเลี้ยงไก่ฟาร์มมากว่า 11 ปี ลงทุนคอกละ 350,000 สองคอกรวมแล้ว 700,000 บาท แต่ต้องเลิก เพราะคอกอยู่ห่างจากโรงแยกก๊าซประมาณ 300 เมตร ทั้งเสียงและแสงส่งผลกระทบต่อไก่ที่เลี้ยง จนบริษัทไม่เอาไก่มาลง โดยในรายงานผลการตรวจประเมินโรงเรือน โครงการจ้างเลี้ยงไก่รุ่นไข่ ระบุไม่ผ่านการประเมินเรื่องฝุ่นละอองและเสียงดัง เพราะไก่ตกใจทับกันตายง่าย
จริงหรือที่โรงแยกก๊าซ “ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม”
กระอักกระอ่วนพอสมควร ที่โรงแยกก๊าซขึ้นป้ายใหญ่โตว่า ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ในเมื่อสิ่งที่ฉันเห็น คือ ปล่องไฟโรงแยกก๊าซปล่อยควันดำ และกลิ่นเหม็น ยามเมื่อพูดถึงเรื่องกลิ่น คนในชุมชนที่เคยได้กลิ่นยากที่จะอธิบาย หรือให้คำนิยามให้คนที่ไม่เคยได้กลิ่นเข้าใจได้ว่า เป็นกลิ่นอย่างไร บ้างว่าเหมือนกลิ่นก๊าซหุงต้มรั่ว
หลายฝ่ายคาดว่ากลิ่นนั้น เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อกระแสความห่วงใยที่ได้รับรู้มา ชุมชนเริ่มมีเป็นห่วงถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น เริ่มมีผื่นคัน ชุมชนใกล้โรงแยกก๊าซ เริ่มมีอาการภูมิแพ้ เป็นหวัดบ่อย และใช้ระยะเวลาหลายวันจึงจะหาย หลังจากที่โรงแยกก๊าซเดินเครื่อง
ล่าสุดเพิ่งได้อ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง พาดหัวตัวโต “หมอหวั่นโรงแยกฯแพร่มะเร็ง” ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เป็นผู้ที่ต้องสัมผัสกับคนไข้ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ “ประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ชุมชนรู้สึกได้ว่า มีส่วนกระทบต่อชุมชนในที่นี้ ก็คือ เรื่องกลิ่น ชุมชนคิดว่ามีกลิ่นเหม็น ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นชาวบ้านมีการบอกกล่าวกับโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว โรงแยกก๊าซก็รับทราบ แต่ปัญหาไม่ถูกแก้ไข….ปัญหาคือกลิ่น นี่คือสารอะไรโรงแยกรู้หรือไม่ พยายามเข้าไปหาแล้วหรือยังว่า เป็นสารอะไร ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเขาพอจะเดาได้บ้าง แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ”
ปัญหาเรื่องกลิ่น เป็นปัญหาที่โรงแยกก๊าซยังไม่สามารถแก้ไขได้ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ระยะยาวเชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
รับรู้ข้อมูลมาว่า แผนการดำเนินขั้นตอนไปโรงแยกก๊าซ จะวางระบบท่อน้ำเสียจากโรงแยกก๊าซผ่านบ้านสะกอม ก่อนที่จะปล่อยสู่ทะเล หากเป็นเช่นนี้การโฆษณาคำโตว่า ห่วงใยสิ่งแวดล้อมคงไม่ถูก
ขนก๊าซธรรมชาติเหลว (NGL) ก่อนแก้ไขอีไอเอ (EIA)
โรงแยกก๊าซทำผิด EIA ในการขนก๊าซ NGL จากการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA ) ระบุว่า จะมีการขนส่งทางทะเลไปยังจังหวัดนราธิวาส เพื่อส่งต่อให้ประเทศมาเลย์ แต่ในความเป็นจริง การดำเนินการที่ผ่านมา ทางโรงแยกก๊าซใช้วิธีการขนส่งทางรถยนต์ โดยไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่
ก่อนหน้านี้ ใช้เส้นทางจากอำเภอจะนะไปยังอำเภอสะเดา แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่ประท้วงเพราะหวั่นอันตราย ซึ่งนายจรูญฤทธิ์ ขำปัญญา ผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัททีทีเอ็ม ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า “มีการขนส่ง NGL ตั้งแต่ปี 2547 เดิมทีมีการทำ EIA ไว้ให้มีการขนส่งทางเรือ เพราะคาดว่าจะทำโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 2 โรง จึงมีปริมาณก๊าซจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้สร้างโรงแยกก๊าซเพียงโรงเดียว ปริมาณก๊าซ NGL จึงไม่มากพอที่จะขนส่งทางเรือ เพราะไม่คุ้มทุน” 
นายจรูญฤทธิ์ ระบุว่า มีการขนส่งวันละ 11 เที่ยว พร้อมทั้งปัดความรับผิดชอบว่า “เรามีหน้าที่รับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ ความรับผิดชอบของเราหมดลง ตั้งแต่จุดซื้อขายแล้ว ส่วนที่เหลือ คือ การขนส่ง เป็นเรื่องของลูกค้า คือ บริษัท เปโตรนาส ของมาเลเซีย เมื่อรถออกจากโรงแยกก๊าซแล้วก็เป็นเรื่องของลูกค้าที่ต้องรับผิดชอบ”
ภาษีที่อ้างว่าชุมชนจะได้กลับขอลดหย่อนภาษี
นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นว่า บริษัททีทีเอ็มพยายามขอลดหย่อนภาษีจาก 3,493,096 บาท เหลือ 1.9 ล้านบาท อ้างว่าได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาสังคมแล้ว แต่ทางคณะกรรมการฯ ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจะนะ แต่งตั้งขึ้นมาพิจารณา ไม่ยินยอม ในที่สุดบริษัททีทีเอ็ม จำใจต้องจ่ายภาษีตามที่ประเมิน
เป็นการขอลดหย่อน ทั้งที่ก่อนดำเนินโครงการมีการประชาสัมพันธ์ว่า คนในพื้นที่จะมีงานทำ และมีรายได้จากภาษีเข้าสู่ชุมชน ปรากฏว่าความจริง คือ คนในชุมชนเป็นได้พียงกรรมกรก่อสร้างโรงแยกก๊าซ ยาม และแม่บ้าน โรงแยกก๊าซใหญ่โตเงินลงทุนหลายหมื่นล้าน แต่มีการจ้างงานภายในโรงแยกก๊าซประมาณร้อยกว่าคน เท่านั้น และเป็นคนงานนอกพื้นที่ มาจากอำเภอหาดใหญ่ มีรถรับส่งเช้าเย็น น่าสังเกตบริษัทไม่ให้คนงานพักในพื้นที่ 
ในความเป็นจริงกองทุนที่ตั้งขึ้นมา ไม่สามารถจัดการปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นได้ กองทุนไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นเพียงซื้อการยอมรับ และปิดปากชุมชนไม่ให้โวยวายเสียงดัง เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์โรงแยกก๊าซเสียหาย
ฉันเพียงอยากสื่อสารข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอีกด้านสู่สังคมว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซียได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างไร ยังไม่ได้กล่าวถึงปัญหาในมิติอื่น เช่น ด้านสังคมที่สร้างความแตกแยกในชุมชน จนยากที่จะสมานให้คงเดิม รวมถึงมิติการละเมิดหลักการศาสนาอิสลาม โดยการรังแกพี่น้องมุสลิมกรณีการฮุบที่ดินวะกัฟ (ที่ดินสาธารณประโยชน์) ไปใช้ก่อสร้างโรงแยกก๊าซ และอื่นๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญยอมรับกับการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทไม่ได้ ที่มาสร้างภาพ “ร่วมฉลอง 2,000,000 ชั่วโมง การทำงานอย่างปลอดภัย สร้างคุณภาพ ตะหนักความปลอดภัย ใส่ใจอนามัย ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” ทั้งที่ในความเป็นจริงมีอีกด้านที่ซ้อนไว้ โดยงานนี้มีกระแสข่าวพูดคุยกันว่า การเกณฑ์คนในชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วม มีรถรับถึงบ้าน และให้โรงเรียนรอบโรงโรงแยกก๊าซพาเด็กนักเรียนเข้าไปร่วมฉลองกับความสำเร็จ โดยบอกว่าถ้าชวนผู้ปกครองเข้าร่วมได้ก็ยิ่งดี
นี่คือ กระบวนการสร้างภาพและสร้างการยอมรับของคนในชุมชน โครงการยักษ์ใหญ่นี้ร่วมทุนระหว่างไทย – มาเลย์ฝ่ายละ 50 : 50 แต่ประเทศไทยเสียเปรียบทั้งรายได้และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะโรงแยกก๊าซตั้งอยู่ประเทศไทย มลพิษเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ประเทศมาเลเซียได้ก๊าซไปใช้ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ใช้ก๊าซจากโรงแยกก๊าซแห่งนี้
แม้แต่ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าจะนะ ก็เป็นการเข้าใจผิดว่า เป็นการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซ ทั้งที่ความจริงแล้ว โรงไฟฟ้าใช้ก๊าซดิบจากแหล่งเจดีเอ ที่ไม่ผ่านกระบวนการแยกของโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซียแต่อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net