กรณีศึกษาการต่อสู้ของสหภาพแรงงานคาวาซากิฯ เมื่อนายจ้างเปลี่ยนสภาพการจ้าง เพิ่มเวลาทำงาน

ปกติแล้วการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง มักจะกระทำโดยฝ่ายแรงงานเนื่องจากความต้องการปรับปรุงสภาพการจ้างให้เหมาะสมกับการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพของแรงงาน แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจบ่อยครั้งที่จะเห็นนายจ้างยื่นขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเสียเอง โดยอ้างความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ

 

 

เรื่องราวการประท้วงของสหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย (อ่าน: สหภาพแรงงานคาวาซากิฯ ชุมนุม ทนไม่ไหวนายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและเลิกจ้างกรรมการสหภาพ) เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2552 บริษัทฯ ได้เรียกคณะกรรมการสหภาพฯ ประชุมเพท่อชี้แจงว่าบริษัทฯ จะเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติเพิ่มขึ้นอีกวันละครึ่งชั่วโมง และให้ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ โดยนำเอาวันเสาร์ทำงานตามปฏิทินเดิมมาชดเชยเวลาทำงานตามปกติอีกวันละครึ่งชั่วโมง จากเดิมหยุดวันเสาร์ตามปฏิทินทำงานที่บริษัทฯ เป็นผู้กำหนดโดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทฯ จึงต้องเตรียมมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้ได้ 300 ล้านบาทในปีนี้ และให้เหตุผลว่า บริษัทฯ จะได้ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถรับส่ง ค่าอาหาร และค่าบริหารจัดการอื่นๆ แต่คณะกรรมการสหภาพฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่บริษัทฯ ได้นำเสนอและพยายามดำเนินการมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งสหภาพฯ ได้ทบทวนหลายครั้งแล้วเห็นว่าไม่เป็นผลดีกับพนักงานและยังทำให้พนักงานเสียสิทธิประโยชน์อีกมากมายหลายประการคือ
  • ด้วยลักษณะงานที่หนักทำให้ส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพร่างการของพนักงาน หากต้องยืดเวลาการทำงานออกไปอีกวันละครึ่งชั่วโมง
  • หากนับเวลารวมเมื่อนำเวลาครึ่งชั่วโมงของทุกวันมารวมกัน ชั่วโมงทำงานจะเพิ่มขึ้นจากปฏิทินทำงานเดิมอีกเกือบ 6 วัน/ปี
  • หากพนักงา /จนทำงานล่วงเวลาจะได้ค่าตอบแทนน้อยลงกว่าเดิม บริษัทฯ คิดชั่วโมงทำงานล่วงเวลาให้ 3 ชั่วโมง 17.00 – 20.00 น. ตามประกาศใหม่ของบริษัทฯ จะคิดชั่วโมงล่วงเวลาให้ 2 ชั่วโมงครึ่ง 17.30 – 20.00 น. ทั้งนี้ รวมถึงการทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด พนักงานก็จะได้ค่าตอบแทนน้อยลงเช่นกัน
  • สวัสดิการบางส่วนถูกตัดไป เช่น ค่ากะ ค่าอาหาร ค่าทักษะ ค่าเสี่ยงภัย
  • เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พนักงานกลับถึงบ้านช้าลง สุญเสียโอกาส ฯลฯ
ดังนั้นสหภาพฯ จึงคัดค้านและให้บริษัทหาวิธีการอื่นๆ หากต้องการลดค่าใช้จ่าย
7 เมษายน 2552 บริษัทฯ โดยผู้บริหารชาวญี่ปุ่นเรียกประชุมกรรมการสหภาพฯ เพื่อแจ้งว่าบริษัทฯ จะดำเนินการออกประกาศเปลี่ยนแปลงเวลาการทำงานตามปกติเพิ่มอีกวันละครึ่งชั่วโมง 8.00 น. – 17.30 น. โดยเริ่มในวันที่ 1 พ.ค. 52 นี้ เป็นต้นไป โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสหภาพฯ
17 เมษายน 2552 สหภาพฯ ทำหนังสือคัดค้านประกาศของบริษัทฯ และให้บริษัทยกเลิกประกาศ แต่บริษัทฯ เพิกเฉย
22 เมษายน 2552 สหภาพฯ นำเรื่องข้อขัดแย้งดังกล่าวแจ้งให้เจ้าหน้าที่แรงงาน ไกล่เกลี่ย แต่เจ้าหน้าที่แรงงานแจ้งว่าเป็นเรื่องข้อกฎหมายไม่มีอำนาจชี้ขาด สหภาพฯ จึงนำข้อขัดแย้งดังกล่าวนี้ปรึกษาศาลแรงงานภาค 2 จ.ระยอง ในวันเดียวกัน
23 เมษายน 2552 ศาลแรงงานฯ นัดไกล่เกลี่ยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแรงงาน ครั้งแรก ไม่มีข้อสรุป
27 เมษายน 2552 ศาลแรงงานฯ นัดไกล่เกลี่ย ครั้งที่ 2 ได้ข้อสรุปคือ ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศ แต่ถ้าจะดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายจริงให้เป็นไปตามความสมัครใจของพนักงานแต่ละคน ด้วยความโปร่งใส พนักงานมีอิสระในการตัดสินใจ สหภาพฯ สามารถตรวจสอบได้ และให้เป็นกรณีทดลองใช้ กำหนดระยะเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดให้ชัดเจน
28 – 30 เมษายน 2552 หลังกลับจากการไกล่เกลี่ที่ศาลแรงงานฯ บริษัทฯ ได้ออกประกาศ การเปลี่ยนแปลงการวันเวลาการทำงาน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และเอกสารชี้แจงมาอีกหลาฉบับ เพื่อโน้มน้าวให้พนักงานเห็นด้วย และในขณะเดีวกันก็สั่งให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานกดดัน บีบบังคับ ข่มขู่ ให้พนักงานลงชื่อในเอกสารยินยอม
1 พฤษภาคม 2552 บริษัทฯ ได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติเพิ่มขึ้นจากเดิม วันละ 8 ชั่วโมง (ทำงาน 08.00 – 17.00 น.) เป็นวันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง (ทำงาน 08.00 – 17.30 น.) โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการลดต้นทุน และได้ออกเอกสารให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอมโดยดำเนินการข่มขู่ บีบบังคับมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อสหภาพแรงงานฯ แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานเข้ามาตรวจสอบขอเท็จจริง จึงพบว่า บริษัทฯได้กระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และได้สั่งให้บริษัทฯจ่ายล่วงเวลาในสัปดาห์ที่มีการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงในอัตรา 1.5 เท่า บริษัทฯจึงยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่พนักงานได้ทำเกินรวม 6 ชั่วโมง ทั้งที่บริษัทฯมีที่ปรึกษาด้านกฎหมายอยู่แล้ว แต่ยังจงใจฝ่าฝืนละเมิดกฎหมาย บริษัทฯ ละเมิดกฎหมาย โดยครั้งแรก บริษัทฯออกประกาศฉบับที่ ธก.064/2552 เรื่องการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานตามปกติ ลงวันที่ 9 เม.ย. 2552 โดยบริษัทฯ เหมารวมให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามจนสหภาพแรงงานฯ ได้นำเรื่องนี้ให้ศาลแรงงานไกล่เกลี่ย และศาลแรงงานได้ชี้ออกมาว่าบริษัทฯ ทำผิดกฎหมายแต่ถ้าจะดำเนินการให้เป็นไปตามความสมัครใจของพนักงาน
จากนั้นเมื่อบริษัทฯ ได้ยอมจ่ายค่าล่วงเวลาที่มีทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และทำการโยกย้ายวันทำงานโดยนำเอาวันหยุดที่ 13 – 14 ในเดือนสิงหาคมให้เป็นวันทำงาน และนำวันทำงานที่ 8 ในเดือนสิงหาคมและวันทำงานที่ 19 ในเดือนธันวาคมเป็นวันหยุด การกระทำดังกล่าวขัดกับ พ.ร.บ. สัมพันธ์ 2518 มาตรา 20 ถึงแม้บริษัทฯ จะอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันทำงานซึ่งถือเป็นสภาพการจ้างจะต้องได้รับการยินยอมจากสหภาพแรงงานฯและพนักงานเสียก่อน
12 พฤษภาคม 2552 หลังจากมีการบังคับใช้ประกาศ (1-10 พฤษภาคม) เป็นวันหยุด สหภาพฯ ทำหนังสือคัดค้านการกระทำของบริษัทฯ และให้บริษัทยุติการข่มขู่ บีบบังคับ กดดันพนักงานที่ไม่ยินยอม แต่บริษัทฯ เพิกเฉยและสหภาพฯ ได้ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่แรงงานฯ เพื่อให้เข้ามาไกล่เกลี่ยและหาข้อยุติเรื่องที่เกิดขึ้น
18 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่พนักงานที่ลงลายมือชื่อยินยอม ส่วนใหญ่ถูกขู่บังคับ และหลอกให้ลงชื่อให้ ได้ทดลองทำงานตามเวลาใหม่ที่บริษัทฯ ประกาศมาแล้ว หนึ่งสัปดาห์ และมาทราบภายหลังว่าบริษัทฯ ไม่ได้กำหนดให้ทุกวันเสาร์เป็นวันหยุดจริง โดยปรากฏว่ายังมีวันเสาร์ที่ต้องทำงานในปีนี้อีก 5 วัน และบางคนสภาพร่างกายรับไม่ไหว อีกทั้งทำงานล่วงเวลาได้ค่าตอบแทนน้อยลง บริษัทฯ เปิดทำ OT ทุกวันไม่เว้นแม้แต่วันแรงงาน ที่ผ่านมา พนักงานจึงขอยกเลิก แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอม
พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน จึงร้องเรียนมายังสหภาพฯ เพื่อขอให้ทำเรื่องยกเลิกการยินยอม สหภาพฯ จึงทำหนังสือเพื่อขอยกเลิกการยินยอมและรายชื่อพนักงานที่ต้องการยกเลิกส่งไปให้บริษัทฯ แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอมให้พนักงานยกเลิก
20 พฤษภาคม 2552 พนักงานบางส่วนที่ร้องเรียนทนรับการทำงานในรอบใหม่ไม่ไหว จึงเลิกงานในเวลา 17.00 น. บริษัทฯ จึงได้ออกประกาศระเบียบลงโทษพนักงาน โดยมีพนักงานที่เลิกงานดังกล่าวถูกตักเตือนด้วยวจาและลายลักษณ์อักษร สร้างความอึดอัดและความไม่เป็นธรรมแก่พนักงานเป็นอย่างยิ่ง
21 พฤษภาคม 2552 สหภาพฯ ทำหนังสือเพื่อขอให้ศาลแรงงาน ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง
1 มิถุนายน 2552 หนึ่งเดือนผ่านไป หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน บริษัทฯ ยังดำเนินการกดดัน ข่มขู่บีบบังคับให้พนักงานที่ไม่ยินยอม ต้องลงชื่อยินยอมตลอดเวลา ในขณะที่พนักงานขอยกเลิกไม่ได้ และทำให้พนักงานแบ่งแยกกลุ่มกันอย่างชัดเจน พนักงานกลุ่มหนึ่งจึงยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ให้เพิกถอนประกาศของบริษัท ส่วนพนักงานที่ไม่ยอมจะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา เช่น
  • ออกกฎระเบียบเรื่องการสวมหมวกนิรภัยและลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
  • รื้อกฎระเบียบหอพักเพื่อเจาะจงลงโทษพนักงานที่ไม่ยินยอมโดยเฉพาะ
  • โยกย้ายพนักงานที่ไม่ยินยอมเพื่อไม่ให้รวมกลุ่มกัน ไปในตำแหน่งที่หนักขึ้น
  • ลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์ และต้องโทรมาลาด้วย พนักงานหลายคนไม่ได้รับอนุมัติการลาและถูกหักเงิน
  • ไม่จัดรถรับส่งให้พนักงานที่เลิกงานเวลา 17.00 น.
  • เมื่อได้กลิ่นสุราจับไปตรวจเลือดและลงโทษ ให้ใบเตือนเป็นรายลักษณ์อักษร ฐานละทิ้งหน้าที่ในวันที่ไปจับตรวจ
  • เข้าห้องน้ำต้องเขียนรายงาน
  • ดักฟังโทรศัพท์ภายใน
  • นำวันพักร้อนมากำหนดให้ใช้สำหรับพนักงานที่ไม่ยินยอม
ทั้งหมดนี้ พนักงานทนไม่ไหวจึงรวมตัวกันชุมนุมอยู่ที่หน้าบริษัท เพื่อชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น
2 มิถุนายน 2552  บริษัทฯ ออกประกาศห้ามใช้สถานที่ของบริษัทชุมนุม และจะเอาผิดกับพนักงาน ทำให้พนักงานออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ กลับมาใช้สภาพการจ้างเดิม อยู่ที่หน้าทางเข้านิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ ในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่แรงงาน เข้ามารับทราบรายละเอียดของปัญหา
3 มิถุนายน 2552 พนักงานชุมนุมกันที่ปากทางเข้า นิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ ที่เดิม แต่ถูกนิคมฯ ตัดไฟฟ้า
8,9,11,15 มิถุนายน 2552 หลังเลิกงาน สหภาพแรงงาน ได้จัดชุมนุมทางเข้านิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้กับสมาชิกได้ทราบกรณีการเปลี่ยนแปลงเวลาทำงาน และประกาศต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ
17 มิถุนายน 2552 บริษัทได้มีหนังสือสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯทั้ง 11 คน หยุดงานชั่วคราวเพื่อรอคำสั่งศาลอนุญาตเลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาว่า สหภาพแรงงานฯ จัดชุมนุมประท้วงและให้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะโจมตีให้ร้ายต่อบริษัทฯ ทำให้พนักงานแตกแยกความสามัคคี ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
จากนั้นทางสหภาพแรงงานคาวาซากิยานยนต์ แห่งประเทศไทย และพนักงานที่ร่วมชุมนุม จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศทุกฉบับที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่มีเงื่อนไข
2. ให้บริษัทฯ ประกาศใช้สภาพการจ้างเดิมทุกประการ
3. ให้บริษัทฯ ยกเลิกการลงโทษพนักงานที่มีผลผูดพันมาจากการออกประกาศของบริษัทฯ ทุกคน
4. ให้บริษัทฯ ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของพนักงาน
5. ให้บริษัทฯ มีคำสั่งยกเลิกการขออำนาจศาลเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 11 คน เพื่อกลับเข้าทำงานตามปก
6. ไม่ให้บริษัทฯ แทรกแซงการทำงานของสหภาพแรงงาน
 
ข้อมูลพื้นฐานบริษัท คาวาซากิ มอเตอร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด

บริษัท คาวาซากิ มอเตอร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด ทะเบียนเลขที่ 0105540099884 ทุนจดทะเบียน 1,900 ล้านบาท จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ตั้งอยู่เลขที่ 119/10 นิคมอุตสาหกรรม จี เค แลนด์ หมู่ 4 ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง กรรมการผู้มีอำนาจในหนังสือรับรองคือ 1. นายมิโนรุ ฟูกูชิม่า 2. นายมาซาโนริ อิโนอุเอะ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือบริษัท คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ลิมิเต็ด (Kawasaki Heavy Industries, Ltd. : KHI) ถือหุ้น 92.63%
บริษัทฯ ประกอบกิจการเกี่ยวกับ การผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว สปอร์ต และออฟโรด ยี่ห้อคาวาซากิ, ซีเคดี, ชิ้นส่วน, อะไหล่ และบริการซ่อม 96.36% ขายหุ่นยนต์, อะไหล่ และบริการซ่อม 1.38% บริการวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ 1.22% โดยจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จะถูกส่งออกขายภายนอกประเทศ ในปี พ.ศ.2551 ทำพิธีเปิดอาคารผลิตหลังใหม่ ณ โรงงานคาวาซากิ จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการผลิตรถจกัรยานยนต์ขนาดกลาง 650 ซีซี เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ ภายใต้โครงการ EEE Project
โดยในปี พ.ศ. 2551 นั้นบริษัทมีกำลังผลิตเป็นอันดับ 4 ของบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย โดยผลิตได้ 260,000 คัน
กำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ปี 2551

ลำดับ
บริษัท
รวม (คัน)
1
บ. ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด                             
1,400,000
2
บ. ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด                                       
550,000
3
บ. ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด                                   
450,000  
4
บ. คาวาซากิ มอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด            
260,000  
5
บ. เจอาร์ดี   (ประเทศไทย) จำกัด                              
144,000  
6
บ. สหไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด                               
150,000  
7
บ. ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ประเทศไทย) จำกัด                   
54,000   
8
บ. บริษัท มิลเลนเนียมมอเตอร์ จำกัด                              
60,000   
ยอดรวม
3,068,000 
 ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวบรวมจากสถาบันยานยนต์
ข้อมูลด้านแรงงาน ของบริษัท คาวาซากิ มอเตอร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด
บริษัทฯ มีพนักงานทั้งหมด 1,586 คน เป็นพนักงานรายเดือนได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ วุฒิการศึกษา ม.3 – ม.6 ค่าจ้างเดือนละ 5,250 บาท วุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท วุฒิการศึกษาระดับ ปวส. ค่าจ้างเดือนละ 7,300 บาท วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาทขึ้นไป
เวลาทำงานของบริษัทฯ บริษัทเป็นผู้กำหนดวันทำงานตามปฏิทินการทำงานเป็นปีๆ ในแต่ละปี มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แบ่งกะการทำงานออกเป็น 2 กะ คือ กะเช้า เริ่มทำงานเวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. พัก 1 ชั่วโมง กะกลางคืน เริ่มทำงานเวลา 20.00 น. ถึง 05.00 น. พัก 1 ชั่วโมง โดยงานบางแผนกที่ทำการผลิตไม่ทัน พนักงานต้องสลับกันพัก เช่น แผนกแมชชีน แผนกพ่นสี เป็นต้น
บริษัทฯ ได้จัดสวัสดิการให้พนักงานดังนี้
  • ค่าครองชีพ 700 บาทต่อเดือน
  • ค่าเช่าบ้าน 400 บาทต่อเดือน สำหรับคนโสด, 800 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีครอบครัว
  • ค่าอาหารจ่ายเป็นคูปองอาหารวันละ 35 บาท
  • ค่าพาหนะ 1,300 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้รถคาวาซากิ, 1,100 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ใช้รถยี่ห้ออื่นๆ หรือรถยนต์ ส่วนพนักงานที่ขึ้นรถรับส่งจะไม่ได้รับค่าพาหนะ
  • เงินประจำปีขั้นต่ำ 3% บวก 200 บาท เฉลี่ยที่ 5%
  • โบนัสเฉลี่ย 2 เดือน สูงสุดสิ้นปี 2551 ได้รับ 3.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 10,000 บาท ในปี 2549 และปี 2550 พนักงานไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง
  • รถรับส่ง
  • ชุดฟอร์มพนักงานปีแรกให้ 3 ชุด ปีต่อไปให้ 2 ชุด
  • เบี้ยขยันตามขั้นบันได เดือนแรก 150 บาท เดือนที่สอง 200 บาท เดือนที่สาม 350 บาท
  • ค่ากะกลางคืน 90 บาทต่อคืน
  • ค่าเสี่ยงภัย ค่าทักษะ บางแผนก 20 บาทต่อวัน
สภาพการทำงานและปัญหาของพนักงาน ลักษณะจะแบ่งงานเป็นแผนกต่างๆ เช่น แผนกเชื่อมแผนกพ่นสี แผนกถังน้ำมัน แผนกประกอบเครื่องยนต์ แผนกประกอบตัวรถ ที่มีฝุ่นควันและความร้อนโดยเฉพาะ แผนกเชื่อมและแผนกพ่นสี การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร โรงอาหารไม่เพียงพอ การลาป่วย 1 วันต้องมีใบรับรองแพทย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท