Skip to main content
sharethis

 

27 มิ.ย.52 - เวลา 11.45 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 กรมการแพทย์ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
นายวิทยา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นหญิง อายุ 40 ปี และรายที่ 2 เป็นชาย อายุ 42 ปี ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งหมด 1,209 ราย ในจำนวนนี้หายเป็นปกติแล้ว 1,191 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 16 ราย ได้รายงานสถานการณ์ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว โดยนายกฯ มีความเป็นห่วงและกำชับกระทรวงให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะประเทศไทยได้ทำตามมาตรฐานการเฝ้าระวังและการรักษาโรคสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และตนยืนยันมาตลอดว่า โรคนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ ไม่เคยบอกว่าป่วยแล้วจะไม่ตาย
“มีความกังวลว่าประชาชนอาจไม่เข้าใจ และตื่นตระหนก จึงอยากย้ำว่า หากประชาชนไม่สบายเพียงเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อมีอาการมากขึ้นจึงไปพบแพทย์เพื่อผลดีของประชาชนและแพทย์ สำหรับการป่วยของนักเรียนอยากให้โรงเรียนพิจารณาหยุดเรียนเป็นกรณีๆ ไป เพราะการปิดโรงเรียนไม่ได้สร้างผลดี และจะทำให้เกิดการตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ แต่โรงเรียนต้องให้เด็กป่วยหยุดเรียนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองว่าจะมีการสอนชดเชยให้เด็ก” นายวิทยา กล่าว
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 เพศหญิง อายุ 40 ปี เสียชีวิต โดยผู้เสียชีวิตมีหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดเมื่อายุ 12 ปี เริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พักรักษาตัวอยู่กับบ้าน กระทั่งวันที่ 13 มิถุนายน จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยอาการมีไข้สูง หอบเหนื่อย มีภาวะปอดบวม ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จนครบ 5 วัน วันที่ 15 มิถุนายน โรงพยาบาลได้รับรายงานผลการตรวจเชื้อยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงและเสียชีวิต โดยโรงพยาบาลเอกชนรายงานมายังกระทรวงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน
นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยหญิงที่เสียชีวิตรายแรก โรงพยาบาลเอกชนเพิ่งแจ้งให้กระทรวงทราบ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน หลังจากที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 6 วัน โดยให้เหตุผลว่าญาติไม่อยากเปิดเผยตัวและต้องการทำพิธีศพให้เรียบร้อยเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบเมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนสถานะ เช่น อาการทรุดหนัก หรือเสียชีวิต ซึ่งตามหลักการเฝ้าระวังโรคระบาด มีการกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนต้องรายงานให้กระทรวงทราบภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อให้กระทรวงเข้าไปติดตามและดำเนินการเฝ้าระวังโรค แต่กรณีนี้โรงพยาบาลเอกชนรายงานมาล่าช้าเป็นข้อยกเว้นเพราะญาติผู้ป่วยขอร้อง ในที่ประชุมจึงไม่มีการตำหนิตัวแทนจากโรงพยาบาลเอกชน แต่กระทรวงอยากขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งให้รายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ที่แท้จริง
“แม้ว่าต้องการจะปิดข้อมูลผู้เสียชีวิตต่อสาธารณะ แต่โรงพยาบาลจำเป็นต้องรายงานให้กระทรวงทราบ เพื่อติดตามสถานการณ์โรค โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติ ชื่อ อาชีพของผู้ป่วยแต่อย่างใด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง โรงพยาบาลสามารถประสานให้กระทรวงร่วมเข้าไปดูแลรักษาได้ โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีหากมีการประสานงานกัน” นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลไม่ได้ประสานมายังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือในการรักษาอาการผู้ป่วยนั้น เพราะการรักษาของโรงพยาบาลถือว่ามีมาตรฐานสามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็ม ไม่ใช่ไม่มีมาตรฐาน และหากมีการตายจะต้องแจ้งมายังกระทรวงอยู่แล้ว แต่ในรายนี้ต้องเคารพสิทธิผู้ป่วยเป็นหลัก เนื่องจากญาติผู้ป่วยต้องการชะลอการแจ้งต่อสาธารณะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเพราะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรก หากมีผู้เสียชีวิตเป็นรายที่ 5 รายที่ 6 ก็คงไม่มีใครสนใจและหากต้องรายงานทุกวันก็จะเบื่อไปเอง จึงไม่อยากให้มีการเสนอ โดยเอาความตายจากโรคนี้เป็นที่ตั้ง เพราะการตายเป็นเรื่องปกติ
นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายอายุ 42 ปี เสียชีวิตหลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน เริ่มป่วยวันที่ 18 มิถุนายน มีอาการไข้ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลวันที่ 23 มิถุนายน ด้วยอาการไข้สูง เหนื่อย ไอมาก มีภาวะปอดบวม ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ จนวันที่ 26 มิถุนายน อาการทรุดหนัก หัวใจหยุดเต้น ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเหลือเพียงร้อยละ 40 ขณะที่ค่ามาตรฐานต้องอยู่ที่ระดับร้อยละ 90 ขึ้นไป กรมการแพทย์จึงส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจไปให้ความช่วยเหลืออาการดีขึ้น ค่าออกซิเจนในเลือดขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 97 กระทั่งเช้าวันที่ 27 มิถุนายน อาการทรุดหนักอีกครั้งและเสียชีวิตลงในเวลา 09.00 น.
นพ.คำนวณ กล่าวเสริมว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ มีการสังสรรค์กับเพื่อน คาดว่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จากสถานบันเทิง เนื่องจากเป็นพื้นที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลานาน จึงมีความเสี่ยงสูง โดยรายดังกล่าวไม่มีโรคประจำตัวหรือการใช้ยาอะไรเป็นประจำ ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้ตามสถิติคนที่แข็งแรงจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้มีโรคประจำตัวจะเสี่ยงร้อยละ 90
“สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยทั้งสองราย ทราบว่ามีอาการปอดบวมแทรกซ้อน แต่ไม่ทราบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่น เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำหรือไม่ ต้องใช้วิธีการชันสูตรถึงจะทราบอย่างแน่ชัด แต่ทั้งสองรายญาติไม่อนุญาตให้ทำการชันสูตร จึงไม่สามารถทราบการเสียชีวิตที่แท้จริงได้“ นพ.คำนวณ กล่าว
นพ.คำนวณ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลอีก 16 ราย เบื้องต้นมี 2 ราย ที่มีการเฝ้าระวังใกล้ชิด คือ หญิงอายุ 57 ปี ซึ่งเริ่มมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และนักเรียนจากโรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการดีขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ซึ่งรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีน้ำหนักมาก เมื่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด จะมีอาการรุนแรง เพราะหายใจได้ลำบากกว่าคนผอม
ส่วนสถานการณ์หวัด 2009 ในต่างประเทศ ล่าสุดกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดเองในประเทศเป็นครั้งแรก โดยเป็นชายชาวกัมพูชา 1 คน และเป็นนักเดินทางชาวฟิลิปปินส์อีก 1 คน ขณะนี้รักษาอยู่ในโรงพยาบาลและอาการเริ่มดีขึ้นแล้ว ขณะที่ทางการแถลงว่าจะพยายามควบคุมการระบาดในประเทศให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐ แถลงว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดมรณะในประเทศอย่างน้อย 1 ล้านคน มากกว่าจำนวนที่เคยรายงานไว้ก่อนหน้านี้ถึง 50 เท่า โดยนางแอนนา สชูชาท ผู้อำนวยการศูนย์โรคภูมิคุ้มกันและทางเดินหายใจของซีดีซีระบุว่า ปัจจุบันสหรัฐมีผู้ติดเชื้อนี้อย่างน้อย 1 ล้านคนแล้ว โดยอ้างอิงจากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์และผลการสำรวจจากชุมชนต่างๆ ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างหนัก ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในสหรัฐที่ได้รับการยืนยันอย่างทางการอยู่ที่ 2.8 หมื่นราย เสียชีวิต 127 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่เกือบ 6 หมื่นคน เสียชีวิต 263 คน
ที่มา: คม ชัด ลึก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net