Skip to main content
sharethis
เมื่อ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธินโยบายสุขภาวะภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานมหกรรมพลังงานยั่งยืนเพื่อสุขภาพในชุมชนภายใต้ชื่อ “ฮ่วมกึ๊ด ฮ่วมแฮง ฮ่วมแป๋งพลังงาน” ขึ้นที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยนอร์ท จ.เชียงใหม่
เพื่อนำเสนอและสาธิตเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกแก่ผู้สนใจและสาธารณชนในวงกว้าง โดยงานดังกล่าวได้เวียนกันจัดขึ้นในแต่ละภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งในชุดโครงการสนับสนุนจัดการความรู้และประเมินผลโครงการวิจัยและพัฒนา “พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน” เพื่อเสริมศักยภาพผู้รับทุนโครงการวิจัยที่ได้รับเลือกจำนวน 29 โครงการจากทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับการจัดงานดังกล่าวนั้นเพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักถึงศักยภาพของพลังงานในชุมชนของตนเอง (Unseen Potential) และหัวใจของพลังงานชุมชน คือ การเรียนรู้ โดยภายในงานมีการสาธิตเทคโนโลยีพลังงานชุมชน “นิทรรศการที่มีชีวิต” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ และชุมชนต่างๆ ที่ได้มีการดำเนินการเรื่องพลังงานทางเลือกในชุมชน เพื่อให้ชุมชนที่สนใจสามารถเริ่มดำเนินการได้ด้วยตนเอง รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านพลังงานชุมชนและสื่อสารเผยแพร่เรื่องพลังงานชุมชนสู่สังคม
ทั้งนี้งานดังกล่าวได้มีการเสวนาในเรื่อง “ประสบการณ์ของชุมชนในการจัดการพลังงาน”โดยมีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ที่ในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการด้านพลังงานทางเลือกมาบอกเล่าประสบการณ์ในพื้นที่ของตน
โดยนายมนูญ วงศ์อรินทร์ ตัวแทนจากพื้นที่ตำบลแม่หล่าย จังหวัดแพร่ ได้เล่าถึงการใช้งานเตาเผาถ่านที่มีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปได้มาก โดยทางชุมชนเองก็ได้มีความพยายามรณรงค์ให้คนในพื้นที่เปลี่ยนมาใช้เตาเผาถ่านแบบใหม่นี้ โดยล่าสุดได้มีการจำหน่ายเตาได้จำนวน 750 ใบแล้ว
ขณะที่นายบุญยืน สุขเสน่ห์ ตัวแทนจากพื้นที่ตำบลบ้านเวียง จังหวัดแพร่ ได้กล่าวถึงการจัดการพลังงานทางเลือกโดยชุมชนว่ากระบวนการผลิตพลังงานทางเลือกนั้นมีการดูแลที่ไม่ซับซ้อนและไม่ยากเกินขอบเขตที่ชุมชนจะสามารถจัดการได้ เพียงแต่ว่าต้องดูแลด้วยตัวเอง ซึ่งบางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ผลที่ได้นั้นคุ้มค่าเพราะพลังงานทางเลือกนั้นไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วย ขณะที่โครงการการผลิตพลังงานขนาดใหญ่นั้นนอกจากจะขาดการมีส่วนร่วมในการจัดการจากชุมชนแล้วยังอาจส่งผลต่อวิธีชุมชนอีกด้วย
ด้านนายสวัสดิ์ บุญเต็ม ตัวแทนจากพื้นที่ตำบลบ่อแฮ้ว จังหวัดลำปาง ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของพลังงานทางเลือกในพื้นที่ตำบลบ่อแฮ้วว่าเกิดขึ้นจากตนได้ไปเข้าร่วมการอบรมเรื่องพลังงานทางเลือก โดยการอบรมในครั้งนั้นเป็นการอบรมเรื่องพลังงานจากแก๊สชีวภาพในระดับท้องถิ่น จึงได้นำความรู้ที่ได้รับนั้นมาพัฒนาและปรับใช้ในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ ซึ่งถึงแม้การอบรมนั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการที่ชุมชนนำมาดำเนินการอย่างจริงจัง
สำหรับนายสุทัศน์ คำมาลัย ตัวแทนจากบ้านสบสาหนองฝา จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลถึงการผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลสุกรของบ้านสบสาหนองฝาว่าเริ่มจากการสร้างบ่อหมักในหมู่บ้านจำนวน 2 บ่อ โดยสามารถผลิตแก๊สหุงต้มให้ชุมชนได้นำไปใช้ได้ถึง 100 ครัวเรือน โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลและกระทรวงพลังงาน ซึ่งคนในชุมชนเองก็ได้ร่วมกันรวมเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้
นายประสิทธิ์ ตระการฤทธิ์ ตัวแทนจากตำบลบุ่งคล้า จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่าจากการที่ตนได้เข้าร่วมการอบรมเรื่องพลังงานทางเลือกตนจึงพยายามหาวิธีการผลิตพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับชุมชนของตนมากที่สุด ซึ่งการผลิตพลังงานโดยชุมชนเองนั้นถือว่าเป็นการพึ่งตนเองอย่างหนึ่ง เพราะไม่ว่าราคาพลังงานในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างไรก็จะไม่ส่งผลกระทบกับชุมชน นอกจากนี้นายประสิทธิ์ยังได้เสนอว่าการใช้เทคโนโลยีนั้นควรใช้ในระดับที่เหมาะสมไม่มากเกินไป และให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เพราะว่าพลังงานทางเลือกนั้นต้องเลือกให้เหมาะกับท้องถิ่น
 

รายชื่อซุ้มสาธิตเทคโนโลยีพลังงานชุมชน “นิทรรศการที่มีชีวิต” ภายในงาน
1. นวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนครบวงจร อบจ.เชียงใหม่
2. ระบบก๊าซชีวภาพสู่ท้องถิ่น ต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง
3. น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว มหาวิทยาลัยนเรศวร
4. เชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อเป็นวัตถุดิบในเตาชีวมวล มหาวิทยาลัยแม่โจ้
5. เตาแก๊สชีวมวลจากเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ชนิดไหลลง มหาวิทยาลัยแม่โจ้
6. กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าบ้านมลาบรี (ตองเหลือง) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แพร่)
7. ไบโอแก๊สเพื่อชุมชนบ้านสบสาหนองฟาน มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่
8. ไบโอดีเซล จากสบู่ดำในชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์
9. กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าพะเยา วิทยาลัยการอาชีพเชียงคำ
10. ไบโอดีเซล (B100) จากทานตะวัน มหาวิทยาลัยนอร์ท - เชียงใหม่
11. ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
12. พลังงานทดแทนชุมชนแม่หล่าย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แพร่)
13. เตาแก๊สชีวมวลเชื้อเพลิงแกลบ ต. บุ่งคล้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
14. จักรยานออกกำลังเพื่อผลิตไฟฟ้า มหาวิทยาลัยศรีปทุม
15. อบแห้งสมุนไพรแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
16. ศูนย์การเรียนรู้พลังงาน YMCA เสาหิน จ.เชียงใหม่
17. พลังงานหมุนเวียน รร.บ้านห้วยหมอเฒ่า อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
18. ไบโอดีเซลชุมชน ต. หนองแก๋ว
19. ศูนย์วิจัยพลังงานแม่โจ้ พลังงานลม และพลังงานน้ำ
20. การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำ
21. เตาเผาถ่าน+อั้งโล่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่
22. ชุมชนแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
23. เตาอบพลังแสงอาทิตย์
24. น้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์
25. ซุ้มปรุงอาหารหรือขนมด้วยถ่าน เตาชีวมวล เตาแก๊ซชีวภาพ เน้นอาหารพื้นบ้าน ห่อใบตอง
26. ซุ้มเครื่องดื่มสมุนไพร
27. คลินิกพลังงานชุมชน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net