Skip to main content
sharethis

 

 อ้างอิงจาก หนังสือ "คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง" http://tinyurl.com/ng6xp8 และ

Guide for news reporters falls short of its goals ตีพิมพ์ใน The Nation http://tinyurl.com/mqp7ux
 
 
หนังสือ "คู่มือการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง" ซึ่งจัดพิมพ์โดย สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ศูนย์ข่าวอิศรา สถาบันอิศรา และมูลนิธิฟรีดรีค เอแบร์ท อาจเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นด้วยความเจตนาดีที่จะให้เป็นคู่มือสำหรับสื่อมวลชนไทยในการายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน หากแต่มันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการอธิบายว่า เพราะเหตุใด สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่จึงถูกมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองเสียเอง และมิได้เสนอวิธีหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม น่าเสียดายเพราะหนังสือเล่มนี้ลงเงินไปมิน้อย แถมเงินส่วนใหญ่มาจากเงินภาษาชาวเยอรมันโดยผ่านทางมูลนิธิฟรีดรีค เอแบร์ทผู้เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ
นอกจากวิธีปฏิบัติที่รู้ๆ กันอยู่เช่น อย่าใส่เสื้อเหลืองเข้าไปในม็อบแดง และอย่าใส่เสื้อแดงเข้าไปในม็อบเหลือง และการพกผ้าเช็ดหน้าและขวดน้ำเพื่อป้องกันตนเองจากแก๊สน้ำตาแล้ว หนังสือคู่มือที่หนาถึง 186 หน้าเล่มนี้ก็ไม่ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อะไรไปมากกว่านี้เท่าไหร่

(อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็มีบทที่ว่าด้วยการทำข่าวความขัดแย้งในภาคใต้ ความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และความขัดแย้งระหว่างรัฐ/สังคมกับคนชายขอบด้วย หากแต่บทความนี้จะวิจารณ์เฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น)

การขาดความใส่ใจในประเด็นดังกล่าว สามารถเห็นได้ชัดตั้งแต่ในบทบรรณาธิการ โดย ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ซึ่งมีความว่า สื่อกระแสหลักถูกกล่าวหาว่าเลือกข้าง และนักข่าวหลายคนก็ตกเป็นเป้าของการโจมตีโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ “ไร้เหตุผล”
 
จริงหรือที่ผู้ชุมนุมเหล่านั้น “ไร้เหตุผล”?
 
บรรณาธิการผู้นี้ควรเข้าใจว่า การที่นักข่าวกระแสหลักถูกทำร้ายโดยทั้งจากกลุ่มคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง ไม่ได้เป็นเพราะความไร้เหตุผล หากเป็นเพราะพวกเขาผิดหวังกับสื่อกระแสหลักที่เขาเชื่อว่า เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งหมายความว่า มีเหตุผลบางอย่างรองรับพฤติกรรมเช่นนั้น หาได้เป็นพฤติกรรมอย่างที่ธีรเดชเรียกว่า “ไร้เหตุผล” ไม่
 
ส่วนในบทที่สอง ซึ่งเป็นบทที่ว่าด้วยบทบาทของสื่อมวลชนไทยท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 เป็นต้นมา มีข้อความว่า
 
“แม้จะไม่มีการประกาศเลือกข้างอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าดูจากแนวทางการเสนอข่าวและบทความแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์แล้ว มีผลในทางลบกับทักษิณมากกว่า” (ข้อ 4. หน้า 21)
 
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็ไม่พยายามที่จะอธิบายว่า ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์การเลือกข้างดังกล่าว  และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ การที่สื่อกระแสหลักได้เลือกข้างไปแล้ว แต่ไม่ยอมรับว่าตนเลือกข้าง
เมื่อเปิดหน้าถัดไป ผู้อ่านก็จะได้พบกับข้อความที่เป็นการยอมรับว่าสื่อกระแสหลักเฉยเมยต่อรัฐประหาร อย่างไร้คำอธิบายว่า
 
 “หลังจากการรัฐประหารปี (19 กันยายน 2549) ระยะหนึ่งจนกระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 สื่อมวลชนส่วนใหญ่ค่อยๆ และมีความพยายามในการปรับตัวในการเสนอข่าวให้รอบด้านมากขึ้น” (ข้อ 5. หน้า 22)
 
อีกครั้ง ที่หนังสือเล่มนี้ไม่ให้คำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เฉยชา ยอมรับ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนการรัฐประหารแม้แต่น้อย
 
หากแต่มันเป็นความจำเป็นยิ่งที่หนังสือควรให้คำอธิบาย เพราะความเข้าใจว่า ทำไมสื่อกระแสหลักจึงเฉยเมยต่อรัฐประหารจะนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมสื่อกระแสหลักจึงกลายเป็นศัตรูของคนเสื้อแดง  และการไม่เอ่ยว่า ในช่วงนั้น สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐประหาร ย่อมถือได้ว่า เป็นความพยายามในการเขียนประวัติศาสตร์บทบาทสื่อเสียใหม่อย่างน่าละอาย
 
นอกจากนี้ เพื่อที่จะให้ความชอบธรรมว่า เพราะเหตุใดสมาคมนักข่าวฯ และองค์กรสื่ออื่นๆ จึงไม่ประณามสื่อที่เลือกข้างและพาดหัวอย่างเกินเลย หรือ "ไม่สามารถทำอะไรได้มาก" หนังสือเล่มนี้ได้ไว้อธิบายว่า
 
“สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตกอยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถูกเรียกร้องให้ความคุมจริยธรรมการเสนอข่าวในเรื่องความเป็นกลาง แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำอะไรได้มากและถูกสองฝ่ายโจมตีอย่างรุนแรงว่า เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง(ข้อ 9. หน้า 22 – เน้นข้อความโดยผู้เขียน)
 
เหตุผลใดๆ ก็ไม่สามารถมารองรับการที่องค์กรอย่างสมาคมนักข่าวฯ เพิกเฉย ไม่ยอมออกแถลงการณ์ประณามการเสนอข่าวอย่างบิดเบือนได้ ไม่ว่าจะเป็นจะการบิดเบือนจากฝ่ายไหนก็ตาม
 
ยิ่งไปกว่านั้น ประโยคที่ว่า “ไม่สามารถทำอะไรได้มากและถูกสองฝ่ายโจมตีอย่างรุนแรงว่า เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ยังเป็นการแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมสื่อมวลชนไทยจึงถูกเปรียบเปรยว่า เป็นแมลงวันที่ไม่ยอมตอมแมลงวัน
 
และในข้อ 7. หน้า 38 ซึ่งกล่าวถึงสถานการณ์หลังการรัฐประหารว่า มีการยึดสื่ออย่างเต็มรูปแบบและ “ตรึงกำลังไปยังฟรีทีวี” โดยทหารที่ถูกส่งมาโดยคณะรัฐประหาร แต่คู่มือดังกล่าวก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงเลยว่า ทหารนั้นได้ไปตรึงกำลังที่สถานีโทรทัศน์บางช่องเป็นเวลานานหลายเดือน และสมาคมนักข่าวฯ ก็ไม่ได้ทำการประท้วงการคุกคามสื่อดังกล่าวเลย จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ วสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ด้วยตนเอง ในช่วงปลายปี 2551 ในงานเสวนาครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ถึงเวลาออกแถลงการณ์ประณามทหารแล้วหรือยัง จึงได้นำไปสู่การออกแถลงการณ์ดังกล่าวในที่สุด
 
ในหน้า 86 นั้น มีการเสนอผลสำรวจจากโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะทางสังคม หรือมีเดีย มอนิเตอร์ ซึ่งสำรวจการใช้ภาษาข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด และผู้จัดการรายวันในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 8-14 เมษายนที่ผ่านมา โดยสำรวจพบว่า การใช้ภาษาในหน้าหนังสือพิมพ์มีลักษณะรุนแรง ตัดสินและมุ่งประณามการกระทำ อย่างไรก็ตามในขณะที่ข่าวที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปราศจากการ ประณามหรือตราหน้าใดๆ ทั้งสิ้น
ผลการศึกษายังได้ยกตัวอย่างกลุ่มคำที่ใช้เรียกผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงด้วยเช่น ‘แดงถ่อย’ ‘นรกแดง’ ‘แดงจัญไร’ ‘สัตว์นรกเสื้อแดง’ อย่างไรก็ตาม ทั้งมีเดีย มอนิเตอร์ และคู่มือเล่มนี้ก็มิได้แม้แต่ที่จะอธิบายว่า ทำไมจึงมีคำเรียกเช่นนี้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์เลยแม้แต่น้อย
 
หนังสือเล่มนี้กลับไม่พยายามหาข้อมูลมาเปรียบเทียบกับภาษาที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเหตุการณ์ตำรวจสลายผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ว่า สื่อกระแสหลักใช้ภาษาข่าวในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ซึ่งจากการสำรวจสำรวจการใช้ภาษาข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด และผู้จัดการรายวันในช่วงดังกล่าวโดย  จิรนันท์​ หาญธำรงวิทย์ พบว่า ภาษาข่าวที่ใช้ในช่วงดังกล่าวมีลักษณะตรงข้ามกับภาษาข่าวที่ใช้ช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงอย่างสิ้นเชิงนั่นคือ ไม่มีน้ำเสียงในแง่ลบต่อผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ไม่มีคำที่มุ่งประณามและตัดสินผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ตัวอย่างเช่น ‘ม็อบมือตบ’ ‘ประชาชนผู้รักชาติศาสน์กษัตริย์’ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ภาษาข่าวที่ใช้ในการเรียกรัฐบาลพรรคพลังประชาชนก็มีลักษณะประณาม ใช้คำตราหน้าอย่างรุนแรง เช่น  ‘รัฐบาลทรราช’ ‘รัฐบาลมือเปื้อนเลือด’ ‘ฆาตกร’ ‘นายกฯซาตาน’ ‘สัตว์นรก**

และในบทที่สาม ผู้อ่านก็ถูกนำสู่โลกอุดมคติแห่ง “Peace Journalism” หรือการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับ “War Journalism” หรือการสื่อข่าวที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง อย่างสิ้นเชิง

หลักของการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพคือ การหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีลักษณะตราหน้าว่า ดีหรือชั่ว พยายามทำข่าวที่แสดงให้เห็นถึงต้นตอและสาเหตุแห่งปัญหาโดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของคนในข่าวนั้น นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ใช้ภาษาที่เป็นกลาง และไม่เลือกข้าง
 
แต่ในที่สุดแล้ว หนังสือก็ไม่ได้ให้คำอธิบายว่า สื่อควรทำอย่างไรเพื่อให้หลุดจากวังวนแห่ง War Journalism ไปสู่ Peace Journalism
 
ถึงแม้ว่า ในบทที่ 3 จะมีตารางเปรียบเทียบระหว่าง War Journalism และ Peace Journalism แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนในสื่อกระแสหลัก เกิดความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวได้ เปรียบเหมือนการบอกให้เด็กช่างกลเลิกตีกัน แล้วหันไปตั้งใจเรียนแทน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ อยู่ๆ เด็กเหล่านั้นจะเลิกตีกันแล้วหันไปตั้งใจเรียนได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขายังไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาถึงตีกัน
 
การที่หนังสือคู่มือเล่มนี้ไม่พยายามอธิบายปมปัญหาว่า ทำไมสื่อกระแสหลักจึงจมอยู่กับ War Journalism และ War Journalism นั้นไม่ดีอย่างไร และทำไมจึงควรเปลี่ยนเป็น Peace Journalism ทำให้หนังสือดังกล่าวไม่สามารถให้ประโยชน์ดังจุดประสงค์ของหนังสือ ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสื่อและปัญหาการเมือง และไม่สามารถปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้
 
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากผู้เขียนอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ไม่กี่วัน ก็พบพาดหัวข่าวที่มีมีลักษณะเป็น War Journalism อย่างชัดเจน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ว่า "นัดทำร้ายประเทศ" และพาดหัวข่าวรองว่า "เสื้อแดงหลอน! ชุมนุมใหญ่ 27 มิ.ย./ประชาธิปัตย์ปูด 3 แผนขยี้ชาติ" และในหนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2552 ที่มีพาดหัวข่าวว่า “ครม.ซื้อรถหุ้มเกราะ รับมือม็อบป่วนเมือง”
 
จากตัวอย่างดังกล่าว ผู้เขียนขอตั้งคำถามว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่อยู่ดีๆ หนังสือพิมพ์สองฉบับนี้ จะเลิกการใช้ภาษาข่าวแบบ War Journalism เพียงเพราะพวกเขาได้ยินได้ฟังเรื่อง Peace Journalism
 
และไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์สองฉบับนี้เท่านั้นที่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถาม หากแต่รวมไปถึงสื่อกระแสหลักทั้งหมดด้วย
โลกแห่งสื่อเพื่อสันติภาพจึงดูเหมือนจะเป็นคนละโลกกับสภาพสื่อไทยในปัจจุบัน และดูเหมือนหนังสือคู่มือที่พิมพ์มาก็มีไว้อ่านเล่น หรือไว้ดูโก้หรูเท่านั้น และไม่สัมพันธ์กับสภาพความเป็นจริงของสื่อในปัจจุบัน
 
ส่วนอีกประเด็นสำคัญที่ขาดหายไปจากหนังสือเล่มนี้อย่างเหลือเชื่อคือ เรื่องบทบาทในการเซนเซอร์ตัวเองในสื่อกระแสหลัก ในเรื่องการตั้งข้อสันนิษฐานและตีความเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์โดยกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งมีการพูดกันอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ชุมนุมและมีนัยยะต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ไม่ว่าความเชื่อนั้นจะจริงหรือเท็จ ปัจจัยหนึ่งที่สื่อไม่ยอมเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็คงเป็นเพราะหวั่นเกรงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ควรจะเขียนให้ชัดลงไปด้วยว่า มี "การข่มขู่ คุกคามสื่อมวลชน โดยตัวสื่อเอง” น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ ไม่มีการกล่าวถึงการชนเซนเซอร์ตัวเองของสื่อ แต่กล่าวถึงแค่การเซ็นเซอร์สื่อโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจเท่านั้น เพราะฉะนั้นในเมื่อสื่อยังไม่ยอมรับความจริง เรื่องปัญหาของสื่อเอง เราจะหวังให้สื่อมีส่วนช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองได้อย่างไร
 
แต่อย่างน้อยที่สุด การที่หลายประเด็นสำคัญที่ควรถูกพูดถึง แต่กลับไม่ถูกพูดถึงในหนังสือเล่มนี้ มันก็เป็นคำตอบที่ดีของคำถามที่ว่า ทำไมสื่อกระแสหลักจึงยังคงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
 
 
-------------
*ฉบับแก้ไขปรับปรุง 30 มิถุนายน 2552
**การสำรวจพาดหัวหลักและพาดหัวรองของหนังสือพิมพ์ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดย จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์
โดยสำรวจจากหนังสือพิมพ์ห้าฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ ไทยโพสต์ เดลินิวส์ ผู้จัดการ ข่าวสด ฉบับวันที่ 8-15 ตุลาคม 2551
 
 
 
ผลการสำรวจ:
1. กลุ่มคำที่ใช้เรียกฝ่ายการเมือง
ภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด เรียกผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ว่า ‘ผู้ชุมนุม’ หรือ ‘ม็อบ’ มีเพียงไทยโพสต์ และผู้จัดการ ที่ใช้ภาษาสรุปเหตุการณ์อย่างชัดเจนแล้วว่า เป็นความพยายามฆ่าประชาชน (ผู้ชุมนุม) ของรัฐบาลและตำรวจ ประชาชนเป็นผู้บริสุทธิ์ และชอบธรรมในการกระทำ มีลักษณะคล้ายเป็นวีรชน
 
1.1 กลุ่มพันธมิตรฯ
ไม่มีน้ำเสียงในแง่ลบ โดยเรียกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น พันธมิตรฯ ม็อบมือตบ ประชาชนผู้รักชาติศาสน์กษัตริย์
1.2 คำเรียกรัฐบาล เช่น ‘รัฐบาลทรราช รัฐบาลมือเปื้อนเลือด สัตว์นรก รัฐบาลน้องเมีย ฆาตกร นายกฯ ซาตาน รัฐบาลโจร โจรสีกากี ทรราชไร้สำนึก
1.3 คำเรียกกลุ่มเสื้อแดง เช่น เสื้อแดง นปก. คนรักทักษิณ คนรักแม้ว ลิ่วล้อแม้ว สัตว์นรก นปก.สุดชั่ว พลังแม้ว ไข่แม้วดำ
 
2. คำเรียกเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด ตุลาทมิฬ 7ตุลาวิปโยค
การสำรวจภาษาบรรยายเหตุการณะพบว่า มีลักษณะการใช้ภาษาที่เกินจริง ใช้ภาษาที่ตัดสินและประณามการกระทำ  เช่น
            ข่าวสด 8 ต.ค. หน้า 1 – “เผยนาทีตำรวจจู่โจม ถล่มแก๊สน้ำตา สยองแขนขาขาด”
            เดลินิวส์ 8 ต.ค. หน้า 1 --8 ต.ค. หน้า 1 – “จลาจลนองเลือด ตำรวจครึ่งหมื่นเปิดฉากปราบผู้ชุมนุม ยิงถล่มแก๊สน้ำตาระเบิดควันไม่ยั้ง”
            ไทยโพสต์ 9 ต.ค. หน้า 1 – “โหดเหี้ยมยังไม่พอ สมชายโกหกชาวโลก ข้ามศพประชาชน ตีสองหน้าบึ่งเยี่ยมตำรวจ พันธมิตร ตำรวจพล่านราดน้ำเข้ากองเพลิง โฆษก สตช. ป้ายสี ม็อบสาวตายเพราะหนีบระเบิด”
            ผู้จัดการ 8 ต.ค. หน้า 1 – “ซาตานสมชายกระหายเลือด เข่นฆ่าประชาชนที่ปราศจากอาวุธ เพียงแค่ต้องการเปิดทางเข้าไปแถลงนโยบายที่รัฐสภา สั่งตำรวจระดมอาวุธทั้งแก๊สน้ำตา ปืน ระเบิด ถล่มใส่ อย่างไม่ปรานีตลอด”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net