Skip to main content
sharethis

 

(28 มิ.ย.52) เครือข่ายองค์กรแรงงานกลุ่มต่างๆ ร่วมจัดเสวนา เรื่อง “ทำไมรัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98” ที่ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ดำเนินรายการโดยนายปณิธิ ศิริเขต ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ 87 (เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการจัดตั้ง) และ 98 (สิทธิในการก่อตั้งและต่อรองร่วม) ซึ่งเป็นหัวใจในการส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงาน ทั้งที่ตัวอนุสัญญาทั้งสองก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน สมาคม องค์กร โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ อาจเพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะเห็นว่ามีบางสถานประกอบที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลมาตลอด เวลาที่แรงงานยื่นข้อเรียกร้อง หรือเจรจาต่อรองกับนายจ้าง กรณีนายจ้างเลิกจ้างแล้วไม่จ่ายค่าชดเชย จะเห็นว่า รัฐไม่ทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง แต่กลับปล่อยไปตามครรลองที่มีอยู่ และเมื่อมีการปิดถนนต่อรอง รัฐก็กลับมองว่า จะทำให้ต่างประเทศไม่มาลงทุน
นางสาววิไลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การที่รัฐไม่ส่งเสริมการรวมตัว อาจเพราะกังวลว่า หากแรงงานรวมตัวกันมากเกินไปอาจควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ แม้รัฐมักอ้างว่า ถึงจะไม่ได้รับรองอนุสัญญา แรงงานก็สามารถรวมตัวกันได้ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็จะพบว่ามีข้อจำกัด อาทิ แรงงานที่ไม่ใช่แรงงานไทย ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ อีกทั้งสหภาพแรงงานยังถูกแทรกแซงจากทั้งรัฐและถูกนายจ้างคุกคาม ตัวอย่างเช่น สหภาพแรงงานโฮย่า หรือทรู ที่เมื่อจัดตั้งสหภาพ แกนนำก็จะถูกเลิกจ้าง
ประธาน คสรท. กล่าวว่า เมื่อกลับไปดูกฎหมายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับแรงงานที่ได้มานั้น ไม่ได้เกิดจากรัฐเป็นฝ่ายยื่นให้ แต่เป็นเพราะแรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้อง รวมตัวบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ กฏหมายประกันสังคม หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตาม ก่อนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนก็ได้ดำเนินการผลักดันมาโดยตลอด ในกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ 87 และ 98 ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเมื่อวันแรงงานแห่งชาติ (1 พ.ค.) ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้เข้าพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อให้มีการผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาฯ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนว่ารัฐมนตรีจะผลักดันได้ อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่แน่นอน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่ตลอด ดังนั้นแล้ว ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ใช้แรงงานคงต้องสมานฉันท์ ทำงานเคลื่อนไหวผลักดันในประเด็นที่เห็นร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

 
อนุสัญญาฉบับที่ 87  เน้นเรื่องสิทธิของนายจ้างและลูกจ้าง ในการก่อตั้งสมาคม สหภาพแรงงาน กฏเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิ โดยเฉพาะสิทธิในการจัดตั้ง หรือการเข้าร่วมองค์กรโดยการเลือกและการตัดสินใจของตนเอง ตลอดจนการมีอิสระในการเขียนข้อบังคับ การเลือกตัวแทน และการดำเนินกิจกรรม ตลอดจนการบริหารสหภาพแรงงาน
 
ส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 98 เน้นการคุ้มครองบุคคลหรือลูกจ้าง ในการใช้สิทธิดังกล่าวอย่างมีอิสระ ไม่ถูกบังคับ ไม่ถูกควบคุมในการจะเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมสหภาพแรงงาน ทั้งจากภาครัฐหรือแต่ละฝ่าย โดยทั้งนายจ้างและลูกจ้าง พึงละเว้นการแทรกแซงซึ่งกันและกัน
 
นอกจากนั้น อนุสัญญาฉบับที่ 98 ได้เน้นการเจรจาต่อรองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเจรจาต่อรองของคู่กรณีในลักษณะของความมีอิสระ เท่าเทียมกัน อนุสัญญานี้ใช้บังคับ ครอบคลุมถึงลูกจ้างทั่วไป ทั้งลูกจ้างที่ทำงานในภาคเอกชน และลูกจ้างที่ทำงานให้กับรัฐ ซึ่งหากจะพูดถึงลูกจ้างที่ทำงานให้กับรัฐนั้น อนุสัญญานี้ หมายถึง ลูกจ้างของรัฐโดยทั่วๆ ไป จะมียกเว้นก็เพียง ทหาร หรือ ตำรวจ  แล้วยังมีข้อยกเว้นให้กับบุคคลบางประเภทที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารประเทศ (ระดับนโยบาย) ด้วย
 
 
ที่มา: เอกสารประกอบการเสวนา โดยปณิธิ ศิริเขต
 
 
 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้รับรองอนุสัญญาไอแอลโอ 87 และ 98 มาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่า ผู้นำแรงงานทุกยุคจะถือว่านี่เป็นปัญหารอง และไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นอย่างเช่นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้แรงงานจำนวน 9.5 ล้านในระบบประกันสังคมยังอาจไม่เข้าใจอนุสัญญาทั้งสองเพียงพอ การขับเคลื่อนที่มีน้ำหนักจึงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า หากเครือข่ายแรงงานทุกกลุ่มมีมติเห็นชอบร่วมกันแล้ว การขับเคลื่อนก็จะมีน้ำหนักขึ้นและรัฐบาลจะต้องรับฟัง
ด้านนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะมีการเรียกร้องจากแรงงานหลายกลุ่มหลายครั้ง แต่ที่รัฐบาลไม่ยอมรับรองอนุสัญญา อาจเพราะต่างคนต่างขอ ต่างคนต่างเรียกร้อง เชื่อว่าหากเรียกร้องร่วมกันก็จะสำเร็จได้
ส่วนกรณีที่รัฐมักอ้างว่า แม้ไม่รับรองอนุสัญญา แรงงานก็รวมตัวกันได้ และประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้รับรองอนุสัญญานี้ นายชินโชติมองว่า แม้ว่าแรงงานจะรวมตัวกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการแอบจัดตั้งและลักจัดตั้ง ทั้งยังมีเงื่อนไขในการจัดตั้งเยอะมาก และหากเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้อยู่แล้วตารมที่รัฐอ้างจริง ก็ควรมีการรับรองอนุสัญญานี้ เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ประเทศอื่นในเอเชียที่ด้อยกว่าไทยก็ยังรับรองอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว
นายอำนาจ พละมี ตัวแทนเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ในฐานะคนงานที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง นอกจากการเปิดเสรีให้กับการรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานแล้ว รัฐไทยยังต้องมีกฏหมายเพื่อคุ้มครองผู้จัดตั้งสหภาพแรงงานด้วย เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีการคุ้มครองผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานเลย ใครที่จัดตั้งสหภาพก็จะถูกเลิกจ้างอยู่เสมอ นอกจากนี้ นายทะเบียนยังมักถ่วงเวลาการรับจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน ทั้งที่นายทะเบียนมีอำนาจเพียงอนุมัติเท่านั้น ขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็มักเจรจาต่อรองกับแรงงานแทนนายจ้างเสมอ
นายอำนาจ แสดงความเห็นว่า ถ้ามีการรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แรงงานจะรวมตัวกันได้อย่างเสรี ซึ่งรัฐจะอ้างว่า จะทำให้ดูแลไม่ได้ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดูแลทุกข์สุข แต่น่าจะหมายถึงควบคุมไม่ให้คนงานมีอำนาจต่อรองไม่ได้เสียมากกว่า
หลังการเสวนา เครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ได้ร่วมแถลงข่าวในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าจะร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว รณรงค์ อย่างเข้มข้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยถือเป็นภารกิจร่วมที่สำคัญของขบวนการแรงงานไทย เพื่อเสรีภาพในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน

 
แถลงการณ์ร่วม
ในการผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
 
พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานสิ่งทอแห่งประเทศไทย, กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และยานยนต์แห่งประเทศไทย (TEAM), เครือข่ายสหภาพแรงานสากล ในประเทศไทย (UNI-TLC), สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ได้ร่วมหารือและมีความเห็นร่วมกันว่า หมดเวลาแล้ว สำหรับข้ออ้างรัฐบาลไทยที่ไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหลักของขบวนการแรงงานไทยในการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้อย่างเร่งด่วน
 
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องหลักขององค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยคือการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเป็นอนุสัญญาหลัก 2 ฉบับในทั้งหมด 8 ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกของ ILO ต้องให้สัตยาบันรับรอง แต่ทิศทางการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้ง ILO นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาเพียง 14 ฉบับ จากจำนวนทั้งสิ้น 188 ฉบับ และเป็นเวลาถึง 30 ปี ที่รัฐบาลไทยไม่รับรองอนุสัญญาฉบับใดเลย นั่นคือในช่วงปี พ.ศ.2512-2542 และหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันรัฐบาลไทยก็รับรองอนุสัญญาเพียง 3 ฉบับ
 
แต่ที่สำคัญคืออนุสัญญาหลัก ที่ถือเป็นหัวใจของพวกเราพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คือ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง ทั้งๆ ที่ ILO ได้ประกาศในปี 2541 ให้อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อยู่ในปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน
 
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า คนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพแรงงานจากกระทรวงแรงงาน ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้าง และทำให้นายจ้างขัดขวางหรือทำลายการจัดตั้งสหภาพแรงงานมากมาย เป็นเหตุให้ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 500,000 กว่าคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ จากกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าละอายใจอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่เคารพมาตรฐานแรงงานสากล รวมถึงจัดตั้งมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) ในขณะที่ความเป็นจริงคนงานไทยถูกลิดรอนสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเพื่อต่อรองอย่างหนักที่สุดในภูมิภาคนี้
 
พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ร่วมพิจารณากันแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ พวกเรา ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว รณรงค์ อย่างเข้มข้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยถือเป็นภารกิจร่วมที่สำคัญของขบวนการแรงงานไทย เพื่อเสรีภาพในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน
 
โดยพวกเราผู้นำองค์กรแรงงานต่างๆ ได้ร่วมลงนามให้สัตยาบันร่วมกันไว้ ในการร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2552 ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ ตามรายนามดังต่อไปนี้
 
(นายมนัส โกศล)
ประธานสภาองค์กรลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย
 
(นายชินโชติ แสงสังข์)
ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย
 
(นายบรรจง บุญรัตน์)
ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
 
(นายจักรพันธ์ ไชยสุวรรณ)
เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย
 
(นายยงยุทธ เม่นตะเภา)
ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
 
(นายชาลี ลอยสูง)
เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์แห่งประเทศไทย และประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และยานยนต์แห่งประเทศไทย (TEAM)
 
(นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์)
ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายสหภาพแรงานสากล ในประเทศไทย (UNI-TLC)
 
(นายสมศักดิ์ สุขยอด)
ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
 
(นางสาวสงวน ขุนทรง)
ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่
 
(นายสาวิทย์ แก้วหวาน)
เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
(นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย)
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
(นายธนวัฒน์ ปู่พบุญ)
รองประธานสหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
รายนามสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานที่ร่วมให้สัตยาบันประกอบด้วย
1.สหภาพแรงงานคาวาซากิ
2.สหภาพแรงงานเฟ้สล์ดอจด์
3.สหภาพแรงงานไทยคูราโบ
4.สหภาพแรงงานเซนต์โกเบน
5.สหภาพแรงงานกันยง
6.สหภาพแรงงานพนักงานธนาคารทหารไทย
7.สหภาพแรงงานมิชลินแห่งประเทศไทย
8.สหภาพแรงงานไออาร์ซี
9.สหภาพแรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
10.สหภาพแรงงานเอ็นทีเอ็นนิเด็ก
11.สหภาพแรงงานแคนาดอล
12.สหภาพแรงงานบางกอกโคมัตสุ
13.กลุ่มเวลโกรว์
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net