Skip to main content
sharethis

วานนี้ (28 มิ.ย.52) เวลา 08.30 – 15.30 น. ที่ห้องชนกนันท์ โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ผู้จัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อการจัดตั้งกองทุนชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบ” จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการจัดตั้งกองทุนชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบ” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อสาธารณะ และระดมความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะที่มีต่อการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

สืบเนื่องจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมกับ โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ได้จัดทำ “โครงการวิจัยเพื่อการจัดตั้งกองทุนชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบ” เพื่อสำรวจความพึงพอใจและความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมในระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุของแรงงานนอกระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ ปัญหา อุปสรรคการจัดตั้งกองทุนฯ และเสนอแนวทางในการขจัดปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการผลักดันให้การจัดตั้งกองทุนฯ เป็นนโยบายสาธารณะ

ขณะนี้คณะทำงานได้สำรวจความคิดเห็นของสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และความเป็นไปได้ในการสนับสนุนกองทุนฯ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผลการศึกษารวมทั้งข้อเสนอแนะจากเวทีสัมมนาจะมีการรวบรวมนำเสนอต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังต่อไป

นางนิรมล สุธรรมกิจ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยโครงการวิจัยเพื่อการจัดตั้งกองทุนฯ กล่าวสรุปถึงผลการศึกษาซึ่งทีมวิจัยภาคสนามได้ทำการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างนอกระบบจำนวน 900 คน จากทั่วประเทศ ว่า กว่าร้อยละ 80 มีความสนใจการออมเงินเพื่อใช้ยามชราภาพ เพราะปัจจุบันยังไม่มีเงินออมในส่วนนี้ ต้องการพึ่งพาตัวเองยามชราภาพ และเบี้ยยังชีพที่ภาครัฐได้จัดสรรให้ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับ ส่วนอีกไม่ถึงร้อยละ 20 ที่ไม่สนใจนั้นเพราะในชุมชนมีระบบการออมประเภทต่างๆ อยู่แล้ว และบางส่วนไม่มีรายได้เพียงพอที่จะส่งเข้ากองทุนฯ

ประชากรกลุ่มตัวอย่างต้องการเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 50-55 ปี ส่วนความสามารถในการออมความคิดเห็นส่วนใหญ่อยู่ที่ 100 บาทต่อเดือน แต่ก็ยังมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าร่วมกองทุนฯ ได้ ซึ่งยังต้องใช้เบี้ยยังชีพต่อไป

การรับผลประโยชน์จากกองทุนฯ เกือบร้อยละ 90 ต้องการในรูปของบำนาญ ซึ่งประชาชนในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนคนที่ต้องการบำเหน็จนั้นต้องการนำเงินไปใช้ในทางเลือกอื่น เช่น ใช้หนี้ นำเงินไปลงทุนกับพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น ในส่วนจำนวนเงินบำนาญที่เพียงพอต่อการยังชีพ แบ่งเป็นกรณี คือ กรณีน้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนภูมิภาคซึ่งสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง กรณี 1,000-2,000 บาทต่อเดือน คาดว่าคิดบนฐานที่เป็นที่พึ่งของลูกหลาน ส่วนกรณีที่สูงกว่า 2,000 บาทต่อเดือนนั้นเพราะคิดว่าค่าครองชีพในอนาคตจะสูงกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ความต้องการใช้เงินหลังเกษียณคาดว่ามากกว่า 1,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออยากให้กองทุนมีข้อยืดหยุ่นเรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และกรณีที่ไม่สามารถส่งเงินได้อย่างสม่ำเสมอ ในส่วนระยะเวลาการออมเข้ากองทุนมีการเสนอให้ลด เป็น 10 ปี เพราะ 15 ปี นั้นนานเกินไป มีการเสนอให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนฯ และตรวจสอบการบริหาร นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบสำหรับการออม เช่นเดียวกับที่สมทบให้แรงงานในระบบตามหลักประกันสังคม

ทั้งนี้ การจัดตั้งกองทุนชราภาพแก่แรงงานนอกระบบ รูปแบบเริ่มต้นระบุว่าประชาชนสามารถซื้อหน่วยการลงทุนได้ตามความสมัครใจ คนละไม่เกิน 10 หน่วย โดย 1 หน่วยลงทุนเท่ากับการส่งเงินออม 1,200 บาทต่อปี เมื่อครบระยะเวลาการออม 15 ปี จะได้รับผลประโยชน์เมื่ออายุ 60 ปี เป็นเงิน 650 บาทต่อเดือน ซึ่งคาดว่าเงินจำนวนนี้หากรวมกับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท จะทำให้ในอนาคตเมื่อแรงงานนอกระบบเข้าสู่วัยชราภาพ จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการออมเพื่อเป็นกองทุนยามชราภาพ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2552 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ออกแถลงการณ์ “คัดค้านกระทรวงการคลังบังคับออม สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ รัฐต้องจัดบำนาญประชาชนให้ทุกคน” โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.จัดทำเสาหลักพื้นฐานแห่งการให้แบบถ้วนหน้าโดยบำนาญขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้มีผลผูกพันจากการออมโดยสมัครใจ ควรปรับให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ จัดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ทราบความยากจน 2.ต้องยืนยันว่าจะไม่มีการบังคับออม สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การนำเสนอช่องทางเลือกในการ ขยายสิทธิการออมโดยได้รับเงินสมทบจากรัฐเป็นแรงจูงใจ อันเป็นส่วนเพิ่มไปจากบำนาญขั้นพื้นฐาน

3.รัฐบาลควรเร่งรัดให้มีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อรองรับกับแผนนโยบายสวัสดิการที่จะต้องขยับขยายมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยการทบทวนถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาสู่การจัดบำนาญชราภาพและสวัสดิการอื่นๆ 4.การขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอื่นๆ โดยสนับสนุนสิ่งที่กองทุนประกันสังคมสามารถดำเนินการได้เลยคือ การแก้ไขบางส่วน และการปรับกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับมาตรา 40 [3] ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 โดยให้รัฐร่วมจ่ายสมทบกับแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของการจ่ายของแรงงาน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็น 5 กรณีคือ ทดแทนรายได้เมื่อคลอดบุตร ทุพลภาพ ทดแทนรายได้เมื่อป่วย ชราภาพ และเสียชีวิต

5.การให้มีทั้งการออมเพื่อชราภาพในหลายกองทุน เช่น ในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำนาญแห่งชาติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทำให้ลดความเสี่ยงของประชาชน ที่ไม่ถูกบังคับให้ออมอยู่ในกองทุนบำนาญแห่งชาติเพียงกองทุนเดียว และกระทรวงการคลังต้องออกแบบระบบการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติที่ควบคุมตรวจสอบ และแก้ปัญหาได้เร็ว ไม่ให้เหมือนกับปัญหาที่เกิดกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในปัจจุบัน 6.จัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนของประชาชนร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกันจัดทำกฎหมาย บำนาญประชาชน

อนึ่ง ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าประเทศไทย ขณะนี้มีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 7.3 ล้านคน หรือร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2573 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 17.7 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อเปรียบเทียบประชากรวัยแรงงานช่วงอายุ 15-59 ปี ต่อจำนวนประชากรผู้สูงอายุ พบว่าคนทำงาน 6 คน จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ในอนาคต ปี 2573 คนทำงาน 2.5 คน จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และคนชราจำนวนมากอาจถูกทอดทิ้งให้อยู่บ้านพักคนชราและอยู่ตามลำพังในบั้นปลายชีวิต

...............................................

หมายเหตุ

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ประกอบด้วยประกอบด้วย (1) เครือข่ายผู้บริโภค (2) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ (3) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย (4)เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (5) เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (6) เครือข่ายผู้หญิงด้านสุขภาพ (7) เครือข่ายผู้พิการ (8) เครือข่ายผู้สูงอายุ (9) เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก (10) เครือข่ายคนจนเมือง (11) เครือข่ายสลัม 4 ภาค (12) เครือข่ายเกษตรทางเลือก (13) เครือข่ายวิทยุชุมชน(14) คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (15) มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (16) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (17) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (18) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net