Skip to main content
sharethis

นอกจากกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของจีนที่ดูเหมือนจะเป็นเสือกระดาษ เมื่อนายจ้างสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างได้แล้ว กฎหมายล้มละลายที่รัฐบาลจีนออกมาเพื่อปฏิรูประบบตลาดก็ดูเหมือนไม่มีประสิทธิภาพเช่นกัน เพราะให้ความสำคัญกับเจ้าหนี้ของนายจ้างมากกว่าแรงงาน ปัญหาล่าสุดก็คือการหนีออกนอกประเทศของนายทุนต่างชาติจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทิ้งแรงงานไว้เบื้องหลัง

 

ใน Dongguan แรงงานของโรงงานผลิตของเล่น Smart Union รวมตัวกันหลังโรงงานปิด (ที่มาภาพ: Tse Ka Yin/EyePress News)
จีนปรับตัว ลดแรงกระเพื่อมจากความไม่พอใจของแรงงาน
ในช่วงที่ผ่านมา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้น โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือภาคการส่งออก เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดำเนินการได้เร็ว เช่น การเพิ่มอัตราภาษีคืนแก่ภาคส่งออก กำลังประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงโดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่ใช้แรงงานมาก แต่อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดของความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการที่จะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่ผลที่ชัดเจนต่อระบบเศรษฐกิจอาจต้องอาศัยระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของจีนให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มาตรการช่วยเหลือและพัฒนาภาคเกษตร/ภาคชนบท เพื่อสร้างงานและรองรับแรงงานอพยพกลับบ้านเกิด ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการเพิ่มสวัสดิการสังคม ปรับปรุงระบบประกันสังคม และปรับปรุงกฎหมายแรงงานที่ปกป้องแรงงานมากขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลจีนทำนั้นในด้านหนึ่ง อาจจะส่งผลดีต่อการยกระดับรายได้ของคนในภาคชนบทและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ถือเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น แม้ว่าผลของมาตรการพัฒนาภาคชนบทนี้อาจต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะปรากฏผลที่ชัดเจนซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของนโยบายด้วย
กฎหมายแรงงานจีน 2008
กฎหมายการจ้างงานฉบับใหม่ของจีน (China Employment Law 2008) ที่มีการกำหนดให้ต้องดูแลรับผิดชอบต่อแรงงานดีขึ้นและกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าสวัสดิการแก่สังคม ทำให้มองดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ
โดยกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2008 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังเป็นข้อถกเถียงกันในแวดวงแรงงานของจีน เนื่องจากนายจ้างหันไปใช้ยุทธวิธีทำให้แรงงานประจำกลายไปเป็นแรงงานจ้างเหมาช่วงแทน ทั้งนี้เริ่มความหวาดหวั่นกันว่าภายใต้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้ อาจจะเป็นเสือกระดาษที่ไม่ได้ช่วยอะไรให้กับแรงงานมากนัก
เพราะถึงแม้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ได้กำหนดให้แรงงานได้รับสิทธิพิเศษมากมายเมื่ออยู่กับบรรษัทเกิน 10 ปี แต่แรงงานที่ไร้ฝีมือ หรือแรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skill) ในงานต่างๆ อาทิงานก่อสร้าง หรืองานบริการพื้นฐานนั้น สัญญาจ้างงานส่วนใหญ่จะไม่เกิน 2 ปี
เหล่าบรรดานายจ้างเอง ได้ปรับปรุงกลยุทธ์การจ้างงานเสียใหม่เพื่อรับมือกับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ โดยหลายบรรษัทตั้งแต่ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอที ไปจนถึงผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้วิธี "ไล่ออกแล้วจ้างใหม่" โดยยกเลิกสัญญาเดิมและจ้างพนักงานเข้ามาในสัญญาใหม่ เพื่อเริ่มนับเวลาในการทำงานใหม่อีกครั้ง
รวมถึงการหันไปใช้การทำสัญญาจ้างเหมาช่วงในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ก่อสร้าง และการผลิตสินค้าราคาถูก ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการลดความยืดหยุ่นที่ส่งผลต่อแรงงานราคาถูก และลดการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินประกันสังคม
เมื่อเทวดาตกสวรรค์
ในปัจจุบัน ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของนักลงทุนที่หวังเรื่องค่าแรงราคาถูกจากจีน และได้ส่งผลกระทบถึงแรงงานอย่างเลี่ยงไม่ได้
ที่ Dongguan การดำเนินกิจการมันเคยรุ่งเรือง รุ่งเรืองมากๆ ด้วยซ้ำ แต่พอต้นปี 2008 เจ้าของบริษัทผลิตโคมไฟก็รู้ตัวแล้วว่า โรงงานในประเทศจีนของพวกเขากำลังจะแย่ จากสาเหตุการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ฉุดให้ความต้องการโคมไฟในร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ หายไปกับตา หนำซ้ำต้นทุนการผลิตในแถบ Dongguan ทางฝั่งตะวันตก ที่บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเอาไว้อย่างต่อเนื่อง
นี่แหละ ที่ทำให้เจ้านายใหญ่วัย 43 ปี ต้องแอบย่องออกจากจีนอย่างเงียบๆ โดยทิ้งเงินเอาไว้เพียง 100,000 ดอลลาร์ ไว้จ่ายค่าเช่าและเงินเดือนเดือนสุดท้ายของแรงงานกว่า 400 คน แล้วก็ติดหนี้บรรดาซัพพลาย์เออร์ไว้อีกบานเบอะ
เขาโชคดีอยู่ไม่น้อยที่เผ่นออกไปก่อน หลังจากที่ข่าวกระจายออกไปว่าโรงงานปิด แรงงานที่โกรธแค้นก็ได้มารวมตัวกันที่ถนนแคบๆ ที่เรียงรายไปด้วยอินเตอร์เน็ตคาเฟ่และโต๊ะพูล ส่วนบรรดาซัพพลายเออร์ก็มาพร้อมด้วยรถปิคอัพที่เอาไว้ส่งของแต่คราวนี้คงมาเตรียมขนของออกไป พวกเขาปิดทางออกไว้และได้ส่งคนเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์ สายเคเบิล เครื่องยนต์ หรืออะไรก็ตามที่พอมีมูลค่า เมื่อหาตัวเจ้านายใหญ่ไม่พบ พวกเขาก็จับทนายความของบริษัทเป็นตัวประกันไว้ตลอดทั้งวัน
“มันยังเป็นโรงงานที่ใหม่ คงเหมือนการขุดทอง พวกเขาคงจะขุดเอาทุกอย่างไป” เจ้านายใหญ่ของโรงงานเจ้ากรรม ซึ่งแอบซุ่มตัวอยู่ในไต้หวันมาเกือบปีแล้วกล่าวกับ Businessweek 
 
แรงงานยึดเอาจักรเย็บผ้ากลับไปเป็นเครื่องมือทำมาหากิน หลังจากโรงงานของพวกเขาปิดตัวลง(ที่มาภาพ: via/AP Photo)
ทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลัง
ความสงบหน้าโรงงานกลับมา หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คันรถมาปกป้องทรัพย์สินของโรงงาน แต่เป็นโชคร้ายของซัพพลายเออร์ที่มาช้า Xiao Xiaosan ผู้ส่งชิ้นส่วนโลหะให้โรงงานผลิตโคมไฟ กล่าวว่าโรงงานนี้เป็นหนี้เขาอยู่ 76,000 ดอลลาร์ ถึงแม้เขาจะมาถึงโรงงานตั้งแต่วันแรกที่มันปิดตัวลง แต่เขาก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาจะมีโอกาสได้รับเงินก้อนนั้นคืนหรือไม่
“เป็นไปไม่ที่ผมจะไปตามหาเจ้าของโรงงานนอกประเทศจีน” เขากล่าว
เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จีนได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เจ้าของธุรกิจได้ปิดกิจการเพียงชั่วข้ามคืน บ่อยครั้งพวกเขาใช้วิธี “โกยเถอะโยม” หนีออกนอกประเทศไปทันทีทันใด เพราะความเกรงกลัวต่อแรงงานและซัพพลายเออร์ที่คลั่งแค้น รวมถึงความไม่มั่นใจต่อมาตรการทางกฎหมายของจีนว่าจะคุ้มครองการล้มละลายของพวกเขาได้ดีแค่ไหน
ใน Donggoun เมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว มีคดีที่ผู้ประกอบการณ์หนีไปถึง 637 คดี (ที่มีการบันทึกไว้โดยเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้นถึง 24% ทิ้งแรงงานให้เตะฝุ่นถึง 113,000 คน และนายจ้างเป็นหนี้แรงงานเหล่านี้ถึง 44.1 ล้านดอลลาร์ ส่วนเรื่องราวอีรุงตุงนังในความขัดแย้งที่ตามมาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัว เกือบราว 80,000 ราย
ปัญหานี้ได้กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้สั่งและผู้ส่งสินค้าถูกพับเก็บไว้ ปัจจุบันซัพพลายเออร์เรียกร้องให้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าไว้มากขึ้น
“วิธีการนี้ได้ทำให้เส้นทางไหลเวียนสินค้าสะดุดลง” Ben Schwall ผู้บริหาร Aliya Lighting บริษัทใน Donggoun ที่ส่งสินค้าให้กับ Home Depot, Lawe’s และที่อื่นๆ กล่าว “เครดิตแบบมิตรภาพแทบจะไม่มีแล้ว”
นอกจากนี้ ความกลัวเรื่องกิจการล้มละลาย ยังทำให้บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจับตาเรื่องความมั่นคงของซัพพลายเออร์เพิ่มขึ้น
“นี่เป็นความกังวลอันหนักหน่วง” William Fung กรรมการผู้จัดการของ Li & Fung บริษัทจัดซื้อสินค้าจากเอเชียให้กับร้านค้าปลีกทั่วโลกกล่าว “ตอนนี้คำถามที่ฝ่ายจัดซื้อต้องย้ำบ่อยครั้งก็คือ… พรุ่งนี้โรงงานยังจะอยู่ไหม”
ส่วน Peter Lau ประธานของ Giordano international เครือข่ายค้าปลีกเสื้อผ้าที่มีร้านทั่วเอเชียกว่า 2,000 แห่งกล่าวว่า “คุณควรตกลงธุรกิจกับคนที่คุณค้าขายมานานแล้วเท่านั้น … และต่างฝ่ายต้องเชื่อใจกัน”

 
ภาคการส่งออกจีนทรุดตัว
การส่งออกทั้งหมดของจีนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2551 ชะลอตัวลงโดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 16.8 ถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2545 ที่อัตราการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของจีนที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ขณะที่การนำเข้าของจีนจากสหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนของปี 2551 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น (ร้อยละ 30.9) ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าของจีนกับสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 64 จาก 39.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีก่อนหน้า เป็น 28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของจีนไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน (ขยายตัวร้อยละ 21.9) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 26) ญี่ปุ่น(ร้อยละ 20.8) ลาตินอเมริกา (ร้อยละ 66.9) ฮ่องกง (ร้อยละ 23.9) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 14.2)
ภาคการส่งออกถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน การส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม (จีนส่งออกสินค้าไปประเทศที่สามเพื่อใช้ผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ) ของจีนไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน นับว่าการพึ่งพิงการส่งออกของจีน (ทางตรงและทางอ้อม) ไปสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย และสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของจีน มีความสำคัญต่อ GDP ของจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.7 ซึ่งนับว่าไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ นอกจากนี้ การส่งออกโดยรวมของจีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 37 ของ GDP ถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับไทยที่การส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62 ของ GDP ขณะที่ภาคการลงทุนของจีนคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 42 ของ GDP และภาคการบริโภคของจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 50 ของ GDP
กฎหมายล้มละลายของจีน
ในสหรัฐฯ เจ้าของกิจการสามารถยื่นขอล้มละลายเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหนี้ และสามารถขอคำสั่งศาลเพื่อให้ได้รับเงินทุนสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ซึ่งในจีนก็น่าจะเกิดกรณีนี้เช่นเดียวกัน จากกฎหมายล้มละลายที่มีอายุ 2 ปี ที่ว่ากันว่าจะเป็นขั้นตอนสำคัญในการปฏิรูประบบตลาดในจีน แต่ทั้งนี้มีผู้พิพากษาไม่กี่คนที่ได้รับการอบรมเพื่อให้เข้าใจกฎหมายที่ซับซ้อนนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของรัฐจึงไม่ค่อยสนับสนุนให้เจ้าของกิจการที่มีปัญหายื่นต่อศาลเพื่อขอล้มละลาย และเนื่องจากเจ้าหนี้จะได้รับค่าชดเชยก่อนแรงงาน กฎหมายนี้จึงยังไม่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาความไม่พอใจของแรงงานจีนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ
ในช่วง 10 เดือนของปี ค.ศ. 2008 กฎหมายล้มละลายถูกนำมาใช้แค่ 1,000 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มากกว่าโรงงานเพื่อการส่งออกที่ปิดตัวลงนับพันแห่ง
“กฎหมายล้มละลายยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น” John J. Rapisardi หุ้นส่วน Cadwalader, Wickersham & Taft บริษัทกฎหมายในนิวยอร์ก ที่แนะนำให้จีนร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าว
ดังนั้นแทนที่จะเรียกร้องเงินต่อศาลไปตามขั้นตอน แรงงาน ซัพพลายเออร์ และเจ้าหนี้จึงแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ดังกรณีของผู้ผลิตของเล่น Smart Union Group ที่ล้มไปในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้เจ้าของโรงงานที่อยู่ในฮ่องกงต้องรีบปิดโรงงานใหญ่ 2 แห่งใน Dongguan ที่ผลิตของเล่นให้ Walt Disney และ Mattel หนีหนี้จำนวน 29 ล้านดอลลาร์ ที่ติดหนี้ซัพพลายเออร์ 800 ราย และค้างค่าจ้างแรงงานอีก 7,600 คนอีก 3.5 ล้านดอลลาร์ เหตุการณ์ปะทุความไม่พอใจให้กับแรงงานเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรีบจ่ายเงินค่าจ้างให้ หลังแรงงานชุมนุมใหญ่กันที่หน้าศาลากลางจังหวัด
“แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานอพยพที่อาศัยอยู่ในโรงงาน” Huang Huiping รองหัวหน้าของสำนักงานแรงงาน Dongguan กล่าว “หากเจ้านายหายตัวไป พวกเขาก็ไม่มีที่อยู่”
บางท้องที่เริ่มจริงจังกับปัญหานี้ ที่จังหวัด Guangdong เจ้าหน้าที่แรงงานได้ตีพิมพ์ชื่อเจ้าของโรงงานที่หนีหนี้ประจารไว้ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น นอกจากจะทำให้พวกเขาอับอายแล้วยังทำให้พวกเขาประกอบธุรกิจใหม่ได้ยากขึ้น เช่นเดียวกับผู้นำแรงงานที่ได้ขึ้นแบล็กลิสต์เจ้านายที่หนีคดีของพวกเขา และยังร่วมมือกับศาลพยายามตามล่าตัวนายจ้างมาดำเนินคดี และยังมีการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายให้สามารถดำเนินคดีอาญากับนายจ้างที่หายตัวไปอีกด้วย
“เรื่องแบบนี้มันทำร้ายสังคมมาก ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนการก่ออาชญากรรม” Zhu Zhengfu รองประธานของ Guangdong Lawyers Assn. กล่าว
เสียงจากผู้ซ่อนตัว
ขณะที่เจ้าของกิจการที่ล้มละลายจำนวนมากหลบหนีไป คนที่ไม่ไปไหนก็เป็นห่วงสวัสดิภาพของตนเอง เช่นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ Shenzhen Bandshine Communications Development ที่ไม่สามารถจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์และลูกจ้างได้ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว
เจ้านายใหญ่อย่าง Zhao Zheng รีบแอบซุ่มตัวกบดานทันที  “ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ และกลัวเรื่องความปลอดภัยในชีวิต” นั่นคือข้อความที่เธอส่งให้ตัวแทนจำหน่ายของเธอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ฉันไม่มีทางเลือก นอกจากการซ่อนตัว” เป็นข้อความถัดไปที่เธอส่งให้พวกเขา
“เธอเป็นหนี้ซัพพลายเออร์เป็นจำนวนมาก”  Jack Zhou อดีตผู้จัดจำหน่ายกล่าว และเธอยังติดหนี้เขาอยู่กว่า 90,000 ดอลลาร์ “พวกเขามาที่โรงงาน และพังทุกอ่างที่ขวางหน้า” เขากล่าว
เสียงจากผู้หลบหนี
ส่วนอดีตเจ้าของกิจการผลิตโคมไฟใน Dongguan ก็กำลังหาทางแก้ปัญหากับซัพพลายเออร์ของเขาอยู่ เขายังหวังที่จะกลับไปที่จีน แม้ไม่มั่นใจนัก “ผมทิ้งเวลากว่า 17 ปีในธุรกิจไป แต่บางครั้งเราต้องรู้จักพอ” เขากล่าวขณะพักผ่อนอย่างสบายกายในบ่อน้ำร้อนที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติใกล้กับกรุงไทเป ในไต้หวัน
“กฎหมายจีนบางครั้งมันเหมือนป้ายที่แขวนไว้หน้าห้องน้ำในจีน (ความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่า) คุณรู้จักใครและคุณมีเงินมากแค่ไหน นอกเหนือจากนี้ก็เป็นการเสียเวลาเปล่า”
 
เรียบเรียงจาก:
As Factories Fail, China's Business Law Does, Too (Dexter Roberts, BusinessWeek, 02-04-2009)
Chinese Workers in Coca-ColaDispute
(Radio Free Asia's, 12-09-2008)
เศรษฐกิจจีนถูกกดดันจากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ...ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปจีน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจ. 09-04-2008)
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 4/2551 ขยายตัว 6.8% ต่ำสุดในรอบ 7 ปี...กระทบการส่งออกไทย (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, บจ.  22-01-2009

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net