บทเรียนที่ไม่มีการเรียนรู้

อันตรายจากการทำงานมักไม่ปรากฏให้เห็นตามสื่อ และอยู่นอกเหนือการรับรู้ของสาธารณะ จะเ็ป็นที่สนใจก็ต่อเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ขึ้น

 

 

การสูญเสียอย่างมหันต์: มาโนช ท่าโกสี คนงานโรงงานขนมปังในกรุงเทพฯ มือข้างหนึ่งเข้าไปติดในเครื่องบดเนื้อในขณะที่เครื่องกำลังทำงาน เป็นผลให้เขาต้องตัดนิ้วทิ้งไป 2 นิ้ว
 
มือขวาของแสงดาว ช่วยเชี่ยว เหลือเพียงนิ้วหัวแม่มือบางส่วน อีกสี่นิ้วขาดหายไปในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะทำงาน ซึ่งเธอกำลังเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัท แต่หนทางที่จะได้รับค่าชดเชยและชีวิตส่วนที่เหลือของเธอหลังเกิดอุบัติเหตุเมื่อเดือนมกรานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคนงานวัยหนุ่มสาวอย่างเธอ
 
ปัจจุบัน แสงดาว ซึ่งอายุ 27 ปี ยังคงทำงานกับบริษัทเดิมที่เธอทำงานมา 4 ปีแล้ว บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์กีฬา ไม่มีแผนกดูแลความปลอดภัยในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่มีสหภาพแรงงานด้วย
แสงดาวได้รับเงินชดเชยเนื่องจากความพิการเป็นเงิน 35,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันชีวิตหมู่ที่บริษัททำไว้ และเจ้าหน้าที่บริษัทจำนวนหนึ่งลงขันกันช่วยเหลือเธออีก 1,250 บาท เป็นที่เข้าใจได้ว่า แสงดาวไม่ได้รู้สึกว่าค่าชดเชยที่ได้รับนี้เพียงพอต่อการสูญเสีย ซึ่งเธอกล่าวว่า เกิดจากเครื่องจักรทำงานผิดปกติ โดยที่บริษัทรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจที่จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อบริษัทไว้กับทางตำรวจ โดยหวังว่ามันจะใช้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าชดเชย
 
ไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและบันทึกการเกิดอุบัติเหตุให้แสงดาวนำไปแสดงต่อตำรวจ ก่อนการเกิดอุบัติเหตุเธอได้รายงานความผิดปกติของเครื่องจักรที่บดขยี้มือขวาของเธอ แต่ไม่มีบันทึกที่บรรยายว่า รองผู้จัดการบริษัทได้เดินเครื่องด้วยความเร็วสูง และสั่งให้เธอทำงาน
 
คนงานที่ทำงานร่วมกับแสงดาวบางคนเป็นพยานในเรื่องนี้ได้ แต่เธอไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะให้การเป็นพยานเข้าข้างเธอหรือไม่ เธอเล่าว่า หัวหน้างานโดยตรงของเธอก็น่าจะรู้ว่าเครื่องจักรไม่ได้ทำงานเป็นปกติ เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่รายงานเรื่องนี้ต่อช่างเครื่องของบริษัท แต่เช่นเดียวกัน แสงดาวไม่ได้รู้สึกว่าเธอจะสามารถพึ่งให้เขาให้การเป็นพยานได้ถ้าหากคดีไปถึงชั้นศาล
 
หนทางที่ยากลำบาก : ชายคนนี้เสียขาทั้งสองข้างไปในระหว่างการทำงาน เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายที่ได้รับบาตเจ็บจากการทำงาน
 
“ตำรวจถามฉันว่า ทำไมฉันต้องแจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้าง ในเมื่อฉันแค่เสียนิ้วมือเท่านั้น” แสงดาวกล่าวพร้อมกับน้ำตาไหลพราก มันบรรยายถึงความสูญเสียของเธอที่เหลือแค่เพียง “นิ้วกุด”
 
แสงดาว แม่บ้านผู้หย่าขาดกับสามี และเลี้ยงดูลูกชายวัย 4 ขวบตามลำพัง กล่าวว่า เธอไม่มีใครให้หันหน้าไปพึ่ง เนื่องจากบริษัทของเธอไม่มีสหภาพแรงงาน ความลำบากในการต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยบรรเทาเบาบางลงบ้างตั้งแต่ที่เธอได้พบกับสมาชิกสหภาพแรงงานภาคตะวันออกบางคน ซึ่งให้กำลังใจเธอ และพาเธอไปพบกับเจ้าหน้าที่ แต่ทว่า ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่า เธอจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่
 
โดยทั่วไปผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะโยนความผิดเรื่องอุบัติเหตุในสถานประกอบการว่าเป็นความบกพร่องของมนุษย์ เมื่อถามความเห็นจากนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายอาทิตย์กล่าวว่า อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทุกๆ ที่ในสถานประกอบการ
 
แต่ฝ่ายที่สนับสนุนคนงานกล่าวว่า ถึงแม้ว่าอุบัติเหตุที่เกิดจากความบกพร่องผิดพลาดของมนุษย์จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความผิดพลาดดังกล่าวต้องนำมาพิจารณาด้วย พวกเขาชี้ว่า ประเทศไทยไม่มีระบบที่พร้อมจะตรวจสอบอุบัติเหตุและสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนไม่มีระบบในการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่านายจ้างได้ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในสถานประกอบการ ความล้มเหลวดังกล่าวมานี้เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมากมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย การเสียชีวิต และความพิการขึ้นในประเทศ
 
 
อุบัติเหตุจากการทำงาน: แสงดาว ช่วยเชี่ยว อยู่ในระหว่างการต่อสู้เพื่อให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม
ข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงแรงงานฯ ความเสียหายจากการทำงานที่มีการรายงานเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 176,502 ราย มีผู้เสียชีวิต 613 ราย ทุพพลภาพ 15 ราย และสูญเสียอวัยวะบางส่วน 3,069 ราย
 
แน่นอนว่าคนงานเหล่านั้นต้องการขายแต่หยาดเหงื่อแรงงานเท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะขายส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือแม้แต่ชีวิตของตน
 
อันตรายและความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานเกิดขึ้นได้จากสภาพการทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะที่คนงานประสบพบเจอเป็นช่วงเวลานานๆ มากกว่าเกิดจากอุบัติเหตุ การพิสูจน์ว่าอันตรายและความเจ็บป่วยดังกล่าวเกิดจากงานที่ทำ อาจจะเป็นภาระหน้าที่ที่น่าท้อใจ ดังเช่นที่เราได้เห็นในกรณีของสมบุญ ศรีคำดอกแค ซึ่งเหมือนกับคนงานอื่นๆ อีกมากมายที่ล้มป่วยหลังจากเข้าทำงานในโรงงานทอผ้า สมบุญ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ใช้เวลาถึง 11 ปี เพื่อพิสูจน์ว่า โรคบิสซิโนซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายที่เธอเป็นอยู่นั้นเกิดจากสภาพการทำงาน และทำให้เธอชนะคดี สมบุญ และเพื่อนคนงานอีก 37 คนได้รับค่าชดเชยจากการที่ปอดสูญเสียความสามารถในการหายใจได้อย่างปกติเป็นเงินรายละ 110,000 บาท
 
ปัจจุบัน สมบุญได้รับการผลักดันให้ต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานทัั้้งหลายทั้งปวง และเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ
 
 
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ จุดกระตุ้นเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการ
เป็นเวลา 16 ปี มาแล้วนับตั้งแต่เกิดเหตุไฟไหม้อันอื้อฉาวที่โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ตำบลสามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ซึ่งคร่าชีวิตคนงานไป 188 ราย และบาดเจ็บอีก 469 ราย นับเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
 
 
อุบัติเหตุในสถานประกอบการ
 
2547
2548
2549
2550
2551
รวม
เสียชีวิต
861
1,444
808
741
613
4,467
ทุพพลภาพ
23
19
21
16
15
94
สูญเสียอวัยวะ
3,775
3,425
3,413
3,259
3,096
16,968
บาดเจ็บอื่นๆ
215,543
214,235
204,257
198,652
176,502
1,185,691
 
จากการสอบสวนพบว่า ประตูทางออกที่ถูกล็อก การออกแบบโรงงานที่ไม่เหมาะสม และการขาดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเกือบจะโดยสิ้นเชิง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่อัตราสูง คนงานที่รอดชีวิตจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานทั้งจากบาดแผลไฟไหม้ กระดูกหัก และกระดูกแตกที่เกิดหลังจากที่ต้องกระโดดหนีไฟจากชั้น 2 ชั้น 3 และชั้น 4 ของโรงงาน
 
โศกนาฏกรรมในครั้งนี้เป็นจุดกระตุ้นให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ ซึ่งร่างโดยผู้นำแรงงานและนักวิชาการมาแต่แรกเริ่ม นับแต่นั้นเป็นต้นมา คนงาน ผู้นำสหภาพ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนก็ได้ออกมารณรงค์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และหวังว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ.จะเป็นแสงสว่างอันเล็กน้อยที่ปลายอุโมงค์สำหรับคนงานอีกมากมาย
 
กระนั้นก็ตาม คนงานและผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานก็มักจะกล่าวว่าเหตุการณ์ไฟไหม้เคเดอร์เป็นบทเรียนที่ประเทศไทยไม่เคยเรียนรู้ เห็นได้จากการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงานที่ยังคงเกิดขึ้นทุกๆ ปี ในอัตราที่สูง สถิติของกองทุนเงินทดแทนแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการทำงาน ตั้งแต่ปี 2547-2551 มีทั้งสิ้น 4,467 ราย ในช่วงเวลาดังกล่าว มีคนงาน 94 ราย ที่กลายเป็นผู้ทุพพลภาพ อีก 16,968 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน และได้รับบาดเจ็บจากการทำงานรวมทั้งสิ้น 1,185,691 ราย (ดูตาราง)
 
จากสถิติแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในสถานประกอบการมีมากกว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ปรากฏเป็นข่าวหน้า 1 เสมอ รวมทั้งสิ้น 3,214 ราย แต่เหตุฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่เกิดกับคนงานธรรมดาๆ แต่ละราย ต้องเผชิญกับความเงียบ และไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ที่มีตำแหน่งหน้าที่มากนัก การตายและบาดเจ็บของคนงานไม่ได้รับการพิจารณาจากหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่และสื่อในช่องทางอื่นๆ ว่าน่าสนใจพอที่จะเป็นข่าวได้ มีเพียงครอบครัวที่ใกล้ชิดของเหยื่อเท่านั้นที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
 
สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ คนแล้ว ความเข้าใจและการสนับสนุนของพวกเขาต่อเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการเริ่มต้นและสิ้นสุดลงด้วยการประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ กรมคุ้มครองแรงงานฯ ได้ประกาศข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่เห็นได้ชัดว่า ทั้งการประกาศวันความปลอดภัยฯ และข้อบังคับฯ ช่วยปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยในโรงงานให้ดีขึ้นได้น้อยมาก และเป็นสิ่งที่แตกต่างจากที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์
 
ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ของผู้ใช้แรงงานทั่วไป 9.8 ล้านคนในจำนวนประชากรวัยทำงานของไทย ข้าราชการ 7 ล้านคน พนักงานรัฐวิสาหกิจ และแรงงานตามบ้านไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนอย่างไร คนงานจำนวนมากกล่าวว่าพวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว และถึงแม้ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีความสำคัญ แต่มีคนงานจำนวนไม่มากที่เข้าร่วมในความพยายามที่จะผลักดันให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
 
ปัจจุบัน คุณภาพชีวิตของคนงานในโรงงานขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเจ้าของกิจการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของคนงาน หรือให้ความสำคัญต่อผลกำไรเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นอย่างหลัง นายจ้างก็อาจจะพยายามปดปิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่เกิดขึ้นมากกว่าที่จะส่งเสริมให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัย การที่ไม่มีรายงานเรื่องอุบัติเหตุและการจ่ายค่าชดเชยอาจจะเป็นตัวชี้วัดว่า โรงงานนั้นเป็นสถานประกอบการที่เหมาะแก่การลงทุน
 
นอกจากนี้ นักลงทุนจำนวนมากอาจจะมั่นใจขึ้นจากกรณีของสมบุญที่ต้องต่อสู้อย่างยาวนานกว่าที่เธอจะได้รับค่าชดเชย และกรณีของแสงดาว ซึ่งไม่มีหน่วยงานรัฐยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือเธอ เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า เธอต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง จะว่าไปแล้ว แสงดาวได้สังเวยอวัยวะและสุขภาพของเธอเพื่อให้ประเทศไทยยังคงหลอกล่อนายทุนให้มาลงทุนได้ต่อไป
 
ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ฉบับเดิมที่เสนอโดยผู้นำแรงงานและนักวิชาการ ถูกร่างใหม่ เปลี่ยนแปลง แก้ไข โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายครั้ง และส่วนใหญ่คนงานไม่มีส่วนร่วมด้วยเลย
สมบุญเฝ้าติดตามกฎหมายฉบับนี้มากว่า 10 ปี เธอกล่าวว่าเหตุผลหนึ่งที่ร่างดังกล่าวไม่มีการประกาศใช้ เนื่องจากรัฐบาลต้องการที่จะกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป
 
“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของเราเสนอว่าสถาบันฯ จะต้องเป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่เป็นอิสระ ซึ่งมีความชำนาญในการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงาน เราต้องการให้รัฐบาลโอนกองทุนเงินทดแทนโอนมาขึ้นกับสถาบันฯ ด้วย” สมบุญอธิบาย
 
“อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงานฯ ของรัฐบาลมุ่งที่จะประกาศกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะทำให้ข้าราชการมีอำนาจมากขึ้น และจัดตั้งกองทุนที่นายทุนสามารถกู้ยืมเพื่อการลงทุนในด้านความปลอดภัย” สมบุญยังกล่าวเสริมอีกว่า ในร่างฉบับรัฐบาลนั้น สถาบันฯ ยังมีเ้ป้าหมายที่จะให้การศึกษาและทำงานวิจัยให้มากขึ้นด้วย
นักต่อสู้เพื่อสิทธิคนงานตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากหน่วยงาน 2 หน่วยงานอยู่ใต้ร่มเดียวกัน (เ็ป็นราชการเหมือนกัน) ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ก็จะไม่มีระบบที่ตรวจสอบและควบคุมซึ่งกันและกัน
 
“ที่ผ่านมา มีคนงานจำนวนหนึ่งล้มป่วย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังยืนกรานว่าเราไม่ได้ป่วย”
 
“เราก็ไม่มีสิทธิจะพูดอะไร” สมบุญกล่าวในขณะที่เธอต้องใช้ความพยายามในการหายใจ
 
หลายต่อหลายครั้งที่คนงานเรียกร้องว่าสถานประกอบการที่พวกเขาทำงานอยู่ไม่ปลอดภัย แต่ผลการตรวจสอบของทางการก็มักจะไม่พบการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของคนงาน และเมื่อคนงานได้รับอันตราย เจ้าหน้าที่ก็จะร้องว่ากำลังเจ้าหน้าที่มีไม่พอ
 
“เรามีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยแค่ 600 คน ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบสถานประ กอบการมากกว่า 400,000 แห่ง” เป็นคำกล่าวของกาญจนา กานต์วิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
 
 
ความอึดอัดคับข้องใจต่อความล่าช้า
เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกล่าวตามแบบฉบับว่า พวกเขายินดีให้คนงานมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่มันไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของเขา “เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะอนุญาตให้คนงานเข้าร่วมให้ข้อมูลบางประการที่เป็นประโยชน์ต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ หรือไม่ เราได้ยื่นจดหมายขอร้องให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุญาตให้คนงานได้เข้าไปอธิบายข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนงานเอง” ผอ.สถาบันฯ กล่าว
 
“เราไม่เคยเพิกเฉยต่อร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เราได้ดำเนินการอยู่ตลอดเวลา โดยแก้ไขปรับปรุงและจัดการประชุมหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
 
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นผู้หนึ่งที่ข้องใจในความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฯ อาจารย์สนับสนุนร่าง พ.ร.บฯ มาตั้งแต่ได้เข้าไปช่วยคนงานเคเดอร์และญาติในการเรียกร้องให้ได้มาซึ่งค่าชดเชย เขากล่าวว่า ร่างของรัฐบาลกำลังพัฒนาให้สถาบันฯ ไปสู่การเป็นองค์กรวิชาการมากยิ่งขึ้น
 
“เราไม่ได้ต้องการสถาบันทางวิชาการเพิ่มขึ้นอีก แต่เราต้องการ พ.ร.บ.ที่สามารถจัดการปัญหาแรงงาน และให้คนงานเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อพูดถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่” อ.วรวิทย์กล่าวเสริมอีกว่า สถาบันฯ ควรจะสามารถกำหนดนโยบายและให้คำแนะนำในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้
 
ในขณะที่ทุกคนกำลังรอคอยให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ คลอดออกมา สถานการณ์ความปลอดภัยในสถานประกอบการก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น สมบุญชี้ว่า ทุกวันนี้ มีสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากมายที่จะกีดกันคนงานไม่ให้เข้าถึงสิทธิของตนเมื่อพวกเขาได้รับอันตราย “อุปสรรคอาจจะมาจากคนงานเอง จากผู้ประกอบการ และกระบวนการวินิจฉัย จากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และจากนโยบายของรัฐในเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการ”
 
คนงานจำนวนมากไม่รู้จักสิทธิของตน และผู้ประกอบการมากมายก็ไม่ทำอะไรที่จะเป็นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและเครื่องจักรในโรงงานให้ดีขึ้น
 
ตรงกันข้าม บรรดานายทุนพยายามที่จะลดต้นทุนในการประกอบการและลดกำลังแรงงานลง จนเป็นผลให้คนงานหนึ่งคนต้องดูแลเครื่องจักรหลายๆ เครื่อง
 
สมบุญยังเล่าอีกว่า ปัจจุบัน มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการที่จะปรับแต่งสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ
 
“นี่เป็็นผลมาจากนโยบายรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ มีบริษัทจำนวนมากต้องการได้รับรางวัลเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล” เป็นคำบอกเล่าของ บุญยืน สุขใหม่ เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งอธิบายว่าการได้ชื่อว่ามีสถิติอุบัติเหตุในการทำงานเป็นศูนย์มีผลดีต่อผู้ประกอบการในแง่ของการได้ลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้แก่สำนักงานกองทุนประกันสังคม
 
ชลอลักษณ์ แก้วพวง เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า การรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุนี้มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจต่อความปลอดภัยในสถานประกอบการของตน ไม่ได้สนับสนุนให้มีการปกปิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
 
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ คนพยายามอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือคนงานที่ได้รับบาดเจ็บ แต่สุดท้ายความปรารถนาดีนี้ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากขัดกับนโยบายที่เจตนาซุกซ่อนปกปิดเรื่องเหล่านี้ไม่ให้ปรากฏออกมา
 
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2546 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ ได้เข้าร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณโรงงานเก่าที่ปัจจุบันถูกปิดไปแล้ว นายสุวัจน์ได้กล่าวว่า เขาจะพยายามผลักดันทั้งร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ และร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ที่มีการเสนอมา
 
10 พฤษภาคม 2552 นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน เป็นประธานในพิธีรำลึก กล่าวว่า “ผมอยากจะเน้นว่า เราต้องนำเอาโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับโรงงานเคเดอร์มาเป็นบทเรียนในการเรียนรู้และเตือนใจคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ ไม่ว่าคุณจะเ็ป็นเจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือคนงานในระดับปฏิบัติการ ให้หันมาให้ความสนใจและให้ความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยในสถานประกอบการ”
 
หลายๆ คนที่เข้าร่วมงานรำลึกเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ในช่วง 16 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานในวันนั้น และญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ช่วยไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ “สาส์นแห่งความปรารถนาดี” ครั้งสุดท้ายที่พวกเขาจะได้ยินจากผู้มีอำนาจรับผิดชอบ ในขณะที่พวกเขารอคอยการปฏิบัติที่เป็นจริงที่จะก่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
…………………………………………………………
 
 
ความเสียเปรียบในการแข่งขันของผู้ใช้แรงงาน
เรียบเรียงจากรายงานของศุภรา จันทร์ชิดฟ้า
บางกอกโพสต์สเปคตรัม
24 พฤษภาคม 2552
 
เดือนมีนาคม 2537 หลังเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และการเสียชีวิตอย่างลึกลับที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งแพทย์บางท่านให้ความเห็นว่า เกี่ยวข้องกับสารโลหะหนักที่คนงานสัมผัสโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และคนงานได้เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจต่อความปลอดภัยในสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น กรรมการบางท่านได้เข้าพบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในตอนนั้น เจ้าหน้าที่ของบีโอไออธิบายว่าบีโอไอมีอำนาจหน้าที่ให้การส่งเสริมการลงทุน และให้การสนับสนุนต่อนักลงทุนเพื่อที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ
 
 “เจ้าหน้าที่ของบีโอไอกล่าวว่า ไม่มีการกล่าวถึงกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน(ในเอกสารของบีโอไอ) เนื่องจากกฎข้อบังคับเหล่านั้นอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อนักลงทุน” จะเด็ด เชาว์วิไล จากมูลนิธิผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่เข้าพบบีโอไอในครั้งนั้นเล่าให้ฟัง เจ้าหน้าที่บีโอไอยังกล่าวด้วยว่า บีโอไอจะเลือกเฟ้นให้การสนับสนุนแก่โรงงานที่มีแผนความปลอดภัยที่ดี และมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ถ้าหากพบว่ามีนักลงทุนคนใดฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ จะมีการลงโทษตามกฎหมายและแม้กระทั่งยกเลิกการสนับสนุนที่มีให้ แต่บีโอไอไม่มีข้อมูลว่าได้เคยลงโทษหรือตักเตือนนักลงทุนคนใดเลยในปีที่ผ่านมา ความจริงแล้ว ตลอด 16 ปี หลังเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีโอไอค้นไม่พบข้อมูลดังกล่าวในฐานข้อมูลของบีโอไอเลย
 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัยที่เป็นอยู่ในประเทศไทย หน่วยงานรัฐยังคงให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าประเทศไทยเ็ป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุน เห็นได้จากการแถลงข่าวของบีโอไอเมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมา ที่รับรองต่อนักลงทุนว่า พวกเขาสามารถ “มั่นใจในความแข็งแกร่งในด้านการแข่งขัน ความสม่ำเสมอในนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ภาคการเงินและการธนาคารที่เข้มแข็ง ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำ และทำเลการลงทุนที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย...” ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ นั้นสูงที่สุดในประเทศไทย แต่ยังต่ำอยู่ในทางการแข่งขันเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ ในเอเชียอีกหลายประเทศ
 
นอกเหนือจากการมีค่าแรงต่ำแล้ว การรักษาให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนอยู่ในระดับต่ำยังอาจหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อม และการอุดหนุนต่อภาษีด้านแรงงานหรือเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างตามกฎหมาย เช่น ประกันสุขภาพ ประกันสังคมฯลฯ ในระดับต่ำ ตามข้อมูลของธนาคารโลก นักลงทุนในไทยจะได้รับการรับรองว่า พวกเขาจะจ่ายภาษีแรงงานได้ในอัตราที่ต่ำที่สุด คือ 5.7% (ของผลกำไรทางการค้า) เปรียบเทียบกับเวียดนามซึ่งสูงถึง 19.2%
 
มีการกล่าวกันอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าหากผู้ใช้แรงงานในไทยประท้วงบ่อยเกินไป หรือเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการมากเกินไป นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ข้อมูลของธนาคารโลกบ่งบอกไปในทิศทางตรงกันข้าม ประเทศไทยมีแผนและโครงการที่พัฒนาเป็นอย่างดีในการคุ้มครองเงินทุนของนักลงทุน เช่น การยกเว้นภาษี และหลักประกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ล้าหลังในการดูแลสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท