Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แรกเริ่มเดิมทีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระและหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจพิเศษขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะให้เป็นองค์กรที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามออกแบบให้แต่ละองค์กรทำหน้าที่สอดประสานกันอย่างเป็นระบบ

การตรวจสอบถ่วงดุลเริ่มจากการกลั่นกรองนักการเมืองก่อนเข้าสู่อำนาจเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ปัจจุบันรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เปลี่ยนชื่อเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน)

นอกจากนั้นยังมีองค์กรตุลาการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คอยตรวจสอบว่ากระทำการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

แต่การณ์กลับปรากฏว่าหาได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี ๔๐ แต่อย่างใดไม่ มิหนำซ้ำยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เสียจนเละเทะไปหมด มีการยกสถานะของอัยการให้เป็นองค์อื่นตามรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับองค์กรตุลาการ แต่ยังไม่ยอมทิ้งผลประโยชน์ โดยยังคงสามารถเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจได้

องค์กรต่างๆ พยายามสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมาอย่างใหญ่โตมโหฬาร มีการขยายอำนาจตนเองออกไปอย่างกว้างขวางรุกล้ำองค์กรอื่น สร้างระบบบริหารงานบุคคลของตนเองขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ จนดูเสมือนว่าพนักงานหรือข้าราชการอื่นเป็นบุคคลชั้นสองไปเสีย นอกจากนั้นยังมีการออกระเบียบในด้านสวัสดิการขึ้นมาใหม่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารถยนต์ประจำตำแหน่ง ค่ารับรองต่างๆ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติงานตามปกติแท้ๆ

คณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.นั้นในยุคเริ่มแรกก็ทำท่าดีเพราะมีตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นที่น่าเชื่อถือและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนนักการเมืองพากันขยาดไปตามๆ กัน แต่ กกต.ชุดต่อมาความน่าเชื่อถือกลับลดลงจนกระทั่งถึงกับติดคุกติดตารางกันเลยทีเดียว

ในส่วนของโครงสร้างขององค์กรแทนที่จะทำแบบฟิลิปปินส์หรืออินเดียที่ไปลอกเลียนแบบเขามาโดยมีคณะกรรมการไม่กี่คน มีหน้าที่หลักในการจัดการการเลือกตั้งให้เรียบร้อย แต่ กกต.ไทยกลับขยายองค์กรเสียจนใหญ่โตเทอะทะ มี กกต.ที่ส่วนกลางแล้วยังไม่พอ ยังมี กกต.จังหวัดอีก รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือ แต่กลับมีผลงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งที่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของ กกต.เองนั้นมีสิทธิและค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการทั่วไปเสียอีก และบางรายยังรับถึงสองทางหากเป็นข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัดทั้งๆ ที่ทำงานให้รัฐเหมือนกัน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

มีการเพิ่มอำนาจจากเดิมให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๒๗๙ วรรคสาม และมาตรา ๒๘๐ ของรัฐธรรมนูญปี ๕๐ ทั้งๆ ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เคยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เลย เป็นแต่เพียงทางผ่านของเรื่องร้องเรียนทั้งหลายไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเสมือนหนึ่งเป็นนายไปรษณีย์เท่านั้น

เรื่องราวต่างๆ ที่ราษฎรร้องเรียนหรือร้องทุกข์เข้ามา ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะทำหน้าที่เพียงแจ้งให้ต้นสังกัดทราบและให้รายงานกลับไป ได้สถิติจำนวนเท่าใดก็เก็บเอาไว้เป็นผลงานตอนรายงานประจำปีเท่านั้นเอง ซึ่งผิดจากหลักการของการมีผู้ตรวจการแผ่นดินในต่างประเทศที่เรียกว่า Ombudsman อย่าลิบลับ

มิหนำซ้ำผู้ตรวจการแผ่นดิน ๒ ใน ๓ คน ยังมีปัญหาถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช.ลงมติว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการขึ้นเงินเดือนตัวเอง แต่กลับนั่งอยู่ในตำแหน่งหน้าตาเฉย แล้วอย่างนี้จะไปตรวจสอบจริยธรรมผู้อื่นได้อย่างไรกัน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

มีการพยายามเสนอกฎหมายให้มีการตั้ง ปปช.จังหวัดเพื่อขยายอาณาจักรของตนเอง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ ปปช.เองยังมีปัญหาในการบริหารมากมายไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหารคดีที่คั่งค้างนับเป็นหมื่นๆ คดี โดยมีอำนาจที่ครอบคลุมผู้กระทำผิดตั้งแต่ภารโรงจนถึงนายกรัฐมนตรี จนทำให้ผู้ถูกสอบสวนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมดโอกาสในความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่เพราะต้องรอฟังผลการสอบสวนของ ปปช.

ซึ่งการพยายามขยายอาณาจักรของ ปปช.นี้ก็คงไม่แตกต่างจาก กกต.เท่าใดนัก เพราะผู้ที่จะมาเป็น ปปช.จังหวัดก็คงไม่พ้นข้าราชการเกษียณหรือโอนมานั่นเอง และเชื่อว่า ปปช.จังหวัดนี้เองก็จะเป็นเครื่องซักผ้าที่จะคอยฟอกขาวให้แก่นักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือในทางกลับกันก็จะเป็นการเพิ่มผู้มีอิทธิพลกลุ่มใหม่นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารหรือฝ่ายปกครองในท้องที่โดยตัวของ ปปช.จังหวัดที่มีอำนาจตามกฎหมายอย่างล้นฟ้านั่นเอง

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

แทนที่จะเล่นบทบาทตามอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้คำปรึกษา แนะนำ และเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังที่เป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยการดำเนินการที่เกี่ยวกับวินัยทางการเงิน การคลัง และการงบประมาณ ตามมาตรา ๒๕๓ ของรัฐธรรมนูญ

แต่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งปัจจุบันให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ตามคำประกาศของ คมช.อยู่เพียงคนเดียว (ก็ไม่รู้ว่าเรียกเป็นคณะกรรมการฯ ได้อย่างไรกัน) กลับไปเล่นบทบาทการปราบปรามการทุจริตแข่งกับองค์กรอื่น มิหนำซ้ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มีการพยายามเพิ่มอำนาจให้ คตง.อย่างมากมาย เทียบเท่ากับ ปปช.ทั้งในด้านการดำเนินคดีอาญาและการลงโทษทางวินัยให้ซ้ำซ้อนกันไปอีก

เรื่องขององค์กรอิสระหรือหน่วยงานอิสระทั้งหลายคงยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลายองค์กรที่จะต้องถูกวิพากษ์และจะต้องรับฟัง เพราะองค์กรต่างๆ นั้น ล้วนแล้วแต่ตั้งขึ้นโดยภาษีของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง หาใช่ว่าองค์กรอิสระหรือหน่วงยานอิสระทั้งหลายจะสามารถถืออำนาจอธิปไตยเป็นเสมือนหนึ่งรัฐอิสระที่อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ไม่

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net