Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หากท่านได้ติดตามข่าวต่างประเทศบ้างในช่วงนี้ จะพบว่าข่าวการรัฐประหารในฮอนดูรัสเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2552 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุดของโลก เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ออกจากประเทศ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกสมัยหนึ่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งเมื่อผมได้ลองเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ก็ได้พบเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจการต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นล่างในประเทศต่างๆ บนโลก ซึ่งยังคงมีอยู่มิได้หยุดหย่อน
 
 
แผนที่ประเทศฮอนดูรัส ประเทศฮอนดูรัสตั้งอยู่ในเขตอเมริกากลาง อยู่ติดกับทะเลคาริบเบียน
เป็นหนึ่งในทางเชื่อมสำคัญที่เชื่อมอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้
 
ประเทศฮอนดูรัสนั้นเป็นประเทศเล็กๆ มีประชากรประมาณ 7 ล้านคน อยู่ในทวีปอเมริกาตอนกลาง จัดอยู่ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาประเทศหนึ่งซึ่งยากจนและเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่อาจชดใช้คืนได้ และมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างมหาศาล เศรษฐกิจของประเทศฮอนดูรัสนั้น แทบจะขึ้นขึ้นอยู่กับการส่งออกกล้วยอันเป็นสินค้าที่มีความสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวของประเทศ
 
ในอดีต ฮอนดูรัสเคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองมากมายหลายเผ่า ต่อมาตกเป็นอาณานิคมของพวกล่าเมืองขึ้นศักดินาสเปนที่ปล้นสะดมและกดขี่บีฑาชาวพื้นเมืองอย่างโหดร้ายทารุณ แต่ว่าศักดินาสเปนก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงในคริสตช่วงศตวรรษที่ 17 เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับจักรวรรดินิยมฮอลันดาและอังกฤษ ซึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว  ในระยะนั้น เริ่มมีขบวนการรักชาติในกลุ่มลาตินอเมริกาที่พยายามต่อสู้กับสเปน เช่น กลุ่มของซิโมน โบลิวาร์ จนในที่สุดบรรดาแคว้นต่างๆ ก็สามารถประกาศเอกราชไม่ขึ้นต่อสเปนในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 กลายเป็นประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลังจากนั้น
 
แต่ทว่า บรรดาประเทศในแถบลาตินอเมริการวมถึงประเทศฮอนดูรัสก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาตามนโยบาย “หลักการมอนโร” ซึ่งเป็นแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีหลักสำคัญคือ จะพยายามหลีกหนีความเกี่ยวพันทางการเมืองกับยุโรปและเขตอิทธิพลของยุโรปให้มากที่สุด แต่พยายามแผ่ขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ให้มากที่สุด
 
ประเทศฮอนดูรัสก็ประสบชะตากรรมมิได้ผิดแผกจากประเทศอื่น ต้องตกเป็นอาณานิคมรูปแบบใหม่ของจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา ซึ่งสินค้าที่สหรัฐอเมริกาพยายามขูดรีดเอาจากประเทศฮอนดูรัสให้ได้คือพวกผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะกล้วย ซึ่งถูกควบคุมโดยบริษัทยูไนเต็ด ฟรุท และนายทุนบริษัทผลไม้อื่นๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารที่รับใช้จักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกามาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และช่วงตั้งแต่ ค.ศ.1903 ถึง ค.ศ.1925
 
ภายใต้นโยบาย “ไม้กระบองใหญ่” (Big stick policy) ของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลท์[1] สหรัฐอเมริกาได้ส่งกำลังทหารเข้ามาในฮอนดูรัสและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกากลางรอบทะเลคาริบเบียนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน บั่นทอนอิทธิพลของสเปนที่ยังหลงเหลืออยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง และทำลายพลังฝ่ายต่อต้านการกดขี่ของสหรัฐอเมริกาและชนชั้นสูงที่ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทของสหรัฐอเมริกา ประเทศฮอนดูรัสกลายเป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษว่า “สาธารณรัฐกล้วย” (banana republic)[หมายถึงประเทศที่มีคณะเผด็จการทหารปกครองอย่างต่อเนื่องยาวนาน การเมืองประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ จ้องจะถูกล้มโดยทหารอยู่เรื่อยๆ ภายใต้ความอนุโลมของประเทศมหาอำนาจที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน] ลักษณะนี้จึงก่อให้เกิดชนชั้น 2 ชนชั้นที่มีความแตกต่างกันมาก คือ ชนชั้นสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าที่ดินขนาดใหญ่ ข้าราชการ และพวกขุนศึกนายทหารที่ได้รับผลประโยชน์จากลักษณะเศรษฐกิจที่ขึ้นต่อสหรัฐอเมริกา กับชาวบ้านยากจนที่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากลักษณะทางเศรษฐกิจดังกล่าวเลย และเป็นได้แค่เพียงกรรมกรปลูกกล้วยเท่านั้น
 
 
ภาพการ์ตูนล้อเลียนประธานาธิบดีรูสเวลท์ว่า ต้องการใช้ “ไม้กระบอง” และ “เรือปืน”
เพื่อควบคุมประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางและบริเวณรอบๆทะเลแคริบเบียน
 
 
ภายใต้ลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ทำให้ประเทศฮอนดูรัสตกอยู่ในการปกครองของคณะเผด็จการทหารฝ่ายขวาภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่รัฐบาลของนายพลทิบูซิโอ กาเรียส ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1932-1948 ก่อนที่จะถูกนายทหารขุนศึกในแต่ละภูมิภาคโค่นล้มลงไป ซึ่งนายทหารขุนศึกเหล่านั้นก็จัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารภายในท้องถิ่นของตน แต่ว่าในที่สุด ก็ได้มีการเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้นในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งพรรคเสรีนิยมได้รับชัยชนะ นับเป็นครั้งแรกที่ฮอนดูรัสมีประชาธิปไตย
 
แต่ว่ากลุ่มนายทหารอนุรักษ์นิยมที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐอเมริกา นำโดยนายพล ออสวัลโด โลเปซก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งใน ค.ศ. 1963 และจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารขึ้นมาปกครองประเทศภายใต้น้ำเงินหล่อเลี้ยงของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่ง ค.ศ. 1971 ที่คณะรัฐประหารได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อจะรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ.1972 โดยนายพล ออสวัลโด โลเปซขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง  แต่ว่าหลังจากนั้น นายพลโลเปซก็เผชิญมรสุมอีกครั้ง เนื่องจากข่าวที่เขารับสินบนจากบริษัทยูไนเต็ด แบรนด์เพื่อให้ลดภาษีส่งออกกล้วยเกิดแดงขึ้นมา แต่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคือเขาพยายามจะปฏิรูปที่ดิน จนทำให้เขาถูกรัฐประหารซ้อนโดยนายพลฮวน อัลแบร์โต เมลการ์ ซึ่งรัฐบาลทหารได้สืบต่อการปกครองกันมาถึงสมัยของนายพลโปลิคาร์โป ปาซในปี ค.ศ. 1983  
 
ในระหว่างนี้ รัฐบาลทหารทุกรัฐบาลล้วนร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามผู้รักความเป็นธรรมทั้งในประเทศฮอนดูรัสและประเทศข้างเคียงซึ่งเป็นไปตามนโยบายก่อภัยสยองของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการใช้อำนาจทมิฬปกครองทวีปอเมริกาทั้งทวีปเอาไว้ให้ได้
 
กรณีที่โด่งดังในฮอนดูรัสคือ “กองพัน 316” ซึ่งเป็นกองพันในกองทัพฮอนดูรัสที่ทำหน้าที่ลอบสังหาร และทรมานผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลทหารฮอนดูรัส กองพันดังกล่าวได้รับความสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธ และการฝึกจากหน่วยงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) โรงเรียนแห่งอเมริกา (SOA)[2] และรัฐบาลทหารอื่นๆ ในลาตินอเมริกาขณะนั้น เช่น รัฐบาลอาร์เจนตินา หรือรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลปิโนเชต์แห่งชิลี เป็นต้น
 
 
ภาพโครงกระดูกของบุคคลนิรนาม
ในหลุมศพหมู่ของผู้ที่ถูกสังหารโดยกองพัน 316 ของรัฐบาลทหารฮอนดูรัส
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
 
 
            หลังจากนั้น ในช่วง ค.ศ. 1980 จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 21 ฮอนดูรัสก็เริ่มกลับเข้าสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน ทว่า รัฐบาลพลเรือนเหล่านั้นก็ยังคงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาโดยตลอด และ ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในประเทศก็ยังคงมิได้รับการแก้ไข แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะทุ่มเม็ดเงิน “ช่วยเหลือ” และส่ง “อาสาสมัครสันติภาพ (Peace corps)” เข้าไปในฮอนดูรัสเป็นจำนวนมาก และผลประโยชน์ก็ยังคงตกอยู่กับบริษัทต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา เจ้าที่ดินขนาดใหญ่ ข้าราชการ นายทหารขุนศึก ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่ทำงานร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นเดิม
                ในช่วง ปี ค.ศ. 1998 ฮอนดูรัสต้องประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่คือพายุเฮอร์ริเคน “มิตช์” ซึ่งทำลายพื้นที่เพาะปลูกเกือบทั้งหมดของประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายร้อยละ 70 ทำให้ประชาชนต้องพลัดจากที่อยู่อาศัยถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่คือเกษตรกรและชนชั้นล่าง สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดพายุเฮอร์ริเคนมิตช์ ได้ และช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็ยิ่งพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยไม่สามารถแก้ไขได้
 
 
ความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคนมิตช์ในฮอนดูรัสเมื่อปี ค.ศ. 1998
(ภาพจาก AP)
               
 
ในปี ค.ศ. 2005 นั้น นายมานูเอล เซลายา ซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่และเจ้าของไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่จากพรรคเสรีนิยมก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นไปพร้อมกับกระแสที่นักการเมืองที่มีแนวนโยบายคำนึงถึงคนจนขึ้นมามีอำนาจในอีกหลายประเทศในลาตินอเมริกา เช่น ฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา หรือเอโว โมราเลสแห่งโบลิเวีย แดเนียล ออร์เตกาแห่งนิคารากัว เป็นต้น นายเซลายานั้นได้พยายามดำเนินนโยบายใหม่ๆ จำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานมาจากแนวนโยบายของประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา เช่น การกำจัดกลุ่มอาชญากรในประเทศ การแสวงหาความร่วมมือกับประเทศใกล้เคียง และการตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
 
นอกจากนั้น นายเซลายายังร่วมมือกับนักการเมืองที่มีแนวนโยบายคำนึงถึงประชาชนในลาตินอเมริกาอื่นๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น จัดตั้งพันธมิตรลัทธิโบลิวาร์เพื่อประชาชนแห่งอเมริกาของเรา (Alianza Bolivariana para los Pueblos de Nuestra América, ALBA) เพื่อสร้างความร่วมมือกันภายในภูมิภาค
 
การดำเนินการเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวให้กับชนชั้นสูง ข้าราชการ ทหารขุนศึก และชนชั้นกลางบางส่วนที่ได้รับผลประโยชน์จากการปกครอบแบบเดิมว่าประเทศฮอนดูรัสจะกลายเป็นแบบเวเนซุเอลาที่กลุ่มคนเหล่านั้นต้องสูญเสียอำนาจเกือบทั้งหมดเมื่อประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซสามารถจับมือกับประชาชนโค่นล้มอำนาจนำของพวกเขาเหล่านั้นและสร้างสังคมใหม่ในเวเนซุเอลาได้ พวกคนเหล่านั้นจึงโจมตีหาว่า ประธานาธิบดีเซลายาแทรกแซงสื่อ และต้องการเผด็จการเหมือนประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลาหรือคาสโตรแห่งคิวบา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประธานาธิบดีเซลายาจะจะพยายาม ฮอนดูรัสยังคงประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยาเสพติดและอาชญกรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากปัญหาภายในที่หมักหมมมายาวนาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและวิกฤติการณ์ราคาอาหารในปี ค.ศ. 2008-2009 ทำให้เป็นช่องให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมใช้เล่นงานประธานาธิบดีเซลายาอย่างรุนแรง
 
 
 
นาย มานูเอล เซลายา ประธานาธิบดีฮอนดูรัสผู้ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.2009
 
 
สำหรับเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในฮอนดูรัสนี้ เกิดจากการที่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาต้องการให้มีการลงประชามติว่า ในวันที่28 กรกฎาคม ค.ศ.2009 จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.2009 หรือไม่ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลของนายมานูเอล เซลายา อันประกอบด้วยกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูง สื่อสารมวลชน กลุ่มทหาร ตุลาการ รวมถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีนิยมของนายเซลายาเองบางส่วนที่แปรพักตร์กล่าวหาว่า เขาต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกสมัยหนึ่งเป็นอย่างน้อย 1 สมัย ด้วยข้ออ้างนี้ จึงทำให้มีความพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลของนายเซลายาด้วยวิธีการต่างๆ
เริ่มตั้งแต่การพยายามถอดถอนนายเซลายาในรัฐสภา แต่ปรากฏว่าในไม่มีข้อกฎหมายใดของประเทศฮอนดูรัสอนุญาตให้ถอดถอนนายเซลายาจากตำแหน่งได้ ต่อมาผู้บัญชาการทหารบก นาย โรเมโอ วาสเกวซ เดลาเกวซ สั่งการให้กองทัพบกกักหีบเลือกตั้งไว้เพื่อมิให้มีการลงประชามติ นายเซลายาจึงได้สั่งปลดนายเดลาเกวซอออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
 
แต่ศาลฎีกาได้ออกคำพิพากษาให้การสั่งปลดนายเดลาเกวซเป็นโมฆะ และออกแถลงการณ์มิให้ประชาชนออกไปลงประชามติ ทำให้เกิดกลุ่มมวลชนที่ไม่พอใจกับคำสั่งดังกล่าวชุมนุมรวมกันและเดินขบวนไปพร้อมกับประธานาธิบดีเซลายา เพื่อไปนำหีบบัตรลงประชามติที่ถูกเก็บในฐานทัพอากาศออกมาเป็นผลสำเร็จ ทำให้ในที่สุด พลเอกเดลาเกวซตัดสินใจทำการรัฐประหารโดยการส่งกำลังทหารบุกเข้าจับกุมตัวประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาในบ้านพัก พร้อมทั้งปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาที่อยู่ล้อมรอบบ้าน และเนรเทศตัวเขาออกไปยังประเทศคอสตา ริก้า ตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า และปิดกั้นการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ ในกรุงเทกูซิกัลปา เมืองหลวงของประเทศเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ขัดขวางการถ่ายทอดโทรทัศน์บางช่อง (รวมถึงการจับกุมคุมขังนักข่าวด้วย) เช่น TeleSUR และ CNN ภาคภาษาสเปน ปิดกั้นการรายงานข่าวสารในโทรทัศน์ช่องที่เหลือ พร้อมกับกักขังนักการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาเป็นจำนวนมาก 
 
ในขณะเดียวกันฝ่ายศาลสูงสุดก็ได้ประกาศให้นายเซลายาพ้นจากตำแหน่ง ส่วนทางรัฐสภาก็อ้างว่าได้รับจดหมายลาออกของนายเซลายาแล้ว และลงมติให้นายโรแบร์โต ไมเคิลแลตติ ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดียวกับนายเซลายาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
 
แต่ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างรุนแรงถึงขั้นนี้ ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงตามท้องถนนเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการรัฐประหารในครั้งนี้ ซึ่งฝ่ายทหารได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ได้แถลงว่า มีการใช้กระสุนจริงในการปราบปรามผู้ชุมนุม และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วอย่างน้อย 2 คน
 
 
 
ภาพจากโทรทัศน์ช่อง TeleSUR
แสดงให้เห็นการปราบปรามประชาชนฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเซลายา 
เป็นเหตุถูกตัดสัญญาณและพนักงานของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวถูกคุมขังในฐานทัพ
 
 
ส่วนปฏิกิริยาในทางสากลนั้น ประเทศต่างๆ ล้วนปฏิเสธรัฐบาลที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร ถึงแม้ฝั่งคณะรัฐประหารจะอ้างว่า ประธานาธิบดีเซลายาต้องการเผด็จอำนาจ ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลใหม่มีที่มาจากรัฐสภา รัฐบาลในลาตินอเมริกาตั้งแต่ฝ่ายซ้าย เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซแห่งเวเนซุเอลา รัฐบาลสายกลาง เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดีลูล่า ดา ซิลว่า จนไปถึงรัฐบาลฝ่ายขวาสุดโต่งของโคลัมเบีย ต่างออกแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ และเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประธานาธิบดีเซลายาดังเดิม เนื่องเพราะประชาชนในภูมิภาคลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบชะตากรรมอันน่าโศกเศร้าภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารมาแล้วทั้งนั้น
ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ นั้น แม้กระทั่งรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าแห่งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปยังได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ส่วนท่าทีขององค์กรระหว่างชาติก็ล้วนเป็นไปในทางลบต่อการรัฐประหารครั้งนี้ เช่น นายบันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติได้แถลงสนับสนุนสถาบันของระบอบประชาธิปไตยภายในประเทศฮอนดูรัส และคัดค้านการจับกุมประธานาธิบดีของประเทศที่มาตามรัฐธรรมนูญ พร้อมเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ผู้แทนอันชอบธรรมซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และรับประกันความปลอดภัยของประธานาธิบดีเซลายาและครอบครัว
แม้กระนั้น คณะรัฐประหาร ชนชั้นสูงที่สนับสนุนการรัฐประหาร รวมถึงรัฐบาลใหม่ของคณะรัฐประหารก็ยังเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของสหประชาชาติและประเทศต่างๆ
เมื่อมามองดูเหตุการณ์นี้แล้ว เราจะเห็นว่า ไม่ว่าที่ใด กลุ่มผู้มีอำนาจเก่าและผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบเก่าที่อยุติธรรมนั้นย่อมหวาดกลัวและหาทางทำลายการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สนต่อธรรมะ กฎเกณฑ์ หรือสายตาของนานาอารยประเทศทั้งสิ้น แต่ว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เรายังคงต้องจับตาต่อไปว่า กลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะสามารถโค่นล้มรัฐบาลของคณะรัฐประหาร รวมถึงสามารถเอาชนะกลุ่มอนุรักษนิยมภายในประเทศได้หรือไม่ และคนทั้งโลกจะทำอย่างไรต่อไปกับการรัฐประหารในฮอนดูรัสคราวนี้



 

 


[1]ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลท์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่20 (ค.ศ. 1904-1909) เป็นลุงของ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เดลาโน รูสเวลท์ที่ปกครองสหรัฐอเมริกาในช่วงแก้ไขเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1933-1945) - ผู้เขียน
 
[2]โรงเรียนแห่งอเมริกา (School of the America, SOA) มีชื่อเต็มว่า สถาบันเพื่อความร่วมมือทางความมั่นคงแห่งซีกโลกตะวันตก (Western Hemisphere Institute for Security Cooperation, WHISC) เป็นหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1946 และยังอยู่จนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่ฝึกอบรมและให้ความสนับสนุนนายทหารและนายตำรวจในอเมริกาใต้เพื่อ “ต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคือการล้างสมองนายทหารเหล่านี้ให้จงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา และคอยปราบปรามที่ต่อต้านการธำรงอำนาจนำของสหรัฐอเมริกา หลักสูตรในโรงเรียนแห่งนี้มีการสอนเรื่องการใช้อาวุธ การรบ การปราบปรามประชาชน การทำสงครามจิตวิทยา เป็นต้นนายทหารเผด็จการ ผู้ก่อการร้ายรายสำคัญ และเจ้าพ่อยาเสพติดหลายรายในอเมริกาใต้ต่างจบมาจากสถาบันแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น เผด็จการทหาร ฮูโก แบนเซฮร์ แห่งโบลิเวีย นายนอริเอก้า อดีตพ่อค้ายาเสพติดรายสำคัญของเม็กซิโก ดอน ดิเอโก้ เจ้าพ่อยาเสพติดรายสำคัญ 1 ใน 10 อาชญากรที่ FBI ต้องการตัวมากที่สุด หรือหน่วยทหารอัตลาคัตล์แห่ง เอลซาวาดอร์ซึ่งสังหารโหดแม้กระทั่งพระ สตริ และเด็กเมื่อปีค.ศ. 1989 ระหว่างสงครามกลางเมืองใน เอล ซาวาดอร์ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net