Skip to main content
sharethis

3 ก.ค. 52 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2552 ร่วมกับชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เพื่อสรุปผลการทำงานต่อคณะกรรมการอำนวยการชุดใหญ่ โดยตัวแทนของคณะอนุกรรมการแต่ละชุดได้สรุปผลการทำงานแก้ไขปัญหาทั้งในแง่ที่สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ที่กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไข ที่ติดค้างและมีปัญหาอุปสรรค ณ ห้อง 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

สืบเนื่องจากการทำงานของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 6 ชุด ได้แก่ อนุกรรมการชุดพื้นที่ป่าไม้ อนุกรรมการชุดที่สาธารณประโยชน์และที่ดินเอกชนทิ้งร้าง อนุกรรมการชุดที่ดิน ส.ป.ก.อนุกรรมการชุดที่ราชพัสดุ อนุกรรมการชุดที่อยู่อาศัย และอนุกรรมการชุดนโยบาย ที่แต่งตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ วันที่ 11 มี.ค.52 ได้ครบวาระ 90 วันไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา


ปัญหาที่อยู่อาศัย เร่งเรื่องเงินกู้ด้านที่อยู่อาศัยเข้า ครม. ไม่เกิน 14 ก.ค.นี้

ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตัวแทนคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อสรุปผลการทำงานต่อที่ประชุมว่า “จากข้อเรียกร้อง ครม.ได้เห็นชอบในเชิงหลักการ คือ 1.ให้เพิ่มวงเงินอุดหนุนต่อ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จากเดิม 60,000 บาทต่อราย เป็น 80,000 บาทต่อราย 2.มีมติอนุมัติเงินกู้ด้านที่อยู่อาศัย 6,000 ล้านบาท ในปี 52 จำนวน 1,000 ล้านบาท ปี 53 จำนวน 1,000 ล้านบาท ปี 53-54 ปีละ 2,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 สำหรับแหล่งที่มาของเงินนั้น ทาง ครม.ได้มอบหมายให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปหาแหล่งเงินกู้ เพื่อส่งต่อให้กระทรวงการคลังดำเนินการ โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ชี้แจงข้อติดขัดของมติ ครม.เรื่องนี้ว่า “เห็นชอบทุกเรื่อง แต่ติดปัญหาเรื่องแหล่งเงิน การหาเงินกู้ จะต้องไปผลักใน พรก.ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทันหรือเปล่า และอาจติดกรอบหลักเกณฑ์ที่เสนอกับรัฐสภา ถ้าผลักเข้าครม.ก็ต้องเข้ามติชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างไม่เกินร้อยละ 4 แต่ติดว่าโครงการไทยเข้มแข็ง ต้องเข้ากรอบที่รัฐบาลเสนอไว้กับรัฐสภา ใน 7 กรอบ คือ ถนน สถานีอนามัย ท่องเที่ยว เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ … และต้องรอปลายปี ถ้าไม่ทันก็จะให้กระทรวงการคลังไปหาแหล่งเงินกู้อื่นเพื่อชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง”

ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอให้ที่ประชุมมีมติที่ชัดเจนว่า “เงินตรงนี้จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเงินจะไม่หายไปไหน พอช.จะได้ใช้เงินต่อ ให้ พอช.บริหาร โดยไม่อิงกับสถาบันการเงินอื่น ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 รัฐบาลชดเชยส่วนต่างที่ไปหาเงินกู้มา และจะต้องมีการนำเรื่องนี้เข้า ครม.ไม่เกินวันที่ 14 ก.ค.52 นอกจากนี้ในส่วนของปัญหา พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ชาวบ้านปลูกบ้านไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ไม่มีเลขที่บ้าน เสนอให้กระทรวงมหาดไทย ไปดูช่องทางเพื่อแก้ไขระเบียบที่สร้างความเดือดร้อนนี้”

ในส่วนนี้ นายถาวร เสนเนียม ได้ขอให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นำคนที่รู้ข้อมูลปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารมาร่วมเป็นคณะทำงานแก้ไขปรับปรุงกำหมายดังกล่าวด้วย

“สาทิตย์” ชี้เรื่องโฉนดชุมชนคืบ เตรียมดำเนินการพื้นที่นำร่อง พร้อมลงพื้นที่ทั่วประเทศ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการชุดนโยบาย ได้สรุปผลการทำงานว่า “มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาขึ้นมา 4 ชุด โดยมีข้อเสนอ ด้านโฉนดชุมชน มีการดูพื้นที่ตัวอย่าง 2 พื้นที่ ที่ทับเขือ-ปลักหมู จ.ตรัง และที่คลองโยง จ.นครปฐม ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน โดยมีมติ ครม.รองรับ และระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งจะต้องทำการระดมข้อคิดเห็นในการดำเนินการนำร่อง ในพื้นที่ที่จะทำภายหลังควรมีการทำแนวทางขึ้นมา”

ในส่วนของพื้นที่ภาคอื่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งยังไม่มีการดูพื้นที่ นายสาทิตย์ได้รับมอบหมายจากนายอภิสิทธิ์ให้ทยอยไปดูให้ครบทุกภาค ภาคละจุด สำหรับพื้นที่อื่นนอกเหนือจากนั้นให้ตัวแทนของคณะทำงานชุด 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูให้ครบทั้งหมด 30 พื้นที่ ใน 17 จังหวัด

เรื่องภาษีที่ดิน เสนอให้มีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน ระยะต้นมีระเบียบสำนักนายกฯ ระยะยาวมี พ.ร.บ.กองทุนธนาคารที่ดิน แหล่งที่มาของเงินเอามาจากการรวบรวมกองทุนต่างๆ ที่มีอยู่และการเก็บภาษีที่ดิน

สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมจากคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้เสนอให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดำเนินการอยู่ โดยให้จัดสัดส่วนรายได้มาตั้งเป็นกองทุนธนาคารที่ดิน และระบุให้ชัดเจนเรื่องการจัดเก็บภาษีตามขนาดการถือครองที่ดิน เพื่อให้มีขั้นบันไดที่ชัดเจน นอกจากนี้ได้เสนอให้รัฐบาลมีเงินทุนสนับสนุนในพื้นที่นำร่อง มีกองทุนที่ดินในระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนได้บริหารจัดการ

เรื่องดังกล่าวนายอภิสิทธิ์ได้แสดงข้อคิดเห็นว่า “ควรเอาภาษีที่ดินตัวใหญ่ (ระดับชาติ) ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยมีหลักการไปสมทบ โดยดูตามศักยภาพของชุมชน แต่ก็ให้ตั้งประเด็นนี้เป็นข้อสังเกตเอาไว้ และในเดือน ส.ค.นี้ทาง รมว.การคลังมีกำหนดจะเสนอร่างภาษีที่ดินเข้า ครม.เรื่องการรวบรวมกองทุน ในเบื้องต้นให้ไปสำรวจ และรวบรวมข้อมูลว่าจะมีแนวทางการรวมกองทุน หรือบูรณาการได้อย่างไรเพื่อนำไปสู่การจัดทำกองทุนธนาคารที่ดิน พูดตรงๆ ถ้าจะเอางบปี 53 หรืองบกลางปี ยากมาก ถ้าดูจากสถานะการเงินของรัฐบาลในตอนนี้”

เห็บชอบตั้งคณะอนุกรรมการทำงานด้านคดี ใน 15 วัน แก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดิน
                                                                                                                                                                                                                                                          
ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกล่าวรายงานในที่ประชุมว่า จากกรณีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะทำงานด้านคดียังไม่แต่งตั้ง ปัจจุบันมีสมาชิก คปท.ถูกจับกุมดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 68 คดี ซึ่งเป็นข้อพิพาทกับรัฐ ชาวบ้านถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง มติของคณะกรรมการไม่ได้เป็นที่ยึดถือของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ข้อเสนอจาก คทป.คือขอให้มีการส่งหนังสือเวียนจากรัฐบาลไปถึงหน่วยงานรัฐแต่ละจังหวัด ที่ระบุให้ชัดเจนว่าให้ราษฎรที่อยู่ในช่วงการแก้ไขปัญหาสามารถทำกินไปพลางๆ ก่อน

นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวตอบว่า “หากมีการทำหนังสือลงไป ก็จะมีการโต้แย้งได้ เพราะผู้มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย แต่ถูกนโยบายไปสั่งไม่ให้ทำ ซึ่งรัฐบาลไม่กล้าการันตี 100% ว่าแต่ละที่อยู่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหา แต่จะดูเป็นรายๆไปเพราะแนวปฏิบัติจะต่างกัน เราจะทำคำสั่งบริหาร แต่คำสั่งทางบริหารจะไปอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ ในส่วนของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้าน รัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถไปกำจัดสิทธิทางกฎหมายได้”

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เห็นชอบ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านคดี มี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันประชุม

“ถาวร” รายงานกรณีที่สาธารณะประโยชน์ ที่เอกชน และเหมืองแร่ รอชุดนโยบายเดินหน้า เตรียมปรับใช้

ด้านกรณีปัญหาที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ที่สาธารณประโยชน์ และเหมืองแร่ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สรุปผลการทำงานที่ผ่านมาว่า กรณีที่สาธารณประโยชน์ มีทั้งหมด 12 ปัญหา 5 จังหวัด ที่มีการทับซ้อนกัน ทั้งที่สาธารณะทับที่เอกสารสิทธิ เอกสารสิทธิทับที่สาธารณะ ในส่วนของที่ดินเอกชน จะให้คณะอนุกรรมการชุดอื่นเดินไปก่อนเพื่อนำแนวทางมาใช้ ในกรณีเหมืองแร่ มีการยุติใบอนุญาตไปแล้ว แต่ยังมีการนำหินที่ระเบิดไปแล้วมาบดย่อยอยู่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อมูลด้านปริมาณให้ชัดเจน

สำหรับแนวทางการรับรองสิทธิโฉนดชุมชนในกรณีที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ยังเหลือข้อมูลอีกเล็กน้อย ภายในเดือน ก.ค.นี้จะสามารถเรียกประชุมและสรุปผลได้ ในส่วนของที่สาธารณประโยชน์ ได้เสนอให้มีการชี้แจงแนวทางโฉนดชุมชนไปยังคณะทำงานในพื้นที่

คปท.แจงอนุกรรมการชุดป่าไม้ แก้ไขปัญหาล้มเหลว เหตุประธานฯ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาล

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิปดีกรมป่าไม้เป็นผู้รายงานการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานฯ คณะอนุกรรมการไม่ได้เข้าร่วมการประชุม

คณะกรรมการจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้สรุปความล้มเหลวของคณะอนุกรรมการชุดที่ดินในเขตป่าว่า “หลังการแต่งตั้ง มีการประชุมไปเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 7 เม.ย.52 และกระบวนการทำงานโดยอนุฯ ชุดนี้ก็ยุติไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่กระบวนการทำงานระดับจังหวัดก็ดำเนินไปตามกลไกปกติ ยังคงยึดหลักการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม.24 มิ.ย.41 ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทั้งที่มีมติไปแล้ว แต่ในรายงานการประชุมกลับบอกว่าให้ดูว่าอนุฯในชุดอื่นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดตามที่ คปท.กล่าวอ้างหรือไม่ เห็นได้ชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาไม่คืบหน้าเพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล”

“ปัญหาการเมืองของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อประชาชน” คณะกรรมการจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์รับจะนัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อพูดคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

ปัญหากรณีที่ทับซ้อน ส.ป.ก. กำหนดตั้งคณะทำงาน 3 กระทรวงร่วม คปท.ดูปัญหา ใน 15 วัน

สำหรับ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาแก้ไขปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น 2 แนวทาง 1.ฟ้องขับไล่บริษัทเอกชนที่มีการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. 2.เจรจากับบริษัทเอกชนให้ออกจากสวนปาล์มโดยจ่ายค่าชดเชยค่าสวนปาล์มให้

ในเรื่องนี้ทางตัวแทนของ คปท.ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กรณีพื้นที่สวนปาล์มที่สุราษฎร์ธานี ทาง ส.ป.ก.ได้ฟ้องร้องบริษัทชัยบุรีสวนปาล์มไปแล้ว แต่บริษัทได้ขอยกเลิกการจดทะเบียนบริษัทไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นการฟ้องต้องไปฟ้องที่ตัวบุคคล ตอนนี้ที่คืบหน้าที่คือกรณีบริษัทจิวกังจุ้ยที่ศาลตัดสินให้ ส.ป.ก.ชนะ แต่คดีอื่นยังไม่คืบ ที่อำเภอพระแสงเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มี นส.3 ก. และป่าถาวรทับซ้อน ที่เกี่ยวพันพื้นที่ดูแลหลายหน่วยงาน ทำให้การดำเนินการไม่คืบหน้า

ด้านนายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้มีการเร่งรัดส่วนอัยการในการดำเนินคดีฟ้องร้องกับบริษัทสวนปาล์มชัยบุรี ซึ่งจะมีการนัดสืบพยานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ รวมทั้งไปดูว่ามีใครเป็นเจ้าของบริษัท ส่วนในกรณีการไล่เรียงดูว่าเป็นพื้นที่ประเภทใด ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยมีตัวแทนจาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และตัวแทน คปท.เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยให้มีการแต่งตั้งภายใน 15 วัน

“อภิสิทธิ์” หวั่นที่ราชพัสดุ โอนกรรมสิทธิ์คืนสหกรณ์ เสี่ยงกระทบการทำโฉนดชุมชน

ในปัญหาที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.52 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนชื่ออนุฯ ชุดนี้แล้ว เพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครปฐมและอุตรดิตถ์ สำหรับผลการทำงานที่ผ่านมา รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ได้นำเสนอว่า จากการประชุมคณะทำงานได้มีมติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรได้ทำกิน แต่ติดขัดที่มติ ครม.ปี 44 ที่ไม่อนุญาตให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับเอกชนรายใด ทางออกคือเสนอให้ ครม.มีมติยกเว้นมติ ครม.ฉบับเก่านี้

เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ได้มีข้อกังวลว่า ถ้ามีการโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของสหกรณ์แล้ว ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับโฉนดชุมชน จะมีความเสี่ยงเพราะไม่มีหลักประกันหรือผูกมัดว่า สหกรณ์จะนำที่ดินดังกล่าวไปทำโฉนดชุมชน หรืออาจเอาที่ไปขายได้ ดังนั้นในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายควรให้ที่ดินเป็นของรัฐไปก่อน เมื่อมีกฎหมายแล้วค่อยโอน

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวขัดกับมติและความต้องการของชาวบ้านที่เสนอเข้ามา อีกทั้งแนวทางโฉนดชุมชนก็ไม่ควรจำกัดเฉพาะที่ดินของรัฐเท่านั้น ดังนั้นในที่ประชุมจึงขอให้นำไปปรึกษากันภายในอนุฯ ชุดนี้ก่อน

ในช่วงสุดท้ายของการประชุม นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวเน้นย้ำ ใน 3 ประเด็นอีกครั้งว่า 1.ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้คณะทำงานช่วยเหลือด้านคดีที่มี รมว.ยุติธรรมเป็นประธานไปดูแล 2.แนวทางแก้ปัญหาจะใช้กฎหมายหรือนโยบายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ และ 3.ต้องหยุดไม่ให้เกิดคดีความเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ประชุมมีมติให้ต่ออายุของคณะทำงานชุดต่างๆ ออกไปอีก 90 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net