'จาตุรนต์' วิพากษ์ '6 เดือน สอนบริหารอภิสิทธิ์' : ล้มเหลว เหตุที่มาไม่เป็นธรรม

 
 
 
5 ก.ค.52 เวลา 10.30 น. โรงแรมเรดิสัน พระราม 9  นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงถึง 6 เดือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยระบุว่า ‘ความล้มเหลวจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย’
 
นายจาตุรนต์ เริ่มต้นกล่าวถึงการออกมาแถลงครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองบ่อยนัก แต่ถึงตอนนี้เห็นว่า เป็นโอกาสครบ 6 เดือนของการบริหารรัฐบาลปัจจุบัน น่าจะได้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลเสียบ้าง ซึ่งเมื่อก่อนก็เคยวิจารณ์การทำงานของ คมช. ในการติดตามผลงานการทำงานรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพบว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ต้องประสบวิกฤตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้ประเทศไทยประสบวิกฤตหนักหนาสาหัสมากกว่าครั้งใดๆ ในรอบหลายสิบปี ในการที่จะต้องมารับกับวิกฤตอย่างนี้  และพบว่ารัฐบาลปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง
 
ทั้งนี้อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้วิจารณ์ผลงานด้านต่างๆ ของรัฐบาล โดยระบุว่าเป็นความล้มเหลวในด้านต่างๆ 5 เรื่อง คือ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจการ 2.แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมและการสร้างสมานฉันท์ 3.การแก้ปัญหาภาคใต้  4.กรณีปราสาทพระวิหาร  และ 5.การทุจริตคอร์รัปชั่น โดยทั้ง 5 ด้านพบว่าความล้มเหลวที่สำคัญเกิดจากที่มาและกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  ที่มาของรัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย และเนื่องจากใช้กติกาที่ไม่ประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรม  ทำให้เป็นปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลมาจากความขัดแย้ง และปล่อยให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ โดยไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
 
“รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประชาชนในการเลือกตั้ง แต่มาจากการใช้กติกาและกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเข้ามาเปลี่ยนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาแทนที่โดยอาศัยหลายฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาชนมาสนับสนุน จึงเป็นรัฐบาลที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ตั้งตัวเองเป็นรัฐบาล มีความเกรงอกเกรงใจมากเป็นพิเศษ  จนรัฐบาลนี้ไม่อาจจะเป็นตัวของตัวเองได้ จากสภาพความขัดแย้งที่มาอย่างต่อเนื่องจากความไม่เป็นประชาธิปไตยและความไม่เป็นธรรม  ทำให้ไม่มีทางที่จะสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้นได้  
 
“ที่สำคัญรัฐบาลนี้ยังขาดความสามารถในการบริหาร กำหนดนโยบาย การสั่งการ การประสาน ปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบงานในด้านต่างๆ จะเห็นผู้นำของรัฐบาลหรือ คนสำคัญของรัฐบาล จะเน้นการพูด การชิงไหวชิงพริบ  รวมถึงคนในรัฐบางส่วน เน้นการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากกว่าที่จะหาทางแก้ปัญหาของบ้านเมือง”
 
 
ทำลงทุน ส่งออกฮวบ กระตุ้นช้า ประเมินพลาด
ไม่สามารถดูแลเงินบาท ต่อรองการเมืองจนพลาดเรื่องใหญ่
ทั้งนี้นายจาตุรนต์ได้ขยายความปัญหา 5 ประเด็นที่สะท้อนความล้มเหลวคือ  เรื่องแรก คือ “เศรษฐกิจ” ในการแก้ปัญหาพบว่าล้มเหลวในแง่การกำหนดนโยบาย  กำกับดูแลบนโยบายไปสู่การปฏิบัติ จนกระทั่งได้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าควรจะเป็น   มากกว่าที่รัฐคาดการณ์หรือรัฐบาลได้บอกกล่าวกับประชาชนไทย กรณีตัวเลขเศรษฐกิจที่หดตัว 7.1 ของไตรมาสแรกของปีนี้ และยังพบว่าการลงทุนลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ คือดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงตลอด 5 เดือนแรก ในเดือนพฤษภาคมเดือนเดียวลดลง 16.5 เปอร์เซ็นต์ ถึงสิ้นปี 51 ธนาคารปล่อยสินเชื่อ สินเชื่อธนาคารอยู่ที่ 6.7 ล้านล้านบาท พอสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหลือ 6.5 ล้านล้านบาท  ซึ่งหายไป 2 แสนล้านบาท
 
การส่งออกในเดือนพฤษภาคมออกลดลง 26.6 เปอร์เซ็นต์ ติดลบตั้งแต่การส่งออกเริ่มลดลงในเดือนพฤศจิกายน 51 การท่องเที่ยวเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 912,000 คน ติดลบ 22.2 เปอร์เซ็นต์เป็นยอดนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อเดือนในรอบหลายปี   นอกจากนั้นราคาสินเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ได้มาในเดือนพฤษภาคม ลดลง 18.40 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมากพิเศษเหมือนกัน การที่มีปัญหามากๆอย่างนี้ ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เน้นการใช้จ่ายภาครัฐด้วยการขาดดุลมีผลน้อย เนื่องจากขาดดุลมากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้  คือรัฐบาลได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจผิดพลาดและยังขี้แจงกับประชาชนไปในทางที่ผิดพลาดด้วย
 
การใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างช้ามาก  จนกระทั่งไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกเหลืออีกเพียง 3 - 4 เดือนเท่านั้น ต้องปิดงบในเดือนกันยายน การเบิกจ่ายมาจนถึงเดือนพฤษภาคม มีแค่ 40 เปอร์เซ็นต์ ในบางโครงการเป็นตัวเลขที่ต่ำมากจนน่าตกใจ  ทำไมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจึงล้มเหลวมากอย่างนี้  แล้วเราก็พบว่า ขณะนี้มีหนี้สินมหาศาลเกิดขึ้ นายกรัฐมนตรีได้แค่ปลอบใจว่า รัฐบาลจะเป็นคนใช้หนี้  ประชาชนไม่ต้องใช้  ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเอาเงินส่วนตัวมาหรืออย่างไร
 
เศรษฐกิจมาอยู่ในสภาพอย่างนี้  รัฐบาลประเมินต่ำ ไม่พูดความจริง ไม่ทำให้คนเห็นว่านี่คือวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรง  ในเมื่อการใช้จ่ายของภาครัฐมีข้อจำกัดมาก คือรายได้หายไปอย่างผิดคาด ต้องกู้หนี้ยืมสินแล้วก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าไหร่  เพราะส่วนใหญ่ต้องไปใช้ชดเชยเงินคงคลัง  ในระหว่างนี้รัฐบาลละเลยที่จะมาให้ความสนใจกับปัญหาการส่งออก  การท่องเที่ยวและราคาพืชผลเกษตร  ก็คือไม่ได้สนใจการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทั้งของรัฐและเอกชนอย่างเพียงพอ
 
ไม่สามารถดูแลเงินบาทในการใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ  ทั้งมาจากข้อจำกัดของกฎหมายที่ให้อำนาจอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมากไปและขาดการปรึกษาหารือ  การแบ่งกระทรวงที่พรรคแกนนำไม่ได้ดูแลกระทรวงหลัก เหลือเพียงกระทรวงคลังกระทรวงเดียว  ทำให้รัฐบาลนี้ทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีกำกับกระทรวงต่างๆไม่ได้  ทำให้ไม่มีการกำหนดนโยบาย ไม่มีการสั่งการในทางนโยบายที่จะไปแก้ปัญหา  
 
รัฐบาลต้องสาระวนอยู่กับการพยายามแสวงหาผลประโยชน์ตามกระทรวง กับการต่อรองผลประโยชน์ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้  จนกระทั่งไม่สามารถทำเรื่องใหญ่ๆ ร่วมกันได้  ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดคือการเช่ารถเมล์ 4 พันคัน  ปัญหาการจำนำข้าว ขายข้าวขาดทุน  จนบัดนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่เป็นข้อสรุปว่า นโยบายสำหรับพืชผลเกษตรจะใช้นโยบายอะไร  ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมราคาสินค้าเกษตรจึงมีปัญหามากโดยไม่มีใครดูแล ประกอบกับรัฐบาลนี้การขาดประสบการณ์ในการบริหารงาน  นั่นเป็นปัญหาเศรษฐกิจ
 
 
ไม่เข้าใจเหตุความแตกแยกในสังคม เตรียมการแยบยลในการสลายการชุมนุม
ส่งเสริมการยุติธรรม 2 มาตรฐาน เอาแต่ชิงไหวชิงพริบทางการเมือง
ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และสร้างความสมานฉันท์ นายจาตุรนต์กล่าวว่า รัฐบาลนี้ยังไม่ได้แสดงความเข้าใจว่าประเทศมีวิกฤตความขัดแย้งในสังคม  ไม่เข้าใจว่าสังคมได้มีวิกฤตแตกแยกร้าวลึกกว่าที่ผ่านมาในอดีต   ที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง  ไม่ได้เข้าใจต้นเหตุของปัญหาหรือมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องพยายามให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาหาทางออกที่ยั่งยืน  คือ การแก้กติกา สร้างค่านิยม วัฒนธรรมที่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย  
 
ตอนเกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาล  รัฐบาลได้เลือกที่จะใช้มาตรการทางทหารที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ  โดยรัฐบาลได้ไตร่ตรองไว้ก่อน และมีการเตรียมการมาอย่างแยบยล เป็นมาตรการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล  ใช้ปราบปรามประชาชนแบบผิดกฎหมาย   พร้อมทั้งยังส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐาน  แม้จะมีทีท่าอยู่บ้างว่าจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเมื่อมีการประชุมร่วมกันของ 2 สภา เนื่องจากมีการเสนอข้อมูลที่แตกต่างกันของรัฐบาล  แต่ว่าเมื่อทำงานไประยะหนึ่งปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้แสดงความจริงใจ  นายกรัฐมนตรีไม่ได้แสดงความเห็นอะไรเท่าไหร่ พรรคประชาธิปัตย์ไม่แสดงความเห็นอะไรต่อการแก้รัฐธรรมนูญ และยังให้อดีตหัวหน้าพรรคถึง 2 คน มาแสดงความเห็นในทางไม่เห็นด้วยต่อการแก้รัฐธรรมนูญ  หรือไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุของปัญหา
 
ประเด็นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  ในสังคมไม่อาจแก้ได้ เพราะบุคลิกของนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์เอง ทั้งนายกรัฐมนตรี โฆษกส่วนตัวหัวหน้าพรรคและบุคคลอื่นๆ เน้นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง บางคนถึงขั้นเกะกะระรานรายวัน หรือไม่ก็ใส่ร้ายดื้อๆ ยกกรณีครั้งหลังสุดกรณีแผนตากสิน 2 เป็นต้น กุเรื่องขึ้น ใส่ร้ายกันดื้อๆ ใครถามก็บอกว่าผ่านตามาแล้ว อะไรผ่านตาก็ไม่รู้ สุดท้ายคือไม่มีจริงเลย อันนี้คือไม่มีทางที่จะสร้างความสมานฉันท์ได้  ถ้าไม่แก้ที่ตนเหตุ ที่ความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือความไม่ยุติธรรมในประเทศนี้
 
 
ปัญหาใต้ ทุ่มงบเหลว
นำกองทัพไม่ได้ เพราะกองทัพตั้งมา
เรื่องที่สาม  ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งน่าเป็นห่วง  ผมไม่ค่อยวิจารณ์เรื่องนี้ ยังคงยืนยีนท่าทีแบบเดิมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีว่ากรณีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ถ้ามีอะไรจะช่วยสนับสนุนได้ยินดีที่จะช่วยเสมอ  รวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็ยินดีเสมอ แต่ต้องยอมรับว่า น่าเป็นห่วงมากที่ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีระดับความรุนแรงที่สูงขึ้น  ทั้งๆที่ได้ทุ่มงบประมาณไปมาก  แต่กลับไม่เกิดผล แล้วก็ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นนโยบาย จะแก้ให้ได้ ลดปัญหาให้ได้ภายใน 99 วัน 
 
ที่เป็นปัญหาอย่างนี้ เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้เวลา  และรัฐบาลไม่สามารถนำกองทัพได้จริง บางเรื่องยังตกลงกับกองทัพ ผู้นำกองทัพไม่ได้  ด้วยเหตุจากการที่รัฐบาลต้องอยู่ในสภาพที่ต้องเกรงใจกองทัพ  เพราะกองทัพเป็นคนตั้งตนเองมาเป็นรัฐบาล  เลยทำให้การนำของรัฐบาลต่อกองทัพไม่สามารถทำได้   
 
ยิ่งไปกว่านั้น การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสูงยังไม่ได้แสดงความเข้าใจความหมายของคำว่า “การเมืองนำการทหาร” เลย อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง  โดยผู้บัญชาการกองทัพบกเองเมื่อไม่เข้าใจเรื่องการเมืองนำการทหารแล้ว คุยกับนายกฯก็คุยไม่ค่อยได้ด้วย ทางรัฐบาลก็ไม่แสดงความเข้าใจ การเมืองนำการทหารแปลว่าอะไร การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่สำเร็จ ทำกันอยู่อย่างนี้ ไม่ยกเครื่องทำกันอย่างจริงจัง ปัญหาก็จะเลวร้ายลงไปอีก
 
 
พระวิหาร : นายกฯมีทิฐิ ที่ทำและพูดไว้ตอนเป็นฝ่ายค้าน
เรื่องที่สี่ คือ กรณีปราสาทพระวิหาร  มาถึงวันนี้ยิ่งเกิดความชัดเจนว่าได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จากกรณีปราสาทพระวิหาร และอาจทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์มากกว่านี้มากขึ้นได้อีก  ปัญหาใหญ่สุด อยู่ที่นายกรัฐมนตรีมีทิฐิ ไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ได้ทำไว้ พูดไว้ ในขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก่อนมาเป็นรัฐบาล คำพูดที่ว่า ที่ดินใต้ปราสาทและที่ดินบริเวณปราสาทยังเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ศาลโลกตัดสินไปนานแล้วว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ภายในเขตประชาธิปไตยของกัมพูชา
 
รัฐบาลนี้มีนายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นายกษิตประกาศบนเวทีพันธมิตรฯ จะนำปราสาทพระวิหารคืนจากกัมพูชา รวมทั้งรัฐมนตรีกษิตและพรรคประชาธิปัตย์ยังระบุว่าประเทศไทยยังสงวนสิทธิท้วงคืนปราสาทพระวิหาร ตรงนี้เข้าใจว่ารวมถึงนายกฯอภิสิทธิ์ด้วย ยังสงวนสิทธิทวงคืนปราสาทพระวิหาร หากค้นพบหลักฐานใหม่ทวงคืนได้ตลอดเวลา เพราะไม่มีกำหนดอายุความ ตามข้อ 60 รัฐธรรมนูญศาลโลก ซึ่งเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับกระทรวงการต่างประเทศ  ขัดกับสภาความมั่นคงของไทยเอง  เป็นความขัดแย้งกับประเทศไทยเอง
 
แต่ที่สำคัญคือว่า ที่แสดงความเห็นเหล่านี้ไปแล้ว เมื่อมาถึงปัจจุบันเพื่อเอาชนะคะคานทางการเมืองกับนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีก็ออกมายืนยันความเห็นเดิม  และทั้งหมด คือทั้งนายกรัฐมนตรีรัฐบาล และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบัน ไม่ได้แสดงความยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเลยแม้แต่น้อย ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกในทางไม่ดีจากฝ่ายรัฐบาลและประชาชนกัมพูชาต่อไป
 
 
ทุจริต : ไร้การตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ
เรื่องที่ห้า คือเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ที่สำคัญคือปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ในปัจจุบันไม่มีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากกติกากำหนดไว้เป็นอย่างนั้น คือมีองค์กรที่ทำหน้าที่การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น อย่าง ป.ป.ช. สตง.  แต่บุคลากร กรรมการต่างๆที่รับผิดชอบ  ล้วนมาจาก คมช.ทั้งสิ้น ซึ่งทำให้องค์กรตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ และองค์กรเหล่านี้เอียงมาทางรัฐบาลนี้อยู่แล้ว  เพราะว่ามาจากสายเดียวกัน ทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้ง่าย ดูจากกรณีที่ขัดแย้งกันอยู่ เช่น กรณีรถเมล์ 4 พันคัน กรณีการขายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ก็น่าเป็นห่วงอยู่แล้ว  พ.ร.ก. 4 แสนล้านยิ่งเป็นเหมือนการเซ็นเช็คเปล่าให้รัฐบาล
 
 
 
 
สรุป ขาดประสบการณ์
ที่มาไม่เป็นธรรม ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง เลื่อนลอย
“สรุปได้ชัดเจนรัฐบาลล้มเหลวทั้ง 5 เรื่อง ความล้มเหลวคือการขาดประสบการณ์ของพรรคแกนนำ มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย  การแบ่งงานไม่สามารถแบ่งงานให้สอดคล้องกับคนที่ทำงานหรือพรรคที่ทำ  แบ่งไปแล้ว  ขาดไปแล้ว คุยกันไม่ได้  กลับต้องเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลและกองทัพ  จนไม่เป็นตัวของตัวเอง  เรื่องทั้งหมดนี้นอกจากเกิดจากความขาดความสามารถขาดประสบการณ์ ที่มาที่ไม่ชอบธรรม  ทำให้รัฐบาลนี้ไม่สามารถอยู่ในสภาพที่จะนำพาหรือปรึกษาหารือ คิดนโยบายร่วมกันแล้ว  ยังเกิดจากการขาดความเข้าใจว่าประเทศนี้อยู่ในวิกฤตทั้งเศรษฐกิจและวิกฤตการเมืองที่ร้ายแรงกว่าครั้งไหนๆ ในรอบหลายสิบปี”
 
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวด้วยว่า บทบาทของนายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่อาจจะไม่เล็ก คือ กิจกรรมของนายกฯดูเหมือนว่าการจัดคิวบทบาทมันค่อนข้างเลื่อนลอย  ไม่อยู่กับเรื่องใหญ่ๆ  เรื่องที่ต้องการการแก้ไขรีบด่วน ต้องการความชัดเจนในทางนโยบาย  ต้องการการสั่งการ  บัญชาการจากนายกฯ เมื่อไม่มีกิจกรรมแบบนี้ นานเข้า สิ่งที่พูดก็ลอยไปด้วย  กรณีการพูดว่า ตัวเลขเศรษฐกิจติดลบ 7 เปอร์เซ็นต์ ก็บอกว่ายังดีกว่าบางประเทศ พูดลักษณะปลอบใจไป  แต่ว่าเนื่องจากติดบุคลิกของพรรคประชาธิปัตย์ที่ชอบชิงไหวชิงพริบ เอาชนะทางการเมือง ก็เลยยิ่งกลายเป็นว่าสิ่งที่พูดลอยห่างออกจากการปฏิบัติที่เป็นจริง
 
เรื่องที่วิจารณ์ไปแล้ว ก็หวังว่าบางเรื่องจะเป็นประโยชน์ ปรับการทำงาน เพิ่มการให้ความสำคัญทางด้านนโยบาย การดูแลนโยบาย การประสานงาน การสั่งการ ให้มากขึ้น  ที่สำคัญมากคือว่ารัฐบาลนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่าประเทศอยู่ในวิกฤตที่ร้ายแรง และถ้าไม่แก้วิกฤตที่ต้นเหตุ  โดยเฉพาะวิกฤตประชาธิปไตยและความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งก็จะดำรงอยู่ไม่สิ้นสุด  หรือจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อประเทศพบวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรงอย่างนี้ ก็ยากมากแล้วที่จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ยิ่งมาเจอกับรัฐบาลที่มีที่มาอย่างนี้ด้วย ถ้าไม่รีบแก้ปัญหากติกาให้ถูกต้อง ไม่รีบแก้ให้เกิดความยุติธรรมจริงๆ แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ แก้กติกาให้หมด เริ่มต้นกันใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน หารัฐบาลที่ชอบธรรม หารัฐบาลที่มีความชอบธรรมในการบริหาร  ถ้าไม่รีบทำอย่างนี้ปัญหาจะร้ายแรงมากขึ้น และผู้ที่เกิดความเสียหายไม่ใช่ใครอื่น ก็คือประชาชนทั้งประเทศนั่นเอง  หวังว่าบางเรื่องรัฐบาลจะรีบนำไปพิจารณา
 
ประเด็นสุดท้าย มีคนถามผมว่าอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน คือ เรื่องไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ผมเคยเป็นประธานคณะกรรมการดูแลเรื่องไข้หวัดนกมาก่อน  ก็อยากจะให้คำแนะนำว่า ปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009  เพราะปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศวิตกห่วงใย  เรื่องนี้ได้สะท้อนความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน  คือ ไม่ให้ข้อมูลชัดเจน ปิดบังอยู่ นโยบายไม่ชี้แจง  ไม่มีการให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบอย่างวิทยาศาสตร์ให้คนเข้าใจได้ง่ายว่าติดโรคจากอะไร ได้อย่างไร  ป้องกันได้บ้าง
 
ยกกรณีภาพข่าวทหารทั้งกรม ทั้งกองร้อยมีการล้างมือในกาละมัง 2 ใบ และมีผ้าเช็ดมืออยู่ผืนเดียว บอกว่าป้องกันได้แล้ว  มีการล้างถนนเป็นระยะๆ เสมือนเป็นมาตรการป้องกันได้แล้ว ซึ่งไม่ตรงเลย ไม่มีการสรุปเชิงสถิติว่าติดเชื้อจากอะไร  เกิดจากพฤติกรรมอย่างไรจึงติดโรค  สถิติข้อมูลในประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร แล้วเปรียบเทียบกับประเทศไทยเป็นอย่างไร  นาทีนี้ทำไมไม่ใช้ทีวีพูลอย่างจริงจัง แนะนำประชาชนอย่างขนานใหญ่  คนจะได้ลดความหวาดกลัว พร้อมทั้งประชาชนจะได้ไม่ประมาท 
 
“ตอนนี้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่พูดเพียงว่า ตายยังไม่มาก ถ้ามากก็ยังไม่เท่าประเทศอื่น ผมเห็นว่านายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมชี้แจงให้เป็นระบบ  ผมเชื่อว่าประชาชนไม่ต้องการคำปลอบใจว่ายังไม่รุนแรง”
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท