นักข่าวพลเมือง: สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ค้านการเลิกจ้าง เชื่อเป็นการทำลายสหภาพฯ - ย้ายฐานการผลิต

นักข่าวพลเมืองรายงาน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยื่นหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คนต่อบริษัท เชื่อเป็นการทำลายสหภาพแรงงานและย้ายฐานการผลิต หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก พร้อมบทสัมภาษณ์ 3 พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 

 00000

เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2552 เวลาประมาณ 10.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ทำการผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนียี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ประมาณ 500คน ได้เดินจากที่ชุมนุมไปที่หน้าบริษัทบอดี้ฯ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ รับกลับเข้าทำงาน
 
หลังจากนั้น นางสาววันเพ็ญ วงษ์สมบัติ ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างและเรียกร้องให้บริษัทฯ ให้รับคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน โดยมีนายคาร์บิส มาร์คัส และนายประยูร วงเล็ก ผู้จัดการฝ่ายบุคคล เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมกันนั้นนางสาวธัญยธรณ์ คีรีถาวรณ์พัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานฯ ได้อ่านหนังสือที่ยื่นต่อหน้าผู้แทนบริษัทฯ ขณะเดียวกันสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้พร้อมใจกันร่วมตะโกนเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน 
 
ทั้งนี้ หนังสือคัดค้านดังกล่าว ระบุว่า แม้บริษัทจะให้เหตุผลว่าเลิกจ้าง เพราะต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาว แต่คนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน 

“สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอคัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว เพราะเหตุผลในการเลิกจ้างในครั้งนี้ยังไม่สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจ พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯ มาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนเลย” หนังสือคัดค้านระบุ (อ่านฉบับเต็มได้ในล้อมกรอบ)
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการยื่นหนังสือนั้น บริษัทฯ ไม่ยอมเปิดประตูให้เข้าไปยื่น ทั้งที่บริษัทเคยยืนยันในจดหมายแจ้งเลิกจ้างว่าพนักงานทั้งหมดยังคงเป็นพนักงานของบริษัทอยู่จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 สหภาพแรงงานฯ จึงใช้วิธีส่งหนังสือสอดผ่านประตูโรงงาน โดยเมื่อทางบริษัทรับหนังสือเสร็จแล้ว ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง คนงานที่ถูกเลิกจ้างได้เดินกลับที่ชุมนุมหน้าโรงงาน และได้มีคนงานที่บริษัทไม่ได้เลิกจ้างเดินมาสมทบ 

จากนั้นได้มีการสัมภาษณ์ความรู้สึกของคนงานที่ร่วมคัดค้านการเลิกจ้าง และเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากกังวลหากไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ ทางบริษัทอาจอ้างเหตุทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง เพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย ดังที่ขู่ไว้ในประกาศของทางบริษัท โดยการสัมภาษณ์ พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 3 ท่าน ซึ่งแน่นอนก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของปัญหาที่คนเกือบ 1,959 คนประสบได้ แต่มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 
ท่านแรกเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำอายุ 31 ปี ทำงานที่บอดี้แฟชั่น 11 ปี 4 เดือน ซึ่งตอนนี้ท้องได้ 3 เดือน มีลูกแล้ว 1 คน อายุ 8 ขวบ อยู่ต่างจังหวัดกับพ่อแม่ที่จังหวัดขอนแก่น
 
ถาม: วันนี้ สหภาพไปยื่นหนังสือให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน ทำไมถึงอยากกลับเข้าทำงาน
ตอบ: ท้อง อยากกลับไปทำงาน ตกงานไปสมัครงานที่ไหนไม่มีใครรับ และไม่มีเงินคลอดลูก
ถาม: คิดว่าจะทำอะไรหลังจากนี้
ตอบ: คงทำอะไรไม่ได้ ต้องรอคลอดก่อน
ถาม: คิดว่าบริษัททำถูกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ
: ไม่ถูก เพราะว่าบริษัทฯ น่าจะหาอาสาสมัครออกก่อน
ถาม: เชื่อไหมว่าบริษัทขาดทุน
ตอบ: ไม่เชื่อ
ถาม: คิดว่าเพราะสาเหตุอะใรบริษัทถึงทำอย่างนี้
ตอบ: ทำลายสหภาพ หาที่จ้างราคาถูก
ถาม: อยากบอกอะไรต่อบริษัท
ตอบ: บริษัทน่าจะทบทวนเรื่องการเลิกจ้างใหม่ 
 
ท่านถัดมาเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำ อายุ 52 ปี อายุงาน 21 ปี 3 เดือน มีลูก 3 คน มีครอบครัวหมดแล้ว ปัจจุบันแยกทางกับสามีและอาศัยอยู่กับน้องสาว
 
ถาม: ทำไมถึงอยากกลับเข้าทำงาน
ตอบ
: อยากมีรายได้ ถ้ามีงานทำ และคิดว่าคงหางานทำอีกไม่ได้
ถาม: เคยมาก่อนหรือไม่ว่าบริษัทจะเลิกจ้าง เพราะว่า
ตอบ: ไม่เคยคิด เพราะเป็นบริษัทใหญ่มีความมั่นคง อยากอยู่จนกว่าเกษียณ ยังคิดไม่ออก จะชุมนุมและเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน
ถาม: คิดว่าบริษัทเลิกจ้างเพราะอะไร
ตอบ: เพราะต้องการล้มสหภาพ และเราเป็นสมาชิก อาจสร้างโรงงานใหม่ที่อื่นที่ไม่มีสหภาพและค่าจ้างถูก
ถาม: เมื่อเช้าที่สหภาพฯ ไปยื่นคัดค้านการเลิกจ้างได้ร่วมลงชื่อหรือไม่
ตอบ
: ร่วมลงชื่อ
ถาม: คิดว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน
ตอบ: คิดว่ามี ถ้าเรารวมตัวกัน
ถาม: ว่าบริษัททำถูกหรือไม่
ตอบ
: ไม่ถูก เราไม่ได้เตรียมตัว
ถาม: ถ้าบอกบริษัท เราจะบอกบริษัทว่า
ตอบ: ขอให้รับเรากลับเข้าทำงาน เพราะเราอายุมากไม่อยากเป็นภาระของสังคม 
 
ท่านสุดท้ายนี้ อายุ 37 ปี อายุงาน 19 ปี 1 เดือน เป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำ ครอบครัวอยู่บ้านเช่ากับแม่ ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและน้องที่มีปัญหาทางสมอง
 
ถาม: มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ
ตอบ
: ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต ค่ายาของแม่ เป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้กินข้าวได้นอนหลับ และค่ารถพาแม่กับน้องไปหาหมอ มีหนี้ ในและนอกระบบเกือบแสน
ถาม: สภาพบริษัทตอนเข้างานมาใหม่ๆ
ตอบ
: มีคนงานประมาณ 80 คน เช่าตึกอยู่ที่อาคารสิวดล ได้ค่าจ้างวันละ 90 บาท เมื่อปี พศ. 2533
ถาม: ทำไมถึงเรียกร้องขอกลับเข้าทำงาน
ตอบ: เพราะอายุมาก ไม่รู้จะไปหางานทำที่ไหน
ถาม: วางแผนจะทำอะไรต่อไป
ตอบ: ยังไม่รู้ เพราะไม่คิดว่าบริษัทจะเลิกจ้าง และได้เงินมาใช้หนี้ก็หมดแล้ว
ถาม: ถ้าบอกบริษัทจะบอกว่า
ตอบ: อยากกลับเข้าทำงาน ไม่รู้จะไปไหนทำอะไร
ถาม: จะให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างไร
ตอบ: ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ด้วย ไม่ใช่ส่งคนมาเข้าข้างนายจ้างออกหน้าออกตา และยังทำเพิกเฉย 
 
 
หนังสือคัดค้านที่พนักงานยื่นต่อตัวแทนบริษัท 
 
สทอท.ที่ …………/2552
 
3 กรกฎาคม 2552
 
เรื่อง ขอคัดค้านการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด 
 
เรียน คุณมาคูส สเปียสโฮเฟอร์ President and Managing Director of Triumph International, คุณดีเตอร์ บราวน์, คุณโอริเวอร์ ไมเคิล สเปียสโฮเฟอร์, Mr. Leonardo innocenzi Corporate Head of Supply Chain, คุณเคนเนต มาร์แชล ผู้จัดการทั่วไป 
 
ตามที่บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ
บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯ ในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ ได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน 
 
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอคัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว เพราะเหตุผลในการเลิกจ้างในครั้งนี้ยังไม่สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจ พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯ มาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนเลย 
 
ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสขอให้บริษัทฯ ปฏิบัติต่อสหภาพแรงงานฯ และคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ดังนี้ 
 
1. ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คนและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ 
 
2. ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก 
OECD Guidelines for MNEs การเลิกจ้างเป็นกลุ่มจำนวนมากอย่างนี้ นายจ้างจะต้องปรึกษากับองค์การลูกจ้างและรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อลดผลกระทบต่อคนงานให้มากที่สุด ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในการบริหารจัดการที่ดีให้กับสหภาพแรงงานฯ และคนงานของบริษัททั้งหมด บริษัทต้องเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน จะเป็นการลดความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหาร เพราะการปรึกษาหารือเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนงาน เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันในสังคมประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้คนงานได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่อไป 
 
3. ให้บริษัทฯ ปฏิบัติตาม 
CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the “General Declaration Of Human Rights”) และพร้อมใจปฎิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ ( ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฎิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ 
 
ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะยอมรับสหภาพแรงงานรวมถึงยกเลิกแผนการเลิกจ้างทั้งหมดให้ใช้หลักปฏิบัติต่างๆของท่านที่ท่านรับรองไว้อย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านดำเนินการ 
จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ 
 
ขอแสดงความนับถือ 
 
 
นางสาววันเพ็ญ วงษ์สมบัติ 
ประธานสหภาพแรงงาน
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท