Skip to main content
sharethis
ครั้งหนึ่ง สมัยการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกาศพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ผ่านมาเกือบร้อยปี ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และล่าสุด ในสมัยของรัฐบาล คมช. ภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ก็ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
 
กฎหมายทั้งสามฉบับนี้เกิดขึ้นมาต่างยุคต่างสมัย ต่างระบอบการปกครอง แต่กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับนี้ แฝงซ่อนแนวคิดของรัฐที่ไม่ต่างกัน ด้วยการยอมมอบอำนาจพิเศษที่ไร้การตรวจสอบให้แก่คนของรัฐ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่ “ความมั่นคง” แม้ต้องแลกกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศที่สูญเสียไประหว่างทางของการประกาศใช้กฎหมาย
 
กฎหมายต่างระบอบต่างสมัย แต่มีหัวใจเดียวกัน ขณะที่กฎอัยการศึกถูกใช้เกินกว่าครึ่งประเทศเพื่อรองรับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ก็ถูกนำมาใช้หลายครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อปราบปรามคนในประเทศเดียวกัน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกคู่เจรจา ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 16-23 กรกฎาคมที่ภูเก็ต  ‘พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ’ ก็ได้รับการประกาศบังคับใช้ในระหว่างวันที่ 10-24 กรกฎาคมเป็นที่เรียบร้อย แม้จะยังไม่ปรากฏวี่แววเลยว่า จะมีใครมา ‘ลองของ’ ก็ตาม
 
ประชาไทสัมภาษณ์ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ในประเด็นของกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบัน
 
00000
 
 
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์
 
 
ประชาไท: ประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงอยู่หลายฉบับ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร แท้ที่จริงแล้ว รัฐในระบอบประชาธิปไตยควรมีกฎหมายด้านความมั่นคงในลักษณะใด
ศิโรตม์:ปกติแล้ว เรื่องกฎหมายความมั่นคงมันเป็นปัญหา เพราะไม่ว่ากฎหมายความมั่นคงจะออกมาที่ไหนก็ตาม มันมีแนวคิดบางอย่างซึ่งขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตย นั่นก็คือ โดยพื้นฐานของกฎหมายความมั่นคง มันคือการมอบอำนาจในการแทรกแซงกิจการต่างๆ ในสังคมให้รัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย เราเชื่อว่าอำนาจรัฐควรจะมีจำกัด
 
การเกิดรัฐสมัยใหม่ทุกๆ ที่ ทั้งในแง่ทฤษฎีหรือในแง่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ มันเกิดขึ้นมาพร้อมกับความต้องการให้รัฐเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองคนในสังคมในด้านต่างๆ เช่นการคุ้มครองด้านชีวิต ด้านทรัพย์สิน หรือความปลอดภัย เพราะฉะนั้น โดยระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย หรือการเมืองแบบรัฐธรรมนูญนิยมก็ตาม รัฐดำรงอยู่เพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพของคนในสังคม ดังนั้น การให้รัฐมีอำนาจอย่างไม่มีขอบเขตเป็นเรื่องที่โดยพื้นฐานแล้วทำไม่ได้
 
กรณีกฎหมายด้านความมั่นคง ในหลายๆ สังคม แนวคิดในการออกกฎหมายนี้มาจากความเชื่อว่า ในสถานการณ์บางอย่าง รัฐต้องมีอำนาจพิเศษเพื่อจะคุ้มครองชีวิตทรัพย์สินหรือความปลอดภัยของคนในสังคมไว้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สถานการณ์แบบไหนที่เราจะถือว่ารัฐมีเหตุผลหรือมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจพิเศษนี้จริงๆ เพราะว่ากฎหมายความมั่นคงนี่ พอประกาศปุ๊บ มันนำไปสู่การละเมิดหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สิน และร่างกายทั้งหมด โดยอ้างว่าการละเมิดนี้จะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ ในบั้นปลาย
 
เพราะฉะนั้น กรอบในการคิดคือ หนึ่ง ต้องดูว่าในสังคมต่างๆ มีเกณฑ์ในการนิยามว่าสถานการณ์แบบไหนเป็นสถานการณ์ที่อนุมัติให้รัฐใช้อำนาจอย่างนี้ได้ สอง ต้องดูว่า ในกระบวนการใช้อำนาจรัฐแบบนี้ มันนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ในบั้นปลายได้จริงหรือเปล่า หรือว่าทำให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงมากขึ้น
 
ในต่างประเทศจะมีนักนิติศาสตร์จำนวนมากที่ศึกษาเรื่องนี้ เช่น ในหนังสือ (The Jurist Prudence of Emergency) เป็นของนักนิติศาสตร์แนวสังคมวิทยา แนวปรัชญา จะศึกษาว่าการใช้กฎหมายด้านความมั่นคง คือการทำให้รัฐมีอำนาจใช้ความรุนแรงกับสังคมมากขึ้น ดังนั้นการทำให้รัฐมีอำนาจใช้ความรุนแรงกับสังคมมากขึ้นก็ต้องมีเงื่อนไขจำนวนมากมากำกับว่า จะทำยังไงให้อำนาจที่ถูกใช้นั้นไม่กลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการทำลายเป้าหมายของรัฐเอง
 
แล้วกฎหมายความมั่นคงควรจะออกแบบอย่างไร ที่ผ่านมา การออกหมายในเมืองไทยมักจะถูกออกมาตามสถานการณ์
ในเมืองไทย ปัญหาในการออกกฎหมายมีสองระดับ ระดับแรก คือการนิยามความมั่นคงของรัฐ เพราะเราก็จะปนเรื่องความมั่นคงของรัฐกับความมั่นคงของรัฐบาล
 
ปัญหาที่สองคือ ต่อให้เป็นความมั่นคงของรัฐจริงๆ กระบวนการนิยามว่าอะไรคือความมั่นคงของรัฐในบ้านเราก็ถูกกำหนดโดยรัฐหรือโดยข้าราชการเท่านั้น คนที่มีอำนาจทั้งหมด คือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรอง ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ กองทัพภาคต่างๆ ซึ่งกระบวนการแบบนี้มันพิสูจน์ไม่ได้ว่า ความมั่นคงของรัฐมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ
 
อย่างกรณีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการฉุกเฉินในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ถ้าดูผิวเผิน มันเหมือนกับมีความไม่มั่นคงเกิดขึ้น โดยความรู้สึกแล้วเหมือนจะเป็นแบบนั้น คือเราจะรู้สึกไม่มั่นคงก็เมื่อมันเกิดสถานการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป ควบคุมตัวแปรต่างๆ ไม่ได้ ในช่วงนั้นมีหลายอย่างเกิดขึ้น มีการปิดถนน มีการเผาอะไรต่างๆ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป
 
แต่ต่อให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริง ในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งที่ผ่านมา ถ้าเราดูให้ดี มันไม่มีสถานการณ์อะไรที่มันเกิดความไม่มั่นคงกับรัฐ มันเป็นความไม่สงบในจุดย่อยๆ แต่ตัวรัฐเองไม่ได้มีผลกระทบในแง่ความมั่นคง หรืออย่างที่นายกฯ พูดว่ามีการจะทุบรถ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งโดยการทำร้ายร่างกาย มันเป็นความไม่มั่นคงต่อรัฐไปตั้งแต่เมื่อไร คือการประทุษร้ายนายกฯ มันเป็นเรื่องทางอาญา มันไม่ใช่เรื่องการทำลายความมั่นคงของรัฐ
 
เพราะฉะนั้น ปัญหาในบ้านเราก็จะมีสองระดับ ระดับแรกคือการตัดกันระหว่างความมั่นคงของรัฐ กับความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นปัญหาพื้นฐานที่คนพูดกันเยอะ แต่ต่อให้เป็นเรื่องที่เป็นความมั่นคงของรัฐจริงๆ กระบวนการในการพิจารณาก็มีลักษณะจำกัดมาก ความมั่นคงมันกลายเป็นกิจกรรมของคนบางกลุ่มเท่านั้น
 
ในหลายๆ ประเทศ อย่างในอังกฤษหรืออเมริกา การประเมินว่าอะไรคือความมั่นคง มันมีกระบวนการของสภาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างน้อย ถ้าไม่ใช่ในตอนต้น ก็คือในกรณีที่มีการอนุมัติใช้กฎหมายไปแล้วก็ต้องให้สภารับรอง ต้องมีโต้แย้งในสภาว่า มีเหตุอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ในบ้านเราไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินประกาศโดยนายกฯ แล้วนายกฯ แจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพราะฉะนั้น มันเป็นกระบวนการที่อำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จอยู่แค่คนไม่กี่กลุ่ม
 
แล้วรัฐควรใช้วิธีอะไรจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบอย่างที่เกิดขึ้น เช่นบางพื้นที่ อย่างในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลา
โดยหลักการ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ควรถูกใช้เป็นเรื่องระยะยาวอยู่แล้ว อย่างกรณีภาคใต้ มันประกาศแล้วต่ออายุไปเรื่อยๆ มันทำไม่ได้ เพราะมันทำให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งรัฐ โดยกองทัพ มีอำนาจพิเศษบางอย่างในการจัดการคนในพื้นที่ แล้วทำให้เรื่องทั้งหมดกลายเป็นเรื่องทางการทหารไป ทั้งที่พื้นฐานปัญหาเรื่องสามจังหวัดภาคใต้คือเรื่องการเมือง ประกาศไปมันก็ไม่เห็นแก้อะไรได้
 
จริงๆ แล้ว เวลาเราบอกว่าอะไรเป็นปัญหาความมั่นคงหรือไม่มั่นคงต่อรัฐ เรื่องที่จะทำให้รัฐไม่มั่นคงจนถึงขั้นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มันควรจะจำกัดด้วยซ้ำว่า เฉพาะกรณีที่เกิดสงครามกับภายนอก และไม่ใช่เรื่องการเมืองภายในประเทศ อย่างเรื่องสามจังหวัดภาคใต้ พื้นฐานคือเรื่องการเมืองภายในประเทศ แล้วมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงกับคนในพื้นที่ มันก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้
 
คือในที่สุด อาจจะต้องมีการนิยามด้วยซ้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จำเป็นต้องใช้ในกรณีที่เกิด “ภัยคุกคามจากต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด” เท่านั้น เช่นในกรณีสงคราม หรือความขัดแย้งตามแนวชายแดน
 
นั่นคือ กฎหมายความมั่นคงควรให้อำนาจอย่างจำกัดเช่น ภัยจากต่างประเทศ แล้วรายละเอียดในกฎหมายนั้นควรให้อำนาจรัฐแค่ไหน
มันมีสองแนว บางที่เขาก็ใช้วิธีว่า ตอนประกาศ รัฐบาลเป็นคนที่ออกด้วยตัวเองได้ แต่พอประกาศแล้วต้องมาแจ้งต่อสภา ให้สภาพิจารณารับรอง และใช้กระบวนการสภานี้ดูว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไปถูกหรือเปล่า
 
แบบที่สองคือ กระบวนการไม่ต้องผ่านสภาตอนแรกก็ได้ แต่ต้องผ่านที่ประชุม ครม. ไม่ใช่ให้นายกฯ เป็นคนประกาศคนเดียวแล้วแจ้งให้ ครม.รับทราบเฉยๆ
 
โดยหลักการคือ มันต้องมีการกระจายอำนาจ ไม่ใช่อยู่ที่คนคนเดียว เพราะถ้าอยู่ที่คนคนเดียว โอกาสที่จะประกาศผิด จากการประเมินสถานการณ์ผิด หรือเกิดจากการมีแรงจูงใจหรือผลประโยชน์ทางการเมืองจะมีสูงมาก อย่างกรณีของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจจะพูดได้ว่ามันคงมีปัจจัยจากความกลัวหรือความไม่สบายใจของนายกฯ เองในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายกฯ ในช่วงสองสามวันนั้นมาเกี่ยวข้อง
 
สำหรับสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นรวมทั้งที่จะเกิดในอนาคต รัฐควรมีเครื่องมืออะไรออกมาใช้ดูแลความสงบไหม กฎหมายเท่าที่มีอยู่เพียงพอไหม และในระบบประชาธิปไตย รัฐจำเป็นต้องมีกฎหมายด้านความมั่นคงหรือไม่
เราไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับต่างประเทศเลยในช่วงปัจจุบัน คือ ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มันควรจะถูกใช้อย่างจำกัดที่สุด ในเงื่อนไขที่จำกัด คือต้องเป็นเรื่องความมั่นคงต่อรัฐจริงๆ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐถูกคุกคามได้มากที่สุดในโลกปัจจุบัน ก็คือภัยจากต่างประเทศนั่นเอง เราไม่ได้อยู่ในประเทศที่อยู่ในสงครามกลางเมือง มีขบวนการใต้ดินที่จะสร้างความไม่มั่นคงต่อรัฐได้
 
อีกลักษณะที่มักปรากฏในกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ก็คือการเว้นโทษของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมักเกิดขึ้นบนเหตุผลว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถดูแลสถานการณ์ได้ทันการณ์
ในกรณีที่เป็นเรื่องของความขัดแย้งในประเทศเอง มันไม่ควรมี เพราะว่ายิ่งมี มันยิ่งทำให้รัฐกับรัฐบาลขัดแย้งกับคนในประเทศมากขึ้น แล้วการที่รัฐกับรัฐบาลขัดแย้งกับคนในประเทศ มันจะนำไปสู่สถานการณ์ความไม่มั่นคงในประเทศมากขึ้น คือรัฐกับรัฐบาลอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะว่ามีอำนาจหรือว่ามีการบังคับบัญชาการใช้ความรุนแรงคนในประเทศได้อย่างเดียว แต่คนจะยอมรับรัฐ ยอมรับรัฐบาล เพราะเชื่อว่าเป็นองค์กรที่เป็นกลาง แต่ถ้ามีการใช้กฎหมายที่ให้อำนาจมากเกินไปแก่เจ้าหน้าที่ ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งภายในประเทศมากขึ้น มันจะทำให้รัฐหรือรัฐบาลกลายเป็นขั้วขัดแย้งกับคนในประเทศเอง นี่เป็นต้นกำเนิดของความไม่มั่นคงในประเทศขึ้นมาจริงๆ
 
ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้เป็นแบบนั้นอยู่ใช่ไหม
ใช่ หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มันทำให้ความขัดแย้งระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลมันยกระดับขึ้นมาทันที คนที่ชุมนุมก็รู้ว่ารัฐบาลมองเขาเป็นศัตรู เจ้าหน้าที่รัฐเขาก็รู้ว่าเขามีอำนาจในการจัดการกับผู้ชุมนุมแบบที่จัดการกับศัตรูมากขึ้น ในสามจังหวัดภาคใต้ก็คล้ายๆ กัน คือประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปก็ไม่ช่วยอะไร เพราะพื้นฐานมันคือเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องการทหาร หรือต่อให้เป็นเรื่องการทหาร มันก็ใช้กลไกของกฎหมายปัจจุบันมาใช้ได้
 
ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงแนวคิดเรื่องความมั่นคง มันเหมือนเป็นโจทย์ที่จำกัดอยู่ที่รัฐเป็นฝ่ายคิดฝ่ายเดียว ประชาชนคนทั่วไปก็จะไม่ค่อยมีส่วนคิดในเรื่องนี้ ทำยังไงไม่ให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น
ต้องสร้างกลไกที่ทำให้การพูดเรื่องความมั่นคงมันไม่จำกัดอยู่แค่ข้าราชการหรือทหาร เช่น กรณีสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่งตั้งคนกลุ่มต่างๆ เข้าไปอยู่ในสภาความมั่นคง ก็ต้องเปิดให้สาธารณะเข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าเสนอตามสายบังคับบัญชาเหมือนกับองค์กรทางทหารปกติ ที่ ผบ.กองพัน ขึ้นเป็น ผบ.กองพล ผบ.กองพลก็ขึ้นเป็นแม่ทัพภาค แต่หน่วยงานอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติควรจะให้สภาเข้าไปควบคุมตรวจสอบได้ ซึ่งในปัจจุบันองค์กรพวกนี้ถูกแยกออกไปเป็นเรื่องของกองทัพอย่างเดียว
 
ไม่มีกลไกที่จะถ่วงดุลจากภาคประชาชน
ไม่มี หรือแม้จากสังคมโดยรวมก็ไม่มี มันกลายเป็นเหมือนพื้นที่อิสระ ที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรคือความมั่นคงของประเทศจริงๆ ความมั่นคงมันกลายเป็นเรื่องของงานข่าวกรองไป มันกลายเป็นเหมือนกิจการของพวกสายลับว่า มีแหล่งข่าวคนนั้นคนนี้แล้วมาประเมินว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไหม เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นไหม ซึ่งการทำเรื่องความมั่นคงแบบพวกข่าวกรอง มันอาจจะเหมาะในสถานการณ์แบบสงครามเย็น ที่มีคอมมิวนิสต์เข้ามา มีพวกก่อการร้ายแฝงตัวเข้ามา แล้วต้องใช้วิธีสืบสวนแบบลับๆ คอยติดตามสอดแนม
 
แต่สถานการณ์แบบโลกปัจจุบัน ความไม่มั่นคงไม่ได้เกิดจากเรื่องแบบสงครามเย็น มันเกิดจากหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องความไม่เข้าใจกันทางการเมือง เรื่องพวกนี้ใช้วิธีจัดการความมั่นคงแบบข่าวกรองไม่ได้แล้ว พื้นฐานของความไม่มั่นคงในโลกปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแบบงานข่าวกรอง แต่คือเรื่องของการเมือง เรื่องของความซับซ้อนของเครือข่ายทางสังคมกลุ่มต่างๆ ซึ่งใช้วิธีแบบเดิมๆ ก็ไม่ได้ผล อย่างกรณีปัญหาเรื่องยาเสพติด ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าวิธีจัดการแบบงานสายลับมันแก้ปัญหาไม่ได้
 
ถ้าเราบอกว่าจะมีกฏหมายด้านความมั่นคง โดยระบุว่าจะใช้กับภัยที่เกิดจากต่างประเทศเท่านั้น หมายความว่าทหารควรจะมีบทบาทเพียงแค่ป้องกันภัยจากต่างประเทศเท่านั้นรึเปล่า คือไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องการชุมนุมในประเทศ
ใช่
 
นั่นเป็นแนวคิดที่ประเทศไทยจะไปถึงได้หรือ?
อย่าลืมว่า ตั้งแต่หลังปี 2535 ขึ้นมา เราก็ประสบความสำเร็จในการกันทหารไม่ให้มายุ่งกับเรื่องพวกนี้ หรือแม้กระทั่งในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีข่าวปรากฏมาตลอดว่า บางส่วนของกองทัพแสดงท่าทีว่า ไม่อยากจะยุ่งกับเรื่องการจัดการการชุมนุม จนกระทั่งนายกฯ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน คือจริงๆ มันก็คงมีความกลัว หรือว่ามีความรู้สึกว่า การดึงกองทัพไปยุ่งจะทำให้กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอย่างเปิดเผยมากขึ้น แต่หลัง พ.ร.ก.แล้ว ก็คงจะเปลี่ยนไปมากพอสมควร
 
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร.เคยบอกว่า ที่ต้องเป็นทหารเพราะตำรวจไม่กล้า
มันมีการจัดสี ตำรวจสีแดง ทหารสีเหลือง ถ้าคิดอย่างนั้นก็จะเป็นการขัดแย้ง เจ้าหน้าที่รัฐก็จะลงมาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และนั่นก็เป็นปัญหาของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่ไว้ใจตำรวจเอง เลยไปใช้ทหารแทน นั่นก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า การใช้ พ.ร.ก.ในรอบนี้ โจทย์เหล่านี้เป็นปัญหาของรัฐบาลหมดเลย คือเขาใช้ตำรวจไม่ได้
 
แปลว่าตำรวจควรจะเป็นตัวเลือกแรก
มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งการใช้ตำรวจในหลายๆ พื้นที่ ในหลายๆ สังคม ก็จะมีความหนักเบาของการใช้ตำรวจไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในบ้านเราทุกวันนี้ก็รู้อยู่แล้วว่าต้องมีตำรวจที่ถูกฝึกเป็นพิเศษ มีหน่วยปราบการจราจลที่ถูกฝึกเป็นพิเศษเรื่องการใช้สันติวิธี เรื่องการไม่ใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม หลายๆ ที่มีการพูดว่า แม้กระทั่งตำรวจก็ควรจะลดการใช้ให้มากที่สุด แต่ควรจะมีกองกำลังของพลเรือนที่ถูกฝึกโดยรัฐเป็นคนให้การสนับสนุนขึ้นมาจัดการการชุมนุม มายุติเหตุการณ์แบบในบ้านเรา อย่างช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น มีการฝึกหน่วยที่เรียกว่า หน่วยสันติเสนา
 
มีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่คิดว่า ต่อให้เป็นตำรวจ ก็จะต้องถูกลดการใช้ให้มากที่สุด เพราะตำรวจก็คือกลไกความรุนแรงของรัฐ ต่อให้ฝึกยังไงก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรงได้ ควรมีการจัดตั้งกองกำลังพลเรือนหรืออาจจะเป็นข้าราชการพลเรือนอีกหน่วยหนึ่งขึ้นมาทำเรื่องนี้โดยตรง โดยที่รัฐเป็นคนจัดงบประมาณให้ เรียกว่าหน่วยสันติเสนา อาจจะมีนักศึกษามาทำ หรือจะให้ข้าราชการพลเรือนอื่นๆ มาทำก็ได้
 
กฏหมายความมั่นคงมันออกมาเพื่อสร้างที่ทางให้ทหารรึเปล่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามันไม่มีกฏหมายเหล่านี้ ทหารจะมีงานทำไหม แล้วปัจจุบันที่รัฐกับรัฐอื่นก็ไม่ได้สู้รบกันทางทหารแล้ว ทำให้อำนาจของทหารมันลดลงไปหรือเปล่า
คือโดยระบบทั้งหมดแล้ว ทหารควรจะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว กฏหมายความมั่นคงจำนวนมากมันผิดคอนเซ็ปท์ เพราะมันถูกเสนอในสมัยที่ไม่มีรัฐบาลพลเรือน แล้วก็ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นมันถูกกำหนดโดยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น แล้วทำให้การร่างกฏหมายแบบนี้มีเนื้อหาที่บิดเบือนมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าจะยกเลิกหรือจะแก้ได้ก็น่าจะดี ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อนอะไร
 
ในมุมกลับกัน จะมีเหตุผลอะไรที่จะคงกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงเอาไว้
อาจจะมีสองส่วน หนึ่ง การคงอำนาจของสถาบันกองทัพไว้ หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ชอบอ้างกันคือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติทำงานได้สะดวกมากขึ้น ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่า ความไม่สะดวกของเจ้าหน้าที่ในแง่การปฏิบัติ มันเป็นต้นทุนที่คุ้มกันหรือเปล่ากับความเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขต ซึ่งฝ่ายรัฐก็คงมองว่ามันคุ้ม แต่ถ้าถามว่าคนในสังคมมองว่ามันคุ้มหรือเปล่าก็อาจจะไม่
 
คือ คนที่ได้รับผลกระทบก็คงคิดว่าไม่คุ้ม ส่วนคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ ถ้าคุณรู้ว่าการให้กฏหมายนี้มีอำนาจมากขนาดนี้ ถึงวันหนึ่งมันก็จะส่งผลกระทบต่อเขา เขาก็คงเห็นภาพเองว่ามันไม่คุ้ม ความไม่สะดวกของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่มันมีอยู่ไม่กี่เรื่องเช่น อยากจับก็จับได้ยากขึ้น อยากหาหลักฐานก็หาได้ยากขึ้น แต่เรื่องพวกนี้ มันเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่เองในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ใช่บอกว่าเราหาหลักฐานได้ยาก เพราะฉะนั้นออกกฏหมายใหม่ ให้ไม่ต้องจับโดยมีหลักฐาน มันใช้ตรรกะแบบบิดเบี้ยวว่า เรื่องบางเรื่องเราทำไม่ได้ เราก็ออกกฏหมายใหม่ออกมาว่า ไม่ต้องทำมัน ถึงที่สุดแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ได้ลำบากเป็นปัญหาของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ปัญหาที่ประชาชนต้องมาแบกรับ
 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่พร้อมกันที่ ประชาไทและ iLaw

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net