Skip to main content
sharethis
การเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งในฮอนดูรัส ยังไม่คืบหน้า ต่างฝ่ายต่างไม่เผชิญหน้ากันโดยตรง ใช้วิธีผลัดกันเข้าพบคนกลาง ขณะเดียวกันพรรคสังคมนิยมแรงงานในคอสตาริกา ซึ่งสนับสนุนเซลายา ออกมาการประท้วงรัฐประหารในฮอนดูรัสใกล้สถานที่เจรจา ขณะที่อาสาสมัครด้านการศึกษาและกีฬาของคิวบาออกจากฮอนดูรัสแล้วหลังถูกกดดัน

 

 

ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาที่ถูกทำรัฐประหาร (คนที่ 4 ขวามือ) เดินคู่กับประธานาธิบดีโดมินิกันลีโอแนล เฟอร์นันเดซ ระหว่างตรวจแถวทหารกองเกียรติยศที่ทำเนียบแห่งชาติ กรุงซานโต โดมิงโก สาธารณรัฐโดมินิกัน เมื่อ 10 ก.ค. ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐโดมินิกันเพื่อหาเสียงสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในต่างประเทศ หลังจากที่เขาถูกรัฐประหารเมื่อ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มา: AP/Daylife.com)
 
ผู้สนับสนุนเซลายา ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการลุกขึ้นสู้แห่งชาติ พยายามปิดถนนเส้นทางจากเมืองหลวงสู่เมืองซาน เปรโดร ซูลา เมืองใหญ่อันดับสองทางเหนือ เมื่อ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้สนับสนุนเซลายาออกมาเดินขบวนในเมืองหลวงในวันเดียวกันนี้ด้วย
 
คณะเจรจาของรักษาการประธานาธิบดีโรเบอร์โต มิเชลเลตตี (ซ้าย) และคณะของประธานาธิบดีมานูเอล เซลายาที่ถูกรัฐประหาร ระหว่างการเจรจากันที่กรุงซาน โฮเซ่ คอสตาริกา โดยมีคนกลางคือประธานาธิบดีคอสตาริกา ออสกา อาเรียส (Oscar Arias) (คนกลาง) เมื่อ 9 ก.ค.
 
ประธานาธิบดีคอสตาริกา ออสการ์ อาเรียส (ขวา) สนทนากับรักษาการประธานาธิบดีโรเบอร์โต มิเชลเลตตีจากฮอนดูรัส ทั้งนี้มีการเจรจราระหว่างสองคู่ขัดแย้งในฮอนดูรัสเมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Reuters/Daylife.com)
 
ผู้สนับสนุนเซลายาออกมาชุมนุมประท้วงมิเชลเลตตี ที่ภายนอกทำเนียบประธานาธิบดีคอสตาริกา ในกรุงซาน โฮเซ่ เมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Reuters/daylife.com)
 
 
เจรจาไม่คืบ ต่างฝ่ายต่างไม่เผชิญหน้ากัน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงซานโฮเซ่ คอสตาริกา ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี และประธานาธิบดีที่ถูกยึดอำนาจ มานูเอล เซลายา ได้มีการเจรจาโดยมีคนกลางในการเจรจาคือ ออสการ์ อาเรียส ประธานาธิบดีคอสตาริกา ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ทั้งสองไม่ได้พูดคุยกันแบบเผชิญหน้าหันโดยตรงหากแต่ อาศัยการผลัดให้มิเชลเลตตีหรือเซลายา เข้าไปพูดคุยกับอาเรียสทีละคนในห้อง
 
การเจรจาในวันแรกนั้นมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยทางเซลายาได้ขอให้ "มีการฟื้นฟูสถาบันกฎหมาย ประชาธิปไตย คืนตำแหน่งให้กับประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน"
 
ขณะที่มิเชลเลตตี ที่มาเข้าพบออสการ์ อาเรียส ทีหลังได้กล่าวไว้ว่าเขาพอใจกับการเข้าพบเจรจาในครั้งนี้แล้ว และจะกลับประเทศฮอนดูรัส โดยมิเชลเลตตียังได้ระบุถึงชื่อของเจ้าหน้าที่สี่คนที่เขาวางเอาไว้ให้เป็นตัวแทนสำหรับการเจรจาครั้งถัดไป นอกจากนี้แล้วยังบอกด้วยว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฮอนกูรัสในเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ตามแผน
 
เมื่อมิเชลเลตตี กลับมาถึงกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัสแล้ว เขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาอนุญาตให้เซลายากลับประเทศได้ แต่จะต้องกลับมาในฐานะของผู้ที่จะถูกส่งไปดำเนินคดีที่ศาล โดยมิเชลเลตตีได้ระบุถึงข้อหาของเซลายาที่มีติดตัวอยู่ถึง 18 กระทง รวมถึงข้อหาเป็นกบฏ และข้อหายึดฉวยอำนาจสาธารณะ (usurping public function)
 
ขณะที่มิเชลเลตตีบอกว่าเขาอาจจะกลับมาเจรจาอีกครั้ง "หากมีความจำเป็น" ทางด้านออสการ์ อาเรียส ก็มีความหวังว่า จะทำให้ทั้งสองคนนี้ดำเนินการเจรจากันแบบตัวต่อตัวได้
 
ประธานาธิบดีคอสตาริกา ยังได้กล่าวอีกว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาเป็นแบบไหนก็ตาม แต่หนึ่งในนั้นต้องรวมถึงเรื่องการคืนตำแหน่งให้กับเซลายาด้วย
 
ในส่วนของประธานเลขาธิการองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) โฮเซ มิเกล อินซุลซา แสดงความกังวลว่า หากวิกฤตการณ์ในฮอนดูรัสยังไม่สามารถหาทางออกได้ อาจกลายเป็นหนทางไปสู่การทำรัฐประหารในประเทศอื่น ๆ ของละตินอเมริกา
 
ด้านโฆษกการต่างประเทศของสหรัฐฯ เอียน เคลลี ระบุว่า แม้ทางสหรัฐฯ จะสนใจในการเจรจาครั้งนี้มากและอยากให้ผลการเจรจาออกมาดี แต่ทางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการเจรจา เพราะอยากให้การเจรจาในครั้งนี้เป็นของประธานาธิบดีอาเรียสเท่านั้น
 
โดยในวันที่ 10 ก.ค. เว็บไซต์ข่าว Bloomberg รายงานว่า ผู้นำชั่วคราวของฮอนดูรัสและประธานาธิบดีผู้ถูกทำรัฐประหาร กลับมายังที่พักของออสการ์ อาเรียส ในกรุงซาน โฮเซ เมืองหลวงของคอสตาริกา เพื่อดำเนินการเจรจาเป็นวันที่สอง แต่ผู้นำทั้งสองก็ยังไม่ยอมพบกันแบบตัวต่อตัว แต่ใช้วิธีวางตัวแทนของแต่ละฝ่ายไว้เจรจา ซึ่งประธานเลขาธิการ OAS ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้สร้างแผนการที่ดีที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์เลย
 
การเจรจาในครั้งนี้เริ่มจากการที่มานูเอล เซลายา เดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อหารือกรณีที่เขาถูกยึดอำนาจโดยทหาร ทำให้คลินตันตัดสินใจแต่งตั้งให้ ประธานาธิบดีของคอสตาริกา ออสการ์ อาเรียส เป็นคนกลางดำเนินการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลชั่วคราวจากการรัฐประหารในฮอนดูรัสกับฝ่ายของประธานาธิบดีผู้ถูกทำรัฐประหาร
 
 
พรรคสังคมนิยมแรงงานในคอสตาริกา ประท้วงต้านรัฐประหาร
วันที่ 9 ก.ค. มีกลุ่มจากพรรคสังคมนิยมแรงงานของคอสตาริกา พากันออกมาประท้วงใกล้ ๆ ที่พักของอาเรียส ซึ่งกำลังมีการเจรจากันระหว่างคู่ขัดแย้งของฮอนดูรัส ผู้ประท้วงโบกธงสีแดง และตะโกนด่าฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารว่า "มิเชลเลตตี เผด็จการฟาสซิสท์ คุณคือผู้ก่อการร้าย"
 
ทางด้านหนังสือพิมพ์แกรนมาของคิวบา รายงานว่าในฮอนดูรัสก็ยังคงมีผู้ชุมนุมต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่ โลอาค พลาซ่า ก่อนที่จะเดินขบวนไปตามถนนทางหลวงที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงกับตอนใต้ของประเทศและเมืองโชลูเตคา (Choluteca) เมืองสำคัญอันดับสามของประเทศ
 
โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 8 ก.ค. ผู้ประท้วงได้หันไปรวมกันทางฝั่งตะวันออกของเมืองเตกูซิกัลปา และในวันที่ 7 ก.ค. เหล่าผู้สนับสนุนเซลายาก็พากันเดินขบวนผ่านย่านชนชั้นสูงในเมืองหลวง
 
นอกจากนี้สื่อของคิวบายังได้รายงานอีกว่ากลุ่มอาสาสมัครนักสากลนิยมชาวคิวบาผู้เดินทางเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและการกีฬาในฮอนดูรัส ถูกรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากการรัฐประหารของฮอนดูรัสกล่าวให้ร้าย และตกเป็นเป้าโจมตี ซึ่งทำให้กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้กว่า 80 คน เดินทางกลับคิวบาในวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเอนา เอลซา เวลาสเควซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคิวบาให้การต้อนรับ
 
โดยในเนื้อข่าวยังได้มีการกล่าวประณามคณะรัฐประหารในฮอนดูรัสจากกลุ่มอาสาสมัคร และมีศาตราจารย์ผู้ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มอาสาสมัครออกมาย้ำว่า "เมล (มานูเอล เซลายา) จะต้องกลับประเทศ (ฮอนดูรัส) และพวกเราจะต้องกลับไป" อย่างไรก็ตาม ในเนื้อข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพวกเขาถูกให้ร้ายในเรื่องใด
 
ขณะเดียวกันทางกลุ่ม SOA Watch ได้มาร่วมชุมนุมกันหน้าสถานทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ในฐานะตัวแทนของพลเมืองชาวอเมริกัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาต่อต้านรัฐประหารในฮอนดูรัสด้วยการกระทำ โดยมีสาธุคุณ รอย เบอร์เจียส (Rev. Roy Bourgeois) ผู้ก่อตั้ง SOA Watch และ แดน โควาลิค ที่ปรึกษาอาวุโสของสหภาพแรงงานยูไนเต็ตสตีลเวอร์เกอร์ (United Steelworkers หรือ USW) ร่วมชุมนุมด้วย
 
ซึ่งกลุ่ม SOA Watch ออกตัวว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวจากระดับรากหญ้าโดยยืนเคียงข้างประชาชนชาวละตินอเมริกาและในแถบแคริบเบียน โดยจะเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายกดขี่ต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ออกมาโดยกลุ่ม SOA (School of the Americas ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Western Hemisphere Institute for Security Cooperation หรือ WHINSEC)
 
 
ที่มา: แปลและเรียงเรียงจาก
 
2 men and a mediator: Can Arias help Honduras?, JUAN CARLOS LLORCA, AP, 10-07-2009 http://news.yahoo.com/s/ap/20090710/ap_on_re_la_am_ca/lt_honduras_coup_189
 
Honduras Officials Meet for Second Day of Peace Talks (Update1), Daniel Cancel, Bloomberg, 10-07-2009 http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601087&sid=a3tmxjvM.fSo
 
Honduras - Resistance continues, Granma International, 10-07-2009
 
Internationalist workers return from Honduras mission, Anneris Ivette Leyva , Granma International, 10-07-2009 http://www.granma.cu/ingles/2009/julio/vier10/29h-retor-i.html
 
Cuban Volunteers Return from Honduras, Juventud rebelde (Cuban youth newspaper), 10-07-2009 http://www.juventudrebelde.co.cu/cuba/2009-07-10/cuban-volunteers-return-from-honduras/
 
SOA Watch activists including Rev. Roy Bourgeois in Honduras, Larry Gierer, ledger-enquirer, 10-07-2009 http://www.ledger-enquirer.com/news/breaking_news/story/773704.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net